บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ

บุรณี รัชไชยบุญ และ ราจิต แสง-ชูโต สองทายาทพลโทพระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต) ร่วมบูรณะ 'เรือนคุณย่า' ที่ทรุดโทรมจากการปล่อยเช่าไม่มีกำหนด คืนชีวิตในนาม 'โรงแรมบ้านตึกดิน' หวังเพียงสถาปัตยกรรมและเรื่องราวตระกูลเล็กๆ จุดประกายผู้สนใจให้เรียนรู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

หากผู้ใดกลับไปเห็นบ้านต้นตระกูลที่บรรพชนปลูกสร้างขึ้นด้วยความรักความอบอุ่น ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมากและคาดไม่ถึงว่าผู้เช่าจะประกอบธุรกิจเช่นนั้นกับบ้านอันเป็นที่รัก

คงสะเทือนใจร้องไห้เช่นเดียวกับ บุรณี รัชไชยบุญ หรือ ‘พี่หนูเล็ก’ ของคนในวงการนักทำงานสร้างสรรค์คนสำคัญของไทย หนึ่งในผู้สืบเชื้อสายของผู้เป็นต้นตระกูล แสง-ชูโต

เลี้ยวซ้ายจากถนนราชดำเนินขาออก เข้าสู่ ถนนดินสอ ช่วงต้นถนนด้านซ้ายมือ 125 ปีมาแล้ว พลโทพระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต) ได้ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวและปลูก ‘บ้าน’ บนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 (หลังปีพ.ศ.2440)

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ

สภาพ 'เรือนคุณย่า' ช่วงเวลาก่อนบูรณะ

ปัจจุบันเรือนโบราณหลังนี้ ซึ่งทายาทเรียกขานกันว่า เรือนคุณย่า หลังจากถูกปล่อยเช่ามาเป็นระยะเวลายาวนานจนเสื่อมโทรมมากกว่า 50 ปี เมื่อกลับคืนสู่มือทายาทโดยสมบูรณ์ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่และปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมในนาม โรงแรมบ้านตึกดิน ที่สำคัญยังคงไว้ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ บุรณี รัชไชยบุญ และ ราจิต แสง-ชูโต สองผู้ก่อตั้ง โรงแรมบ้านตึกดิน

การบูรณะ 'เรือนโบราณและพื้นที่' เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2550 จากแนวคิดเริ่มต้นของ นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ต้องการรื้อฟื้นความทรงจำและบูรณะมรดกของตระกูลครอบครัว ‘แสง-ชูโต’ ซึ่งบรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่มาตั้งแต่เยาว์วัย และลงมือดำเนินการบูรณะโดยลูกพี่ลูกน้องในตระกูลแสง-ชูโต ได้แก่ บุรณี รัชไชยบุญ และ ราจิต แสง-ชูโต ทำงานร่วมกับบริษัทสถาปนิก ทาวา จำกัด

เริ่มต้นจากการค้นคว้ารูปแบบของอาคาร เรื่องราวชุมชน รวมทั้งสืบค้นประวัติจากความทรงจำของ ปราศรัย รัชไชยบุญ (สกุลเดิม ‘แสง-ชูโต’ มารดาของ นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา และบุรณี รัชไชยบุญ และมีศักดิ์เป็นป้าของ ราจิต แสง-ชูโต) ผู้ซึ่งเกิดและใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้เมื่อครั้งอดีต

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ

'เรือนคุณย่า' หลังได้รับการบูรณะเป็น 'โรงแรมบ้านตึกดิน'

การบูรณะรักษามรดกต้นตระกูลครั้งนี้ นำมาซึ่งการสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ในย่านนั้นตามปรัชญาการทำงานของ บุรณี รัชไชยบุญ ไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับลูกหลานที่ได้เห็นบ้านคุณชวดคืนกลับมา

แต่สถาปัตยกรรมและเรื่องราวของบ้านยังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่เล่าประวัติศาสตร์ชาติบางช่วงเวลาที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น

 

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ ต้นตระกูลครอบครัว แสง-ชูโต

 

ประวัติของ ‘บ้านตึกดิน’ มีความเป็นมาอย่างไรครับ

“บ้านนี้เป็นบ้านของคุณชวด คือ พลโทพระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต) ซึ่งคุณแม่ของดิฉันกับคุณแม่ของ ราจิต แสง-ชูโต เกิดที่บ้านหลังนี้ เป็นบ้านที่ครอบครัวสกุลแสง-ชูโต ได้รับพระราชทานโฉนดที่ดินสมัยรัชกาลที่ห้า เพราะตั้งแต่คุณชวดและคุณตา (พันตรีหลวงสรสิทธยานุการ หรือ สิทธิ แสง-ชูโต) รับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าถึงรัชกาลที่เจ็ด 

ละแวกนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าข้าราชบริพาร เสนาบดี ราชองครักษ์ เพราะใกล้บริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งปัจจุบันเราเรียกเกาะรัตนโกสินทร์

คุณชวดรับราชการเป็นทูตทหารประจำอยู่ที่ประเทศออสเตรีย คุณตาเป็นนักเรียนทุนนายร้อยอิมพีเรียลที่ประเทศญี่ปุ่น (Imperial Japanese Army Academy) รับทุนในหลวงรัชกาลที่หก ไปเรียนเป็นราชองครักษ์สมเด็จพระจักรพรรดิ และกลับมารับราชการที่เมืองไทย หลังเรียนจบท่านก็อยู่ที่บ้านหลังนี้” บุรณี รัชไชยบุญ ให้สัมภาษณ์กับ ‘จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ’

บนที่ดินผืนนี้ พลโทพระยาสุรเสนา สมุหราชองครักษ์ในรัชกาลที่หก ก่อสร้างอาคาร 2 หลัง ประกอบด้วยอาคารหลักเป็นตึกก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ปัจจุบันไม่ปรากฏแล้ว และอีกหลังเป็นเรือนไม้ผสมปูน หลังคาทรงมนิลา ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ทายาทเรียก เรือนคุณย่า ปัจจุบันคืออาคารหลักของ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ เรือนคุณย่า หรือ โรงแรมบ้านตึกดิน ภายนอกทาสีเขียวมะกอก

“ถ้าสังเกต บ้านมีลักษณะของการใช้สีเขียวมะกอก มีความเป็นทหารบก ถ้าตัวตึกใหญ่ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของแล้ว ตึกนั้นตั้งแต่สมัยคุณชวด เป็นตึกปูนทรงฝรั่ง คุณชวดทาสีเหลือง Schoenbrunn สีประจำราชสำนักออสเตรีย เรียกกันว่าตึกเหลือง

ปัจจุบันในเกาะรัตนโกสินทร์หรือตามวังก็ยังใช้สีเหลืองเดิมอยู่ อย่างเช่นตำหนักสมเด็จพระวัสสาฯ ที่วังสระปทุมใช้สีตามความนิยมในยุคนั้น มีความเป็นสีเหลืองที่มีความเป็นยุโรป”

 

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ ตึกฝรั่งหรือตึกเหลือง อยู่ด้านซ้ายของเรือนคุณย่า

 

เหตุใดจึงปล่อยมือ ‘ตึกเหลือง’ ไป

“ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณตาถวายคืนที่ดินรัชกาลที่เจ็ด พระองค์ท่านก็พระราชทานเงินตอบแทนมา เหมือนจำนอง เนื่องจากคุณตาต้องโทษเพราะอยู่คนละฝั่งกับคณะราษฎร จึงถวายคืนไปก่อน เป็นอุบายจะได้ไม่โดนยึด กลายเป็นพระราชมรดกของรัชกาลที่เจ็ด

แต่เราไม่ทันถ่ายถอน เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคต ทายาทที่รับมรดกอาจไม่มีความสะดวกเก็บตึกเก่าขนาดใหญ่ไว้ จึงทุบ (ปัจจุบันเจ้าของใหม่ทำประโยชน์เป็นลานจอดรถเก็บค่าบริการ)

ส่วน ‘เรือนคุณย่า’ หรือเรือนไม้ผสมปูนหลังนี้เก็บไว้ เพราะเป็นโฉนดแบ่ง ในอดีตที่แม่(ปราศรัย รัชไชยบุญ)เล่าให้ฟัง จากตึกเหลืองมาที่เรือนนี้มีสะพานเชื่อมระหว่างชั้นสองเดินถึงกันได้โดยไม่ต้องลงมาชั้นล่าง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครอบครัวก็ลำบาก เพราะคุณตาอยู่ในคุก คุณยาย (ประมัย แสง-ชูโต) ต้องดูแลครอบครัวและคนในบ้านจำนวนมาก คุณยายมีฝีมือด้านการทำอาหาร จึงเปิดศาลาหน้าบ้านเป็นร้านอาหาร

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ อาคารพาณิชย์ 5 ห้องที่คุณยายสร้างไว้ให้เช่า (credit: บริษัทสถาปนิก ทาวา จำกัด)

เมื่อเลิกกิจการ เรือนคุณย่าจึงถูกปล่อยเช่า ผู้เช่าทำเป็นโรงแรมชื่อไทยวารี และคุณยายสร้างตึกแถวด้านหน้าเรือนไม้ที่เคยเป็นศาลาร้านอาหาร มีลักษณะของตึกแถว 5 คูหา 2 ชั้น ให้ร้านค้าเช่าเช่นกัน มีทั้งร้านถ่ายรูป ร้านซาลอน ร้านข้าวมันไก่ ร้านข้าวแกง ร้านรองเท้า

บุรณี รัชไชยบุญ เล่าให้ฟังด้วยว่า สมัยนั้นไม่มีการเซ็นสัญญาระยะเวลาเช่า จึงให้เช่าต่อเนื่องมาเรื่อย เมื่อคิดจะบูรณะก็ใช้วิธีเกริ่นกับผู้เช่าก่อนเป็นเวลาหลายปี แต่ไม่เคยบอกให้ย้ายออก จนกระทั่งทีมสถาปนิกถือตลับเมตรเข้าไปสำรวจพื้นที่ เป็นการบอกอย่างสุภาพว่ากำลังจะมีโปรเจค

“ระหว่างผู้เช่าทำใจ เราใช้เวลารังวัด สืบค้นข้อมูลและทำแบบ 2-3 ปี พอ ‘ราจิต’ พร้อมรีโนเวต เราก็ขอให้ผู้เช่าเดิมทะยอยออกไป เพื่อที่เราจะสามารถปรับปรุงได้เต็มที่ ใช้เวลาอีก 7 ปีกว่าจะมาถึงวันที่เราพร้อมเปิดให้บริการ รวมแล้วใช้เวลาบูรณะสิบกว่าปี”

 

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ อาคารพาณิชย์ 5 ห้อง ซ้ายมือทำเป็นร้านอาหาร ขวามือทำเป็นร้านกาแฟ ชั้นบนเป็นโรงแรมบ้านตึกดิน (อาคารหน้า) ช่องตรงกลางเป็นทางเดินเข้า โรงแรมบ้านตึกดิน อาคารหลัง หรือเรือนคุณย่า

 

เหตุใดจึงตัดสินใจบูรณะเป็นโรงแรมและร้านอาหาร

“เกิดจากพี่สาวคนโตของเรา นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา (ดาว) ได้จุดประกายในครอบครัว ให้นโยบายไว้ก่อนจะจากไป ว่าอย่างไรก็ต้องทำตรงนี้ให้กลับมาเป็นบ้าน หรืออะไรสักอย่าง ถ้าเราจะไม่มาอยู่ ก็ทำเป็นโรงแรม

พี่ดาวมีความฝันอยากทำโรงแรมและร้านอาหารที่เป็นตัวตนของเรา คืนชีวิตให้กับบ้านที่คุณชวดคุณตาคุณยายของเราอยู่อาศัย ได้รับพระราชทานที่ดิน ได้รับความเมตตา ได้รับทุกสิ่งอย่างจากในหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ห้ามาถึงรัชกาลที่เจ็ด

เรียกว่า เราหา ‘ความยุติธรรม’ ให้กับสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ และไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ของบ้านนะคะ สำหรับดิฉันถือว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ของย่านส่วนหนึ่ง ที่เราอาจจะมีแค่ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะไม่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังถือว่าเราได้ดูแลสิ่งที่เป็นมรดกที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณา ให้อยู่อาศัยมาจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์ของย่านก็เป็นสิ่งที่ทางทีมสถาปนิกกรุณาช่วยสืบค้น แม้แต่คำว่า ถนนดินสอ บ้านตึกดิน เราก็พยายามหาข้อมูล สืบไปจนถึงย่านเพื่อนบ้าน มีสัมภาษณ์ ภาพสันนิษฐานของย่าน ภาพถ่ายทางอากาศ

ไม่ใช่แค่เป็นประวัติศาสตร์ที่เราต้องดูแล แต่คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกคนควรมีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ได้ค้นหา จุดเล็กๆ จุดนี้จุดเดียวอาจทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ต่อไปในย่านที่เรียกว่าเขตเกาะรัตนโกสินทร์”

 

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ ภาพสเก็ตช์เรือนคุณย่า จากความทรงจำของ ปราศรัย รัชไชยบุญ

 

บูรณะบนหลักฐานจากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์

“พูดได้ว่าโชคดี ดิฉันและเพื่อน(ราศี บุรุษรัตนพันธ์)ไปตามหากลุ่มน้องๆ ที่ทำงานสถาปนิกอนุรักษ์ ฝ่ายสืบค้น เพื่อนๆ ที่ศิลปากรด้วย มารวมตัวกันเพื่อทำโปรเจคเล็กๆ แต่ว่ายืดยาว ยื้อหน่อยหนึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นบ้านของเรา ไม่จำเป็นต้องจ่ายจ้างคนอื่นมาทำ

ก่อนอนุรักษ์ เราต้องสืบค้น ดิฉันเป็นนักอักษรศาสตร์ ก็จะมีความง่ายในความยาก ความง่ายคือถ้าอยากทำอะไรก็ต้องไปหาให้เจอใน ‘ความเป็น’ ของเขา ความง่ายเหล่านี้มันก็เลยเป็นความยาก แต่ก็ไม่ใช่ความยากจนเกินไป เป็นความยากที่ควรจะต้องยาก อะไรที่ง่ายก็ง่ายได้

แต่ถ้าเรามองข้ามความง่ายจนละเลยก็ไม่ได้ อันนี้เป็นหลักการที่ได้สอนน้องๆ ในการทำงานเราก็ต้องเลือกคน เพราะบางคนอาจไม่เข้าใจและไม่ชื่นชอบ และเราจะไม่โทษกัน

จิตวิญญาณของบ้าน ดิฉันว่าเป็นส่วนผสมความเป็นไทยกับยุโรปที่ชัดเจน ความเป็นไทยคือบ้านคนไทยมีชีวิตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าถึงรัชกาลที่สิบ ที่ยังยืนอยู่ในสังคมไทยที่เรายังมีโอกาสได้ดูแล และเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามาสัมผัสในประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ

เราไม่ได้โอ้อวดว่านี่คือเป้าหมายทางประวัติศาสตร์ เรายิ่งต้องทำตัวให้เล็กที่สุด เพื่อทำให้การค้นหาเรียนรู้สำหรับบางคนบางกลุ่มก็อาจจะชักจูงพานำเขาไปเดินหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไป อันนี้ดิฉันว่าอาจจะเป็นเป้าหมายที่สุด

เราเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่มีความตั้งใจที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่จนเกินไป ทำพอดีตัว ทำในสติปัญญาและกำลังกระเป๋าสตางค์ เราก็ทำแค่นี้ค่ะ ทำไม่ได้มากไปกว่านี้ ไม่น้อยไปกว่านี้

แต่เป็นความตั้งใจ ที่พอเราเจอกับคนที่มีความพร้อม มีความตั้งใจและมีความคิดเห็นแบบเดียวกัน มันก็เลยทำให้เป็นโปรเจคที่อยากให้หลายๆ คนได้มาสร้างประสบการณ์ร่วมด้วยกัน เป็นที่มาของ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’

จากวันนั้น ถ้าคุณมาเห็น ก็คงร้องไห้เหมือนที่ดิฉันร้อง คือมันไม่ได้..ที่เราจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ของครอบครัวแค่ไม่กี่สิบคนสูญหายไปกับอะไรที่..(พี่หนูเล็กหยุดไว้เหมือนมีอะไรจุกอยู่ในความรู้สึก)

ถ้าเรามีโอกาสจะหยุดความสูญเสียเหล่านั้น เราต้องหยุดในหน้าที่ของเราในความตั้งใจของเรา”

 

บุรณี รัชไชยบุญ งานบูรณะ ‘โรงแรมบ้านตึกดิน’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ชาติ บุรณี รัชไชยบุญ  หนึ่งในผู้ก่อตั้ง โรงแรมบ้านตึกดิน 

 

ชื่อ ‘บ้านตึกดิน’ มีที่มาอย่างไรครับ

“มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่และรัชกาลที่ห้า ตึกดินคือตึกที่เก็บ ดินปืน ถนนในย่านนี้ชื่อถนนดินสอ ถัดจากแนวคลอง มีตึกที่คุณราศีไปสืบค้นกันมากับทีมประวัติศาสตร์ เป็นตึกที่เก็บดินปืน

กระทรวงกลาโหมก็อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก จะเก็บดินปืนแถวกระทรวงกลาโหมใกล้พระบรมมหาราชวังก็ไม่ปลอดภัย ต้องเก็บดินปืนที่ไกลออกมา และใกล้พอจะขนย้ายดินปืนเพื่อไปประจุใช้บนป้อมใดๆ ของเราที่เรียงอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ตึกในย่านนี้ก็เป็นตึกอิฐที่เก็บดินปืน เรียกกันว่า ‘ตึกดิน’ คือดินปืน ไม่ใช่ดินสอ สมัยก่อนเราใช้ดินปืนในการยิงทั้งปืนและปืนใหญ่ก่อนจะมาเป็นถนนดินสอ ถนนนี้ชื่อดินสอ คือเป็นย่านที่ทำดินสอ เหมือนย่านบ้านหม้อ บ้านบาตร

สมัยคุณยายก็จะบอกว่าไปเก็บค่าเช่าบ้านตึกดิน ดิฉันไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ แต่เคยมาเก็บค่าเช่ากับคุณยาย จำได้เลยค่าเช่า 700 บาทต่อ 1 ห้องแถว

วันนี้ถ้า ‘บ้านตึกดิน’ จะเติบโตเบิกบาน ดิฉันไม่ได้คิดจะไปถึงเวิลด์คลาส เติบโตเบิกบานในที่ที่เราอยู่ เพื่อมีคนได้มีโอกาสเข้ามามีประสบการณ์ร่วมดีๆ”

 

หมายเหตุ: ติดตามเรื่องราวงานบูรณะกว่าจะเป็น 'โรงแรมบ้านตึกดิน' และภาพห้องพักได้ในหมวด Art&Living