'ศิรเดช โทณวณิก' รุ่น 3 'ดุสิตธานี' มุ่งสร้าง 'โรงแรมแห่งความยั่งยืน'
ทายาทรุ่นที่ 3 เดินหน้าสานต่อภารกิจแบรนด์โรงแรมไทยในเครือ 'ดุสิตธานี' ที่มีอายุยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ พร้อมตั้งมั่นโรงแรมของคนเจนใหม่ต้องเป็น 'โรงแรมแห่งความยั่งยืน'
วันนี้ คุณแชมป์ - ศิรเดช โทณวณิก วัย 37 ปี บุตรชายคนโตของ คุณชนินทธ์-วิภาดา โทณวณิก และเป็นหลานย่าของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย มุ่งสร้างแบรนด์โรงแรมคอนเซปต์รักษ์โลก อาศัย (ASAI) พร้อมขับเคลื่อนและสานต่อธุรกิจอีกมากมายในเครือดุสิตธานี
ภาระนี้ใหญ่หลวงนัก ทว่านายน้อยแห่งดุสิตธานี ก็มีหลักบริหารและวิธีคิดที่ “ไม่ยึดติด” แม้ต้องรับมือกับการบริหารอาณาจักรหมื่นล้าน และความท้าทายที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อโลกเรียกร้อง “ความยั่งยืน”
ดังนั้นโรงแรมใหม่ของทายาทรุ่นที่ 3 ต้องเป็น โรงแรมแห่งความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
คุณแชมป์ - ศิรเดช โทณวณิก (ภาพ: ศุกร์ภมร เฮงประภากร)
จุดประกาย TALK เปิดใจคนเจนใหม่ คุณแชมป์ - ศิรเดช โทณวณิก ที่พร้อมรับมือกับภาระรักษ์โลกควบคู่กับธุรกิจที่ต้องเติบโต
คอนเซปต์ของแบรนด์ “อาศัย”
“เป็นโรงแรมไลฟ์สไตล์ราคาไม่แพงมาก นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ มีส่วนร่วมกับเพื่อนบ้านหรือชุมชนในย่านเยาวราช และสร้างแพลตฟอร์มให้นักเดินทางมาสัมผัสถึงชุมชน วัฒนธรรม
ผมโตมาในย่านสุขุมวิท แต่พอมาทำโรงแรมก็เพิ่งรู้ว่าย่านนี้มีอะไร ๆ ดี ๆ มากมาย ทั้งอาหาร ร้านชา อาร์ตแกลลอรี่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อันเป็นที่มาของคำว่า Neighborhood Hotel และเราดึงคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรา เช่น จัดกิจกรรม ทำอาหาร
เพราะในเมืองไทยโรงแรมส่วนใหญ่ที่เป็นเซกเมนท์เดียวกับเราก็จะขายเป็นห้อง ๆ แน่นอนว่าการทำธุรกิจสำคัญ แต่เราสามารถทำได้มากกว่านั้น เราสร้างคอนเทนต์ใหม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับเราได้”
โรงแรมอาศัย เยาวราช
คำว่า “อาศัย” กับทำเลที่ตั้งของโรงแรม อันไหนเกิดก่อน
“เราคิดคำว่า อาศัย (ASAI) เมื่อปี 2017 ก่อนเกิดโควิดอีก มองถึงคำว่า “ที่อยู่อาศัย” เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่มีวิถีเอเซีย
ก่อนทำผมรีเสิร์ชเยอะ เดินทางไปดูโรงแรมทั่วโลกเลย ที่ โรงแรมอาศัย เยาวราช แม้ห้องเล็กหน่อยแต่อยู่สบาย มีอารมณ์เหมือนบ้าน เราอยากสร้างคอมมิวนิตี้ว่ามาอยู่ที่อาศัยมีความเป็นโลคัล ตั้งแต่งานตกแต่ง ภาพวาด ห้องต่าง ๆ
ปลายเดือนนี้จะเปิด อาศัย ถนนสาทร จะเชิญเพื่อนบ้านมาด้วย มาทำเวิร์คช็อปร่วมกัน ชูจุดเด่นของแต่ละชุมชน เราโปรโมทถนนสาทรด้วย เช่นเดียวกับ อาศัย เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เราจัดโลคัลเดย์ จัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในละแวกนั้น เราไม่ได้มองแค่ตัวเองเรามองถึงการมีส่วนร่วม ทุกที่ที่เราไปจะเป็นแบบนี้”
ศิรเดช โทณวณิก ทายาทรุ่น 3 เครือดุสิตธานี
ธุรกิจโรงแรมหลังโควิด ยากระดับไหน
“ในแง่บุคลากร หาคนยากขึ้น เป็นความยากอย่างแรก ไม่ใช่เฉพาะอาศัย หลังโควิดหลายคนไม่อยากกลับเข้ามาแล้ว จะทำยังไง
เรามีหน้าที่สร้างงาน สร้างประสบการณ์การทำงานให้เกิด purpose ถือเป็นอันดับแรก เป็นการท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะถ้าทำเหมือนเมื่อก่อน อินดัสเทรียลโรงแรมก็จะไม่พัฒนาคนเท่าไหร่ การจะหาคนเข้ามาทำงานยากขึ้นเราก็ต้องครีเอทีฟให้มากขึ้น
เช่นสร้างแพลตฟอร์มหรือแคเรียพาร์ทให้การทำงานเกิดแรงบันดาลใจ รู้สึกมีแรงขับเคลื่อนที่อยากมาทำกับเรา
แม้เรามีวิทยาลัยการโรงแรมดุสิตธานี แต่เนื่องจากเป็นวิทยาลัยแบบเปิด คนมาเรียนเยอะแต่เขาก็ไม่ได้มีคอมมิทว่าจะมาทำงานกับเรา เขาจะไปที่ไหนก็ได้ทั่วโลก เป็นจุดแข็งของวิทยาลัย ดังนั้นเราจึงต้องสร้างแรงดึงดูด สร้าง Working Environment ที่จูงใจคนรุ่นใหม่ให้มาทำงานกับเรา สำคัญมาก
ในแง่การทำงานต้องมีความยืดหยุ่น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราทำ Cross Exposure Training ว่าไม่ใช่ต้องทำที่นี่ที่เดียว คนต้องมีหลายสกิลล์เซต เราจะเน้นตรงนี้
ธุรกิจโรงแรมสำหรับเจน 3 ยากกว่าคนรุ่นก่อนพอสมควร
“ครับ เพราะมีหลายปัจจัยร่วม เช่น ค่าเงินบาทแข็ง เมื่อก่อนคนญี่ปุ่นเยอะ ตอนนี้ญี่ปุ่นเที่ยวกันเองในประเทศเพราะเงินเยนถูกลง เขาก็มาหาเราน้อยลง ค่าตั๋วเครื่องบินแพงมากด้วย เขาก็เที่ยวในประเทศของเขาเอง คนจีนก็ยังกลับมาไม่เต็มร้อย ยุโรปก็ไม่เยอะเท่าเมื่อก่อน การท่องเที่ยวกลับมาแต่ก็ยังไม่เต็มที่ ก็เหนื่อยอยู่”
นักท่องเที่ยวยุคนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างไร
“คนที่มาเที่ยวตอนนี้ถ้าเป็น Leisure Market คือมาเที่ยวจริง ๆ ไม่ได้มาประชุมหรือมาทำงาน วิธีเที่ยวคนยุคนี้ต่างจากเมื่อก่อนด้วย ผมว่าการให้ข้อมูลสำคัญ เราใช้เทคโนโลยีช่วย เช่น ยุคนี้คนเที่ยวเขาอยากหาอะไรเอง จองเองเที่ยวเองไม่ต้องพึ่งทัวร์ ด้วยแง่ดาต้า (ข้อมูล) มีเยอะไปหมด
ห้องอาหาร Jam Jam โรงแรมอาศัย เยาวราช
อาศัยเราก็ทำ บอกว่าเป็น Neighborhood Hotel มีเว็บไซต์ ทำคิวอาร์โค้ด พอสแกนปุ๊บมีคำแนะนำ มีแผนที่ให้ มาพักกับเราแล้วที่ไหนน่าเที่ยวในย่านนี้ เดินทางยังไง ทำให้เป็นยูนีคโฮเทลด้วย
ความจริงโรงแรมไม่ได้มีอะไรมาก ห้องขนาดกะทัดรัด มีชั้นล็อบบี้แล้วที่เหลือเป็นห้องนอนหมด แต่เราติดท็อป 2-3 ของ Trip Advisor โรงแรมในกรุงเทพซึ่งทั้งหมดพันกว่าแห่ง เพราะมี Information พวกนี้ให้ เราสร้างเอ็มพาวเวอร์ให้กับลูกค้า มีอินไซด์โดยทีมงานของเราที่ตระเวนหาร้านใหม่ ๆ มาบอก มีอะไรน่าสนใจในละแวกนี้ ดึงเขาเข้ามาหาประสบการณ์
ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ชอบทำอะไรแบบนี้มากขึ้น อยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ แน่นอนว่าเดสทิเนชั่น วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ เขาต้องไปอยู่แล้ว แต่เขาต้องการอะไรที่ลึกซึ้งกว่า เป็นส่วนตัวมากกว่า เพราะคนยุคนี้มีไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังมาด้วย
นอกจากนี้ในแง่การเดินทางเราให้คำแนะนำที่มีความยั่งยืนมากขึ้น รู้กันอยู่ว่าการเดินทางเป็นความสิ้นเปลืองนะ นักวิทยาศาสตร์ก็มีข้อมูลแบบนี้ อาศัยเราตั้งตัวเองเป็น Sustainable Hotel ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เช่นบุฟเฟ่ต์เราพยายามให้เกิด Food Waste น้อยที่สุด พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเราไม่ใช้เลย เราให้น้ำเป็นขวดสามารถเติมได้
คำแนะนำการเดินทาง เราให้ข้อมูลรถไฟฟ้าว่าไปเส้นทางนี้แล้วเดินอีก 6 นาทีถึง เราแนะนำการเดินทางด้วยเท้า ใช้รถให้น้อย เป็นอินไซด์ของเราที่ช่วยสภาพแวดล้อมไปด้วย”
โรงแรมคนเจนใหม่ต้อง Sustainable
ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวมองหาที่พักแบบยั่งยืนกันแค่ไหน
“มีครับ คนใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น คนเมื่อเห็นเราจะมา แต่อาจไม่ถึงกับเป็น Decision Making อาจยังไม่ถึงจุดนั้น อย่างไรก็ดี Price Point ก็สำคัญกับธุรกิจโรงแรม แต่เราสร้าง Customer Loyalty ซึ่งดีกับแบรนด์เรา อยากให้แบรนด์ติดตาติดใจนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ๆ และสร้าง Emotional Connection เรามุ่งสร้างโรงแรมแห่งความยั่งยืน
ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญกับธุรกิจยุคนี้ด้วย เราอยากให้พนักงานรับรู้ด้วยว่า การทำงานกับเราเป็นมากกว่าการหารายได้ หากเราสามารถช่วยชุมชน และทำงานกับโรงแรมที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างคัลเจอร์ด้วย”
ปัจจุบันดูแลธุรกิจอะไรบ้างในเครือดุสิตธานี
“นอกจากอาศัย ผมว่าเข้ามาช่วยดูมากกว่า...เขามีทีม ผมเรียกว่าเป็น Spiritual Head ดีกว่าครับ
งานหลักจริง ๆ คือขยายธุรกิจในเครือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การทำ Business Development ทั่วโลกเลย ตั้งแต่อเมริกาจนถึงเอเซีย ในชื่อทุกแบรนด์ที่เรามีตั้งแต่ ดุสิตธานี พริ้นเซส ดุสิตดีทู อาศัย ดุสิตสวีท Devarana และเราเพิ่งลอนช์ดุสิตคอลเลคชั่น
ตอนนี้มี 2 โปรเจคท์ใหญ่ เป็นแบรนด์ใหม่อัพสเกลที่ลักชัวรี่ มีเรื่องเล่าของตัวเอง ยูนีคมาก เป็นระดับเดียวกับดุสิตธานี แต่เนื่องจากดุสิตธานีเป็นโรงแรมไทย แต่แบรนด์นี้ยกตัวอย่างเช่นถ้าไปต่างประเทศ เขาบอกว่าชอบแบรนด์เรานะ แต่ขอประยุกต์ไม่เอาอะไรแบบไทย ๆ ได้มั้ย แบรนด์นี้ก็จะ Flexibility สามารถทำได้
ผมดูเรื่องการศึกษาด้วย มีวิทยาลัยการโรงแรมดุสิตธานี และเพิ่งเปิด The Food School เป็นแพลตฟอร์มใหม่ ส่งเสริมการทำอาหารแบบยั่งยืน สอนทำอาหารมาจากโรงเรียนสอนทำอาหารอันดับหนึ่งของอิตาลีและญี่ปุ่น”
งานเยอะอย่างนี้หาเวลาพักผ่อนอย่างไร เป็นเจน 3 รู้สึกกดดันมั้ย
“ก็เหนื่อย...งานเยอะเกินไปหน่อย ความกดดันมีอยู่แล้วล่ะ แน่นอนมันมาจาก Responsibility ย่อมมีความคาดหวังสูง เรื่องปกติครับ แต่เราพยายามผลักดันให้ได้ เพราะเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ที่ผ่านมายอมรับว่าค่อนข้างยาก เจอหลายปัญหา เจอโควิด ตอนนี้ตัวเลขเริ่มกลับมา เราก็ต้องมานั่งดูกันว่าเราจะยังไงให้สามารถเติบโตต่อไป แต่ผมก็มีทาร์เกตของผมนะ”
ทาร์เกตคือ...
“ปีนี้ตั้งเป้าขยายธุรกิจและเซ็นสัญญาให้ได้ 22 แห่งทั่วโลก ซึ่งไม่ง่าย ตอนนี้ยังไม่ถึงครึ่งเลย อีกไกล แต่ผมเชื่อว่าผมกับทีมงานน่าจะทำได้ เราต้องมีความเชื่อมั่นไว้ก่อน อย่ามีใจหดหู่
ทุกวันตื่นมาต้องดูตัวเลข ดูความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ตามทีมงาน ช่วงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของดุสิต เราคิดว่านอกเหนือจากที่เราผ่านวิกฤติโควิดมาได้แล้ว เราต้องทำแบรนด์ใหม่อย่างอาศัย และลอนช์แบรนด์เก่าที่เรารีแบรนดิ้ง รีดีไซน์ เช่น ดุสิตดีทู สามย่าน แล้วก็มีดุสิต เซ็นทรัลปาร์ค ทำแฟลกชิพ เป็นต้น
ทุกที่เราทำใหม่ ใส่วิชั่น มุมมอง ความคิดใหม่ ๆ ทั้งงานดีไซน์ในแง่มีส่วนร่วมกับชุมชน เอฟแอนด์บี เอาท์เลท แต่ละที่เรากำลังผลักดัน ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราจะสร้างแชพเตอร์ใหม่ในเครือดุสิตธานี
ความกดดันมีแต่เราต้องไปได้ เรามีเมเนจเมนท์ซัพพอร์ตและทำงานใกล้ชิดกันมาก บอกเลยว่าทีมเจนใหม่เขาไฟแรงและ Hunger อยากจะพิสูจน์ตัวเอง
อีกอย่างที่สำคัญตอนนี้คือ แนวคิด Sustainable ทำโรงแรมแห่งความยั่งยืน ยังไงก็ต้องทำ เราจ้างบริษัทข้างนอกทำเฟรมเวิร์ค เริ่มเมื่อกลางปีที่แล้ว ต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลไม่ใช่แค่เป็นเดือน โดยเฉพาะรีสอร์ทต่างจังหวัด บางครั้งเป็นซีซั่น บางเดือนลูกค้ามาก บางเดือนน้อย
ยกตัวอย่างแต่ละโรงแรมมีตัวผลิตไฟฟ้า ประสิทธิภาพเป็นยังไง เราพยายามทำเฟรมเวิร์คเก็บข้อมูล ต่อไปเราสามารถผลิตกรีนเฮาส์ เอาคาร์บอนออกไปได้เท่าไหร่ โดยทำงานกับแผนกวิศวกรที่มอนิเตอร์กันตลอดเวลา ตอนนี้เวลาสร้างโรงแรม การใช้น้ำ-ไฟของเราดีพอกับโรงแรมเชนใหญ่ทั่วโลกเลย เรื่องพวกนี้เราใส่ใจเต็มที่
ผมว่าทุกที่ต้องมีแนวคิดนี้นะ ถ้าไม่ทำมันเหนื่อยกับโรงแรมด้วย เราอินเวสต์ไปหนเดียวแต่ได้คืนกลับมาเยอะมาก หลายโรงแรมพยายามทำเรื่อง Zero Waste
หรือที่ The Food School เราเป็น Zero Waste ไม่ต้องเอาไปขยะทิ้งเลย มีเครื่องระดับอุตสาหกรรม เอาขยะเศษอาหารทิ้งวันละ 150 กก. มีเครื่องบดด้วย พวกกระดูก ผลไม้เปลือกแข็ง ๆ ทิ้งได้หมด เราบอกกับชุมชนรอบข้างด้วยว่า เอาขยะมาทิ้งกับเราได้
ผมคิดว่ายังไม่มีโรงเรียนสอนทำอาหารที่ไหนที่ลงทุนเยอะเท่าเรา อย่างที่บ้านผมมีเครื่องย่อยสลายขยะ วันละ 3 กก. ใช้มา 3 ปีแล้ว ตอนนี้ที่บ้านเปลี่ยนถุงขยะสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็เซฟพลาสติก บางประเทศอย่างเกาหลีใต้เขาไม่เก็บขยะอาหารแล้วนะ”
มองตัวเอง 10 ปี ข้างหน้า อยากทำอะไร
“อีก 10 ปี ผมอยากจะ...ยังไม่คิดเลย (หัวเราะ) ถ้าเรื่องงานคืออยากให้แบรนด์ไทยสามารถไปโตต่างประเทศอย่างยั่งยืนจริง ๆ ซึ่งเป็นวิชั่นของคุณย่าตั้งแต่ตอนแรกแล้ว ต่อมาคุณพ่อผม และคุณศุภจี (สุธรรมพันธ์) ทุกคนมีวิสัยทัศน์นี้หมด เราก็คิดว่าอยากมีวิสัยทัศน์นี้เหมือนกัน
รุ่นคุณพ่อผมไปเซาธ์อีสเอเซีย และไปไกลมากขึ้นถึงมิดเดิลอีสต์ พอคุณศุภจี ขยายอีกจากทำโรงแรมมาทำเรียลเอสเตทด้วย เช่น ดุสิตเซ็นทรัลปาร์ค ดุสิตฟู้ด ขยายธุรกิจแต่ละอย่างไปมากขึ้น
ผมก็ต้องต่อยอด เมื่อเดือนก่อนเพิ่งเปิดที่แรกของเราที่ยุโรป ต่อไปจะไปอเมริกา จะทำให้แบรนด์ไทย ซึ่งเริ่มต้นเล็ก ๆ โดยคุณย่าผมได้ไปอยู่ทั่วโลก ให้คนเห็นไม่ใช่แค่วัฒนธรรมไทย แต่อยากให้คนเห็นว่าเราเติบโต การบริการแบบไทย อาหารดี ๆ วัฒนธรรมไทย เรามีเยอะมาก ทำทุกอย่างทำยังไงให้เกิดบิ๊กอิมแพค”
แนวคิดดูแลสิ่งแวดล้อมได้มาจากตอนไปบวชด้วย
“ใช่ครับ ผมบวชเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นวัดป่าที่ชัยภูมิ มีคนทิ้งอาหารเหลือไว้ในกาละมังกลาง บางทีก็เทลงที่พื้นซึ่งไม่ใช่การตอบโจทย์ที่ดี พอหลังจากบวชแล้วผมก็ซื้อเครื่องย่อยขยะเศษอาหารให้ที่วัด 2 เครื่อง แถวนั้นมีฟาร์มด้วยก็ให้คนใช้เป็นปุ๋ย”
ทำไมถึงไปบวช
“อยากเรียนรู้ ที่ผ่านมาเราเครียดกับชีวิต เจอหลายเรื่อง โควิดด้วย คนก็ออกจากบริษัทไปเยอะ โรงเรียนปิด ทุกแห่งล็อกดาวน์ ตอนนั้นผมได้เป็นพ่อด้วยช่วงโควิด ซึ่งก็ดี แต่เราได้เรียนรู้การเป็นคนที่ดีทำยังไง การมีสติ สมาธิ ปัญญา วัดเป็นที่เดียวที่ได้เรียนรู้จริง
ที่ไปเป็นวัดป่าสายหลวงปู่ชา ชัยภูมิ เราไปโทรศัพท์ก็ไม่อยากมีเลย การที่เราไม่รู้ว่าจะเจออะไรก็เป็นการปล่อยวางเหมือนกัน ตื่นมาบิณฑบาต เวลาฉันอาหารก็มารวมกัน มีทั้งเค้ก แกงกะหรี่ ฉันมื้อเดียว ตื่นตี 3 ทำวัตรสวดมนต์
บวช 5 อาทิตย์ โหดเหมือนกันนะ คิดว่าอยากศึกษา ปฏิบัติจริงอยู่ในป่า มีบางครั้งคิดว่าไม่ไหวแล้ว แต่ส่วนใหญ่โอเคนะครับ บางครั้งเข้าห้องน้ำแล้วมีงูเลื้อยมา หรือเดิน ๆ อยู่ไปเตะถูกงู หรืองูโผล่มาตรงกุฏิมาจ้องเรา ตอนนั้นคิดว่าไหวหรือเปล่านะ แต่เมื่อเราตั้งใจปฏิบัติ คือการทำ Transformation ถ้าเราไปไม่สุดก็เหมือนทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ตอนอยู่วัดตอนเช้านั่งสมาธิ นั่งที่ไหนก็ได้ อยู่วัดก็นั่งในป่า ตรงแม่น้ำ ในป่าดีที่สุดแล้ว ยุงมาก็ไม่คิดอะไร ปล่อยวาง ๆ ๆ ...ท่านอาจารย์สอนไว้ บอกว่ายุงนี่นะคือครูที่ดีที่สุด มาเต็มตัวเลย ก็ช่างมัน
ทุกวันนี้พยายามบาลานซ์ชีวิต ลูกชายเพิ่ง 2 ขวบกว่า พยายามใช้เวลาอยู่กับเขาให้มาก
ผมชอบอ่านหนังสือทั้งไซโคโลจี้ ธรรมะ แนววิทยาศาสตร์ ตื่นมานั่งสมาธิ ก็ได้จากการไปบวช บางทีหนึ่งชั่วโมง บางที 45 นาที การนั่งสมาธิเหมือนกับเรามองเห็น เรื่องนี้เครียดก็เครียดนะ แต่มีทางเลือกที่จะไม่เครียดได้”
เมื่อก่อนเป็นนักสะสมแผ่นเสียงด้วย
“ช่วงหลังไม่สะสมอะไรแล้ว ไม่ได้บอกว่าการสะสมไม่ดีนะ ยังชอบฟังเพลงอยู่ เมื่อก่อนผมสะสมไวน์ด้วย แต่ก่อนผมมาก ต้องมี ไม่มีไม่ได้ แต่ตอนนี้แบบ...ไม่สะสมแล้ว จะดื่มก็ซื้อเอา ไม่จำเป็นต้องตุนไว้เป็นร้อย ๆ ขวด
การสะสมคือการยึดติด อีกอย่างเราพยายามคุยกับคนเยอะ ๆ อ่านหนังสือเยอะ ๆ และนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้รู้จักตัวเองด้วย อะไรคือตัวเราจริง ๆ อะไรคืออารมณ์ อะไรคือสิ่งที่เวียนเข้ามาซึ่งมันก็มีอยู่เยอะในโลกนี้ เปิดมือถือมาเจอเต็มไปหมด
ผมว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าสำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องยึดติด วัดที่ผมไปบวชไม่มีพระพุทธรูปสีทอง มีพระพุทธรูปแกะมาจากหินธรรมดา แค่นั้น ไม่ได้จุดธูปเทียน ให้อยู่กับธรรมชาติ
ผมคิดว่าความศรัทธามาจากการปฏิบัติไม่ได้มาจากความเชื่อ แต่เราต้องศรัทธากับคำสอนของท่านว่า ทุกคนสามารถมีสิ่งศักดิ์สิทธ์ในตัวเราได้ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน มาจากศาสนาอะไรก็ตาม ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ เรามองเห็นความจริง คือสำคัญที่สุด
บางทีเรามองอะไรที่มันยึดติด ทำให้เราเสียความเป็นคนไปเยอะเหมือนกัน การไม่ยึดติด ไม่เครียด ต้องปฏิบัติจริง คนชอบพูดว่ายาก ยากจริงแต่มันอยู่ในหัว สวรรค์กับนรกก็อยู่ในหัวเราทั้งนั้น ทุกอย่างคือคอนเซปต์หมด แล้วเราเอาคอนเซปต์พวกนี้มาใส่ตัวเราหมดเลย
ถึงบอกว่าเราต้องอยู่กับทุกวันนี้ ขนาดผมคิดว่าอยู่มา 5 อาทิตย์แล้วฝึกมาเป็น Best Training แต่บางทียังเผลอไปกับมัน
อย่างการทำสมาธิ ต้องยอมรับว่าบางวันเรานิ่ง รู้สึกโล่ง สงบ ไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย แต่บางวันก็มีอะไรมา แอบเคืองตัวเอง และความเคืองคือความยึดติดนะว่าเราอยากได้ ทุก ๆ โมเมนต์คือความเคืองตัวเอง
แต่ไม่ค่อยเคืองคนอื่นนะหรือเคืองน้อยลง เมื่อก่อนโกรธมากกว่านี้ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว
ยังคิดว่าถ้าไม่มีภาระก็อยากไปบวชอีก คือที่สุดของชีวิตแล้ว จะหาคำตอบของชีวิตได้มีที่เดียวนะสำหรับผม...คือสุดยอดมาก”