ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล ทำไมเก้าอี้กินก๋วยเตี๋ยวมีรูปทรงเดิมมาตลอด
Pain Point อุตสาหกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกไทย คุยกับ ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล ผู้ชนะเลิศรางวัล Creative Design Contest การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกกับ SCG จำนวน 3 หมวดจาก 3 ผลิตภัณฑ์ในคราวเดียวกัน
Key Points
- งานออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม ถ้าเรายังอิงดีไซน์จากต่างประเทศ ก็จะไม่มีทางเห็นแบรนด์ของคนไทยที่เป็นแบบ Samsung หรือ Apple
- ผลิต แม่พิมพ์พลาสติก ใช้เงินหลักล้าน ผู้ประกอบการคำนึงอยู่แล้วว่าดีไซน์แม่พิมพ์ 1 แบบ ต้องอยู่ได้อย่างน้อย 5 ปี 10 ปี
- เดี๋ยวนี้คุณไม่ต้องมานั่งออกแบบเอง ผมอาจจะไกด์ เอไอ (Artificial Intelligence - AI) ประมาณหนึ่ง พอผมได้ภาพจาก AI ผมค่อยมา generate ให้งานออกแบบนั้นเข้ากับเจ้าของโรงงานหรือข้อจำกัดมากขึ้นตามโจทย์
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล กับกระถางพลาสติกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยุคนี้ งานออกแบบ ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของแนวคิด ‘เศรษฐกิจยุคใหม่’ ที่ใช้ขับเคลื่อน Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ บนฐานองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัย เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิต สินค้าและบริการรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน พลาสติก เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากในแง่ของการพัฒนาให้มีคุณสมบัติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่เป็นบ่อเกิด ‘ปัญหาโลกร้อน’
ผู้ชนะเลิศรางวัล Creative Design Contest จากการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกกับ SCG จำนวน 3 หมวดจาก 3 ผลิตภัณฑ์ในคราวเดียวกัน ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล (ก็อต) หลังจากเข้าไปคลุกคลีในวงการ ออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม พบจุดอ่อน (pain point) บางอย่าง ที่ยังเป็นข้อจำกัดโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกไทย
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล ผู้ชนะเลิศรางวัล Creative Design Contest ของ SCG
เห็นได้ชัดจากเมื่อครั้งสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดรุนแรง เกิดการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยประสบปัญหา หลายโรงงานต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากไม่มีผู้มาจ้างผลิตสินค้า
ก็อต ณัฐวุฒิ อายุ 31 ปี เจ้าของ Studio TEAL Industrial & Product Design และแบรนด์ i.divert สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) มีประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์กับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือนญี่ปุ่นและบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI Chanapatana) ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล
ทำไมจึงตัดสินใจเรียนเพิ่มเติมที่ชนาพัฒน์
“ถือเป็นจุดหักเหเลยครับ ตอนผมย้ายมาทำงานกับบริษัทออกแบบรถยนต์ รู้สึกเราอาจจะยังไม่เก่งมากพอ เหมือนรถยนต์เป็นสเกลที่ต้องใช้ความสามารถมากขึ้น
ผมก็ลองหาดู ถ้าเราไม่มีโอกาสไปเรียนเมืองนอก จะมีที่ไหนที่มีอาจารย์ต่างประเทศมาสอน แล้วเราสามารถทำงานและเรียนไปด้วยได้ ก็เจอที่ชนาพัฒน์ เขามีงาน Open House ผมก็ไป แล้วก็สมัครเข้ามาเรียนตามระบบ”
ณัฐวุฒิ เลือกเรียนสาขา ออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นที่ 18 ของสถาบัน
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล
ได้สิ่งที่ต้องการจากการเรียนที่ชนาพัฒน์อย่างไรบ้างครับ
ณัฐวุฒิกล่าวว่า การเรียนระยะแรกๆ เป็นการเสริมพื้นฐานสมัยเรียนปริญญาตรีให้แน่นขึ้น และได้รับโอกาสที่ดีช่วงเรียนปี 2 เมื่ออาจารย์สอนแฟชั่นชาวญี่ปุ่นบอกข่าวมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วมเวิร์คช็อปการบูรณะบ้านเก่าด้วยงานออกแบบ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดในชีวิตการทำงาน
“เวิร์คช็อปไม่เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์เลยนะ แต่ใจผมอยากลองไปหาประสบการณ์ ก็รู้สึกอันนี้เป็นจุดเปลี่ยน คือได้เปิดมุมมอง ได้รู้จักคนที่เก่งๆ มากขึ้น คนเกาหลี คนอเมริกัน เวิร์คช็อปจริงจัง ลงพื้นที่สำรวจ วิธีอินสไปร์ผู้คน รีโนเวทในบริบทที่ยังต้องคงไว้ซึ่งความต้องการของคนญี่ปุ่น
พอเรียนช่วงเทอม 3 เทอม 4 อาจารย์ให้การบ้านโดยสามารถให้นำการบ้านนี้ไปส่งงานประกวดได้ คืออาจารย์นำงานประกวดจากที่ต่างๆ มาใส่เป็นการบ้าน คือสอนจากของจริง
งานประกวดที่ผมได้รางวัลคือ การออกแบบโพลิเมอร์พลาสติก 3 หัวข้อของ SCG มีหัวข้อเฟอร์นิเจอร์, Cooler Tank (กระติกน้ำเย็น) และ Water Tank (ถังเก็บน้ำ) ซึ่งโปรดักต์ของผมชนะที่หนึ่งทั้งสามหัวข้อ”
ชนะหัวข้อ Hygienic House (การอยู่อาศัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส)
คุณมีวิธีคิดงานอย่างไรจึงชนะใจกรรมการทั้ง 3 โปรดักต์
“การประกวดครั้งนั้น ผู้ประกอบการพาพวกเราไปดูโรงงานของเขาก่อนว่าเขามีโจทย์อย่างนี้ เขาต้องการโปรดักต์แบบไหน ผู้ออกแบบมีการพรีเซนต์งาน เสนอผลงานแข่งขันกัน
แนวคิดในงานออกแบบของผมอิงมาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกผมต้องรู้อินไซด์ของ ‘ผู้ใช้’ ใช้งานจริงเป็นอย่างไร ใช้ดีมั้ย มีปัญหาการใช้งานหรือเปล่า แล้วเราจะทำให้ดีมากกว่านี้ได้อย่างไร ก็คือตั้งสมมุติฐานกับโปรดักต์อยู่ตลอด
ข้อต่อมา ผมอิงจาก ‘ผู้ประกอบการ’ โปรดักต์เป็นงานเชิงอุตสาหกรรม ไม่เหมือนงานแฟชั่น ไม่เหมือนงานอินทีเรียร์ คือคุณจะออกแบบอย่างไรก็ได้ เดี๋ยวก็นำไปเย็บตัดเย็บ หรือสร้างตามแบบ
แต่งานโปรดักต์เชิงอุตสาหกรรม มีข้อจำกัดคือเครื่องจักร โรงงานมีเครื่องจักรประเภทนี้ คุณจะไปผลิตโปรดักต์แบบอื่นไม่ได้ มีเครื่องจักรแบบไหนก็ต้องออกแบบโปรดักต์ที่เครื่องจักรนั้นผลิตได้ ออกแบบโปรดักต์ได้ดีอย่างไร ถ้าเครื่องจักรที่มีอยู่ผลิตไม่ได้ ก็ไม่เกิดมูลค่า
หรือเครื่องจักรผลิตได้กับวัตถุดิบแบบนี้ เราก็ไม่สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบชนิดอื่นได้ เพราะสั่งซื้อมาก็ผลิตไม่ได้
ยังมีวิศวกรหน้างาน เราเป็นดีไซเนอร์ แต่วิศวกรหน้างานทำแม่พิมพ์ได้ไหม ถ้าทำในไทยไม่ได้ ต้องไปทำที่จีนหรือฝรั่ง คือทุกอย่างต้องคิดหมด
ผลงานออกแบบรูปทรงเครื่องกรองน้ำในบ้าน ลายเส้นเรียบง่าย
ข้อ 1 ข้อ 2 พูดถึงความจริงของผู้ประกอบการ มาถึงข้อสามจึงพูดเรื่องความสวยงามในการออกแบบเอกลักษณ์ของเรา ว่าทำอย่างไรให้งานโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะการประกวดแต่ละงานไม่ได้มีแค่ห้า-หกคน มีคนมากมายเรียนด้านนี้เหมือนผม
แต่ผมก็ยังบอกเอกลักษณ์ของตัวเองไม่ได้แน่ชัด รู้แต่ว่าตอนนี้ผมไม่เน้นงานหวือหวาเกินไป ไม่ชอบงานลายเส้นเยอะๆ แต่เน้นความเรียบง่าย ดูแล้วอีก 10 ปี 20 ปี มันก็ยังดูไม่เก่า
เพราะงานโปรดักต์ อย่าลืมว่าผลิตแม่พิมพ์พลาสติกใช้เงินหลักล้าน ผู้ประกอบการคำนึงอยู่แล้วว่าดีไซน์แม่พิมพ์ 1 แบบ ต้องอยู่ได้อย่างน้อย 5 ปี 10 ปี ไม่งั้นเราไม่เห็นเก้าอี้กินก๋วยเตี๋ยวที่เป็นรูปทรงเดิมมาตลอด เพราะถ้าจะเปลี่ยนแม่พิมพ์ เขาใช้ทุนมหาศาล ผมก็เลยอิงงานดีไซน์ประมาณนี้
แต่สิ่งที่ในงานอออกแบบของผมแตกต่างจากคนอื่น คือผมจะ Research เช่นถ้าผมออกแบบเฟอร์นิเจอร์พลาสติก ผมจะกางเลยว่าในตลาดเมืองไทยกับตลาดเมืองนอกมีดีไซน์ประมาณไหนบ้าง ผมจะแยกเป็นกรุ๊ป ผู้ประกอบการอยากไปอยู่กรุ๊ปไหน หรือว่าคุณไม่อยากอยู่กรุ๊ปไหนเลย จะออกจากกรุ๊ปมั้ย แต่ออกมา คอร์สเปลี่ยนนะ
การทำรีเสิร์ชนี้ ผมถูกสอนมาจากการทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น ต่อให้คุณทำดีไซน์เลิศเลอขนาดไหน คุณแน่ใจว่าไม่ซ้ำได้อย่างไร ถ้ามันซ้ำล่ะ เราเกิดหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งกี่ร้อยปี ต้องมีคนที่คิดมาก่อนเรา เราจึงต้องรีเสิร์ชเพื่อดูว่างานที่เราจะออกแบบต่อไป ไม่ซ้ำกับที่ผ่านมาจริงๆ นี่เป็น 3 แกนหลักของแนวคิดการออกแบบของผม”
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล นักออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม
ขณะนี้วงการนักออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างไร
“พอผมได้เข้ามาอยู่ในวงการนี้ประมาณปี-สองปี ผมเริ่มรู้แล้วว่า คนที่ทำงานประเภทนี้มีน้อย ต้องยอมรับว่าคนออกแบบพลาสติกมีน้อย เพราะผู้ประกอบการส่วนมากรับดีไซน์มาจากจีน ญี่ปุ่น ซื้อแบบแล้วทำแม่พิมพ์จากที่โน่น แล้วเอามาผลิตในประเทศไทย
แต่ไม่มีคนไทยที่รู้พฤติกรรมคนไทยแล้วผลิตเพื่อคนไทย ในตลาดนี้ คนที่เข้าใจและทำงานได้มีน้อย ก็ถือว่ายังเป็นโอกาสให้คนอื่นถ้าต้องการเข้ามาสายนี้ แต่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ
ผมว่าภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วย ถ้าเรายังอิงดีไซน์ที่เป็นต่างประเทศ ก็จะไม่มีทางเห็นแบรนด์ของคนไทยที่เป็นแบบ Samsung หรือ Apple ที่มีทีมดีไซน์เอง แล้วสร้างมูลค่าให้กับประเทศนั้นได้มาก
ลองหันมาดูประเทศไทย เราใช้ของจีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง งานดีไซน์ก็เลยไม่ได้ไปคู่กัน งานดีไซน์ควรล้อไปกับเทคโนโลยีของยุคนั้นๆ พอเราไม่มีเทคโนโลยี งานดีไซน์ก็จะได้แค่นี้ แต่ประเทศที่มีพร้อม วงการดีไซน์เขาทะลุไปสูงมาก”
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล ศิษย์เก่าชนาพัฒน์
ภาครัฐควรเข้ามาช่วยตั้งแต่เรื่องอะไร
“ผมว่าต้องมาช่วยตั้งแต่เรื่องการเรียนการสอน ผมเรียน อินทีเรียร์ โปรดักต์ ดีไซน์ ไม่มีสอนพลาสติกเลย มีสอนเฟอร์นิเจอร์ สอนทำโคมไฟ สอนในวัสดุที่โรงเรียนจับต้องได้ง่ายๆ
ถามว่าโรงเรียนมีสอนถอดแม่พิมพ์ยังไง..ไม่มีนะ ต้องไปเรียนรู้ตอนทำงานทั้งนั้น ผมมองว่ามันช้า กว่าผมจะเรียนรู้วิธีการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมได้หมด สมองผมก็ไม่ fresh เท่าสมัยผมเรียนปี 1 ถึงปี 4 แล้วใช่ไหม
ปีหนึ่งถึงปีสี่ออกแบบอะไรก็ได้ เพราะเราไม่รู้อะไรเลย แต่พอเรารู้อะไรมากขึ้น มันคือข้อจำกัด คือเราอิงมาทางด้านตรรกะมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราอยู่กับชีวิตจริง แต่เราก็ยังพยายามทำให้โปรดักต์สวยอยู่นะครับ”
ทำงานออกแบบด้วยมือผสมงานเอไอ
ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ - Artificial Intelligence) กับงานออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรม
"ข้อจำกัดของราคาเครื่องจักรและการทำแม่พิมพ์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายเจ้ายังไม่ได้พัฒนาโปรดักต์ อนาคตถ้าเครื่องปริ้นต์ 3D มีประสิทธิภาพมากพอกับการทำแม่พิมพ์พลาสติก การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกในยุคนั้นน่าจะเปลี่ยนไปก็ได้
ในส่วนของผมเอง ก็อาจจะใช้แค่เครื่องปริ้นต์ 3D และปล่อยผลิตภัณฑ์ที่ผมออกแบบของผมเองก็ได้ เพราะตอนนี้ผมรับงานวางคอนเซปต์งานออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกให้กับผู้ประกอบการ
อนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ ผมว่าเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนเยอะ อย่าง เอไอ ก็เข้ามาเปลี่ยนงานออกแบบแล้ว เดี๋ยวนี้คุณไม่ต้องมานั่งออกแบบเอง
ผมอาจจะไกด์ AI ประมาณหนึ่งก่อน แล้วผมให้ AI ครีเอทภาพมาให้ผมประมาณหนึ่ง พอผมได้ภาพจาก AI ผมค่อยมา generate ให้งานออกแบบนั้นเข้ากับเจ้าของโรงงานหรือข้อจำกัดมากขึ้นตามโจทย์
เด็กรุ่นใหม่ตอนนี้ยิ่ง ‘ช็อตคัต’ มากกว่ายุคผม ยุคผมต้องแบบวาดมือ เขียน drawing แต่ยุคนี้ใช้นิ้วกดสั่งให้ AI วาด มันก็มีความแตกต่าง รวดเร็ว ง่ายขึ้น รอดูได้เลย"
ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล
สถาบันพลาสติก (Plastics Institute of Thailand) ระบุว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม รับจ้างผลิต (Original equipment manufacturer - OEM) รับจ้างผลิตชิ้นส่วน เน้นการผลิตแต่ชิ้นส่วนเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่มีความแปลกใหม่ของสินค้า และไม่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง
เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รุนแรงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกประสบปัญหาจนหลายโรงงานต้องปิดตัว เนื่องจากไม่มีผู้จ้างให้ผลิตสินค้า
หากเทคโนโลยีการผลิตและนักออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกได้รับการพัฒนาศักยภาพ ‘อุตสาหกรรมพลาสติกของไทย’ ก็น่าจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย
ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร