'กรทอง วิริยะเศวตกุล' ครีเอเตอร์เนิร์ดสายอวกาศ ผู้หลงใหลเรื่องนอกโลก
ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นนักดาราศาสตร์ แต่เป็นนักสื่อสารเรื่องอวกาศ หนุ่มเนิร์ดวัย 20 ต้นๆ 'กรทอง วิริยะเศวตกุล' เอาสิ่งที่สนใจตั้งแต่เด็กพัฒนาจนรู้ข้อมูลเชิงลึกมาถ่ายทอดในเพจ KornKT
Key Points :
- ถ้าเข้าไปอ่านในเพจ KornKT ก็จะรู้ว่าคำว่า ครีเอเตอร์สายอวกาศ ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย
- ไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ เลือกสอบเทียบมัธยมปลายตามหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา (GED หรือ General Educational Development ) ครั้งเดียวได้
- มีปมในวัยเด็ก อยากรู้เรื่องดาราศาสตร์ แต่ในหนังสือเรียน แทบไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย อยากรู้ก็ต้องค้นข้อมูล ยิ่งรู้คำตอบ ก็ยิ่งมีคำถาม
ชีวิตเลือกได้ จึงเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนทั่วไป จะด้วยความสามารถหรือความกล้า ก็ขอไปตามเส้นทางที่เลือก
อายุ 13 ปี กรทอง วิริยะเศวตกุล ออกรายการแฟนพันธุ์แท้ ระบบสุริยะปี 2014 เข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในโครงการการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ (GATE) แต่ไม่เรียนต่อระดับมัธยมปลาย ใช้วิธีสอบเทียบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ
กรทอง วิริยะเศวตกุล เจ้าของเพจที่นำเสนอเกี่ยวกับอวกาศ KornKT
ตอนจบมัธยม 3 ตั้งใจออกไปค้นหาชีวิต เข้าค่ายเรียนรู้มากมาย จนมาเจอกลุ่มเพื่อนร่วมกันก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการ Spaceth.co เว็บไซต์อวกาศที่เด็กรุ่นใหม่รู้จักเป็นอย่างดี เคยได้รางวัลจากงาน Thailand Best Blog Awards 2017
ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ คอนเทนต์ ที่เว็บกีฬา Main Stand ทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และสร้างคอนเทนต์เรื่องอวกาศในเพจ KornKT ที่ทำคนเดียวทั้งกระบวนการ ส่วนเว็บ Spaceth.co ปล่อยให้น้องๆ รุ่นใหม่ทำต่อ
เรื่องที่คุยกันในทอล์คฉบับนี้ จึงหนีไม่พ้นเรื่องอวกาศ และความฝันของกรทอง ครีเอเตอร์สายอวกาศ ที่อยากปูทางให้คนเจนถัดไปในเรื่องความรู้ดาราศาสตร์
- ทั้งๆ ที่มีโอกาสเรียนในโครงการเด็กเก่งที่สวนกุหลาบ แต่เลือกไม่เรียนต่อระดับมัธยมปลาย ?
ตอนผมเข้าสวนกุหลาบ ผมสอบติดตัวสำรอง ไม่ได้เรียนพิเศษเสริม ที่นั่นได้เจอเพื่อนที่เก่งวิชาการด้านต่างๆ แต่ละคนสุดๆ กิจกรรมก็เต็มที่ เรื่องวิชาการค่อนข้างหนัก
ตัวผมเองมีความขบถในตัวเอง ถ้าด้านดาราศาสตร์วิชาการจะไปทางการคำนวณตัวเลข ผมไม่ได้สนใจขนาดนั้น
- ตั้งใจจะออกมาค้นหาตัวเอง แล้วเจอไหม
ตอนแรกตั้งใจว่าจะหาอะไรทำปี สองปี ผมมีความฝันเยอะ อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือทำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬา ส่วนเรื่องการเรียนดาราศาสตร์ ถ้าจะเรียนจริงจัง ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมเหมาะกับงานด้านนี้หรือเปล่า
ผมจบมัธยมปีที่ 3 ก็ลาออกจากสวนกุหลาบ ตอนนั้นเข้าค่ายเยอะมาก เจอกลุ่มเพื่อนที่สนใจเหมือนกัน มาร่วมกันทำเพจและเว็บ Spaceth.co สื่อสารเรื่องอวกาศ
ตอนนั้นพ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วยที่ผมจบมัธยม 3 แล้วออกจากการเรียนในระบบ โดยไม่มีแผนสำรอง แต่ผมบอกว่า จะพยายามผลักดันตัวเองเข้ามหาวิทยาลัย จะสอบเทียบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา (GED หรือ General Educational Development )
ผมสอบครั้งเดียวสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เลย ต้องยอมรับผมได้พื้นฐานที่ดีจากสวนกุหลาบและตอนเรียนโรงเรียนนานาชาติ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ
- ความชอบเรื่องอวกาศ มีมาตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่เด็กๆ เวลานั่งรถ ผมจะเห็นดวงจันทร์ตามรถมาตลอด ผมชอบสังเกต จากความกลัวก็เปลี่ยนเป็นหลงใหล อีกอย่างเวลาเรียนในห้องเรียน เรื่องดาราศาสตร์มีน้อยมาก
ผมจึงหาหนังสืออ่านและค้นจากอินเทอร์เน็ต ยิ่งได้คำตอบ ก็มีคำถามตามมาเรื่อยๆ สนใจมาตั้งแต่ 4-5 ขวบ และสนใจจริงจัง 8 ขวบ
- ตอนอายุ 8 ขวบ คุณค้นข้อมูลเรื่องดวงดาวจากอินเทอร์เน็ต ?
พ่อแม่ผมสอนเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต ผมจึงค้นข้อมูลดวงดาวไปเรื่อยๆ ตอนนั้นข้อมูลภาษาไทยมีจำกัด จนผมเรียนประถม 5-6 โรงเรียนนานาชาติ ทำให้ผมค้นข้อมูลภาษาอังกฤษได้
(ภาพลิขสิทธิ์จากเพจ KortKT)
- พ่อแม่คุณสอนอย่างไร
พ่อแม่พยายามสอนหลักการจำให้ผม ไม่เคยกดดันว่าต้องเรียนได้เกรดดีๆ เพราะผมทำได้อยู่แล้ว รับผิดชอบต่องานที่ทำ ตอนอายุ13 ผมไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้เรื่องระบบสุริยะ ตอนนั้นผมอายุน้อยสุด
- คุณสนใจดาราศาสตร์ในแง่มุมไหน
การสื่อสารด้านดาราศาสตร์ อย่างทฤษฎีสมคบคิด ถ้าบอกว่า มนุษย์ไม่เคยเดินบนดวงจันทร์ หรือมีสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก ข้อมูลที่เกินความจริง จะมีการถกเถียงกัน ตรงนี้มีช่องว่างที่เราเติมเต็มได้ นัั่นคือการสื่อสารด้านดาราศาสตร์ เพื่อเอาข้อมูลถูกต้องออกมา
เป็นปมในวัยเด็กด้วย คนไม่ค่อยพูดถึงเรื่องดาราศาสตร์ ในหนังสือเรียนแทบไม่มีเลย ผมอยากให้เด็กเจนถัดไปที่อยากรู้ไม่ต้องเสียเวลาในการค้นข้อมูลเยอะ เอาเวลาไปตามหาความฝันได้เต็มที่
ผมจึงเขียนเรื่องราวในอวกาศลงเว็บ ตอนนั้นผมร่วมกับเพื่อนก่อตั้งเว็บ Spaceth.co และเป็นบรรณาธิการ ตอนนี้ให้คนเจนใหม่ทำต่อ
- ชอบเรื่องการผลิตสื่อสมัยใหม่มากกว่าการเป็นนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ ?
สำหรับผม การเรียนรู้ด้านระบบสุริยะทำได้ตลอดเวลา แต่วิธีการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดให้คนจำนวนมากรู้ การผลิตเนื้อหาเป็นอีกเรื่องที่ผมสนใจ ต้องยอมรับว่าการทำงานด้านการสื่อสารเรื่องดาราศาสตร์ทำเงินได้น้อย โดยเฉพาะด้านอวกาศ แต่ผมพอมีรายได้จากการทำสื่อของตัวเองในโซเชียลมีเดีย KornKT
ผมลองฝึกงานกับที่ต่างๆ ผมชอบเรื่องอวกาศและกีฬา ตอนเด็กๆ ผมพูดไม่ชัด และอยากเป็นนักพากย์บอลอย่างพี่สาธิต กรีกุล
ผมสนใจเรื่องดนตรีด้วย เคยฟอร์มทีมจะตั้งวงกับเพื่อนๆ แต่ไม่มีเวลา ตอนทำเว็บ ผมก็เอาบทเพลงบอดี้สแลมไปแมทกับเรื่องอวกาศ
เรื่องอวกาศ เปิดจินตนาการไม่สิ้นสุด ชีวิตผมคงอยู่กับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไม่เบื่อ ถ้าพูดแบบฟุ้งๆ อาจมีการค้นพบชีวิตนอกโลก หรือการส่งมนุษย์ไปลงดาวอังคาร
รองจากเรื่องอวกาศ สิ่งที่ผมสนใจคือกีฬา งานที่ทำให้ผมได้เดินทาง ได้เจอเรื่องราวที่คลิกอีกมุม ทำให้ผมพัฒนาการสื่อสาร เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอด
- สนใจเรื่องอวกาศ และเป็นคอนเทนต์ ครีเอทีฟ ด้านกีฬาให้เว็บ Main Stand คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ปี 2021 ก่อนที่นักกีฬาของไทยจะไปแข่งโอลิมปิคที่ญี่ปุ่น ผมได้สัมภาษณ์นักกีฬาเรือใบที่อายุน้อยกว่าผม ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนที่อายุน้อยสุดในทีมทำงาน
ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจจากนักกีฬาคนนั้น จากที่เขาเห็นพี่ๆ ใส่เสื้อกีฬาเดินเข้าสนามแข่งเป็นแรงผลักดันว่า วันหนึ่งเขาจะใส่ชุดแบบนั้นบ้าง
ตอนมัธยมเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด เขายอมเสียตรงนั้นไปเพื่อฝึกซ้อม กีฬาเรือใบที่อุปกรณ์ไม่ได้เข้าถึงได้ง่าย เขาต้องเผชิญความผิดหวังมากมาย เรื่องนี้มีส่วนในการเปลี่ยนมุมมองของผม
เรื่องออนไลน์ผมก็ทำจนเชี่ยวชาญ ในอนาคตผมอยากทำพื้นที่ด้านดาราศาสตร์สำหรับคนไม่มีโอกาส ตั้งกล้องดูดาว มีโมเดลระบบสุริยะ คงจะสร้างแรงบันดาลใจในแบบที่ออนไลน์ถ่ายทอดไม่ได้ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวสำหรับคนเจนที่กำลังเติบโต อยากผลักดันเรื่องนี้
ในยุค 90 มีเด็กที่เติบโตเป็นนักบินอวกาศ สร้างสถานีอวกาศ เพราะเขาได้รับแรงบันดาลใจได้เห็นมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ เราจับประเด็นตรงนี้ เพื่อต่อยอด อาจพลิกอุตสาหกรรมบางอย่าง
แม้ประเทศไทยจะห่างไกลเรื่องอวกาศ แต่มีบุคลากรดาราศาสตร์เก่งๆ เยอะ มีสมาคมดาราศาสตร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA )
มีนักวิจัยทำงานกับนักดาราศาสตร์ทั่วโลก ผมเห็นหลายคนมีความสามารถ เคยมีการทำกล้องดูดาว เพื่อให้เด็กๆ ที่สนใจดาราศาสตร์ได้สำรวจอวกาศหาดาวเคราะห์นอกระบบ รับสัญญาณจากหลุมดำกาแล็กซี
ถ้ายุคปัจจุบันทำได้ขนาดนี้ อีก 10-20 ปีข้างหน้า น้องๆ เจนใหม่อาจเป็นหนึ่งในกำลังหลักของเอเชีย
- เคยคิดจะทำงานในองค์กรด้านดาราศาสตร์ไหม
ตอนเด็กๆ คิด แต่ตอนนี้คิดว่า การรายงานของเราจากพื้นฐานความเป็นจริง การสื่อสารที่เป็นงานอิสระเหมาะกับสไตล์ผม
- ความสนใจด้านดาราศาสตร์ ทำให้คุณได้รู้และเห็นอะไรเพิ่มเติม
ดาราศาสตร์ไม่ใช่แค่ศาสตร์เฉพาะทาง แต่ยังรวมความรู้แขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน อาทิ อาหารในสภาวะไร้น้ำหนักหรือบนดวงจันทร์จะทำอย่างไร เราจะดูแลมวลกระดูก ไม่ให้ขาลีบในสภาพไร้น้ำหนักได้อย่างไร
ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เหมือนข่าวกีฬาบันเทิงที่เกิดขึ้นทุกวัน
- เชื่อไหมว่า มีชีวิตนอกโลก?
โดยส่วนตัวเชื่อครับ มีความน่าจะเป็นที่จะเจอ มีดาวเคราะห์กว่าหลายล้านดวง ต้องรอการค้นพบ เมื่อ 30 ปีที่แล้วเพิ่งเจอดาวเคราะห์ดวงแรกที่อยู่ในกาแล็กซีอื่น
แต่คงอีกยาวนานกว่าจะเจอชีวิตนอกโลก อาจไม่ใช่เอเลี่ยนเหมือนในหนัง น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว
- ในอนาคตอาจมีการออกแบบอวกาศ คุณคิดเห็นอย่างไร
เราอยู่ในยุคที่สามารถเดินทางออกไปใช้ชีวิตนอกโลกได้ อีลอน มัสก์ มีแผนจะเอาคนไปตั้งถิ่นฐานในดาวอังคารใช้เวลาเดินทางจากโลก 8 เดือน
ดังนั้นการใช้ชีวิตที่นั่นต้องพึ่งตนเอง ทุกอย่างต้องรองรับการใช้ชีวิต เพราะตัดขาดจากโลกโดยสิ้นเชิง มีหลายบริษัทสนใจการก่อสร้างพื้นที่นอกโลก
- สิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร เป็นเรื่องที่มนุษย์พยายามค้นหาคำตอบ ?
ในอดีตอาจมี ครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยมีแม่น้ำเหมือนโลก ก่อนน้ำจะระเหยแห้งไป มนุษย์เพิ่งส่งยานอวกาศตามหาร่องรอยสิ่งที่มีชีวิต แค่สองปีที่มีการวิเคราะห์ ด้วยความรู้ตอนนี้โอกาสเจอสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารน้อยมาก ยกเว้นมีการค้นพบใหม่
- วกกลับมาที่ระบบการศึกษาไทย คุณคิดเห็นอย่างไร
เรียนเพื่อไปสอบ ต้องได้คะแนนดีที่สุดไม่วิธีไหนก็ตาม การศึกษาแบบนี้ทำให้เด็กต้องมีพอร์ตสวยๆ เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ
ตอนเรียนผมก็เป็นเด็กหลังห้อง เวลาทำงานกลุ่ม เด็กที่เก่งก็จะจับกลุ่มกันเอง ผมจะเป็นเศษเหลือกลุ่มสุดท้าย
ถ้าเป็นเรื่องดาราศาสตร์ มีองค์ความรู้ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เรื่องที่เรารู้เมื่อเดือนที่แล้ว พอถึงเดือนนี้ อาจต้องฉีกตำราทิ้ง เพราะมีทฤษฎีใหม่แย้งข้อมูลเก่า
จำนวนดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ต่างๆ ตอนผมเรียนมีแค่ 60 ดวง เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี2566 มีจำนวน 90 ดวง เดือนมิถุนายน ปี2566 มีอยู่ 140 ดวง และสิ้นปีนี้อาจมี 200 ดวง
มีความเข้าใจใหม่ๆ ตลอด เคยมีการถ่ายภาพหลุมดำ พบว่า มีเงาของหลุมดำที่บันทึกได้ สอดคล้องกับทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามค้นว่า มีจุดอ่อนอะไรที่ทฤษฎีอธิบายไม่ได้
เพื่อนๆ พูดกันเล่นๆ ว่า ทำงานวิทยาศาสตร์เหมือนศิษย์ล้างครู ไม่ว่าครูเก่งแค่ไหน เราก็ต้องดูว่ามีช่องโหว่อะไร เพราะมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นตลอด
- เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ปฎิเสธการเรียนในระบบมหาวิทยาลัย ?
คือผมเป็นคนขี้เกียจ และยังอยากเรียนรู้เพิ่ม ถ้าไม่ถูกกระตุ้นจากระบบจะหลุดไป การเรียนมหาวิทยาลัยสำหรับผมจะดึงสติกลับมา ที่เราคิดว่า เราเก่ง เราไม่ได้เก่งเลย มีเพื่อนเทพๆ กว่าเราเยอะ มีอาจารย์ที่มีประสบการณ์
(ภาพลิขสิทธิ์จากเพจ KortKT)
- เคยรู้สึกว่าตัวเองเก่งไหม ?
ก่อนหน้านี้เป็นเยอะ แต่ตอนเรียนมัธยมที่สวนกุหลาบมีคนเก่งกว่าเราเยอะ รายล้อมด้วยคนที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก ก็เลยคิดว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง
- เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว อยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม
ผมอยากรู้เรื่องวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬา เป็นศาสตร์ที่น่าค้นคว้า ผมตามเรื่องฟุตบอลและการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน ถ้ามองผิวเผินฟุตบอลก็คือ คนที่เตะบอลบนสนามหญ้า
แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์ข้อมูลเห็น ก็คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกีฬา แค่เสี้ยววินาทีของการแข่งขันจึงมีความหมาย
ถ้าไม่นับเรื่องวิชาการ ผมอยากแบกเป้ไปดูโลก เรียนรู้เรื่องราวคนท้องถิ่น ถ้ามองจักรวาล โลกก็เล็กนิดเดียว และองค์ความรู้ของคนแต่ละประเทศก็ต่างกัน
- ยังวิ่งตามความฝันอีกหลายอย่าง ?
โลกหมุนทุกวัน เราต้องพร้อม หมุนให้ทันโลกใบนี้ ถ้าเราหยุด คนอื่นก็ยังเดินต่อไป เป็นความท้าทายที่เราจะก้าวให้ทันโลก
ตอนเราเป็นเด็กมีคนบอกว่า คนเจนผมเป็นความหวังใหม่ แต่ตอนนี้ผมอยู่ในจุดที่ได้เห็นเด็กเจนใหม่กว่า อะไรที่เราเคยเข้าใจหรือยึดมั่น อาจไม่ใช่แล้ว ต้องมีความพร้อมในการปรับตัว