'น้องตั้งใจ' เพื่อนใหม่โลกออนไลน์ของคนอยากเลิกดื่ม
ใครอยากเลิกเหล้า แต่ไม่กล้าบอกหรือปรึกษาใคร "น้องตั้งใจ" คืออีกหนึ่งนวัตกรรมแชทบอทที่ถูกพัฒนาให้เป็นเพื่อนสนิท และตัวช่วยเลิกเหล้า ตอบรับเทรนด์บำบัดผ่านสมาร์ทโฟนที่กำลังมาแรง
มีรายงานผ่านระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 พบว่า ตั้งแต่ต้นปีมีนักดื่มเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลอยู่ที่ 857,582 คน คิดเป็น 65.2% ของผู้ดื่มสุราที่ควรได้รับการบำบัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 63.71% แม้ปัจจุบันจะมีผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มมากขึ้น และมีศูนย์ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกดื่มหลายช่องทาง แต่ยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงการรับบริการ เช่น ไม่กล้าขอคำปรึกษาหรือไม่ทราบแหล่งที่จะขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา เป็นต้น
Pain Point ดังกล่าว นำมาสู่การนำนวัตกรรมแชทบอทช่วยเลิกเหล้า ที่ชื่อ "น้องตั้งใจ" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยเหลือผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราทางออนไลน์ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) และเครือข่าย ช่วยกันพัฒนาอย่างจริงจัง โดยมีการทดลองเก็บข้อมูลและพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว
"น้องตั้งใจ" เหมาะกับใคร?
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า แชทบอท น้องตั้งใจ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบหรือไม่ต้องการพูดคุยกับใคร เป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมคนยุคนี้ โดยที่ผ่านมา สสส. รณรงค์เกี่ยวกับการเลิกดื่มต่อเนื่อง เปิดช่องทางให้คำปรึกษาการเลิกสุราที่พัฒนาร่วมกับเครือข่ายผ่าน 1413 สายด่วนเลิกเหล้า และให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี 2555 แม้สถิติชี้ชัดว่าตัวเลขของกลุ่มดื่มหนักกำลังลดลงเรื่อยๆ แต่ยังมีนักดื่มจำนวนมากที่อยากเลิกดื่ม และไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ประกอบกับการปรึกษาผ่านสายโทรศัพท์ก็เริ่มใช้กันน้อยลงด้วย
ดังนั้น "น้องตั้งใจ" จึงไม่ใช่เป็นเพียงแมสคอตสร้างกระแสแบ๊วๆ แต่เกิดจากความตั้งใจของทุกหน่วยงานที่อยากพัฒนาให้เป็นเพื่อนสนิทและตัวช่วยเลิกเหล้า ซึ่งจะมีหมอ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลร่วมกับอาสาสมัครที่คอยตอบคำถามและแนะนำเบื้องต้นตลอด 24 ชั่วโมง
"บริการมีทั้งการตอบคำถาม พร้อมให้คำแนะนำ ปรึกษา และให้กำลังใจ สำหรับระดับเบื้องต้นไปถึงระดับกลาง หากผู้เข้ารับบริการอยากรับคำปรึกษาต่อหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ในอนาคตก็จะมีการเชื่อมโยง ประสานงาน ส่งต่อเพื่อบำบัดต่อไปได้มากขึ้น หรือกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วงจรการดื่มหนักจนติด ลองเข้ามาประเมินตัวเองผ่านแชทบอทนี้กันก่อนก็ได้"
ติดหรือไม่ สามารถเช็กและวางแผนการดื่มได้
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า อีกบริการที่สำคัญของ น้องตั้งใจ คือช่องทางช่วยคัดกรองระดับการติดสุรา พร้อมให้คำแนะนำสำหรับการตรวจเช็กตัวเองแบบง่ายๆ ว่า กำลังมีปัญหาจากการดื่มสุราหรือไม่ โดยจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปตอบแบบสอบถามในแอปพลิเคชัน หรือสายด่วน 1413 ก็ได้เช่นกัน เพื่อสำรวจว่าตัวเองมีพฤติกรรมการดื่มและมีอาการติดสุรามากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่การประเมินได้ว่าจำเป็นต้องได้รับการบำบัดหรือไม่
"สำหรับการประเมินนั้น เราจะมีเกณฑ์ทั้งหมด 11 ข้อ ถ้าผู้รับการประเมินมี 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่าอาจมีปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เมื่อเราตั้งใจที่จะดื่มหนึ่งแก้ว แต่พอดื่มจริงเป็นสี่หรือห้าแก้ว แสดงว่าอาจมีปัญหา หรือหากเริ่มมีอาการคลื่นไส้ มือสั่น ใจสั่น อาการเปรี้ยวปากอยากดื่ม ก็สามารถบ่งบอกแนวโน้มการติดสุราได้"
พันโท นพ.ณัฐพล โชคไมตรี ภาควิชาจิตเวชและประสาทวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า จุดเด่นของน้องตั้งใจ นอกจากช่วยในเรื่องระบบการรักษาแล้ว ยังเป็นไกด์ในการดื่มได้ด้วย ซึ่งบริการนี้สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า ควรดื่มเท่าไหร่ที่จะไม่มีปัญหา หรือช่วยวางแผนการดื่มที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
"น้องตั้งใจมีข้อมูลให้เลือกว่าระดับแอลกอฮอล์ของเรามีประมาณเท่าไหร่ ซึ่งผลจากงานวิจัยกับกลุ่มนักดื่มที่มีความเสี่ยงมากระดับหนึ่งพบว่า กลุ่มที่เล่นน้องตั้งใจมีจำนวนวันที่หยุดดื่มมากกว่ากลุ่มที่ไม่เล่น ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกทางเลือก ช่วยควบคุมตัวเองและยับยั้งชั่งใจในการดื่มได้ดี"
เจาะเทรนด์บำบัดผ่านสมาร์ทโฟนมาแรง
ปัจจุบันแนวทางการบำบัดดูแลผู้ติดสุราทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะช่วยให้นักดื่มสามารถบำบัดตนเองเพื่อกลับไปสู่สังคม มากกว่าที่จะเป็นผู้บำบัดในโรงพยาบาลเหมือนในอดีต
ผศ.นพ.ดร.วรภัทร รัตอาภา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การรักษาในต่างประเทศมีรูปแบบหลากหลายจากทั้งภาครัฐและหน่วยงานอิสระต่างๆ เช่น การดูแลระดับปฐมภูมิ มีสถานพักพิง สถานบำบัดสำหรับผู้ป่วย แต่บางแห่งเน้นการรักษาโดยให้คำปรึกษา แนะนำ และส่งต่อไปบำบัดแบบย่อในระยะสั้น ขณะที่ในหลายประเทศจะจัดให้การรักษาแบบกลุ่มบำบัด จำเพาะสำหรับผู้มีความผิดปกติ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
"เรามีการตั้งข้อสังเกตว่า การบำบัดแบบระยะยาวไม่ได้ช่วยให้หาย พอๆ กับการรักษาแบบระยะสั้น จึงเริ่มมีแนวทางสำหรับผู้ป่วยนอก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา เนื่องจากสมาร์ทโฟนมีบทบาทเข้ามาเยอะ ปัจจุบันหลายประเทศมองว่าการมีแอปพลิเคชันหลากหลาย ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น เพราะราคาไม่แพง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และเข้าได้ถึงทุกกลุ่มคน"
ผศ.นพ.ดร.วรภัทร ยกตัวอย่างว่า สหรัฐ เป็นประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนบำบัดรักษากับประชาชน ข้อดีคือ เหมาะกับการรักษากับคนไข้นอก เพราะติดตามการรักษาได้ โดยเฉพาะกรณีมีพื้นที่การรักษาจำกัดในพื้นที่ห่างไกล และเป็นทางเลือกสำหรับคนไม่พร้อมรับการรักษา เช่น ไม่ชอบการบำบัดแบบ face to face หรือการไปสถานบำบัด เพราะรู้สึกว่าเป็นตราบาป
"ปัจจุบันคนใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อดีคือ สามารถทำการบำบัดรักษาที่ไหนก็ได้และยังติดตามการรักษาได้สะดวก ข้อมูลที่สื่อสารก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มบุคคล สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลการรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง"
ผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียน ประเมินระดับความเสี่ยง และปรึกษาวิธีการเลิกเหล้า ได้ทั้งช่องทาง น้องตั้งใจ และ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า