พลังคนรุ่นใหม่รักบ้านเกิด เปิดร้านกาแฟ ปลูกข้าวหอมมะลิขาย ทำยังไงให้ปัง !
ในงาน SX 2023 หัวข้อ"พลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักบ้านเกิด"..เล่าถึงคนขายข้าวหอมมะลิ ทำร้านกาแฟ ต่อยอดเป็นท่องเที่ยว ธุรกิจเหล่านี้ทำให้ปัง!ได้อย่างไร
พลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักบ้านเกิด..กับเรื่องราวคนปลูกข้าว ขายข้าว ร้านกาแฟบนผืนป่าไม้กฤษณา และการต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยว เรื่องเล่าในวงเสวนาเล็กๆ งาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023)
ลองทำความรู้จักกับ โอวา กลับบ้านมาขายข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ,กุลชาติ เค้นา หันหลังให้กรุงเทพฯ กลับขอนแก่น หามุมสวยๆ ขายทิวทัศน์ที่อ.ภูผาม่าน ทำธุรกิจร้านกาแฟ และท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงศุภเศรษฐ์ ฟาร์มสุข ร้านกาแฟ อาหารและที่พักบนผืนพื้นที่ไม้กฤษณา จ.ระยอง
คนรุ่นใหม่ที่พยายามค้นหาเส้นทางตัวเอง ลองผิด ลองถูก จนพบสูตรในการทำธุรกิจเล็กๆ
จากเพจโอวาหอมมะลิสุรินทร์ 100 %
โอวา กะเทยขายข้าว
โอวา ธนาวัฒน์ จันนิม กะเทยที่เคยทำงานประชาสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ เจอวิกฤตช่วงโควิดไม่ต่างจากหลายคน จึงกลับบ้านเกิด เพราะอยู่ในเมืองค่าใช้จ่ายสูง
"ตอนนั้นมีคนถามว่า เรียนสูงๆ กลับมาอยู่บ้านทำไม โอวากลายเป็นผู้แพ้เป็นซึมเศร้า แรกๆ คิดว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย คิดว่าเซฟโซนต้องมีคนมอบให้"
ในที่สุดโอวาคิดได้ หันมาสร้างพื้นที่ในแบบของตัวเองบนโลกโซเชียล เริ่มจากทำติ๊กต๊อก และเปิดเพจโอวาหอมมะลิแท้สุรินทร์ 100% เพราะเชื่อว่าหอมมะลิสุรินทร์อร่อย ไปซื้อที่อื่นจะมั่นใจได้อย่างไร ก็ใช้ความเป็นคนสุรินทร์เล่าเรื่องข้าวในหนึ่งเดือนมียอดติดตามสองแสนกว่าๆ ทั้งหมดผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ และทำตลาดอย่างตรงไปตรงมา
โอวาเล่าว่า ทุกเรื่องที่เล่าผ่านสื่อออนไลน์ ต้องคิดมาก่อน ไม่จำเป็นต้องพรีเซนต์เยอะ เล่าแบบตรงไปตรงมา
"บางคลิปเต้นกลางท้องนาขายข้าว หรือไม่ก็แต่งตัวเลิศๆร้องเพลงบียอนเซ่กลางทุ่งนา เพราะคนดูไม่ได้เห็นแค่กะเทย แต่เห็นเบื้องหลังการตากข้าว แม้กระทั่งการเก็บข้าวในยุ้งฉาง เราเก็บแบบนี้ไม่มีกลิ่นสาปก็ทำให้เห็น
คนในชุมชน พอเห็นเราถ่ายคลิป ก็ไปบอกแม่เราว่าลูกเธอบ้า แต่มีคนติดตามเยอะขายข้าวได้ จากคนบ้ากลายเป็นปราชญ์ชุมชน มีคนมาถามว่า ขายข้าวยังไง เขาก็ลองทำแบบเรา แต่ขายไม่ได้เหมือนเรา"
กว่าจะมีวันนี้ โอวาเคยรู้สึกไร้ค่าและซึมเศร้า จนกระทั่งลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ของตัวเอง ขายข้าวได้เดือนหนึ่ง 10 ตัน แรกๆ แม่ของเขาคิดว่า แอบเอาข้าวเปลือกที่จำนำไปขาย แต่เขาเลือกสีข้าวขายออนไลน์จนมีรายได้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อปี
สิ่งที่โอวาเลือกได้ ก็คือ การทำเรื่องสนุกๆ ทุกๆ วัน ขอเพียงปิดการขายได้ เพราะชีวิตไม่ได้มีต้นทุน
"เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ ต้องใช้หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถ้ามีหนี้เพิ่ม เมื่อไรจะหาชีวิตตัวเองเจอ เราไม่พร้อมลงทุน ถ้าล้มก็คือเป็นหนี้ ตอนเริ่มขายข้าวก็ทำเล็กๆ ทดลองขายในกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อดูว่า ข้าวสุรินทร์มีศักยภาพไหม"
โอวา เปรยว่า บางทีคนเราอาจเป็นผู้แพ้ในสถานที่หนึ่ง แต่เป็นผู้ชนะอีกสถานที่
"โอวาเป็นผู้แพ้ในกรุงเทพฯ ใช่ว่าจะแพ้ตลอดไป ถ้าใครอยากทำแบบนี้ ลองค้นหาศักยภาพที่มีอยู่ในบ้านเกิดแล้วเอาโซเชียล มีเดีย เชื่อมต่อ ทุกรอยเท้าที่ผิดพลาดคือความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง ตอนนี้ข้าวเราไม่พอขาย"
และนี่คือคนตัวเล็กๆ ที่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และเอื้อประโยชน์ให้คนในชุมชนด้วย
มีสุขฟาร์ม ผืนป่าไม้กฤษณา
อีกเรื่องราวคนรุ่นใหม่ ศุภเศรษฐ์ กิตติผล ครอบครัวของเขามีผืนป่าหลายร้อยไร่ ปลูกไม้กฤษณา ในยุคนี้หากทำแบบเดียวกับคนรุ่นพ่อแม่ ธุรกิจคงไปต่อยาก เขาก็เลยทำร้านกาแฟ ขายอาหาร และที่พัก เพื่อดึงคนมาเที่ยวที่ มีสุขฟาร์ม จ.ระยอง(เพจ Mesook farm )
"ตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำการเกษตร ผมเพิ่มช่องทางการขายในมีสุขฟาร์ม มีทั้งร้านกาแฟ อาหารและที่พัก คาเฟ่กลางผืนป่ากฤษณาบนเนื้อที่หลายร้อยไร่ เน้นขายความแตกต่าง
ผมนำไม้กฤษณามาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้คนรู้จัก และบินไปหาตลาดไม้กฤษณาในต่างประเทศ ทำให้มีลู่ทางมากกว่าคนในชุมชน"
ศุภเศรษฐ์ต้องทำงานกับคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เขาจึงต้องปรับตัว และปรับวิธีคิด
"เคยลองซื้อโฆษณาในโซเชียล มีเดียสามพันกว่าบาท เพื่อโฆษณากระเช้าไม้กฤษณา ก็มีคนสั่งซื้อเข้ามา 5-6 หมื่นบาท เป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ และต้องยอมรับโลกเปลี่ยน
ความสำเร็จของคนเรามาจากความล้มเหลวที่ไม่เท่ากัน ต้องมีความกล้า เรียนรู้จากความผิดพลาดของคนรุ่นเก่า ทดลองทำ ไม่ใช่ว่าเราจะถูกต้องเสมอ ต้องฟังคนอื่นบ้าง ถ้าจะล้ม ให้ล้มตอนมีแรง และสิ่งสำคัญคือ ธุรกิจของเราทำเพื่อชุมชนและปลอดขยะ (Zero Waste)
ดริปกาแฟที่ฟาร์มคิด (ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น)
กุลชาติ เค้นา เคยทำงานด้านออกแบบในกรุงเทพฯ เมื่อแม่ป่วย จึงต้องกลับบ้าน(ขอนแก่น)ในปี 2562 เริ่มแรกเลือกขายหมูกระทะ ไปๆ มาๆ ไม่เป็นอย่างที่คิด จึงมาทำฟาร์มคิด ร้านกาแฟและท่องเที่ยวชุมชน (เพจ Farmkits - ฟาร์มคิด)
"ตอนแรกทำชุดคิดปลูกผัก แต่ไม่มีคนซื้อ กระทั่งชวนเพื่อนมาเที่ยวภูผาม่าน อยากทำเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ที่นี่ยังไม่เป็นที่รู้จัก เพราะเป็นเมืองรองไปสู่ภูกระดึง
ผมเริ่มลองไลฟ์สด พาครอบครัวไปดริปกาแฟ มีวิวภูผาม่านอยู่ด้านหลัง ตอนนั้นช่วงเวลา 6.00-8.00 น. แล้วให้คนที่สนใจจองคิวดริปกาแฟเข้ามา ก็มีคนจอง ผมจึงเห็นโอกาสในการทำท่องเที่ยว เริ่มจากทำร้านกาแฟ และสนับสนุนท่องเที่ยวชุมชนภูผาม่าน
พาคนเดินป่าภูผาม่าน เพราะบางคนชอบหาโลเคชั่นใหม่ๆ ในการท่องเที่ยว จนกลายเป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวธรรมชาติ คนต้องมาถ่ายรูปที่ภูผาม่าน จากที่เคยมีรีสอร์ทแค่สามแห่ง ตอนนี้คนในชุมชนเริ่มเปิดโฮมสเตย์และรีสอร์ท มีที่พักตั้งแต่ 500-4,000 บาท"
การกลับบ้านเกิด เพื่อทำธุรกิจเล็กๆ กุลชาติ มองว่า ความรู้สมัยใหม่มีอยู่เยอะ แต่ขาดการลงมือทำ
"เราเสพความสุขผ่านโซเชียลทุกวัน แต่เราไม่รู้เบื้องหลังวิธีคิด ต้องลองทำ จะได้รู้ว่าอะไรเหมาะกับเรา
ถ้าจะทำธุรกิจเล็กๆ ต้องมีสองเรื่องคือ สภาพคล่องทางการเงิน และการทำงานที่เป็นระบบ ถ้าทำสองอย่างนี้ได้ อย่างไรก็รอดฎ
ส่วนการวางรากฐานการตลาด เขามีข้อแนะนำ 4 ขั้น คือ 1.ถกเถียงให้ชัดว่าจะทำอะไร 2. นำความคิดมาทดลองทำแบบเร็วๆ ไม่ต้องคิดนาน 3. ดูสิ่งที่ลูกค้าตอบรับหรือไม่ตอบรับ และ 4. ปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ