'หุ้นส่วน-ภาคี' กุญแจความสำเร็จ หนุนพลังองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ
ถอดบทเรียนความสำเร็จ จากประสบการณ์การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะขององค์กรสร้างสุขระดับนานาชาติ ด้วยเคล็ดลับการสร้างความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน กุญแจสำคัญสู่การเดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน
การประชุมเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 หรือ The 20th Annual Meeting of the International Network of Health Promotion Foundations 2023 (20th INHPF Annual Meeting 2023) เป็นอีกหนึ่งเวทีที่เหล่าองค์กรสร้างสุขจากนานาประเทศ ได้มาร่วมถ่ายทอดบทเรียนความสำเร็จภายใต้เวทีเสวนา "การเป็นหุ้นส่วนที่เสริมพลัง/ความร่วมมือ ข้ามภาคส่วนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (Synergistic Partnership/Multisectoral Collaboration in Health Promotion)" ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
"ตองงา" สร้างสุขภาพด้วยเครือข่าย "ซุมบ้า"
โอฟีนา ฟิลิโมเอฮาลา ผู้จัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งตองงา (TongaHealth) กล่าวว่า ตองงาเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่มีประชากรประมาณแสนคน โดยกว่า 80% ของประชากรวัยผู้ใหญ่กำลังเผชิญ โรคอ้วน และมีความเสี่ยงที่จะได้เป็นโรคกลุ่ม NCDs ภาครัฐบาลจึงมีแนวคิดขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การต่อต้านโรคไม่ติดต่อแห่งชาติตองงา เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล TongaHealth จึงเริ่มการขับเคลื่อนปฏิบัติการเพื่อลด NCDs โดยการเลือกแนวทางการสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนร่วมกับหลายภาคส่วนที่เป็นหนึ่งใน 12 ยุทธศาสตร์การต่อต้านโรคไม่ติดต่อแห่งชาติตองงา พ.ศ. 2564-2568 ซึ่งในวัตถุประสงค์ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ โดยได้พัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์สำคัญคือ การมุ่งเน้นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมมือหลายภาคส่วน มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายวงการ
"ผลจากการได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่เป็นพันธมิตร นำมาซึ่งการดำเนินกลยุทธ์และกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพภายใต้ภาคีที่เป็นคริสตจักรในชุมชน ในโรงเรียน ในสถานประกอบการ และชุมชน ด้านภาครัฐ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม นำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี กองวางแผนสุขภาพแห่งชาติเรียกร้องในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน และนำเรื่องสุขภาพสอดแทรกในทุกนโยบาย แผนงาน และกิจกรรม"
"สิงคโปร์" ปั้นนักส่งเสริมสุขภาวะมืออาชีพ
กีเดียน โฮ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และการสร้างความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพสิงคโปร์ - Health Promotion Board, Singapore หรือ Singapore HPB ให้ข้อมูลว่า การจัดการปัญหาโรค NCDs เป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับสิงคโปร์ ด้วยประชากรมีสถิติเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งและโรคความเจ็บป่วยทางจิตสูง อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ สมบูรณ์แบบ โดยมีประชากรสูงอายุมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกและคาดว่าจะเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัยเพิ่มขึ้น
"ปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาและสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่มากขึ้น สิงคโปร์ใช้แนวทางการส่งเสริมสุขภาวะ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้วยการป้องกันหรืออย่างน้อยก็ชะลอการคุกคามของโรคกลุ่ม NCDs โดยกำหนด 5 มาตรการด้านสุขภาพ เพื่อไปสู่เป้าหมายการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ได้แก่ การส่งเสริมด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ การดูแลสุขภาพจิต อีกทั้งมาตรการป้องกัน เช่น การตรวจคัดกรองและค้นพบโรคก่อนแต่เนิ่นๆ"
โฮ กล่าวต่อไปว่า Singapore HPB มุ่งกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพวิชาชีพที่เข้าใจความต้องการด้านสุขภาพส่วนบุคคลและเป็นผู้ร่วมพัฒนาแผนสุขภาพส่วนบุคคล ช่วยจัดการป้องกันดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ
"สิ่งสำคัญในการสร้างความร่วมมือคือ การกำหนดวิสัยทัศน์ความสำเร็จร่วมกัน โดยคำนึงถึงความจำเป็นด้านสุขภาพ และตระหนักว่าการจัดการกับความท้าทายที่หลากหลายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน"
ควีนส์แลนด์ ขับเคลื่อนผ่านความหลากหลาย
มาร์ค โทฮี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแคว้น ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย - Health and Well-being Queensland, Australia กล่าวว่า ควีนส์แลนด์ เป็นรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับสองของออสเตรเลีย มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศของออสเตรเลียที่มีประมาณ 26 ล้านคน หรือมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 การเป็นรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ด้วยประชากรมีการตั้งรกรากกระจัดกระจายและยังมีประชากรหลากหลายทั้งชาวพื้นเมืองและชาวเกาะดั้งเดิม
"Health and Well-being Queensland ก่อตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสุขภาพของชาวควีนส์แลนด์ทุกคน ด้วยการลดภาระของ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะให้ทุนสนับสนุนโครงการริเริ่มงานด้านสุขภาพ หนึ่งในปัญหาสุขภาพของประชากรในควีนส์แลนด์เผชิญ ภาวะโรคอ้วน ทั้งวัยผู้ใหญ่และเด็ก ทำให้รัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในกลุ่มโรคที่เกิดจากภาวะอ้วนเฉลี่ยแต่ละปีนับพันล้านเหรียญ การมีเด็กและเยาวชน 1 ใน 4 คนที่มีภาวะโรคอ้วน ผลักดันให้ควีนส์แลนด์ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี การส่งเสริมการสร้างกิจกรรมทางกาย และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี"
โทฮี กล่าวต่อไปว่า ในการทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพให้ประชากรกว่า 5 ล้านคน แต่จำนวนบุคลากรที่มีเพียง 65 คน นับเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ Health and Well-being Queensland ต้องมองหาพันธมิตรเครือข่ายเพื่อร่วมเป็นพลังขับเคลื่อน โดยมุ่งพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนให้ชุมชนและองค์กรระดับท้องถิ่น สามารถนำไปดำเนินการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการสร้างสุขภาวะของตนเองในระดับพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมโปรแกรมสุขภาพ อาทิ การตรวจสุขภาพออนไลน์ ซึ่งจะช่วยประเมินเกณฑ์สุขภาพและติดตามพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในควีนส์แลนด์
"การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและชุมชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนสุขภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่มีทรัพยากรด้านงบประมาณและบุคลากรจำกัด ซึ่ง Health and Well-being Queensland ยังคำนึงถึงการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับภาครัฐควบคู่กันไป พร้อมกับให้ความสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับองค์กรด้านวิชาการและการศึกษา เพราะเป็นอีกภาคีสำคัญที่จะหนุนเสริมด้านองค์ความรู้แก่องค์กร"
หัวใจสำคัญของ "วิกตอเรียเฮลท์" คือความร่วมมือ
คริสทีน คูนีย์ ผู้จัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแคว้นวิกตอเรีย หรือ VicHealth ประเทศออสเตรเลีย กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแรกของโลก ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา VicHealth มีความร่วมมือในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา VicHealth ยังเริ่มต้นความร่วมมือทำงานขับเคลื่อนสุขภาวะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ นั่นคือสภาท้องถิ่นแห่งรัฐวิกตอเรีย 79 แห่ง ที่ดูแลประชากรครอบคลุมมากกว่า 6 ล้านคนในรัฐ
"ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ เกิดจากการรับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการของประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรอบด้าน อาทิ ชุมชนในพื้นที่ ท้องถิ่น รวมถึงผู้นำ องค์กรอิสระ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ไม่เพียงช่วยในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานและสามารถเข้าถึงประเด็นปัญหาอย่างถูกจุด ยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนในบทบาทการทำงานระหว่างรัฐและ VicHealth เองด้วย"
คูนีย์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในการขับเคลื่อนนั้น จะต้องเกิดจากการที่หุ้นส่วนมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่สอดคล้องกัน และแผนงานที่นำไปปฏิบัติได้จริง มีธรรมาภิบาล มีความชัดเจนของบทบาทแต่ละฝ่าย รับรู้ถึงบทบาทเฉพาะของพันธมิตรแต่ละราย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรเงินทุนที่เหมาะสม มีกรอบและการวัดประเมินผลได้เป็นรูปธรรม
เพราะภาคีเครือข่ายทุกคน คือเจ้าของ สสส.
ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของ สสส. ไทย จากมุมมองภาคี โดยกล่าวว่า จุดแข็งที่ทำให้ สสส. ขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพคือ การเป็นองค์กรอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับภาครัฐ ทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการด้านต่างๆ แต่ยังมีอีกปัจจัยสำคัญคือ การมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ โดยตลอดการดำเนินงานกว่า 20 ปี สสส. ได้พัฒนาภาคีที่มีความหลากหลาย และยังสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม เนื่องจากสิ่งที่ สสส. เน้นย้ำเสมอนั่นก็คือ การแสดงจุดยืนว่า สสส. เป็นองค์กรที่ไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ หากแต่เป็นภาคีทุกคนและคนไทยที่เป็นเจ้าของ สสส.
"ปัจจุบัน สสส. มีภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนภายใต้โครงการงดเหล้า ซึ่งล้วนมาจากการเป็นจิตอาสาทั่วทุกจังหวัดกว่า 10,000 คน ทั้งยังมีแกนนำที่ทำงานร่วมกันกว่า 300 คน และมีเครือข่ายกลุ่มเยาวชนกว่า 65 กลุ่มทั่วประเทศ แต่นอกเหนือจากการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายแล้ว สสส.ยังสร้างความร่วมมือกับภาคอื่น ได้แก่ ภาควิชาการ สื่อสารมวลชน ที่จะเป็นอีกแรงหนุน ส่งเสียงสร้างแรงหนุนในระดับสังคม"
ธีระ สรุปทิ้งท้ายว่า บทเรียนจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ยังทำให้พบว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะ จำเป็นต้องมีภาคีเครือข่ายจิตอาสา แต่การจะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนขึ้นได้ ต้องทำให้ทุกคนตระหนัก และกุญแจสำคัญในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนคือ การสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันด้วยความจริงใจ