'นักแปล' จะถูก AI แย่งงานจริงหรือ ‘ครูปุ้ม’มีคำตอบ...
ล่าสุด มี AI มาช่วย 'แปลภาษา' และทำได้หลายอย่าง สร้างความวิตกกังวลให้กับอาชีพ 'นักแปล' จะยังคงอยู่ได้หรือไม่ อย่างไร
นวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และได้มีการคิดค้นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ( Artificial Intelligence) มาทำงานแทนมนุษย์ เพียงแค่ใช้เครื่องมือป้อนคำถามลงไป ไม่นานก็ได้คำตอบออกมา ความรู้จึงอยู่แค่ปลายนิ้ว
ถ้าเป็นแบบนี้ นักแปลจะถูกแย่งงานหรือไม่
ในงาน วันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 16 ปาฐกถาหัวข้อ Translation On Getting ‘More’ Global
ครูปุ้ม หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปทมา อัตนโถ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึง การแปลภาษาที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และมีบางเรื่องที่ AI ทำไม่ได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในฐานะผู้สอนภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี-โท มานานกว่า 34 ปีและล่าสุดเป็นครูสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ทาง Tiktok และ เฟซบุ๊ก Krupumcu โดยมีผู้ติดตามใน Tiktok จำนวน 415.8 k และเฟซบุ๊ก จำนวน 80,000 คน
เล่าถึงการแปลภาษาในยุคที่ AI มีบทบาทมากขึ้นว่า จะแปลทับศัพท์ตามความเป็นจริง หรือจะเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมนั้น ๆ เพราะแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา มีค่านิยมแตกต่างกัน
"ภาษาไทยมีความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่อดีต และมีอยู่ไม่น้อย ในหลาย ๆ ด้าน เช่น วรรณยุกต์ ปัจจุบันคนพูดเสียงสูงขึ้น
ดาราที่มาโฆษณา จะลูกครึ่งหรือไม่ลูกครึ่ง มีความเพี้ยนเรื่องวรรณยุกต์เยอะมาก ยกตัวอย่าง ยาชนิดนี้มียอดขายสูงในประเทศจี้นนนน...
ส่วน คำขยาย ก็เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเราจะเอาคำว่า ‘โคตร’ ไว้ข้างหน้า เช่น โคตรร้อน แต่ปัจจุบันจะพูดว่า ร้อนโคตร
หรือมีการ ตัดคำ เช่น 7-11 เปิด 24 ชั่วโมง ก็เขียนเพียง ‘เปิด 24’ พูดอีกนิดหนึ่งก็ไม่ได้ ก็เลยมีแค่ เปิด 24 ถามว่าเข้าใจไหม ก็เข้าใจ
มีการใช้คำว่า การ และ ความ เยอะมาก เช่น โครงการนี้มีความยืดหยุ่นสูง ทั้ง ๆ ที่ใช้โครงการนี้ยืดหยุ่นสูงก็ได้ ไม่ต้องมีความ หรือ เขามีความเข้มข้น ใช้เข้มข้นก็ได้
คำบางคำ คนสมัยนี้จะไม่รู้จัก เช่น เชิงสะพาน, สองยาม ดิฉันเคยโทรไปถามห้างแห่งหนึ่ง “น้องเปิดถึงสองยามไหม” เขาเงียบไปจนรู้สึกว่าถูกตัดสาย แล้วเขาก็ตอบว่า “เราเปิดถึง 24 นาฬิกาค่ะ” ดิฉันเป็นคนไม่พูด 24 นาฬิกา ดิฉันพูดสองยาม
การออกเสียง ตัวอักษร ก็เปลี่ยนไป เช่น เซ็ง ก็เป็น เซ็ง (เสียง Z) หรือ ช.ช้าง เราก็มีสองเสียง CH กับ SH ซึ่งภาษาไทย ช.ช้าง ก็ ช.ช้าง หรือ ร.เรือ ก็เช่นกัน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- AI จะทำให้นักแปลตกงานจริงไหม
ครูปุ้ม กล่าวว่า AI หรือเครื่องแปลภาษาต่าง ๆ เป็นปัญญาประดิษฐ์ และมีเครื่องมือเกิดขึ้นเยอะมาก
"เครื่องมือเหล่านั้นใช้หลักการแปลจากความถี่ หรือเกิดการใช้บ่อย ๆ แต่ไม่สามารถเล่นคำได้เหมือนมนุษย์ เช่น ดิฉันสั่งอาหารสุนัขมาส่งที่บ้าน เวลามาส่ง ข้างกระสอบเขียนว่า 'อาหารสุนัขโตเนื้อ' เข้าใจใช่ไหมคะ
หรือคำว่า 'สตูล' เก้าอี้ไม่มีพนัก เขาขายสองตัวลดราคา Google Translate ก็แปลเป็นภาษาไทยว่า 'ขายอุจจาระกลม สองอันสองร้อย'
แล้วยังมี Pumpkin Connection (ฟักทองเชื่อม) หรือ เวลาขับรถไปจอดก็ Beware Saturday (ระวังเสา)
ซึ่งการเปิด Dictionary ตรง ๆ เช่นทุกวันนี้ เราจะทำกันไหม ถ้าท่านเป็นนักแปลหรือเป็นล่าม
มีโฆษณาเร็ว ๆ นี้ ณเดชน์ถือแก้วสีแดงเนสกาแฟ มีควันขึ้นมา แล้วพูดว่า “มะ เรามาหอมกัน” มีสองความหมายคือ การหอมที่หมายถึงกลิ่น กับการหอมที่เป็น verb ถ้าแปลโดย AI ก็คงจะเลือกอันเดียวคือ เรื่องกลิ่น
Cr. Kanok Shokjaratkul
มีหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเมือง วินสตัน เชอร์ชิล เขียนว่า หากพยายามจะเข้าใจรัสเซีย...แล้วมีคำอธิบายอยู่ 3 คำ ดิฉันลองให้กูเกิลแปลออกมา
ได้คำตอบว่า มันเป็นปริศนาที่รวบรวมความลึกลับในปริศนา แสดงว่าเขาแปลได้แค่สองคำ คือปริศนา กับลึกลับ แต่จริง ๆ แล้ว มีศัพท์ที่มีความหมายถึง 3 คำ 3 ความหมาย แล้วเราจะไปหาตรงไหนล่ะ
หรืออย่างคำว่า Passion ทุกวงการเลยแปลว่า หลงใหล ดิฉันมีความหลงใหลในการทำสวน ดิฉันจะไปสำรวจไส้เดือน ซื้อเสียม ซื้อจอบ อย่างนี้หรือคะ
ดิฉันเลยมาตั้งสำนักของตัวเองว่า Passion แปลว่า ใจรัก เราไปซื้อเสียมซื้อจอบ แล้วไปดูปุ๋ย ดูไส้เดือน เราใจรักในงานแปลต่าง ๆ แต่เราไม่ได้หลงใหลค่ะ
เวลาผ่านไปหน้าโรงพยาบาลสงฆ์ เคยสังเกตไหมคะ ทำไมเป็น Priest Hospital ไม่เป็น Monk Hospital ก็ไม่ทราบว่าจะถามใคร
ระยะหลังละครหลังข่าว จะมีภาษาอังกฤษกำกับ เช่น เรื่องนี้ประพันธ์โดย ว.วินิจฉัยกุล ก็มีตัว W......
ในส่วนของนักแสดงก็มีภาษาอังกฤษกำกับ ชื่อเรื่องก็ยังมีแปล เช่น เรื่อง ‘แค้น’ บรรทัดข้างล่างจะเขียนว่า No Body Happy If I not ซึ่งภาษาไทยมีคำเดียว ‘แค้น’ ซึ่งมีความหมายที่แสนจะตรง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ภาษาไทยงดงามและมีเอกลักษณ์
ครูปุ้มกล่าวต่อว่า ภาษาไทยมีความงดงาม เป็นภาษาที่ล้ำลึกและมี Mention ต่าง ๆ
"ภาษาไทยจะมีคำ 4 พยางค์ที่ดิฉันชอบเยอะมาก ต่างจากการแปลตรง ๆ เช่น กุลีกุจอ กระวีกระวาด พิรี้พิไร พินอบพิเทา
การเล่นคำ เป็นภาษาเฉพาะ ค่อนข้างเป็นเรื่องศิลปะ และมันแปลยาก
ดิฉันมีความรู้สึกว่า AI หรือ Chat GPT ต่างๆ ที่ใช้แปลภาษา มันยังไม่ได้ ถ้าดิฉันยังมีชีวิตอยู่ อีก 50 ปีต่อไปมันอาจจะแทนได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้
อย่างคำภาษาไทยที่ว่า ละเมียดละไม ละมุนละม่อม AI ไม่เคยพบคำเหล่านี้ เพราะ AI กับ Chat ต่างๆ เกิดจากการแปลตามความถี่ของการใช้งาน
มันไม่ได้รับการสอน AI ไม่ใช่มนุษย์ และไม่รู้ว่ามีคำ 4 พยางค์
สถิติเป็นข้อมูลที่ AI ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ ต่อให้ AI พัฒนายังไง ก็ยังแปลเรื่องคำไม่ได้
ยกตัวอย่างคำว่า Good Time Great taste จะแปลยังไงให้ออกมาเป็น ‘อร่อยรส สนุกล้ำ’ โอ้โห มันกินใจมาก ๆ จำมาถึงทุกวันนี้
หรือคำว่า Coke is it ที่นักแปลคำโฆษณาต้องใช้ลูกเล่นอะไรมากมาย เราเคยได้โจทย์นี้ ก็คิดกันใหญ่เลย ไปคิดว่า “ใช่แล้ว ต้องเป็นโค้ก” ก็ใช้โฆษณาไม่ได้ สุดท้าย “ต้องโค้กสิ” เป๊ะเลย สามคำสามพยางค์เหมือนกันด้วย
ดิฉันคิดว่า อาจจะเกิดอาชีพขึ้นมาอีกอย่างคือ Post Translation Editor คือมีคนแปลมาก่อน แล้วเราเป็นคนมาตรวจ เราก็จะไม่ใช่คนแปลอีกต่อไปแล้ว
เพราะ AI หรือ Chat GPT มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อให้เราสะดวก เพื่อทำงานแข่งกับเวลา ในขณะที่ภาษาไทยก็ต้องคงไว้ด้วยความสง่างาม
ดิฉันคิดว่างานแปลก็ยังคงเป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชม ถูกยกย่องต่อไปอีกนาน เพราะเกิดจากความพิถีพิถันและเอาใจใส่ของเรา
ในฐานะที่เป็นเจ้าของภาษา และเป็นผู้แปลที่มีความสามารถ ก็อยากทำให้งานแปลของเรามีคุณค่ามากขึ้น เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ที่จะได้ศึกษาภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งไม่ควรหายไป"