ผลิตภัณฑ์ ‘ป่านศรนารายณ์’ ‘สินค้าชุมชน’ มีระดับ บ้าน ‘หุบกะพง’
ผลิตภัณฑ์ ‘ป่านศรนารายณ์’ ซึ่งเป็น ‘สินค้าชุมชน’ ที่มีการพัฒนาให้ดูดีมีระดับ ผลงานของกลุ่มแม่บ้าน ‘หุบกะพง’ มีทั้ง กระเป๋าสวยๆรองเท้าเก๋ๆ หมวกปีกสีลูกกวาด ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าใช้ ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติเมื่อได้เห็น อดใจไม่ไหว ต้องเลือกซื้อ
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ป่านศรนารายณ์ จะกลายเป็น ผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชน ที่ดูดีมีระดับ และเป็นฝีมือการผลิตของกลุ่มแม่บ้านสูงวัย ทว่าพวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ จึงรังสรรค์ผลงานใหม่ๆออกมาสู่ตลาดเสมอ ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ‘ป่านศรนารายณ์’ ซึ่งเป็นไม้พุ่ม ลักษณะใบเป็น พืชใบเลี้ยงเดี่ยว ที่มีเส้นใยแข็ง ทนทาน ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ที่มีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพ ให้แก่สตรีบ้าน หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี โดยการนำ ป่านศรนารายณ์ มาสร้างสรรค์งานหัตถกรรมสร้างรายได้เสริมให้กับกลุ่มแม่บ้าน จนกลายเป็น สินค้าชุมชนมีระดับ
กรวรรณ อุ่นใจ ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัด เล่าว่า สหกรณ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2514 และเล่าที่มาของ ผลิตภัณฑ์ จาก ป่านศรนารายณ์ ว่า
“ป่านศรนารายณ์ เป็นพืชทนแล้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิติ์ ทรงเห็นว่าพื้นที่ใน หุบกะพง แห้งแล้ง ก็เลยหาพืชที่ทนแล้งจากแอฟริกามาปลูก เป็นพืชที่สามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ได้ พระองค์ก็ให้ทีมงานไปหามาว่าสามารถแปรรูปมาทำอะไรได้บ้าง ก็เลยได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ หมวก กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด”
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการพัฒนาด้านฝีมือ และการออกแบบ ทำให้สวยงามน่าใช้กลายเป็นที่นิยม ล่าสุดมีการนำ ‘ป่านศรนารายณ์’ ไปรังสรรค์ร่วมกับผ้าทอพื้นเมืองของชาวบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เนื่องจากเส้นใยป่านมีความแข็ง หยาบ พอนำไปถักทอผสมผสานกับใยฝ้ายก็จะทำให้มีความนุ่มขึ้น
ภาพโดย: ปริญญา ชาวสมุน
ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัด เล่าว่า ป่านศรนารายณ์ มีระยะเวลาในการปลูก 3 ปี จึงจะเก็บใบมาใช้ได้ ความยาวของใบประมาณ 1 เมตรจึงจะใช้ได้ สมาชิกสหกรณ์เก็บใบป่านมาแล้ว รูดเก็บเส้นใยสีขาว จากนั้นนำไปล้างน้ำ ตากแดดให้แห้ง 1 แดด ก่อนนำมาถักเปีย 3 เส้น (เหมือนถักเปียผม) แล้วนำไปย้อมสี ตากแดดให้แห้ง แล้วใช้จักรอุตสาหกรรมเย็บ ให้ออกมาเป็นรูปทรงต่างๆตามต้องการ
‘กรวรรณ อุ่นใจ’ ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัด
“สีที่เราใช้จะเป็นสีเกรดเดียวกับที่ใช้ย้อมผ้าไหม ทนทานไม่หลุดลอก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยุคแรกๆ ก็จะมีแบบมาให้เราทำตามนั้น แต่ถ้าเรายึดติดรูปแบบเก่าๆ ก็จะทำให้ไม่มีความหลากหลาย สมาชิกสหกรณ์แต่ละคนก็จะสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของตัวเองออกมา
บางทีอาจจะไปเห็นตัวอย่างกระเป๋า รองเท้าจากที่อื่น แล้วเอามาดัดแปลงเป็นกระเป๋า รองเท้า หมวก ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ ตอนนี้เรามีแบบเยอะมาก ประมาณ 200-300 แบบ สมาชิกเราก็จะคิดค้นรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ล่าสุดก็จะมีกระเป๋าใส่แก้วเยติ กระเป๋าใส่ไอแพด”
กรวรรณ อุ่นใจ เล่าต่อว่า กลุ่มลูกค้า ‘ป่านศรนารายณ์’ ปัจจุบันมีหลายรุ่น ตั้งแต่เด็ก นักศึกษา วัยทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่
“การตลาดของเราก็คือ ออกบูธถือว่าเป็นการออกไปพบปะลูกค้า ก็ได้รับคำแนะนำจากคนซื้อ อย่างลูกค้าวัยรุ่นก็จะมาบอกว่าพี่ ทำไมไม่ทำแบบนี้แบบนั้น อยากได้สีหวานแหววหน่อย ก็เลยทำให้เรารู้ว่า เรามีลูกค้าหลายแบบ ควรจะทำสินค้าออกมาให้หลากหลาย ไม่ได้เจาะแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
กระเป๋าแบบล่าสุดชื่อ รุ่นสานศร ก็เช่นกันปกติเราจะต้องนำป่านที่ได้ไปถักเปียก่อนแล้วย้อมสี แต่รุ่นนี้เราจะย้อมตั้งแต่เป็นเส้นใยป่านเลย แล้วนำมาผลิตเป็นกระเป๋า ความต่างก็คือ สีก็จะสดใสกว่าเดิม”
‘ป่านศรนารายณ์’ ยังนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ‘ไม้กวาด’ ที่มีความทนทาน กลายเป็นสินค้าขายดี สามารถล้างแล้วผึ่งแดด ทำให้ยังคงสภาพใหม่ ปราศจากเชื้อโรค
'เข็มขัด' ผลิตภัณฑ์ 'ป่านศรนารายณ์'
และเมื่อถามถึงรายได้จากการขายสินค้า ผู้จัดการชี้แจงว่า รายได้จะเข้าสู่สมาชิกโดยตรง ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจักรสาน มีประมาณ 20 คน รายได้เฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อครอบครัว
สมาชิกสหกรณ์ฯ นำใบป่านมารูดกับไม้ไผ่เพื่อให้ได้เส้นใยป่านสีขาว
นำใยป่านมาถักเป็นเปีย
นำใยป่านที่ถักเปียแล้วไปย้อมสี
ใยป่านที่ถักเปีย ย้อมสี จะถูกนำมาแปรรูปเป็น 'ผลิตภัณฑ์'
ใยป่านที่ถักเปียแล้วกำลังถูกเย็บขึ้นรูปทำกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก
ใยป่านศรนารายณ์ถูกนำมาถักให้กลายเป็นเข็มขัด
พวงกุญแจปลาทอง
“การปลูก ป่านศรนารายณ์ จะเป็นรูปแบบของสหกรณ์ ปลูกเสร็จก็จะรูดใยป่าน จากนั้นให้สมาชิกมารับไปถักเป็นเปีย แล้วนำเปียมาส่งให้สหกรณ์ จากนั้นกลุ่มจักรสาน 20 กว่าท่าน ก็จะมารับเปียเพื่อเอาไปถักเป็นกระเป๋า พอทำกระเป๋าเสร็จ
สมาชิกก็จะเอามาฝากสหกรณ์ขาย แต่ละคนก็จะมีแบบของตัวเอง เช่น หมวกโบว์ผ้า เขาก็จะทำลวดลายต่างๆ กันมา สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะสูงวัย แต่ยังมีความกระฉับกระเฉง ทำงานไว เวลาเห็นใครสะพายกระเป๋าสวยๆ หรือใส่หมวกอะไรมา ก็จะเอามาดัดแปลงทำเป็นผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ขึ้นมาเอง ไม่ได้มีดีไซน์เนอร์ช่วยออกแบบ ชาวบ้านแต่ละคนคิดขึ้นมาเอง ออกแบบกันเอง แล้วเขาจะไม่ทำซ้ำกัน”
กระเป๋าที่ทำจาก 'ป่านศรนารายณ์' ใบนี้ 40 ปีแล้ว ยิ่งใช้ยิ่งสวย
นอกจากนี้ กรวรรณ บอกว่า "ตอนนี้มีการนำป่านศรนารายณ์ไปผลิตผสมกับผ้า ผลิตออกมาเป็นเสื้อ รองเท้าส้นสูง เนื่องจากมีคุณสมบัติเส้นใยเหนียว ขาดยาก เคยมีกระเป๋าใบหนึ่งใช้มา 20 กว่าปี ยิ่งใช้ยิ่งนิ่ม ราคาใบละ 150 บาทเอง"
รองเท้าป่านศรนารายณ์
ช่องทางการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ ป่านศรนารายณ์ ปัจจุบันในกรุงเทพ จำหน่ายที่ ‘สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย’ ถนนพิชัย แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ และที่เพชรบุรีจำหน่ายที่ ‘อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร’ ค่ายพระรามหก ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และไปงานออกร้านตามหน่วยงานต่างๆ
กระเป๋าป่านศรนารายณ์ ถูกใจวัยรุ่น
หากแวะไปเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี ต้องการอุดหนุนสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์จาก ‘ป่านศรนารายณ์’ ไปชมกันได้ที่ ‘สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด’ เปิดบริการเวลา 09.00-17.00 น. วันจันทร์-อาทิตย์ (หยุดอังคาร)
สินค้ามากมายล้วนสวยงามทันสมัยมีคุณภาพดี
ติดตามได้ที่ Facebook: ‘ป่านศรนารายณ์ สหกรณ์การเกษตร หุบกะพง จำกัด’ โทร. 032 471 286