'ปณิธานชาวอันดามัน' กับการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม

'ปณิธานชาวอันดามัน' กับการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม

"ไมโครพลาสติก" เกิดจากการปนเปื้อนของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในท้องทะเล ที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ทำให้ "ชาวอันดามัน" มุ่งขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม ตั้งเป้าลดไมโครพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อสี่ปีก่อน ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ได้ทำการเก็บตัวอย่างปลาทูจากบริเวณท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู พบว่ามีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูที่สุ่มตัวอย่างทั้ง 40 ตัว ปัจจุบันกว่า 80% ขยะในท้องทะเลส่วนใหญ่มาจากขยะบนบก โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากก็กำลังจะลอยเกลื่อนเต็มท้องทะเลในวันนี้

อีกเรื่องที่ต้องยอมรับคือ ผู้บริโภคมีส่วนในการสร้างขยะทุกคน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปริมาณไมโครพลาสติกเพิ่มจำนวนมากขึ้นในท้องทะเล และรักษาให้ท้องทะเลไทยยังคงงดงาม ถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดการโฟมและพลาสติกที่รั่วไหล หรือถูกทิ้งอย่างจงใจลงสู่ทะเล ที่เป็นภัยด้านสิ่งแวดล้อมและอันตรายต่อสุขภาพของคน

วันที่เปลี่ยนไป

ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไข นอกจากในระดับแนวคิด นโยบายแล้ว ชุมชน และครัวเรือนเองก็มีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญ

มณีวรรณ สันหลี ผู้ประสานงานจากมูลนิธิอันดามัน หนึ่งภาคีที่ผลักดันการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องทะเลตรังต่อเนื่อง เล่าถึงความพยายามขับเคลื่อนให้ท้องทะเลไทยปราศจากขยะหรือพลาสติกด้วยแนวคิดการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางว่า จุดที่เปลี่ยนจริงๆ เกิดหลังจากกรณีของ "มาเรียม" พยูนที่พลัดหลงจากแม่มาที่เกาะลิบง สุดท้ายก็เสียชีวิต และเมื่อชันสูตรศพพบว่าน้องมีเศษพลาสติกติดในกระเพาะอาหาร นอกจากนั้น "มณีวรรณ" ให้ข้อมูลว่า ขยะที่เกิดขึ้นในท้องทะเลล้วนเกิดทั้งจากน้ำมือนักท่องเที่ยว และชุมชนต่างก็มีส่วนสร้างขยะไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้น ควบคู่ไปกับการรณรงค์ลดการทิ้งขยะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ทางมูลนิธิจึงมีการดำเนินการจัดการขยะร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นไปพร้อมกัน

"ปัจจุบันตรังมีบ่อทิ้งขยะ 22 บ่อ แต่มีบ่อที่ได้มาตรฐานแค่บ่อเดียว อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนขยะที่มาก ปัจจุบันทั้ง 21 บ่อที่เหลือก็เต็มล้นไปด้วยขยะหมดแล้ว ขณะที่ขยะบางส่วนรั่วไกลสู่ท้องยังทะเล" มณีวรรณ

ท่องเที่ยวไม่ได้

มณีวรรณ พูดถึงเรื่องขยะว่า จุดเริ่มต้น ได้เล่าให้ชาวบ้านฟังว่าตอนนี้สถานการณ์ขยะประเทศไทยอยู่อันดับไหน พบอะไรบ้าง พร้อมให้ข้อมูลต่อว่า พอทิ้งพลาสติกไปในน้ำก็จะแตกตัวย่อยสลายไปเป็น ไมโครพลาสติก เมื่อเรากินปลาก็จะมีไมโครพลาสติกที่แพลงก์ตอนกินเข้าไปปะปนอยู่ แล้วก็ยกกรณีศึกษางานวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ให้เขาดูว่าปลาทู 40 ตัว พบไมโครพลาสติก 40 ตัวเเล้ว แล้วที่กลัวคือ ตอนนี้นักท่องเที่ยวเริ่มมาเยอะ แล้วขยะมันก็ต้องเยอะตามด้วย ไหนจะวิ่งเรืออีก ทรัพยากรเสียหาย แล้วพยูนก็จะหายด้วย

\'ปณิธานชาวอันดามัน\' กับการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม

มูลนิธิจึงสร้างความเข้มแข็งกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตรังให้มีความตระหนักรู้เรื่องขยะ ทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชุมชนร่วมกันเก็บขยะในพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างกิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนเรื่องขยะ จัดการแปลงเป็นทุนโดยชั่งน้ำหนักขาย ทำให้ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมากขึ้น

"เมื่อก่อนอวนไม่ใช้แล้ว แต่เดิมเคยเผา เคยทิ้งขว้าง แต่พอบอกว่าเรารับซื้อเขาก็รู้แล้วว่ามีค่า มาขายเรา ส่วนขยะทั่วไป ทั้งชาวบ้าน และผู้ประกอบการโรงแรมช่วยกัน"

ได้ร่วมกับ สสส. ทำโครงการลดภัยสุขภาพ สิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกในทะเล ต่อยอดทำกิจกรรมรณรงค์จัดการขยะทะเลตั้งแต่ต้นทาง ร่วมกับ 4 ตำบลในตรัง ได้แก่ บ่อหิน อำเภอสิเกา เกาะลิบง อำเภอกันตัง เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ ซึ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง มีการประกอบอาชีพทั้งประมงทางทะเล การท่องเที่ยว ร่วมกับอุทยานแห่งชาติและภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งทำงานแก้ ปัญหาขยะ โดยใช้เป้าหมาย 4 เรื่อง ได้แก่ 1) งดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร 2) ลดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 3) มีการคัดแยกขยะต้นทาง 4) ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทน ซึ่งอีกภาคส่วนของงานคือ การจับมือ อสม. และชุมชน โดยใช้แนวทางสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อน ไปกับการให้ข้อมูลสุขภาพ ตั้งแต่ครัวเรือนก่อนจะออกมาสู่นอกบ้าน หรือชุมชน 

เกาะมุก เริ่มที่จิตสำนึกและความหวงแหน

"เกาะมุก" อีกหนึ่งเกาะท่องเที่ยวในตรัง เป็นอีกพื้นที่ชุมชนเกาะที่ขาดการจัดการขยะไม่เหมาะสมมาในอดีต ขยะที่เกลื่อนกลาดในพื้นที่เกาะในอดีตทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวนำไปวิพากษ์วิจารณ์และแพร่หลายในสื่อโซเชียล

คณะทำงานจึงหารือกับชุมชนจัดกิจกรรมบ่อยครั้ง นำแนวคิดจัดการขยะร่วมจัดตั้งกลุ่มดาวดาเลจัดทำระบบซื้อขายวัสดุรีไซเคิล ร่วมมือกับหลายภาคส่วน มีเอกชนที่มารับซื้อขยะรีไซเคิลจากชุมชนและขยะประมง ซึ่งทางชุมชนจะขนส่งขยะรีไซเคิลชุมชนทางเรือจากเกาะขึ้นบกส่งต่อผู้ซื้อขยะเดือนละสองครั้ง เฉลี่ยครั้งละประมาณสองตันต่อกลุ่ม และทุกศุกร์จะมีตลาดนัดขยะให้เด็กมาคัดแยกเป็นรายได้เสริม และได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับขยะที่นำกลับมาใช้ไม่ได้จริงๆ ก็จะถูกส่งให้ อบต.ไปจัดการ ซึ่งตอนนี้จาก 100% ลดไปได้ 40% แล้ว

"สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ถนนหนทางเริ่มสะอาดมากขึ้น วันนี้เริ่มตระหนักรู้มากขึ้นว่า การสร้างขยะมีส่วนช่วยทำลายอาชีพทั้งการท่องเที่ยวและการประมง ขยะสร้างผลกระทบหมด และวันนี้เริ่มมีน้องพยูนเข้ามาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวชุมชนเขาภาคภูมิใจ นอกจากนี้จึงขยายไปเรื่องการยกระดับสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนด้านอื่นๆ เช่น การชะลอความเร็วเรือ"

เกาะมุกมีชาวบ้านในชุมชน 700 ครัวเรือน และผู้ประกอบการโรงแรม 30 แห่ง ปัจจุบัน 60-70% ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเกาะยังร่วมมือกันเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นขวดแก้ว รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการชาวประมงเรือพื้นบ้านที่มีสมาชิกถึงหมื่นกว่าลำยังตั้งใจที่จะเลิกการทิ้งขยะอุปกรณ์ประมงในทะเลเหมือนที่ผ่านมา แต่เปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เคยทิ้งไร้ค่าอย่าง อวนพลาสติก มาแปรรูปเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า

มณีวัน บอกเล่าต่อว่าทุกวันนี้ชาวบ้านจะนำเรือออกไปเก็บหาขยะในทะเลในเกาะกระดานกัน ซึ่งจริงๆ มูลค่าที่ได้จากการขายมันน้อยมาก แถมต้องต่อสู้กับพายุคลื่น แต่เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำขยะเหล่านั้นขึ้นมาจากทะเล

\'ปณิธานชาวอันดามัน\' กับการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม บ้านมดตะนอย Say No Plastic Bag

ขณะที่ชุมชนชาวเกาะมุกตื่นรู้เกี่ยวกับ ไมโครพลาสติก ชาวบ้านมดตะนอยก็ตื่นตัวด้วย "โรคมะเร็ง" ที่อาจมีโฟมเจ้าปัญหาเป็นต้นเหตุหลัก แต่ ณ วันนี้ชาวชุมชนมดตะนอยจะมองเห็น ปัญหาขยะ ไม่ใช่เรื่องง่าย ก้าวเริ่มต้นมหากาพย์เรื่องจัดการขยะบ้านมดตะนอย เริ่มต้นจากสมาชิกชุมชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีแนวความคิดเดียวกันมาร่วมกันผลักดันสู่ภาคลงมือทำ

"ตอนแรกก็เริ่มกิจกรรมเก็บขยะรอบชุมชน อยากทำให้ดู อยากให้เห็น แต่ตอนนั้นเก็บไปทำไป ชาวบ้านก็นั่งดูเก็บขยะอยู่หัวบันไดบ้านนั่นแหละ เพราะมองว่าขยะเป็นหน้าที่ อบต. ไม่ใช่หน้าที่ของเขา" เสียงจากแกนนำ บอกเล่า

ภายหลังพบการแพร่ระบาดไข้เลือดออกในพื้นที่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำมาเชื่อมกับเรื่องขยะมาเชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ โดยเวลานั้น "สมโชค สกุลส่องบุญศิริ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย จัดประชุมทีมงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไข้เลือดออก ทำให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้น จึงชักชวนให้ชาวบ้านร่วมจัดการขยะ ซึ่งต่อมามีการตรวจพบว่า คนในชุมชนเป็นมะเร็ง สาเหตุหนึ่งคาดว่าอาจจะเป็นเพราะการใช้กล่องโฟมเนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง จึงชักชวนให้ทุกคนตัดสินใจเลิกใช้โฟมแล้วหันมาใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้

"ช่วงนั้นพอดีไข้เลือดออกกำลังระบาด ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าไข้เลือดออกเกิดจากอะไร ไปดูขยะข้างบ้านน้ำขัง มีซองขนม จึงร่วมกันจัดการขยะจนลดลง ถ้าข้างบ้านปลอดภัยไม่มีแหล่งเพาะเชื้อ ถัดมาเราก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารอันตรายที่อยู่ในกล่องโฟมเป็นตัวเร่งให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน"

สมโชค สกุลส่องบุญศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นขยะเยอะมาก เต็มข้างทางมีแต่ถุงพลาสติกและกล่องโฟมที่ย่อยสลายยาก เดินไปก็ส่งกลิ่นคละคลุ้ง โดยขอประกาศเองเลยว่า ที่นี่จะเป็นพื้นที่อากาศดีที่สุด ถามว่าทำไมพูดเช่นนั้น เพราะเราต้องการเป็นพื้นที่ปลอดขยะเราเลยต้องประกาศเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและจัดการขยะในชุมชน พร้อมเคล็ดลับที่ไม่ลับของงานนี้ ยังเป็นการหนุนให้เด็กเยาวชนในชุมชน ชาวบ้าน ท้องถิ่นท้องที่ รู้ว่าขยะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของทุกคน

"เราทำข้อตกลงพื้นฐานที่ทุกคนมีส่วนร่วม และใช้หลักศาสนาเพราะที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมมาเชื่อม"

จากวันที่แยกขยะไม่เป็น แต่ปีที่ผ่านมาวิถีชีวิตและความคิดของคนมดตะนอยเปลี่ยนไปสิ้นเชิง ไม่เพียงหย่าขาดกับโฟมใส่อาหาร กลายเป็นพื้นที่ปลอดโฟมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังลดการใช้พลาสติก รวมถึงเปลี่ยนจากใช้ถุงดำ หันมาใช้ถุงอวนแทน ที่ยังทำผลิตและจำหน่ายกันเองในชุมชนและนอกชุมชนใบละ 60 บาท ที่กลายเป็นจุดสร้างรายได้อีกทาง

"อีกสิ่งที่น่าภูมิใจคือเด็กๆ ในชุมชน แม้จะออกไปนอกไปเกาะอื่นๆ ชุมชนรถขายของมีกล่องโฟมก็จะไม่กิน ไม่มีใครกล้าใช้กล่องโฟม"

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. แสดงทัศนะถึงความเปลี่ยนแปลงของสองชุมชนว่า จากการได้คุยกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย ได้เห็นอัตราลดลงของโรค ทำให้พบว่าเรื่องสุขภาพยังเป็นกลยุทธ์ที่นำมาใช้สร้างการมีส่วนร่วมหรือแก้ปัญหาขยะได้ เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่คนรู้สึกว่ามันมีผลกระทบกับตัวเองคือ อย่างบ้านสกปรกมีขยะไม่เป็นไร แต่ถ้าบอกว่าทุกคนกินกุ้งหอยปูปลาที่มี ไมโครพลาสติก ปะปน ทุกคนจะตื่นตัว

"อีกทั้ง อยากให้ภาคีเห็นความสำคัญของก่อน หลังดำเนินโครงการ เห็นชัดมูลค่าทางการเงินที่เกิดจากการนำขยะไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสำหรับในอนาคต สสส. มองการขับเคลื่อนความร่วมมือในเกาะท่องเที่ยวอีกหลายแห่งทั่วประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเกาะเล็กๆ เราได้เห็นความสำเร็จแล้วอย่างเช่นเกาะมุก แต่ในเกาะใหญ่ๆ มองว่าเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม"

\'ปณิธานชาวอันดามัน\' กับการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม