เจาะลึกตีแผ่วงการ ‘แอนิเมชั่นไทย’ รุ่งริ่งหรือสดใส
ภาพยนตร์การ์ตูนไทย หรือ ‘แอนิเมชั่นไทย’ ถูกมองว่า ลดน้อยถอยลง ทั้งคนทำและคนดู แต่ทว่าในความเป็นจริงเป็นอย่างไร คนทำงานมีคำตอบ
ภาพยนตร์การ์ตูนไทย หรือ ‘แอนิเมชั่นไทย’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2498 คือเรื่อง 'เหตุมหัศจรรย์' ผลิตโดย ‘ปยุต เงากระจ่าง’ ผู้บุกเบิกการทำหนังการ์ตูนไทย และมีผลงานการ์ตูนเรื่องยาว ‘สุดสาคร’ ออกมาในปี 2522
จากนั้นแอนิเมชั่นไทยก็ได้ห่างหายไปจากวงการภาพยนตร์ 20 ปีต่อมาจึงมีภาพยนตร์การ์ตูนไทย หรือแอนิเมชั่นไทยออกมาให้ชมกันอีกครั้ง
อัจฉรา กิจกัญจนาสน์ จาก Big Brain Studio อดีตผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟฟิก บริษัท กันตนา แอนิเมชั่น จำกัด ผู้ผลิตการ์ตูนเรื่อง ‘ก้านกล้วย’
กล่าวในงาน เสวนา ‘แอนิเมชั่นไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน’ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ณ หอภาพยนตร์ ว่า การทำการ์ตูนไทย ช่วงแรกทำเป็น 2D แอนิเมชั่นซีรีส์สำหรับเด็กชื่อว่า ‘เจ้าพระยาปราบหงสา’
Cr. Kanok Shokjaratkul
"เป็นเรื่องของช้างที่ชนะยุทธหัตถี ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงมาทำเป็นหนังใหญ่ชื่อว่า ‘ก้านกล้วย’ ในช่วงปีค.ศ.2002-2003 ใช้เวลาทำ 18 เดือน ทั้งหมด 32 ซีเควนซ์ แล้วต่อมาก็มี ‘ก้านกล้วย 2, แอคโค่ จิ๋วก้องโลก’
อัจฉรา มีความคิดเห็นว่าคนทำงานแอนิเมชั่นไทยต้องมีใจรักจริง ๆ
"แย่ตรงที่ประเทศเราไม่มีการสนับสนุนมากนัก ตอนทำ ‘ของขวัญจากดิน’ เราได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของมหิดล ตอนนี้ฉายอยู่ในยูทูบ มีคนดู 200 ล้านกว่าวิวแล้ว
แอนิเมชั่นไทยมีช่องทางที่นำเสนอได้ ในแง่ครีเอทีฟหรือคนทำงานก็ยังมีเวทีให้ได้ทำ ส่วนความฝันจะไปสู่ตลาดโลกในอนาคตมันคงไปได้อีก
ทุกวันนี้แอนิเมชั่นเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น เวลารถติดเราก็ได้ดูตามสี่แยก จากเมื่อก่อนต้องไปดูในโรงหนังอย่างเดียว
แล้วเด็กสมัยใหม่ก็ทำในยูทูบได้ มันไม่มีจุดสิ้นสุด แล้วที่ผ่านมา ‘ก้านกล้วย 1-2, แอคโค่” ไม่ได้เจ๊งนะ เราขายต่างประเทศได้ แต่เราเหนื่อยในการผลักดัน คนดูในโรงน้อยลง ทำแล้วต้องลุ้นว่าถูกใจคนดูไหม คนจะดูไหม
ตอนนี้ออกมาทำบริษัทของตัวเอง กำลังทำซีรีส์อยู่ Co-Production กับต่างประเทศ เขาเป็นเจ้าของไอเดีย ใช้เวลาทำนานมาก เพราะมีโควิด ก็ต้องมาสตาร์ทใหม่
มองวงการแอนิเมชั่นบ้านเราว่า อยู่ที่เราคนทำ จะให้มันอยู่หรือไม่อยู่ เราต้องสู้ ต้องหาทางออกของเรา ไม่ใช่พูดว่ามีคนดูเราจึงอยู่ แต่ต้องพูดว่า ตราบใดที่เรายังอยู่ ต้องมีคนดูเรา
เราต้องไม่หยุด เราจะทำอะไรให้อยู่ได้มากกว่า ตอนนี้เงินน้อยก็ทำแบบน้อย ๆ ไป พอเงินมากมาก็ทำแบบมาก ๆ มองชีวิตให้มันสนุกมากกว่า"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- การ์ตูน 2D ยังมีคนชอบอยู่เสมอ
ปัญญา ผาสุกโกวิทสิริ จาก Mitta Studio ผู้เริ่มต้นจากงาน 2D และทำงาน 2D มาตลอดกล่าวว่า งาน 2D ยังมีกลุ่มคนที่ชอบอยู่
"ผมเริ่มต้นทำงานนี้จากการที่รุ่นพี่มาชวนไปทำการ์ตูนแอนิเมชั่น ในปี 2543 ให้เราทำตัวอย่างไปเสนอช่อง
เราไม่เคยทำมาก่อนก็ลองผิดลองถูก ทำแล้วก็เสนอไป ปรากฎว่าช่องให้ผ่าน ก็เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ จนบริษัทปิดไป
เราก็มารวมตัวกันทำซีรีส์เรื่อง ‘แทนแทนเพื่อนรักจากต่างดาว’ ให้กับ ITV เมื่อ 20 ปีที่แล้วในช่วงนั้นซีรีส์ 2D เยอะมาก มีเกือบทุกช่อง
การผลิตจากเฟรมบายเฟรมก็มีโปรแกรมช่วยเหลือเยอะขึ้น อยู่ที่เราต้องการความละเอียดมากแค่ไหน มาตรฐานงานก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างญี่ปุ่นก็มีเงา 4-5 เฉด
มีคนมองว่างาน 2D อย่าไปทำเลยมันกำลังจะตายแล้ว เราฟังมา 20 ปีแล้ว อุตสาหกรรม 2D บ้านเรายังไม่แข็งแรง มีผู้ทำน้อย เป็นแค่เทคนิคหนึ่งในการเล่า อยู่ที่เรื่องราวหรือเทคนิคที่เพิ่มขึ้นมากกว่า
ส่วน AI แค่มาแชร์ตลาด สุดท้ายแล้ว 2D ก็ยังมีที่ทางของมัน งานที่ทำอยู่ตอนนี้มีซีรีส์เรื่อง ‘ตื่น’ แล้วก็มีงานโฆษณาลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ
ถ้าให้มองวงการแอนิเมชั่นไทย ผมคิดว่าตราบใดที่ยังมีคนชอบงานวาด 2D เราก็ยังคงมีงานอยู่เสมอ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- 'แอนิเมชั่นไทย' สามารถต่อยอดไปได้หลากหลาย
จันทร์เพ็ญ กูลแก้ว จาก Decide Kit กล่าวว่า แอนิเมชั่นสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง อยู่ที่ความคิดของคนทำ
"เราเป็นคนชอบภาพกราฟฟิค อยากทำภาพขยับได้ ก็ไปเรียนด้านนี้ แล้วก็มาทำ Motion graphics กราฟิกที่ทำงานในรูปแบบแอนิเมชั่น มาขยายความส่งข่าวสารที่เราต้องการสื่อสาร เรามีหน้าที่ย่อย แล้วใช้กราฟฟิกมาอธิบาย
ช่วงแรก ๆ คนจะใช้การ์ตูนมาอธิบาย เช่น ช่วงน้ำท่วมปี 2554 จะมี ‘ปลาวาฬ’ ออกมา ทำให้คนสนใจ Infographic มากขึ้น
ต่อยอดมาทำ Mapping สื่อสารกับคน เปลี่ยนหน้าตาตึก คือ ตึกเดิมแต่ความรู้สึกคนเปลี่ยน ล่าสุด ไปทำที่หัวลำโพง งานของ CEA
ในต่างประเทศมีการจัดประกวด มีเวที เราก็ไป แล้วมีประเทศอื่นสนใจงานก็เริ่มจ้างเรา งานหลักตอนนี้จะเป็นอีเวนท์, คอนเสิร์ต ลูกค้าเป็นคนไทย แต่ Mapping เป็นคนต่างชาติ
Mapping คือแผนกที่เก็บทุกแอนิเมชั่นมาใช้ ทั้ง 2D, 3D มาผสมกับกราฟฟิคที่เราทำ
ความยากง่ายขึ้นอยู่กับคอนเทนท์และคอนเซปท์ที่เรานำเสนอ ส่วนความต้องการของลูกค้ามีโจทย์ที่ชัดอยู่แล้ว อยู่ที่เราอยากทำงานให้มันดีขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน
Mapping ไม่เหมือน 2D 3D ตรงที่ 2D 3D มีมาตรฐานเซ็ทไว้แล้ว แต่ Mapping คือการสื่อสารถึงคนดู เขาเข้าใจไหม เราเล่าเรื่องลึกซึ้งเกินไปไหม
มีพื้นที่ใหม่ ๆ ทั่วโลก 3,000 ที่ที่จะให้ไป Mapping สเกลก็แล้วแต่พื้นที่ มันเป็นงานที่มีเสน่ห์
ถ้าให้มองวงการแอนิเมชั่นไทยตอนนี้ เราคิดว่า ถ้าคุณอยากทำ ยังไงคุณก็ได้ทำ แล้วก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- แอนิเมชั่นไทย Go Inter แข่งขันกับต่างชาติ
ไพรัช เลิศขจรวงศ์ จาก Yggdrazil Group กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้กำลังขยายและมีคุณภาพมากขึ้น
"ผมรู้ตัวเองตั้งแต่เรียนมัธยมแล้วว่าอยากทำงานด้านนี้ หลังจากดูหนังเรื่อง ID4 ก็ไปเรียน จบแล้วก็ไปทำงานต่างประเทศ เป็น Cinematic game คลิปสั้น ๆ เล่าเรื่องราวในเกม คั่นระหว่างเกม
เกมสมัยก่อนคุณภาพจะดร็อปลงนิดหนึ่ง แล้วมีซีนคั่นระหว่างเกมที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจ แต่สมัยนี้เกมมีคุณภาพไปไกลแล้ว คนก็จะไม่ตื่นเต้นกับ Cinematic มาก
ตอนนี้เรารับงานจากหลายที่ เช่น ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี ถ้าเป็นซีรีส์ใช้เวลา 1-2 ปี แล้วต้องวางแผนการผลิตระยะยาว ส่วนงาน Cinematic สั้นกว่า เต็มที่ก็ 4-6 เดือน มีงบสูง ต้องการความเนี้ยบ ถ้าตัวสั้นก็ 1-2 เดือน
ความแตกต่าง คือ Cinematic มีความครีเอทีฟมากกว่า เปลี่ยนได้เยอะกว่า จะมีสองแบบ 1)มีโจทย์มาให้ครบ มีสตอรี่บอร์ด กับ 2) มีแค่อยากขายอะไร ให้เราเป็นไดเรคเตอร์เอง เขียนบทเอง อันนี้สนุกเพราะเราคนทำต้องคิดเอง ต้องไปลองเล่นเกม
เมื่อก่อนทำทีละโปรเจค ตอนนี้ออฟฟิศใหญ่ขึ้น ก็ทำซ้อนหลายตัว อุตสาหกรรมนี้ในบ้านเราตอนนี้ มีหลาย ๆ สตูดิโอเดินเข้าตลาดหุ้น ทำให้มีโอกาสเข้ามา อุตสาหกรรมก็จะใหญ่ขึ้น
ถ้ามี 4-5 สตูเข้าไปอยู่ในตลาด เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาจะขนาดไหน แตกแขนงไปได้อีกหลาย ๆ อย่าง ผมคิดว่า 3-5 ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าติดตาม
ในบ้านเรา จริง ๆ เราอยู่ได้ เพราะรับจ้างผลิตค่อนเข้างเยอะ แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนก็ได้ สตูดิโอในประเทศไทยที่มีกำลังผลิตเยอะ ๆ มีอยู่ไม่กี่ที่
ส่วนใหญ่ครีเอทีฟดี ๆ เขาไม่มีกำลังผลิต แล้วในภูมิภาคนี้ก็มีสตูดิโอน้อยมากที่มีกำลังผลิตเยอะ ๆ รับงานได้ทั้ง 3 ซีซันพร้อมกัน
ตอนนี้เราไม่แข่งขันในประเทศแล้ว แต่แข่งขันกันทั่วโลก เพราะคนทำงานรีโมทไปที่ไหนก็ได้
ในยุคหลังโควิด การแข่งขันค่อนข้างสูง เราอยู่ได้หลัก ๆ ด้วยการรับจ้างผลิต ในอนาคตเราจะมีคอนเทนต์ของเราเองมากขึ้น
มองวงการแอนิเมชั่นไทยว่า มันยังอยู่ และโตขึ้นเรื่อย ๆ ตราบใดที่มีการแข่งขันและมีความทะเยอทะยานของคนในอุตสาหกรรม
ยังไงมันก็จะโต เพราะมองย้อนกลับไปมันไม่เคยอยู่กับที่เลย มันวิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว 3-5 ปีจากนี้มันจะวิ่งแบบก้าวกระโดด"