เปิดฉากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 80 ประจำปี 2023
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 80 ประจำปี 2023 นี้ มีหนังเข้าร่วมฉายในสายประกวดหลักเพื่อชิง ‘รางวัลสิงโตทองคำ’ มากถึง 23 เรื่อง ทั้ง Ferrari ของ Michael Mann และการหวนคืนสู่เวทีประกวดของ ลุค เบซง ผู้กำกับหนัง action ฝรั่งเศส กับผลงานใหม่เรื่อง Dogman
ออกจะเหงาหงอยไปสักเล็กน้อย สำหรับการเปิดตัวเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ประจำปี 2023 ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 8 กันยายน ซึ่งปีนี้ก็จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 80 แล้ว
ที่ต้องเรียกว่าเหงาหงอยเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ก็เพราะ เดิมทีเทศกาลในปีนี้จะเปิดตัวกันอย่างคึกคักด้วยหนังใหม่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของอดีตมือโปรด้านการเล่นเทนนิสหนุ่มสาวสามรายเรื่อง Challengers ของผู้กำกับอิตาเลียน Luca Guadagnino ซึ่งมีดาราดังอย่าง Zendaya, Josh O’Connor และ Mike Faist มาร่วมแสดง
แต่ดันเจอพิษการประท้วงหยุดงานของสหพันธ์นักแสดงและทีมงานภาพยนตร์ โทรทัศน์ และวิทยุ SAG-AFTRA (Screen Actors Guild and American Federation of Television and Radio Artists) ส่อเค้าว่านักแสดงนำและทีมงานจะมาร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลที่เวนิสไม่ได้
ทางเทศกาลจึงตัดสินใจถอนเรื่อง Challengers ออกจากโปรแกรม และให้หนังประกวดจากอิตาลีเรื่อง Comandante กลายเป็นหนังเบิกโรงเบิกเทศกาลแทน ทำให้ไม่มีดาราอเมริกันหรืออังกฤษที่ร่วมแสดงมาปรากฏตัวด้วย!
อย่างไรก็ดีการประกวดชิงรางวัลสิงโตทองคำประจำปี 2023 ก็นับว่ายังคงคึกคักเข้มข้น เนื่องจากมีหนังในสายประกวดหลักจากนานาชาติร่วมฉายมากถึง 23 เรื่อง โดยประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลในปีนี้ ก็ได้แก่ ผู้กำกับชาวอเมริกัน Damien Chazelle เจ้าของผลงานดังอย่าง Whiplash (2014) La La Land (2016) และ First Man (2018) ร่วมด้วยกรรมการท่านอื่น ๆ คือ ผู้กำกับ Jane Campion, Mia Hansen-Love, Gabriele Mainetti, Martin McDonagh, Santiago Mitre, Laura Poitras และนักแสดงSaleh Bakri กับ ซูฉี
ช่วงสามวันแรกของเทศกาล โปรแกรมหนังจึงต้องระดมฉายหนังสายประกวดเป็นจำนวน 7 เรื่อง เรียงตามลำดับดังนี้
เรื่องแรกซึ่งก็คือหนังเปิดเทศกาล Comandante ของผู้กำกับ Edoardo De Angelis เล่าเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ของ Salvatore Todaro ผู้บัญชาการเรือดำน้ำของกองทัพอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1940 ซึ่งได้เผชิญหน้ากับเรือสินค้า Kabalo จากเบลเยียมที่ยิงขีปนาวุธใส่ฝ่ายอิตาลี Todaro จึงจัดการโจมตีกลับจน Kabalo จมลง และได้แสดงความเป็นวีรบุรุษเปี่ยมมนุษยธรรมด้วยการเสี่ยงอันตรายจากข้าศึกช่วยเหลือลูกเรือที่ยังรอดชีวิตจาก Kabalo กลับคืนสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย
หนังเหมือนจะจงใจหามุมมองอันเกริกเกียรติของกองทัพอิตาเลียนในช่วงสงครามโลกครั้งสอง ก่อนที่ประเทศจะพ่ายแพ้สงคราม ซึ่งก็ถ่ายทอดผ่านการกำกับภาพอันงดงามย้ำความแตกต่างระหว่างภาพผืนทะเลอันเวิ้งว้างกว้างขวางกับสภาพอันแออัดของลูกเรือในเรือดำน้ำ ที่ชวนให้นึกกลับไปถึงบรรยากาศในหนังเยอรมันเรื่องดังอย่าง Das Boot (1981) ของ Wolfgang Petersen โน่นเลย
เรื่องต่อมา El Conde ของผู้กำกับ Pablo Larrain ก็เป็นหนังประวัติศาสตร์แฟนตาซีจินตนาการเล่าภาพชีวิตสีขาวดำของ Augusto Pinochet อดีตประธานาธิบดีรัฐบาลทหารเผด็จการของประเทศชิลี ในช่วงบั้นปลายชีวิตเมื่อเขามีสภาพกลายเป็นผีดิบแวมไพร์อายุ 250 ปี ที่ไล่ต้นตอมาตั้งแต่ช่วงที่เขาเคยอยู่ภายใต้รัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เรื่อยมาจนถึงช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ก่อนจะย้ายมาปกครองประเทศชิลีในเวลาต่อมา
หนังสร้างความบ้าคลั่งโกลาหลด้วยการให้ Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของสหราชอาณาจักร เป็นผู้บรรยายเล่าเรื่องราวของ Pinochet สลับกับการให้ผีดิบแวมไพร์ตนนี้โบยบินโฉบท้องทุ่งในชิลีดั่งปักษา ผสมปนเปเรื่องราวในประวัติศาสตร์กับจินตนาการจนไม่รู้แล้วว่า ส่วนไหนเป็นเรื่องจริงส่วนไหนเป็นสัญลักษณ์ หนักทั้งองค์ประกอบศิลป์ของงานภาพและเนื้อหาในรูปแบบลีลาที่ไม่เหมือนใครเลย
ส่วนเรื่อง Ferrari ของ Michael Mann ก็อาจสร้างความหวังให้ผู้ชมทั้งชื่อหนังที่อ้างอิงถึงยี่ห้อรถแข่งความเร็ว Ferrari และลีลาการกำกับหนังในอดีตของ Michael Mann ที่เล่าเรื่องได้มันแบบไม่เป็นรองใคร
แต่คนดูที่คิดว่าจะได้เห็นฉากการขับรถแข่งแบบมัน ๆ กันสัก 20-30 นาทีก็อาจจะมีโอกาสผิดหวัง เพราะ Ferrari ของ Michael Mann ฉบับนี้ เน้นเล่าเรื่องราวส่วนตัว โดยเฉพาะภายในครอบครัวของ Enzo Ferrari และ Laura Dominica Garello ผู้เป็นภริยา หลังจากที่พวกเขาสูญเสีย Dino บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนไป
ความสูญเสียนี้สร้างความสั่นสะเทือนอันใหญ่หลวงต่อ Enzo Ferrari สร้างบาดแผลความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยา Laura จนต้องหากิ๊กสาวมาเยียวยาหัวใจ ในขณะที่ธุรกิจการผลิตรถ Ferrari ของเขาเองก็ทำท่าว่าจะไปไม่ไหว ต้องปรับกลยุทธ์กันขนานใหญ่เพื่อผลิตรถยนต์สำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวันมากขึ้น
หนังได้ Adam Driver มารับบทเป็น Enzo Ferrari และ Penelope Cruz รับบทเป็น Laura Dominica Garello ซึ่งทั้งคู่ก็สามารถรับมือกับบทหนัก ๆ ในเรื่องนี้ได้อย่างดี เสียดายก็แต่สีสันของตัวละครอาจจะไม่ได้โดดเด่นเท่าเรื่องอื่น ๆ ทำให้ลุ้นรางวัลทางการแสดงได้ยากสักหน่อย
มาถึงเรื่องที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงจากสื่ออย่างอึงคะนึงตั้งแต่วันแรก ๆ ของเทศกาล นั่นก็คือการหวนกลับมาสู่เวทีการประกวดของผู้กำกับหนัง action ฝรั่งเศส Luc Besson กับผลงานใหม่เรื่อง Dogman
โดยในเรื่องนี้ได้นักแสดงหนุ่ม Caleb Landry Jones รับบทนำเป็น Douglas ชายหนุ่มขาพิการไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ และต้องใช้รถนั่ง wheelchair อยู่ตลอดเวลา
เขามีอาชีพในการเพาะพันธุ์สุนัขขาย ทำให้ Douglas มีพรรคพวกเป็นสัตว์หน้าขนที่พร้อมจะผจญภัยไปกับเขาในทุกสถานการณ์ แต่หลังจาก Douglas ผิดหวังในความรักกับนักแสดงละครเวทีสาวที่เขาหลงใหลตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เขาก็ถูกทางการไล่ที่ฟาร์มสุนัขอย่างไม่ปรานี Douglas มีรายจ่ายที่ทำให้เขาต้องรีบหางานใหม่ และสุดท้ายก็ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นนางร้องเล่นเต้นระบำ Drag Queen ในคลับแห่งหนึ่ง แต่งหญิงลิปซิงค์ร้องเพลงด้วยความสามารถที่เขาเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะมี
หนังสร้างออกมาเหมือนจะเอาใจสมาคม ‘คนรักหมา’ อย่างที่สุด ‘น้องหมา’ ทุก ๆ ตัวคือน่ารักมาก และล้วนแสดงกันได้สมบทบาทไม่มีขาดไม่มีเกิน นับเป็นหนังบันเทิงที่สนุกและดูเพลิน แถมประเด็นร่วมสมัยอย่าง LGBTQ+ ที่มักจะไม่ได้เห็นในหนัง action อาชญากรรมอะไรทำนองนี้มากนัก
ตัวแทนในสายประกวดหนึ่งเดียวจากประเทศเดนมาร์ก ได้แก่ The Promised Land ของผู้กำกับ Nikolaj Arcel ที่ได้พระเอกหนุ่มใหญ่ Mads Mikkelsen มารับบทบาทเป็นอดีตกัปตันนำทัพ Ludvig Kahlen ที่พยายามพลิกผืนป่าสร้างที่ทำกินและกลุ่มชุนชนผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์เดนมาร์กเมื่อปี 1755 ในยุคศักดินาสวามิภักดิ์ ที่ตัวชี้วัดความมั่งคั่งหลัก ๆ ก็คือเขตแคว้นดินแดนทำกินอันนี้หละ
แต่พระเอกของเราก็พบเจออุปสรรคเข้าจนได้ เมื่อ ‘นายใหญ่’ ประจำท้องที่ Frederik de Schinkel มาตีเนียนว่า ธรณีผืนนี้เขาได้ตีกรรมสิทธิ์เอาไว้ก่อนแล้ว สร้างความเดือดร้อนให้ Ludvig Kahlen ต้องร้องหาความเป็นธรรมด้วยการหวังพึ่งพิงพระราชอำนาจ
หนังเล่าเรื่องราวที่ออกจะเก่าโบราณ แต่นักแสดงนำอย่าง Mads Mikkelsen ก็ช่างงานดีสร้างสีสันให้ตัวละครจนคนดูต้องใจอ่อนเอาใจช่วย เสียแต่มันอาจจะเป็นบทแนวเดิม ๆ ที่ Mads Mikkelsen เคยเล่นมาแล้วมากมาย เหมือนนายทุนเจาะจงจ้างให้เขามาเล่น เพราะอยากเห็นการแสดงแนวถนัดแบบเก่า ๆ ของเขานี่แหละเป็นสำคัญ
แต่เรื่องที่ถือเป็น ‘ขวัญใจนักวิจารณ์’ ได้รับเสียงปรบมือยินดีอย่างเกรียวกราวในการฉายรอบสื่อ แถมคะแนนดาวรวมสูงลิ่ว ก็ได้แก่ผลงานใหม่ของผู้กำกับกรีกที่หันไปทำหนังพูดอังกฤษ Yorgos Lanthimos เรื่อง Poor Things
ผลงานเรื่องนี้ดัดแปลงเนื้อหามาจากนวนิยายแฟนตาซีชื่อเดียวกัน (1992) ของ Alasdair Gray จากสก็อตแลนด์ เล่าเรื่องราวที่คล้ายจะเป็น Frankenstein ร่วมสมัย เมื่อนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง Godwin Baxter (Willem Dafoe) ได้ชุบชีวิตนางสาว Bella Baxter (Emma Stone) ที่สิ้นลมไปแล้ว ให้กลับมาเดินเหินเหมือนไม่เคยได้รับเชิญให้ไปนรกอเวจีใด ๆ แล้วเลี้ยงดูนางไม่ต่างจากบุตรสาว
แต่อนิจจาท่านบิดา Godwin มิได้ชุบชีวิต ‘ความเป็นกุลสตรีศรีสังคม’ ของ Bella ขึ้นมาด้วย นางจึงเป็นภูติคืนชีพที่ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณไปกับแรงผลักดันทางเพศ จนหนังอุดมไปด้วยเซ็กส์และความรุนแรง แต่งแต้มโลกเหนือจริงในหนังด้วยภาพขาวดำสลับกับท่อนสีที่ดีไซน์ออกมาเหมือนจะคารวะผลงานสุดเซอร์เรื่องดังอย่าง Delicatessen (1991) และ The City of Lost Children (1995) ของ Marc Caro และ Jean-Pierre Jeunet กันเลย อีกหนึ่งเรื่องที่มีสิทธิ์ลุ้นรางวัลกับความแปลกต่างไม่เหมือนใครโดยเฉพาะในด้าน ‘ลูกบ้า’
มาที่หนังอิตาลีเรื่องที่สองของการประกวด ซึ่งก็คือเรื่อง Finally Dawn ของผู้กำกับ Saverio Costanzo เป็นหนังเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างหนังที่แปลกอยู่สักหน่อย ค่อย ๆ เผยตัวละครหลักสำคัญว่าคือนางสาว Mimosa วัยรุ่นชาวบ้านหน้าตาท่าทางออกจะธรรมดา ๆ ที่วาสนานำพาให้เธอเป็นตัวประกอบสำคัญที่ได้เข้าฉากร่วมกับนางเอกสาวเบอร์ต้น ๆ จากสหรัฐอเมริกา ณ กองถ่ายหนังย้อนยุคอียิปต์โบราณเรื่องหนึ่งที่ ชิเนชิตตา ประเทศอิตาลี ช่วงปี 1950s
เนื้อเรื่องของหนังออกจะพาฝัน นำเสนออีกภาพด้านความจริงของวงการมายาฮอลลีวู้ดที่เหล่าดาราสวย ๆ หล่อ ๆ ชีวิตจริงก็อาจไม่ได้พริ้งพรายไฮโซอยู่ตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ Mimosa จะได้เรียนรู้หลังจากได้ร่วมวงปาร์ตี้กับเหล่านักแสดงและทีมงานตลอดทั้งคืน หนังดูไม่ใคร่มีอะไรใหม่มากนัก จนแม้แต่สื่อจากอิตาลีเองก็ดูจะไม่ได้นิยมชมชอบเรื่องนี้กันสักเท่าไรเลย