ค่าไฟแพงขึ้น ปี 2567 เลือกใช้โซลาร์เซลล์...ดีกว่าไหม?
หากรัฐไม่ตรึงราคาค่าไฟฟ้าเอาไว้ ปี 2567 ค่าไฟฟ้าคงสูงกว่านี้ (หน่วยละ4.20 บาท) และรัฐควรสร้างทางเลือกการใช้โซลาร์เซลล์ในราคาที่ไม่แพงเกินไป
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมรัฐมนตรีมีมติ เรื่อง มาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการตรึงค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือนมกราคม-เมษายน2567 สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน โดยกำหนดราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (เหมือนเดิม) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางประมาณ 17 ล้านราย โดยรัฐต้องใช้งบประมาณ 1,950 ล้านบาทในช่วง 4 เดือนนั้น
ส่วนบ้านเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วย ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดมกราคม-เมษายน2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลให้ตรึงราคามาตรฐานค่าไฟฟ้าไว้ไม่เกินหน่วยละ 4.20 บาท และในอนาคต มีแนวโน้มว่า ค่าไฟฟ้าจะมีราคาสูงขึ้น
ส่วนทางเลือกการใช้ โซลาร์เซลล์ ยังมีคำถามอีกมากมาย ทั้งเรื่องระบบมาตรฐาน อุปกรณ์ รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าเหลือใช้จากผู้บริโภคที่ใช้ระบบโซลาร์เซลล์
หากประเทศนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้โซลาร์เซลล์ รัฐคงต้องมีระบบสนับสนุนที่เป็นธรรมมากกว่านี้
ปรับโครงสร้างพลังงาน ลดค่าไฟ
หากถามว่า จะทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าของไทยราคาถูกลงอย่างยั่งยืน ชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลไว้ในประเด็น Climate Finance : ทางออกสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน ว่า
"เดือนธันวาคมนี้ เป็นเดือนสุดท้ายที่อัตราค่าไฟฟ้า 3.99 บาทต่อหน่วย ก่อนมีการปรับค่าไฟขึ้นตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) แม้รัฐบาลระบุว่า จะตรึงราคาค่าไฟไว้ไม่เกิน 4.20 บาท แต่เรื่องนี้ยังเป็นปัญหา
"การปรับลดราคาค่าไฟ โดยขาดการปรับโครงสร้างการผลิต และการลงทุนสำหรับแหล่งพลังงานชนิดใหม่ๆ สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนในอนาคต
ถ้าจะให้ราคาค่าไฟฟ้าต่ำลง การผลิตไฟฟ้ามีความยั่งยืน ควรมีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น เช่น แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย"
ทางเลือกโซลาร์เซลล์
โซลาร์เซลล์น่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้คนไทยได้มีโอกาสใช้ไฟฟ้าในราคาถูก โดยมีมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์และระบบในราคาไม่สูงเกินไป แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย
การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาสำหรับบ้านพักอาศัย ถ้าเลือกขนาดให้เหมาะกับการใช้งาน จะลดค่าใช้จ่ายการใช้ไฟตอนกลางวันได้ 30-70% มีอายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี
ส่วนการลงทุนติดตั้งตามขนาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าราคาเริ่มต้นประมาณ 1-2 แสนบาท หากมีไฟฟ้าเหลือใช้จากระบบโซลาร์เซลล์ สามารถเข้าร่วมโครงการขายไฟคืนให้การไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ปรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่
จากเดิมรับซื้อปีต่อปี เปลี่ยนเป็นรับซื้อระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2564-2573) รวม 90 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ
ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกใช้โซลาร์เซลล์ แม้จะข้อดีในเรื่องการประหยัดพลังงาน แต่ยังมีข้อเสียอีกหลายประการ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันแต่ละวันจะไม่เท่ากัน รวมถึงมาตรฐานช่างผู้ชำนาญ และคุณภาพแผงโซลาร์เซลล์
ระบบโซลาร์เซลล์
ถ้าจะเลือกใช้โซลาร์เซลล์ คงต้องเหมาะกับการใช้งาน โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ระบบ
- ระบบออนกริด(On Grid) นิยมใช้ตามบ้าน เพราะใช้ได้ทั้งไฟจากการไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ ระบบนี้เหมาะสำหรับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมาก เนื่องจากไม่มีแบตเตอรี่สำรองไฟ ผลิตไฟฟ้าแล้วใช้ได้ทันที
ก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบนี้ ต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้าก่อน หากผลิตไฟฟ้าเกินสามารถทำสัญญาขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง
- ระบบออฟกริด (Off-Grid ) เป็นระบบที่ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วใช้ได้เลยในตอนกลางวัน มีแบตเตอรี่สำรองไว้ใช้ตอนกลางคืน ระบบนี้ไม่ต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้า การติดตั้งด้วยระบบนี้เหมาะกับพื้นที่ห่างไกล อาทิ ตั้งอยู่บนดอย
- ระบบไฮบริด(Hybrid ) ระบบผสมระหว่างระบบออนกริดและออฟกริด ใช้ไฟฟ้าได้ทั้งการผลิตจากโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ และมีการเชื่อมต่อไฟจากการไฟฟ้า ระบบนี้ไม่สามารถขายกระแสไฟฟ้าให้ภาครัฐได้ ค่าติดตั้งราคาสูง จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม
หากกล่าวถึงระบบไฟฟ้าที่เป็นธรรม ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)พรรคก้าวไกล กล่าวไว้ว่า ถ้ามองระยะสั้นการติดแผงโซลาร์เซลล์ จะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง แต่ถ้าประชาชนไม่มีเงินจะติดโซลาร์เซลล์ จะทำยังไง...
"อาจมีระบบสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย เพื่อทำให้ทุกคนติดโซลาร์เซลล์ได้ รัฐบาลอาจร่วมทุนกับประชาชน ใช้รายได้จากโซลาร์เซลล์ปลดหนี้ให้ประชาชน นี่คือภาพรวม
ส่วนระบบโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากผู้ใช้โซลาร์เซลล์ราคาหน่วยละ 2.20 บาท แต่ตอนนี้ผู้บริโภคซื้อจากการไฟฟ้าราคาหน่วยละ 4 บาทกว่าๆ ก็ยังแพงกว่าหน่วยละ 2.20 บาท
ขณะที่การไฟฟ้าซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง(โครงการเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่ในอาณาเขตประเทศลาวผู้พัฒนาโครงการ คือบริษัทสัญชาติจีน) เซ็นสัญญาราคาหน่วยละ 2.70 บาท ทำไมไม่ซื้อจากคนที่ติดโซลาร์เซลล์ในราคาที่ดึงดูดใจกว่านี้ สาเหตุที่คนยังไม่ติดโซลาร์เซลล์ เพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่เป็นธรรม"อาจารย์เดชรัต กล่าว
โซลาร์เซลล์จำเป็นแค่ไหน
หากบ้านเรือนทั่วไปคิดจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ไฟฟ้าตามมาตรฐาน 5 กิโลวัตต์ พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี พระนักพัฒนาที่นำโซลาร์เซลล์มาใช้ในโรงเรียนและวัดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงเปิดสอนเรื่องโซลาร์เซลล์ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ และมีทีมติดตั้งโซลาร์เซลล์ประจำวัด บอกว่า
"การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานจะใช้งบประมาณ 135,000 บาท สามารถลดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 3,500 บาท ถ้าเป็นมาตรฐานการใช้ไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์จะลดค่าไฟฟ้าได้เดือนละสองพันกว่าบาท
ถ้าใช้ไฟฟ้าจากระบบนี้เฉพาะกลางคืน กลางวันไม่ได้ใช้ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็ไม่ประหยัดเงิน แต่ถ้าติดโซลาร์เซลล์ที่โรงงาน ร้านค้า โรงพยาบาล ใช้ไฟฟ้าทั้งวันทั้งคืน ติดโซลาร์เซลล์เท่าไร ก็คุ้ม
ยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เคยเสียค่าไฟฟ้าเดือน 2-3 แสนบาท ค่าไฟฟ้าลดลงเดือนละเจ็ดหมื่นกว่าบาท อายุใช้งานประมาณ 30 ปี"
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาโซลาร์เซลล์ ที่รัฐบาลควรมีระบบมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานทางเลือกในราคาที่เอื้อมถึง.