'ปฏิญญาอ่าวลันตา' เดินหน้า 9 หมุดหมาย มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

'ปฏิญญาอ่าวลันตา' เดินหน้า 9 หมุดหมาย มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

"เกาะลันตา" เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีหมุดหมายสู่ "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ล่าสุดประกาศ "ปฏิญญาอ่าวลันตา" 9 ข้อ มุ่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่

"ปฏิญญาอ่าวลันตา" เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการผลักดันที่จะนำไปสู่ทางออกของการแก้ไข ปัญหาขยะ ตลอดจนการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยมุ่งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลอนุรักษ์พื้นที่ ผ่าน 9 เจตจำนง ได้แก่ 1. การประมงยั่งยืน 2. อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3. พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล 4. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 5. เชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น 6. ลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล 7. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้พลังงานสะอาด 8. พัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต 9. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อคุ้มครองรักษา อ.เกาะลันตา ควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม

นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ด้วยนโบบายของทางจังหวัด มีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างจังหวัดให้มีความแข็งแรง แต่ทั้งนี้ความต้องการ ต้องมาจากความร่วมมือของพี่น้องในพื้นที่ ซึ่งผลจากการหารือร่วมกันจึงกลายเป็นปฏิญญา 9 ข้อ ซึ่งหัวใจหลักคือ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ระบุตรงกันว่า ไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง และปนเปื้อนในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารพลาสติกบางตัว ยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย การที่ สสส. จะสร้างเสริมสุขภาพประชาชน จึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น ปฏิญญาอ่าวลันตา จะเป็นการสร้างทุกภาคส่วนเพื่อเป็นข้อตกลงเบื้องต้นในการร่วมมือการทำงาน

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายแก้ไข ปัญหาขยะ โดยมุ่งเน้นคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลได้ การคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล และพลังงาน ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด เป็นการลดขยะทะเลลงอีกทางหนึ่งด้วย

"ปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวคือ เรื่องมลพิษ น้ำเสีย และขยะ การร่วมปฏิญญาครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ พร้อมที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแยกขยะ จัดการขยะ ไปจนถึงองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนแก่ชุมชน" ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว

ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กลายเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 - 2568 หรือ ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 - 2025 ด้าน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล ในปี 2564 ที่ผ่านมา ทช. ได้จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลจำนวน 3,950,904 ชิ้น รวมน้ำหนักกว่า 443,987 กิโลกรัม

ปฏิญญาอ่าวลันตา ทำให้ต่อจากนี้ใน เกาะลันตา ทุกภาคส่วนจะเกิดความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล ชุมชน อสม. อบต. รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเกาะลันตาทุกมิติ โดยเฉพาะ ปัญหาขยะ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ