นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ระดับครัวเรือน เรื่องนี้ต้องถึงผู้ใหญ่ลี

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ระดับครัวเรือน เรื่องนี้ต้องถึงผู้ใหญ่ลี

 “1ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์แก้จน” ทันทีที่ประกาศท่านรัฐมนตรีผ่านสื่อไม่ทันข้ามวันก็ต้องลำบากอธิบายรายละเอียดว่าไม่ใช่จะต้องเกิดมีครบทุกครัวเรือน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมท่านใหม่ได้ประกาศนโยบายที่สะดุดหู “1ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์แก้จน” 

ทันทีที่ประกาศท่านรัฐมนตรีผ่านสื่อไม่ทันข้ามวันก็ต้องลำบากอธิบายรายละเอียดว่า ไม่ใช่จะต้องเกิดมีครบทุกครัวเรือน จะเลือกเฟ้นเฉพาะครัวเรือนที่มีพรสวรรค์ต่อยอดจากโอทอป ให้เกิดแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน อิงจากยุทธศาสตร์ 5F ของกระทรวงวัฒนธรรมที่เคยมีมาเดิม โดยจะดันรายได้ให้ครัวเรือนให้ถึง 20,000 บาท ฯลฯ 

ปัญหาแรกของนโยบายนี้ก็คือการสื่อสาร แม้จะเป็นชุดคำสั้นๆ แต่ดูเหมือนสังคมไม่เข้าใจ ทำให้ต้องออกมาอธิบายซ้ำ ซึ่งจากนี้ก็ไม่แน่ว่ายังต้องอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกในรายละเอียดภาคปฏิบัติ มันไม่เคลียร์เหมือน 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ในอดีตที่ประกาศมาสั้นๆ คนเข้าใจทันที 

 

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ระดับครัวเรือน เรื่องนี้ต้องถึงผู้ใหญ่ลี ใช้ทุกกลยุทธ์ของซอฟต์พาวเวอร์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

พลังละมุนทางเศรษฐกิจ

เป้าใหญ่ที่คนไม่เข้าใจก็คือคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ นั่นล่ะ !! 

ซอฟต์พาวเวอร์ มันมาเกี่ยวกับรายได้ครัวเรือนทีเดียวหลายล้านครัวได้อย่างไร ? 

ซอฟต์พาวเวอร์ในความหมายเดิม

ศัพท์คำว่า soft power เป็นคำผสมบัญญัติใหม่โดยพจนานุกรม Oxford และถูกขยายความทำให้เป็นที่รู้จักโดยนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวอเมริกัน Joseph Nye Jr. เมื่อปลายทศวรรษ 1980

นอกจากเป็นศาสตราจารย์ที่ฮาวาร์ด เขาผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศ

ดังนั้นบริบทความหมายของ Soft Power เป็นศัพท์ว่าด้วยการเมืองระหว่างประเทศ อธิบายถึงอำนาจโน้มน้าว ชี้นำ ทำให้ชาติอื่นยอมรับอย่างเต็มใจที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

หลักๆ คือ เขาพยายามอธิบายอำนาจของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อชาวโลกนั่นล่ะ 

เพราะหลังสงครามโลกอเมริกาผงาดเป็นมหาอำนาจลำดับหนึ่งของโลกเสรี แต่หลังการแพ้สงครามเวียดนาม ต่อมาก็มีมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่มาแข่ง

สังคมอเมริกันในทศวรรษนั้นเริ่มตั้งคำถามกับ “อำนาจ” ของตน มีงานและบทความอารมณ์เดียวกันร่วมสมัยออกมาหลายชิ้น เช่น The Rise and Fall of the Great Powers ของพอล เคเนดี้ คำๆ นี้เมื่อใช้ในบริบทกิจการระหว่างประเทศ

ในที่สุดศัพท์ soft power ก็ติดตลาด เนื่องจากถูกสร้างให้เข้าใจง่าย สื่อพลังด้านที่ตรงข้ามกับ hard power อ๋อ! การชักจูงทางวัฒนธรรม ดูหนัง ฟังเพลง ให้ชาวโลกเชื่อและยอมรับในแนวทางโลกเสรี มันดีมันสวยมันยิ่งใหญ่ มันต้องเป็นผู้นำต่อไป 

องค์ประกอบของศัพท์ซอฟต์พาวเวอร์ที่สากลเข้าใจ ก็คือ การกล่าวถึงปริมณฑลของอำนาจในมิติของกิจการระหว่างประเทศ ขนาดและลำดับเปรียบเทียบของอำนาจ ความโน้มน้าว มีอิทธิพลเหนือชาติหนึ่งๆ 

อำนาจที่ว่าครอบคลุมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ขนาดเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ทรัพยากรและองค์ความรู้ที่โดดเด่นโน้มน้าวให้คล้อยตาม 

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ระดับครัวเรือน เรื่องนี้ต้องถึงผู้ใหญ่ลี ศิลปะป้องกันตัวที่เรียกว่า มวยไทย ทำให้ฝรั่งอยากมาเที่ยวเมืองไทยซอฟต์พาวเวอร์ระดับสากล 

แม้ว่าแรกเริ่มศัพท์คำนี้ มุ่งเปรียบเทียบอำนาจอิทธิพลโน้มน้าวเหนือชาติอื่นๆ ของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา (ในการจัดระเบียบเป็นผู้นำโลก) แต่ต่อมามันก็คลี่คลายขยายความในมิติอื่นมากขึ้น  

ในอีกสองทศวรรษต่อมาความหมายของซอฟต์พาวเวอร์เริ่มเทมาทางเศรษฐกิจมากขึ้น เวที World Forum Economy เริ่มมีตารางเปรียบเทียบระดับอำนาจละมุนระหว่างชาติต่างๆ 

ขณะที่องค์ความรู้ของการพัฒนาพลังการหว่านล้อมชักจูงแบบแนบเนียนละมุนละไม เพื่อเพิ่มอำนาจแข่งขันมีให้เห็นมากขึ้นๆ 

ช่วงทศวรรษเดียวกันนั้น เอเชีย เสือตัวที่ 4 อย่างเกาหลีใต้ที่กำลังเร่งพัฒนาตนเองให้ก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ละครซีรี่ส์เกาหลีอย่าง แดจังกึม เป็นหัวหอกเผยแพร่วัฒนธรรม ควบคู่กับการพยายามส่งออกตลาดรถยนต์ฮุนได แดวู เครื่องไฟฟ้าซัมซุง 

การจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ต้องลงทุน และมีแผนมีกลวิธีพอสมควร จำได้ว่าเมื่อลูกยังเล็กราวๆ 20 ปีก่อน รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศให้ทุนนักเขียนนักข่าวไทยไปใช้ชีวิตและศึกษาขนบประเพณีที่ประเทศของเขาประมาณ 7 เดือน มีค่ากินค่าอยู่ให้พร้อม 

โดยผู้ยื่นขอทุนต้องเลือกว่าสนใจศึกษาเรียนรู้ในกิจกรรมด้านใด เช่น เรื่องอาหาร เรื่องศิลปะการแสดง ฯลฯ และกลับมาก็ต้องเขียนเรื่องราวที่ได้ไปเจอะมาสื่อสารกับคนในประเทศเรา โดยนัยก็คือ ลงทุน เผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีนั่นเอง ยุคโน้นมีแค่สื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวี ก็ต้องอาศัยนักเขียนไทยเล่าแทน 

สรุปว่าลูกยังเล็กเลยไม่ได้ยื่น คือถ้ายื่นขอคงจะออกไปแนวๆ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา จูมง ทำนองนั้นล่ะ ซึ่งต่อมาก็มีจูมง มีซีรีส์ที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ประเทศของเขาตอกย้ำออกมาจริงๆ ไม่ใช่แค่อาหารแดจังกึมเท่านั้น

ส่วนประเทศญี่ปุ่น ก็มียุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ยกระดับเศรษฐกิจในเวลาไล่เรี่ยกัน ปี 2012 กระทรวง METI ได้ออกยุทธศาสตร์ Cool Japan Strategy ส่งเสริมกิจกรรมภาคบริการวัฒนธรรม 5 ด้านคือ การ์ตูน อาหาร บริการส่งสินค้าถึงที่ โรงแรมแบบเรียวกัง และศิลปะหัตถกรรม Anime/Manga , Food, Delivery Service, Traditional Hotel (Ryokan) และ Traditional Art and Craft 

พร้อมๆ กับการตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมภาคบริการ  กำหนดเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้ 20 ล้านคนภายในปี 2020 

ไม่ต้องถามว่าสำเร็จไหม เพราะถึงขณะนี้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นที่นิยมลำดับต้นของโลกไปแล้ว อะนิเมะ มังงะ ยกระดับเป็นสินค้าสะสมของฝากผนวกอยู่ในแบรนด์หลายแบรนด์ รวมถึงหน้าตารถไฟ เรียวกังออนเซน นี่ก็ความฝันของคนอยากไปญี่ปุ่น 

ส่วนอาหารไม่ต้องพูดถึง อาหารญี่ปุ่นไปถึงระดับโลก วัฒนธรรมปลาดิบ วาซาบิต้องจิ้มอย่างไร คนทั้งโลกเรียนรู้ นั่นล่ะคือรูปธรรมของซอฟต์พาวเวอร์ที่แปลงมาเป็นอำนาจเศรษฐกิจ

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ระดับครัวเรือน เรื่องนี้ต้องถึงผู้ใหญ่ลี อาหารไทย เป็นที่นิยมในต่างแดน  วัฒนธรรมที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ 

ซอฟต์พาวเวอร์ในไทย 

ทั้งภาครัฐภาคเอกชนของไทยมองเห็นสิ่งที่เป็นจุดขายในตลาดโลกมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคอะเมซิ่งไทยแลนด์ขายการท่องเที่ยว เมื่อจะขายท่องเที่ยวก็ต้องควานหาจุดดึงดูดปรากฎการณ์ไทย เราก็ทำได้ดีติดระดับโลกมานานแล้ว 

หรือกระทั่งมวยไทยที่เอกชนยกทัพออกไปขายยังต่างแดน นักมวยไทยไปเปิดยิมสอนถึงต่างประเทศ มีฝรั่งเดินทางมาเรียนมวยถึงไทยเอง อาหารไทยก็ติดลำดับเป็นที่นิยมในต่างแดนเช่นกัน ฯลฯ 

เหล่านี้เกิดต่อเนื่องเป็นกระบวนการมานานแล้ว อาจตั้งแต่ก่อนที่ ดร.โจเซป เนย์ จะเขียนหนังสือว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ด้วยซ้ำ 

เรารู้ล่ะว่า อาหาร มวย ท่องเที่ยว ของเราติดอันดับโลก ใครๆ ก็ยอมรับ มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจสูง เพียงแต่ไม่ได้เรียกสิ่งดังกล่าวว่า"ไทย"ซอฟต์พาวเวอร์เท่านั้น

รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับซอฟต์พาวเวอร์ในมิติเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฎเป็นนโยบายประเภทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 5F ของกระทรวงวัฒนธรรม อันมี F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย

ยุทธศาสตร์ทำนองนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ต้องทำต่อเนื่องและต้องบูรณาการหลายฝ่าย จึงจะสำเร็จมั่นคงยืนยาว 

เรื่องอาหาร การต่อสู้ เชิดชูเทศกาลในแต่ละเดือนมันไม่ยาก เพราะมีพื้นมาก่อนตั้งแต่ยุคเมดอินไทยแลนด์ ปีการท่องเที่ยวไทยเมื่อครั้งกระโน้น แต่แฟชั่น กับ ฟิล์มนี่สิ ไปถึงไหนแล้ว

รัฐบาลเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพยายามสร้างอำนาจโน้มน้าวในระดับนานาชาติ (ซอฟต์พาวเวอร์ ระดับสากล) จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะล่าสุดก็มีการประกาศนโยบาย 1 ครัวเรือน 1ซอฟต์พาวเวอร์จากรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งมันเป็นสเกลของซอฟต์พาวเวอร์คนละสเกลจากยุทธศาสตร์ 5F ที่เคยมี 

1ครัวเรือนตามนโยบายใหม่ ดูเหมือนจะตีความซอฟต์พาวเวอร์ในระดับชุมชนเท่านั้น 

ไม่ได้มีเป้าเป็นพลังอำนาจละมุนในระดับนานาชาติ อันเป็นนิยามความหมายดั้งเดิมของคำๆ นี้ที่สากลเข้าใจ 

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ระดับครัวเรือน เรื่องนี้ต้องถึงผู้ใหญ่ลี คนทั้งโลกเห็นแล้วก็อยากลองนั่งรถตุ๊กตุ๊ก นี่ก็ใช่พลังซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ 

ซอฟต์พาวเวอร์ครัวเรือน ! การสร้างนิยามใหม่ผ่านนโยบายสาธารณะ !? 
คำอธิบายนโยบาย 1 ครัวเรือน 1 ซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมชี้แจง ดูจะเป็นกิจกรรมพัฒนาอาชีพ เสริมรายได้โดยขับเน้นพรสวรรค์ของประชาชนแต่ละครัวเรือนเป้าหมาย ต่อยอดจากโอทอปเมื่อครั้งกระโน้น นี่เป็นเจตจำนงที่ดีของฝ่ายการเมือง

แต่อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ศัพท์ “ซอฟต์พาวเวอร์” ในบริบทนโยบายส่งเสริมครัวเรือนโดยเน้นพรสวรรค์และวัฒนธรรม ย่อมมีความแตกต่างจากนิยามความหมายเดิมของ soft power ที่สากลเข้าใจ 

อย่างน้อยที่สุดก็ก่อให้เกิดความกำกวม ต้องตีความ หรือต้องอธิบายซ้ำ ดั่งที่เริ่มเกิดทันทีที่มีการประกาศนโยบายออกมา

จากนี้ก็อาจจะยิ่งกำกวมมากขึ้นเมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติ มีลุงเชี่ยวชาญหมักกระแช่แต่งกลิ่นสมุนไพร เราก็เรียกขานว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์  ไปเจอะป้าดัดแปลงลายทอผ้าจกขิดของลายท้องถิ่นให้แปลกพิสดารขึ้น เราก็เรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ 

เจอะวัยรุ่นเอาแหอวนมาตกแต่งร่างถ่ายรูป ทำคอมโพสิชั่นดีๆ ขายได้ฮือฮาก็ซอฟท์พาวเวอร์ … 

จากนี้ซอฟต์พาวเวอร์จะมากมายเป็นล้านๆ พลัง แต่เป็นคำที่เราเรียกขานกันเอง สากลไม่เข้าใจ !!? เพราะมันเป็นคนละบริบทกับที่สากลเขาใช้

นโยบายไม่ผิดหรอกครับ เจตนาดี ไอเดียดี เหลือแค่การเลือกหยิบใช้คำใหญ่หรูหราที่ต้องตีความและกำกวมมากไปหน่อย ที่จริงถอยกลับมาใช้ศัพท์เดิมที่มีผู้สร้างขึ้นเท่ๆ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

ซึ่งมันตรงตัวดีอยู่แล้ว ให้ตรงไปอีกใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับครัวเรือนไปเลย หรือหากจะใช้คำที่แปลกใหม่ขึ้นก็เช่น Local Value Creation ก็ฟังเข้าใจในทันที น่าจะดีกว่าซอฟต์พาวเวอร์ ที่เราขยายความหมายใหม่ แต่สากลอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่ต้องถึงสากลหรอก 

ชาวบ้านเองนี่แหละเมื่อได้ยินนโยบายเขาจะเข้าใจทันทีหรือเปล่า คงไม่ต้องให้ชาวบ้านผู้ใหญ่ลีแบบในเพลง สู้ปรับให้มันชัดแต่แรกเสียทีเดียว น่าจะดีกว่า