เสริมสุขภาวะพี่น้องมุสลิมไทย 5 ชายแดนใต้ ปั้น มัสยิดปลอดบุหรี่ มาตรฐานเดียว
เสริมสุขภาวะพี่น้องมุสลิมไทย 5 ชายแดนใต้ ปั้น "มัสยิดปลอดบุหรี่" สร้างต้นแบบ "ลด ละ เลิก สูบบุหรี่และยาสูบ" อย่างยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
มัสยิด เป็นสถานที่กลางของ ชุมชนมุสลิม ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประกอบศาสนกิจ แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชุมชน ที่ตั้งของสถานศึกษา กล่าวได้ว่ามัสยิดเปรียบเสมือนต้นแบบของการพัฒนา เพื่อสร้างสุขภาวะที่เหมาะควรให้แก่พี่น้องมุสลิม ความตระหนักในบทบาทสำคัญของมัสยิดนำมาสู่ต้นแบบการพัฒนา "มัสยิดปลอดบุหรี่" โครงการที่ตั้งเป้าผลักดันหวังปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่การลด ละ เลิก สูบบุหรี่และยาสูบ ของพี่น้องมุสลิมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เกิดจากความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ไปจนถึงเพื่อนพี่น้องมุสลิมไทยในพื้นที่
จุดเริ่มต้น "มัสยิดปลอดบุหรี่"
ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย หนึ่งภาคีในการขับเคลื่อน เผยจุดเริ่มต้นในวันที่มัสยิดมีนามสกุลต่อท้ายว่า "มัสยิดปลอดบุหรี่" ว่า เกิดจากการวิจัยของมูลนิธิฯ พบไทยมีภูมิภาคที่ต้องโฟกัสการขับเคลื่อนรณรงค์ปลอดบุหรี่ใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคใต้ ภาคอีสาน และชนบท โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีปัจจัยร่วมคือ "โครงสร้างอายุ" เนื่องจากเป็นภาคที่มีวัยหนุ่มสาวอายุ 20-44 ปี มากที่สุดในไทย เป็นกลุ่มที่มีอัตราสูบบุหรี่สูงสุด และแน่นอนยังเป็นเป้าหมายกลุ่มสำคัญของตลาดยาสูบ รองลงมาคือ 18-19 ปี ที่ปัจจุบันกำลังมีอัตรามากขึ้นถึง 7% มัสยิดถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิม ควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินงานมัสยิดปลอดบุหรี่ร่วมกับ สสส. ได้พัฒนาให้เกิดกลไกการรณรงค์ในพื้นที่
การขับเคลื่อน "มัสยิดปลอดบุหรี่" ในพื้นที่ภาคใต้มีการดำเนินการมายาวนานกว่าสิบปี ซึ่งยังต่อยอดด้วยโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่เป็นอีกกลไกเสริมทัพในการกระตุ้นให้เกิดการ เลิกบุหรี่และยาสูบ ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กว่าสิบปีที่ผ่านมา สสม. และภาคีเครือข่ายมีความตั้งใจทำมัสยิดปลอดบุหรี่ โดยเกิดต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็น 21% ของมัสยิดทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีมัสยิดเป็นเขตปลอดบุหรี่ประมาณ 21% ของมัสยิดทั่วทั้งประเทศ และในภาคใต้น่าจะมีประมาณ 30% แต่ "ศ.ดร.อิศรา" มองว่าการทำงานต้องมีการติดตามสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เลิกสามารถเลิกได้จริงไม่กลับมาสูบอีก เพราะแม้การขับเคลื่อนลดปัญหายาสูบในพื้นที่ภาคใต้ดำเนินการมายาวนานมากกว่าสิบปี หากยังคงมีนักสูบหน้าเก่าและหน้าใหม่เกิดขึ้นในทุกวัน จึงต้องมองหากลไกหรือมาตรการต่างๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมต่อเนื่อง
เมื่อเร็วๆ นี้ สสส. ร่วมกับมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มูลนิธิคนเห็นคน สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ทั่วประเทศที่มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของภาคีมัสยิดกว่า 90 แห่งในภูมิภาค ที่มาผนึกกำลัง ร่วมประกาศตนที่ก้าวสู่เส้นทาง "มัสยิดปลอดบุหรี่" ที่มีมาตรฐานเดียวกัน
มัสยิดปลอดบุหรี่มาตรฐานเดียวกัน
ศ.ดร.อิศรา ให้ข้อมูล แม้จะชื่อเดียวกันว่า "มัสยิดปลอดบุหรี่" แต่ที่ผ่านมา มีมาตรฐานปฏิบัติแตกต่างไม่เหมือนกัน ซึ่งภายในงานมีวัตถุประสงค์สร้างความเข้าใจและยกระดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ 5 ข้อ ที่จะนิยามมัสยิดปลอดบุหรี่ คือ 1) มีพื้นที่ปลอดบุหรี่จากชายคามัสยิดไม่น้อยกว่า 10 เมตร 2) มีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร 3) มีกระบวนการเลิกบุหรี่ เช่น การให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ การเชิญชวนให้เลิกบุหรี่ 4) มีเทศนาวันศุกร์ต้านสิ่งมึนเมา หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบ และ 5) มีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ เป็นจุดนิทรรศการของมัสยิด
"ที่ผ่านมาดำเนินโครงการมากว่าสิบปี มีมัสยิด 800 กว่าแห่ง จากทั่วประเทศ 4,000 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ แต่มองว่า การขับเคลื่อนในครั้งนี้จะเป็นการเร่งความเร็วการขยายผลมัสยิดปลอดบุหรี่ให้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิมได้สามเท่า จากเดิมที่ขยายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 30-40 แห่ง" ศ.ดร.อิศรา กล่าว
ท้ายสุดการทำงานยังมองเชื่อมโยงไปถึงการทำงานควบคู่กับอีกโครงการ นั่นคือโครงการเลิกบุหรี่ที่บ้าน ที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้พี่น้องมุสลิมเลิกบุหรี่บ้านละคน ซึ่งถ้าทำได้จะส่งเสริมให้อัตราการสูบบุหรี่ในพี่น้องชาวมุสลิมลดลง 1 ใน 4
"กลุ่มที่ชาวบ้านมุสลิมจะฟังเสียงมากที่สุดมีสองกลุ่มคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้นำศาสนาและครูสอนศาสนา เคยมีวิจัยว่า แล้วใครมีอิทธิพลต่อผู้สอนศาสนาและครูสอนศาสนา นั่นคือครอบครัว ภรรยาและลูก ผู้ชายมุสลิมจะเกรงใจภรรยาและลูกมาก จึงเจาะไปที่ครอบครัว"
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ สู่การเป็น "มัสยิดปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน" ซึ่งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา การทำงานขับเคลื่อนการลดสูบบุหรี่ของ สสส. และภาคี ที่ทำอย่างต่อเนื่องแม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีอีกภูมิภาคที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเสมอมาและเป็นแชมป์คือภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งพบหลายเหตุปัจจัย ทั้งการไม่ดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้หันมาหาบุหรี่หรือยาสูบทดแทน หรือด้านอุปสงค์บุหรี่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดชายแดน อาจหาซื้อบุหรี่และยาสูบหนีภาษีง่าย ทั้งในแง่ค่านิยมความเชื่อเรื่องความเป็นชายที่ต้องแสดงออกด้วยการสูบบุหรี่
"ภาคใต้มีอัตราคนสูบบุหรี่สูงต่อเนื่องกว่า 21% ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ศาสนสถาน อาทิ วัด มัสยิด ในทุกศาสนานิกายมักเป็นสถานที่มีการสูบบุหรี่มากอันดับ 4 คือมีถึงร้อยละ 17 ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี" ดร.สุปรีดา กล่าว
ซึ่งผลจากการขับเคลื่อนงานบุหรี่ยังพบปัจจัย การปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่จะกระตุ้นให้การสูบลดลง จึงเป็นเหตุผลที่สสส. ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะมุสลิมไทยร่วมกับภาคีในการพัฒนากลไกควบคุมยาสูบ
จากมัสยิดปลอดบุหรี่ สู่มัสยิดครบวงจร และมัสยิดต้นแบบ
ศ.ดร.อิศรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมัสยิดต้นแบบปลอดบุหรี่ในไทยประมาณสิบแห่งที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการจะเป็นได้นั้น ต้องประกาศตัวเป็น มัสยิดปลอดบุหรี่ ผ่านการอบรมจากนิติกรที่รู้เรื่องกฎหมายยาสูบ ต้องเปลี่ยนโปสเตอร์ทุกเดือน และในอนาคตสามารถขยายผลสู่ "มัสยิดครบวงจร" ที่จะยกระดับสู่การเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ต่อไป
ชารีฟ สมศักดิ์ หวันหล๊ะเบ๊ะ อิหม่ามแห่งมัสยิดอุสาสนอิสลาม (บ้านบน) ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมัสยิดปลอดบุหรี่ และมีการดำเนินการด้านนี้ต่อเนื่อง เอ่ยถึงกระบวนการขับเคลื่อนว่า เดิมนั้นคนในชุมชนส่วนใหญ่สูบบุหรี่เช่นเดียวกับชุมชนอื่นทั่วไป แต่ภายหลังเมื่อทราบว่าการสูบบุหรี่นั้นทำร้ายสุขภาพจึงพยายามรณรงค์เพื่อให้คนในชุมชนไม่สูบบุหรี่ ก็มีทั้งคนเข้าใจให้เกียรติกับมัสยิด เขาก็ไม่สูบ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของมาตรการ บางคนไม่แน่ใจว่า ตกลงศาสนาห้ามสูบจริงไหม หรือควรเลิกสูบไหม แต่หลังจากการเข้าร่วมกับ สสส. เริ่มจริงจังการส่งเสริมมาตรการมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังไปประชุมสสส. มีการนำป้ายรณรงค์พื้นที่ห้ามสูบบุหรี่มาติดทำให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีการพูดคุยกับพี่น้องในพื้นที่ รวมถึงในการอบรมมีการพูดถึงมากขึ้นบ่อยขึ้น เขายอมรับว่า ในการดำเนินการในตอนแรกที่บางคนไม่เห็นด้วย แต่การดำเนินการนั้นยังคงใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ให้ข้อมูลต่อเนื่อง เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความรู้อยู่แล้ว จะไปบังคับให้เลิกอาจเป็นเรื่องยากต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่บังคับเขา
อย่างไรก็ดี เขาวิเคราะห์ว่า มีสามปัจจัยที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือคือ 1) การให้ความรู้เรื่องศาสนา 2) การเข้าถึงมีความสำคัญ พูดคุยแบบพี่น้อง และ 3) จะมีการจัดประชุมทุกเดือน ส่วนอีกภารกิจ ที่อิหม่ามชารีฟมองว่าเป็นเรื่องสำคัญคือการพยายามลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลให้เห็นพิษภัยบุหรี่ รวมทั้งการให้ข้อคิดแง่ศาสนา หลังสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) "เรื่องบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ควรสูบ" ได้นำมาถ่ายทอดให้ดู เมื่อเวลาขอความร่วมมือเขาบอกคนในพื้นที่ก็เชื่อฟัง
"เราไม่ได้ไปห้ามบังคับ คงเป็นการขอร้องไม่ให้สูบในมัสยิดมากกว่า ต้องใช้วิธีคือทำให้เขาเข้าใจ ในอนาคตเรายังตั้งเป้าว่าจะรณรงค์อยากให้เขาเลิกสูบที่บ้าน ซึ่งใช้สื่อต่างๆ กระตุ้นให้เห็น จนสุดท้ายยอมรับว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ควรเลิก คนที่เลิกไปแล้วมีสามคน ตอนแรกก็ไม่ฟัง แต่ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพเอง เขาเป็นโรคหัวใจ สุดท้ายเมื่อป่วยจึงยอมเลิก ส่วนอีกรายภรรยาบอกให้เลิก สุดท้ายจึงจำนนด้วยเหตุผลที่ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ขัดกับศาสนา สองสังคมไม่ยอมรับ และรู้ว่าสูบบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพ" สมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ เขาและคณะกรรมการประจำมัสยิดยังเป็นต้นแบบในการไม่สูบบุหรี่หรือลด ละ เลิกบุหรี่ให้สมาชิกเห็น
"ผมเป็นอิหม่ามไม่สูบบุหรี่ คณะทำงานและคณะกรรมการประจำมัสยิดส่วนใหญ่ก็ไม่สูบบุหรี่ แม้เราไม่ได้เป็นกฎ แต่จะใช้เรื่องนี้พิจารณาเป็นปัจจัยเสริมในการคัดเลือกมาทำงาน" สมศักดิ์ กล่าว