นักดื่มเก่งแค่ไหน ก็แพ้พลัง 'หญิงใจเพชร'
"กลุ่มสตรีหัวใจเพชร" เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนทำงานที่ช่วยให้ใครหลายคนเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ถือเป็นแรงขับเคลื่อนคนสำคัญในการเสริมพลังการทำงานงดเหล้าในพื้นที่ต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
พลังการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องของโครงการ งดเหล้าเข้าพรรษา ได้พบความสำเร็จมากมายและทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกเหล้าในช่วง เข้าพรรษา มากขึ้นในแต่ละปี เช่นเดียวกับในปีนี้ที่พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ และในช่วงเทศกาลปลอดเหล้าเข้าพรรษาเพียง 3 เดือน สามารถช่วยประเทศชาติประหยัดเงินไปได้ถึงกว่า 4 พันล้านบาท
นวัตกรรมทางสังคม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า งานรณรงค์งดเหล้า เป็นโจทย์สำคัญที่เชื่อมโยงสู่มิติทางสุขภาพอื่นๆ สามารถสร้างแนวทางป้องกันและลดการเจ็บป่วยจากปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ จากการประเมินผลโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2566 ใน 12 จังหวัดทุกภูมิภาค โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 10.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่ดื่มทั้งหมด 24.8 ล้านคน เรียกได้ว่าในปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 7.7 แสนคน โดยกลุ่มตัวอย่าง 66.3% ระบุว่า ได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยเฉพาะสุขภาพร่างกาย-จิตใจดีขึ้น รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย เฉลี่ยคนละ 1,506.97 บาท และระดับประเทศประมาณ 4,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าจากค่าใช้จ่ายในการดื่มที่ลดลง
"ที่ผ่านมา สสส. และภาคีได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางสังคมในการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการใช้ทั้งแนวทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เศรษฐศาสตร์ ศาสนา และความเชื่อ เพราะมองว่าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งจะได้ผล ต้องใช้ความร่วมมือกัน นอกจากนี้มีการวิจัยคู่ขนานกับงานรณรงค์ ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยล่าสุดพบว่า ในการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่มีระดับการบริโภคที่ปลอดภัย ลบล้างความเชื่อในอดีตที่ว่าการดื่มเพียงปริมาณน้อยไม่เป็นอันตราย"
เสี่ยงตั้งแต่หยดแรก
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือ สคล. กล่าวเสริมว่า การดื่มเหล้า เสี่ยงตั้งแต่หยดแรก เพราะแอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็ง และยังเป็นสาเหตุของโรคกว่า 200 โรค ผลวิจัยทำลายความเชื่อที่ว่า ดื่มน้อยๆ ดีต่อสุขภาพ แต่ยิ่งกว่าเรื่องสุขภาพคือ ด้านเศรษฐกิจ การงดดื่มเหล้าประหยัดเงินให้ทั้งประเทศและตัวเองมากมาย ปัจจุบันค่าเหล้าคนไทยไม่ต่ำกว่าสามแสนล้านบาท ซึ่งควรเปลี่ยนเป็นค่าอาหารที่ดีเพื่อครอบครัว เป็นการออกกำลังกายกับลูก ที่สำคัญหลายครอบครัวพูดกันว่าช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลาที่สุขที่สุด
"กลไกความสำเร็จที่ทำให้คน เลิกดื่ม ได้ คือพลังหนุนจากคนมีประสบการณ์จริงที่มาเป็นแกนนำ ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อชักชวนให้คนเลิกดื่ม ดังนั้นคนหัวใจเพชรจึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในการไปชวนคนในชุมชนให้มีประสิทธิภาพต่อไป"
พิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้จัดการโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวว่า ในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรร่วมรณรงค์ชวน ช่วย ชม เชียร์ 90 แห่ง มีผู้เข้าร่วมปฏิญาณตนจากชุมชนและอำเภอ ร่วมติดตามชวน ช่วย ชม เชียร์ 26,622 คน โดยตัวเลข 26,000 กว่าคน ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรไทยอาจดูน้อยมาก แต่เรามองผลกระทบหากวัดด้วยตัวเลขเศรษฐศาสตร์แล้ว ในคนหนึ่งคนจาก 26,000 คนนี้ เขาจะเป็นผู้ก่อหรือสร้างความสุขให้คนรอบตัวและครอบครัวเขาได้อีกเกือบสิบคน ซึ่งในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ เราเริ่มทำงานกับคนอีกกลุ่ม นั่นก็คือ คนในชุมชนผ่านทางออนไลน์ด้วย อีกทั้งในปีนี้ ยังมีสตรีพลังเพชรมาเสริมพลังเพิ่มอีก 92 แห่ง
ถึงเวลาตัวแม่ "สตรีใจเพชร"
ต้องยอมรับว่าความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ปัจจัยสำคัญเกิดจากความแข็งขันของเหล่า Change Agent ตัวตึง ตัวแม่ที่เปรียบเสมือนมดงานที่แฝงอยู่ในพื้นที่ เป็นแรงขับในการทำงาน งดเหล้าเข้าพรรษา ในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ
มนัสนันท์ โพธิรักษา ประธานกลุ่มสตรี อำเภอนิคมคำสร้อย กล่าวว่า แม้ทำมาได้เพียง 3-4 ปี ก็สามารถชักชวนครอบครัว เลิกเหล้า ได้เกิน 3 ปี ถึง 6 ครอบครัว โดยปีนี้เราถือเป็นน้องใหม่ในโครงการ แต่เรื่องรณรงค์งดเหล้าเราทำมาต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เรานำงบประมาณสตรีมาทำสตรีพันธุ์ใหม่คือ อีสานบ้านเราจะมีสตรีหน้าเวทีหมอลำ เราก็ไปชวน ช่วย ชม เชียร์ โดยในปีนี้มี 6 ครอบครัวที่เลิกได้ และมี 30 ราย ที่งดได้ โดย 10 คน เลิกได้เด็ดขาด
"เทคนิคคือ เราไปชักชวน ดึงระดับอาจารย์ ครูเกษียณที่เคยดื่ม มามีส่วนร่วม และยังสามารถดึงผู้ปกครองเด็กและเยาวชนมามีส่วนร่วมได้อีกต่อด้วย"
ไม่ดื่มก็มีสังคมได้
วิไลวรรณ คำมั่น อดีตข้าราชการครูที่เคยดื่มมาก่อน ซึ่งวันนี้ผันตัวเป็นว่าที่คนหัวใจเพชรนิคมคำสร้อยเต็มตัว เธอบอกว่า ความเชื่อในอดีต การมีสังคมมีเพื่อนต้องมีเหล้า แต่พอดื่มสามีที่บ้านก็บ่นว่าทำไมเธอหน้าเหี่ยวจัง เราก็เอ๊ะ จึงเริ่มมาเรียนรู้ว่าพอเลิกดื่มเลยหน้าสวย ผิวพรรณดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บไม่มี ข้อสำคัญคือ พ่อบ้านยืนยันว่า ถ้าไม่เลิกจะหย่ากับเธอ เราจึงตัดสินใจเลิกดื่ม
"ยืนยันว่าเลิกดื่มก็มีสังคมได้ ตอนนี้เป็นผู้นำเต้นแอโรบิก สนุกยิ่งกว่าเดิม เพราะเรามีสติดี มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ต้องกังวลว่าเดินไม่ถูกทางอีกแล้ว"
รำไพ ชาวระนอง พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.เหล่ากลาง อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร อีกหนึ่งแกนนำสตรีใจเพชร นิคมคำสร้อย เผยว่า จุดแข็งในการทำงานคือ มีแกนนำขับเคลื่อนงานที่เข้มแข็ง ทำงานด้วยจิตวิญญาณ มีช่องทางสื่อสารการทำงานในกลุ่มกันตลอดเวลา ช่วงเข้าพรรษามีผู้ร่วมงดเหล้าครบ 3 เดือน ทั้งอำเภอ จาก 7 ตำบล 79 หมู่บ้าน
"เรามีแกนนำเครือข่ายร่วมกัน ทั้ง อสม. ผู้นำชุมชน และรพ.สต. ขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็ง ทำให้ปีนี้เพิ่มเป็น 1,600 คน จากปีที่แล้วมีคน งดเหล้าเข้าพรรษา 1,000 กว่าคน เมื่อคำนวณเป็นค่าเหล้าที่ประหยัดลดไปได้คือ 1,200,000 บาท ทั้งอำเภอนิคมคำสร้อย พอออกพรรษาก็มาคิดว่าเอ๊ะแล้วใครจะจูงไปต่อ ก็มามองว่าเราเองกลุ่มสตรีนี่แหละที่ต้องไปต่อ เพราะคนที่ติดเหล้าลึก ๆ เป็นคนจิตใจอ่อนไหว หน้าที่เราคือ ดูแลเสริมพลังให้เขาเข้มแข็งแกร่งต่อไปได้"
สำหรับหลังช่วง ออกพรรษา ถึง เทศกาลปีใหม่ ทาง สคล. ยังคงรณรงค์งดเหล้าตลอดทั้งปี โดยเตรียมรณรงค์ภายใต้แนวคิด New Me Sobriety Celebration เชิญชวนประชาชนตั้งเป้าหมายสู่ชีวิตใหม่ สุขปลอดเหล้า ภายใต้กิจกรรม SoBrink แบ่งปันสูตรม็อกเทลจากสมุนไพร สาธิต Sobriety Bar และการจัดกิจกรรมให้คนมาแฮงเอาต์แทนวงเหล้า สนใจสมัครเข้าร่วมผ่านเฟซบุ๊ก Healthy Sobriety