‘ขี้คุกเขียนรูป’ เปลี่ยนชีวิต คิดใหม่ ‘รายได้หลักล้าน’

‘ขี้คุกเขียนรูป’ เป็นโอกาสของผู้ต้องขังที่กลับตัวเป็นคนปกติ โดยการคิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนชีวิต หาอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง อย่าง ‘วรรณวัฒน์ หาญรุ่งเรืองกิจ’ อดีตนักโทษชาย สู่ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมี ‘รายได้หลักล้าน’
ดังนั้น การให้โอกาส สำหรับคนที่เคยผิดพลาด เมื่อพวกเขาได้รับโทษทางกฏหมายแล้วพร้อมกลับตัวกลับใจเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรให้โอกาส ผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้รับการฝึกฝนเรียนรู้วิชาชีพ และเพาะบ่มจิตสำนึกที่ดีก่อนได้รับอิสระ ทว่าหากสังคมตีตรา ก็ยากที่ชีวิตจะนับ 1 ใหม่ได้
วันนี้ จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสฟังความคิดในเวทีเสวนา ในงาน SX SUSTAINABILITY EXPO 2023 ว่าด้วยเรื่อง SOCIAL REINTE GRATION ‘โอกาส’ ของผู้กลับตัวได้คืนสู่สังคม ที่มีผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน เริ่มจาก อันธิกา อ่อนพร้อม ผู้อำนวยการกลุ่มงาน สวัสดิการและสงเคราะห์ผู้ต้องขัง จันทร์ทิมา อุยยะเสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษา ตามพงษ์ วงษ์จันทร์ หัวหน้างานกิจกรรมนักศึกษา
และเครือข่ายสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช สมิหรา ทันเจริญกิจ ผู้ก่อตั้ง เพจโอกาส สื่อกลางเชื่อมระหว่างคน และงาน ที่สร้างโอกาสการมีอาชีพให้แก่ผู้พ้นโทษ และที่สำคัญยังได้ฟังมุมมองและความคิดจาก วรรณวัฒน์ หาญรุ่งเรืองกิจ อดีตนักโทษชาย สู่ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เจ้าของเพจ ‘ขี้คุกเขียนรูป’
‘บอม-วรรณวัฒน์’ เจ้าของเพจ ‘ขี้คุกเขียนรูป’ เล่าว่า หลายๆคนที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำจะเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ สำหรับเขาถือว่าเริ่มจากการติดลบ เพราะบ้านถูกขายไปแล้ว ภรรยาก็ทิ้งไปมีครอบครัวใหม่ หลังจากติดคุกไป 10 ปี กลับออกมาไม่เหลืออะไรเลย “ผมติดคุกในคดีที่ผมไม่ได้ทำระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ก็ได้ฝึกอาชีพ ในโครงการของสมเด็จพระเทพฯ
ผมถือว่าโชคดีมากที่เป็นอดีตนักโทษที่ได้อยู่ในเรือนจำนั้น เพราะมีโครงการช่างสิบหมู่ เข้าไปเปิดสอน เราก็ตั้งใจเลยว่าจะออกไปประกอบอาชีพอะไร แต่กรมราชทัณฑ์ เอาอาชีพเข้าไปสอนเยอะมาก แต่ในชีวิตจริงไม่สามารถเอามาประกอบอาชีพได้นอกเรือนจำ หลายคนเรียนวิชาทำขนม ทำอาหาร อะไรก็แล้วแต่
ถามว่าพอผมออกไปใส่เสื้อแขนสั้นไม่ได้เป็นช่างวาดรูป แต่ไปยืนขายขนมข้างถนน ถามว่ามีใครอยากจะซื้อขนมผมไหม ไม่มีหรอก อันดับแรกผมต้องถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม ว่าผมเป็นใคร เป็นขโมย หรือผมเป็นโจร ผมโดนคดีอะไรมานะ สายตาเหล่านั้นได้ตัดสินผมไปแล้วว่าผมเป็นอะไร คนที่พ้นโทษออกมาแล้วเจอแบบนี้ ก็ต้องถามตัวเองว่าทำไม เราเลือกที่จะเป็นคนดีแล้วต้องเจอกับสายตาแบบนี้”
พอออกจากเรือนจำเขาตั้งชื่อเพจว่า ขี้คุกเขียนรูป มีความหมายที่ล้อเลียนส่อเสียดพร้อมกับประกาศตัวอย่างเต็มภาคภูมิว่า ขี้คุก แล้วไง ‘ขี้คุก’ กลับตัวเป็นคนดีมีอาชีพบริสุทธิ์ มีฝีมือ เขียนรูปได้ และสวยด้วย
“คำว่า ขี้คุก แถวบ้านผมนะ โคตรให้กำลังใจเลย (ประชด) มันเป็นคำที่ซ้ำเติมเราด้วยนะพี่นะ ข้างบ้านพูดกันว่าไอ้เนี่ยมันออกมาละ อย่าไปยุ่งกับมัน ผมก็เลยอยากใช้คำนี้เพื่อให้สังคมรู้ว่า คนเคยติดคุก ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดเสมอไป
ตอนนี้มีผู้ติดตามเพจผมแสนกว่าคน ผมส่งงานออกไปขายต่างประเทศ 3 ประเทศและมาสัมภาษณ์ชีวิตผมไปลงในนิตยสารต่างประเทศ วันแรกที่ผมออกจากคุก อยากมีเงินซื้อพู่กัน ซื้อสี ก็เลยไปหาเพื่อนที่เขายังค้ายาอยู่ คำแรกเขาถามว่าผมจะเอาตังค์ไปทำอะไร ผมบอกว่าอยากวาดรูปขาย เขาบอกว่ามึงลองคิดดูนะ เด็กที่จบจากสายศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพาะช่าง ศิลปากร ยังตกงานเลย มึงเป็นใครจะไปขายรูป
แล้วเขาก็ให้น้องเขาเอายามาให้ผม เราก็คิดว่าจะขายก่อนหรือจะโดนจับก่อน แล้วผมก็ตัดสินใจว่าผมไม่เอา เขาบอกว่าสิ่งที่ผมกำลังจะทำมันเพ้อเจ้อไม่มีใครซื้อรูปมึงหรอก ตอนนี้รูปผมมี ออเดอร์จองล่วงหน้า 3 ปีแล้วนะ”
หนึ่งในผลงานการเขียนรูปของ 'บอม-วรรณวัฒน์'
ที่เพื่อนหยิบยื่นยาเสพติดมาให้แล้ว บอม-วรรณวัฒน์ ปฏิเสธ เพราะคิดว่าตอนที่อยู่ในคุก 10 ปีนั้นเขาได้สูญเสียอะไรไปเยอะมาก เช่นแฟนมีครอบครัวใหม่ เสียโอกาสเห็นการเติบโตของลูก ไม่มีบ้านอยู่ ต้องอาศัยบ้านเพื่อนไปก่อน ยืมตังค์เพื่อนไปซื้อโทรศัพท์ เพื่อฝึกเล่นโซเชียลโดยลูกสาวฝึกให้ เขานั่งรถกลับไปที่เรือนจำเพื่อขอภาพที่เคยชนะประกวด เอามาลงในเพจ
จากคนที่เขียนรูปไม่เป็นเลย กลายเป็นนักเขียนรูป ออกจากเรือนจำมา 1 ปี ในปี 2563 มี รายได้หลักล้าน ในฐานะของคนได้รับโอกาสจากสังคม ปัจจุบันเขาเข้าไปเป็นวิทยากรในเรือนจำต่างๆ ผู้ต้องขังเหล่านั้นพอพ้นโทษติดต่อมาหาเขาขอความช่วยเหลือ จนเงินเก็บล้านกว่าเกือบเกลี้ยง
ผู้ต้องขังเมื่อได้รับการศึกษา ได้ฝึกอาชีพ ออกมาแล้วจำเป็นต้องสร้างโอกาส ให้ตัวเอง และพิสูจน์ตัวเองในสังคม เพื่อให้สังคมยอมรับและไว้วางใจ ขณะเดียวกันคนในสังคมต้องใจกว้าง แบ่งปันโอกาสให้กับพวกเขาด้วย
สมิหรา ทันเจริญกิจ ผู้ก่อตั้ง เพจโอกาส กล่าวว่าการให้โอกาส ไม่ยากเลย แค่มองว่าพวกเขาเป็นคนปกติ “อย่างบอม เขาไม่ได้ต้องการความสงสารเห็นใจ เขาแค่ต้องการเป็นคนปกติเหมือนคนทั่วไป ไม่ต้องให้ความพิเศษอะไรเขา ไม่ต้องเยินยอ มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเราคืนความเป็นปกติให้เขา อีกส่วนหนึ่งเขาต้องสร้างความปกติให้กับชีวิตของเขาเอง ให้สามารถอยู่บนโลกใบนี้ อยู่ในกติกาสังคม เหมือนคนทั่วไป อันนี้คือโอกาสที่แท้จริงที่ ใครๆก็ทำได้”
สำหรับ ‘สมิหรา’ เล่าว่าเธอเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงานมาถึงจุดหนึ่งคิดว่าอยากทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม เลือกที่จะช่วยเหลือผู้พ้นโทษ เพราะเห็นว่ายังไม่มีองค์กรไหนช่วยเหลืออย่างจริงจัง นอกจากกรมราชทัณฑ์ ที่ ช่วยฝึกอาชีพ เมื่อออกมาสู่โลกภายนอกกรมราชทัณฑ์ก็หมดหน้าที่ เธอจึงสนใจเป็นผู้เชื่อมประสานระหว่างอดีตผู้ต้องขัง กับนายจ้าง ทำมา 5 ปี มีหลายเคสที่ประทับใจ
ยกตัวอย่าง มีนายจ้างรายหนึ่งต้องการหาผู้ช่วยในการทำงานด้านติดต่อซื้อขายที่ดิน เธอเห็นมีผู้พ้นโทษรายหนึ่งมีความรู้จบปริญญาตรี ถามว่าสนใจงานนี้ไหม ต้องนั่งรถไฟไปสุราษฎร์คนเดียวนะ ซึ่งเขาไม่เคยไปสุราษฎร์ เขาบอกสนใจ ก็นั่งรถไฟชั้น 3 ไปเรียนรู้งาน เริ่มจากไม่มีอะไร ไม่มีบ้าน ต้องนอนในออฟฟิศ เรียนรู้งานทุกอย่าง เรื่องเอกสาร การติดต่อ กฎหมาย ฯลฯ ปัจจุบันกลายเป็นนักธุรกิจเกี่ยวกับซื้อขายที่ดินอันดับต้นๆในภูเก็ต ไปเรียบร้อยแล้ว
เจ้าของเพจ ‘โอกาส’ เล่าว่าเป็นงานที่ไม่ได้ใช้เงิน แต่ใช้เวลาในการติดต่อประสานงาน ทั้งนายจ้าง และผู้พ้นโทษที่สมัครเข้ามา และต้องเช็คทั้งสองฝ่าย นายจ้างบริษัทอะไร ให้ไปทำอะไร อยู่ที่ไหน ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร
ผู้ร่วมงานเสวนา
ส่วนผู้พ้นโทษสมัครเข้ามาเยอะก็ต้องเลือกว่าพูดจารู้เรื่องไหม มีความรับผิดชอบหรือเปล่า มีความพร้อมในการทำงานนั้นๆหรือไม่ ตั้งแต่ก่อตั้งเพจมา 5 ปี หางานให้ผู้พ้นโทษได้ประมาณ 20 รายก็ถือว่าอิ่มใจแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านช่าง เช่นพ่นสี เฟอร์นิเจอร์ ขับรถ และพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น