ย้อนประวัติศาสตร์สยาม ‘กษัตริย์และกงสุลในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง’

ย้อนประวัติศาสตร์สยาม   ‘กษัตริย์และกงสุลในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง’

เมื่อพูดถึงสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างสยามกับอังกฤษ สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่มักนึกถึงคือปฐมบทของการนำสยามเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกและการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่หนังสือ 'กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง' ให้ข้อมูลใหม่มากกว่าที่เรารับรู้กัน

World Pulse ฉบับนี้ไม่ได้มารีวิวหนังสือ แต่อยากบอกเล่าเรื่องเก็บตกจากเวทีเสวนา ณ จักรพงษ์วิลลา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในงานเปิดตัวหนังสือ 'กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง' ผลงานเขียนของ ไทรมั่น ลัญฉน์ดี (Simon Landy) แปลโดยสุภัตรา ภูมิประภาส หนังสือที่คนรักประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาด 

คำเชิญชวนร่วมงานตัดตอนจากคำโปรยบนปกหลัง 

“ในปี 1856 เพียงไม่กี่เดือนหลังอังกฤษกับสยามบรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ช่วยให้สยามรอดพ้นการล่าอาณานิคม มรณกรรมสุดสลดของเจ้าหน้าที่ชาวสยามคนหนึ่งของสถานกงสุลอังกฤษกลายเป็นชนวนเหตุที่เกือบนำไปสู่การฉีกสัญญาและก่อสงคราม” 

คำโปรยแค่นี้มากพอให้ต้องไปร่วมฟังเสวนาที่เปิดฉากด้วยแรงบันดาลใจของนักเขียน ดังที่ปรากฏในบทนำว่า เดือน ก.พ.2018 ไทรมั่นได้พบกับบอริส จอห์นสัน ที่มาเยือนไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายในเวลาเพียงครู่หนึ่งตอนที่บอริสเข้ามาทักทายคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในงานเลี้ยงรับรองของสถานทูตอังกฤษ ไทรมั่นยกประเด็น “คนไทยและคนอังกฤษจำนวนมากกังวลเรื่องการขายสถานทูต” ที่ถนนเพลินจิตขึ้นมาสอบถาม แต่บอริสไม่ได้แสดงท่าทีสนใจข้อกังวลดังกล่าว

 ในทัศนะของคนไทยและคนอังกฤษจำนวนหนึ่ง ที่ดินผืนนี้ถือเป็น “สินทรัพย์ทางประวัติศาสตร์” ของอังกฤษในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย, อนุสรณ์สถานสงคราม รำลึกการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และบ้านพักทูตอายุ 90 ปี ไทรมั่นผู้เคยเป็นศิษย์เก่าและอาจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทราบดีว่า การตัดสินใจขายที่ดินสถานทูตอังกฤษเรียบร้อยไปแล้วแก้ไขไม่ได้ แต่ด้วยความอยากรู้เขาจึงไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากหอจดหมายเหตุอังกฤษ พบข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยมากมายจนกลายเป็นหนังสือชื่อ The King and the Consul A British Tragedy in Old Siam

แรงบันดาลใจของนักเขียนสอดคล้องกับนักแปลอย่างสุภัตรา ผู้ชื่นชอบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผ่านการอ่านเอกสารจากชาวต่างชาติ พบว่าพระองค์ทรงมีความเป็นปุถุชนจับต้องได้ 

“แม้อ่านหนังสือมามากพอสมควร แต่สิ่งที่อยู่ใน The King and the Consul A British Tragedy in Old Siam เป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน อ่านเล่มนี้จบแล้วจึงติดต่อสำนักพิมพ์ขอแปลเป็นภาษาไทยทันที” สุภัตรากล่าวบนเวที 

‘กษัตริย์และกงสุลในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง’ เผยให้เห็นปมขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 4 กับชาร์ลส์ ฮิลเลียร์ กงสุลอังกฤษคนแรก วิกฤติการณ์นี้คลี่คลายลงโดยปราศจากสงคราม  แต่ก็สร้างผลกระทบชวนสลดให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และเป็นต้นเค้าการสร้างทัศนคติของทางการไทยที่มีต่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินของชาวต่างชาติตราบจนถึงปัจจุบัน  

ในมุมของคนฟังเสวนา การครอบครองที่ดินของชาวต่างชาติ ทุนนิยม และการค้าเสรี ดูเหมือนเป็นเรื่องที่มาด้วยกัน แม้ยังไม่ได้อ่านหนังสือแต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สนธิสัญญาเบาว์ริงกับข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่นานาประเทศทำกันทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีแตกต่างกันตรงไหน 

“สนธิสัญญาเบาว์ริงเจรจาสำเร็จ แต่เอฟทีเอไม่สำเร็จ เอฟทีเอเป็นการต่อรองระหว่างสองฝ่ายที่ใช้อำนาจใกล้เคียงกัน ต้อง give and take ใกล้เคียงกัน แต่ตอนนั้นอังกฤษเป็นมหาอำนาจที่ไทยต้องระวังมาก ถ้าล้มเหลวอาจเป็นเมืองขึ้นเหมือนกับพม่า” ไทรมั่นตอบคำถามกลางเวที 

ได้ฟังแบบนี้ยิ่งทำให้อยากอ่าน ‘กษัตริย์และกงสุล ในช่วงสนธิสัญญาเบาว์ริง’ ให้รู้ซึ้งว่าสยามผ่านช่วงเวลายากลำบากนั้นมาได้อย่างไร