'เชฟแมน – คมสันต์ อัศวานุชิต' ทำอาหารเป็นต้องรู้จัก 'อุปกรณ์ทำครัว' ด้วย
อาชีพเชฟต้องหมั่นฝึกฝน รอบรู้ครอบจักรวาล เช่น 'เชฟแมน - คมสันต์ อัศวานุชิต' ที่ขยันเรียนไม่รู้จบ และก้าวไปอีกขั้นของอาชีพเชฟคือต้องรู้จัก 'อุปกรณ์ทำครัว' ที่ปัจจุบันแอดวานซ์ล้ำสมัยไปมาก ต้องใช้ให้เป็น ลงทุนให้ถูก
“จากประสบการณ์ที่ผมเคยเปิดร้านอาหาร เมื่อ 5-6 ปีก่อน ปรากฏว่าลงทุนอุปกรณ์ทำครัวไปมากมายแต่กลับไม่ได้ใช้จริง กลายเป็นที่วางของ...”
เชฟแมน – คมสันต์ อัศวานุชิต เผยที่มาว่า ทำไมคนเป็นเชฟต้องรู้จัก อุปกรณ์ทำครัว อย่างถ่องแท้ ซื้อมาแล้ว ติดตั้งเสร็จสรรพแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่คุ้มก็สูญเปล่า
เชฟแมน - คมสันต์ อัศวานุชิต
“คำถามคือคนดีไซน์ครัวกับคนใช้งาน เป็นคนละคนกัน ผมเลยให้ความสนใจเรื่อง อุปกรณ์ทำครัว ไปศึกษาให้รู้จริง และปัจจุบันเครื่องครัวแอดวานซ์ไปมาก เต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมาย
ผมค้นพบว่าไม่ใช่เชฟทุกคนที่สนใจ เชฟอาจสนใจแค่มีด เหมือนศิลปินสนใจแค่พู่กันแต่ไม่ได้สนใจกระดานวาดรูป อยากวาดรูปให้สวยแต่ไม่รู้ที่มาของสีเนื่องจากเรามาสายไอทีด้วย เป็นเด็กวิศวกร เลยอยากเรียนรู้เรื่องเทคนิคัล เพราะเคยบาดเจ็บเรื่องนี้มาก่อน”
เชฟแมน จึงเปิดช่องยูทูปของตัวเอง นำเสนอการใช้อุปกรณ์การครัว ใช้ให้ถูก ใช้ให้เหมาะกับสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเชฟหรือเจ้าของกิจการร้านอาหาร จนถึงระดับอุตสาหกรรมอาหาร
“อยากเป็นมีเดียด้านนี้ พยายามให้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่เคยเจอที่ผมไม่รู้และไม่อยากโดนขาย เราทำหน้าที่ถามแทนเชฟ ถามแทนร้านอาหาร ทำไป 70 กว่าตอน กลายเป็นช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายอุปกรณ์ทำครัวและให้คำแนะนำโดยไม่เลือกแบรนด์
อุปกรณ์ที่ทันสมัยยุคนี้ ช่วยประหยัดไฟ ประหยัดแรงงาน เริ่มต้นอย่างแรกเลยคือประหยัดเวลา เช่น ทำข้าวผัดในกระทะใบบัว ต้องคำนวณให้ถูกว่าทำ 10 ครั้งต้องเหมือนกัน ตอนนี้มีตู้อบสมัยใหม่สามารถทำข้าวผัด 10 จาน ภายในเวลาเดียวกันได้และรสชาติเหมือนกัน ใช้คนน้อยลงและให้ความแม่นยำมากขึ้น
เครื่องครัวสมัยใหม่จะทุ่นแรงมหาศาล ประหยัดคนด้วยเพราะเราไม่ต้องใช้กำลังคน 10 คนไปผัด
หรือทำแซลมอน 300 ชิ้นด้วยตู้อบชิ้นเดียว ไม่ต้องใช้คนไปนั่งจี่กระทะปลาแซลมอน ซึ่งไม่รู้ใช้คนเท่าไหร่ ค่าแรงมหาศาล ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ใช้ไฟฟ้าครั้งเดียว เป็นต้น”
นอกจากตามให้ทันเครื่องครัวแอดวานซ์ ในฐานะเชฟที่ขยันเรียน (มาก) เรียนไปแทบทุกสถาบัน ถึงวันนี้เชฟแมน ก็ยังเรียนอยู่ มีคอร์สสอนทำอาหารประเภทไหนที่สนใจ เชฟลงทุนตัวเองเข้าเรียน
“ผมทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย คือเรียนแล้วเรียนอีก จ่ายเงินไม่ใช่น้อย บางที่หมื่นกว่าบาท คลาสสั้น ๆ แค่วันสองวันก็ 4,500 แล้ว พอเริ่มก้าวระยะไกลมากขึ้น เป็นหมื่นเจ็ด, หมื่นเก้า แพงสุดกอร์ดอง เบลอ เรียนที 7-8 แสน ต่อการทำอาหาร 1 แบบ (อาหารคาว) หมายความว่า เราต้องจ่ายจากสิ่งที่เราไม่รู้คือข้างใน
ผมเรียนทำอาหารที่แรกคือ วิทยาลัยสวนดุสิต เรียนอาหารไทย จากนั้นก็เรียนต่ออาหารยุโรป ลำดับ 1 -2 ดีมาก เพราะเป็นอาจารย์ระดับประเทศ เรียนที่นี่ค้นพบเลยว่ามีแต่ของจริง มีอาจารย์ที่ไปแข่งระดับโลกด้านอาหาร ส่งนักเรียนไปแข่งระดับประเทศ ระดับโลก บวกกับได้เข้าสมาคมเชฟฯ มีโอกาสคุยกับเชฟหลาย ๆ ท่าน ปรากฏว่าเชฟ 1 คน คุยได้ทุกเรื่องเลยครับ เชฟรอบรู้ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง ขนมไทย ขนมฝรั่ง ไวน์ กาแฟ ค็อกเทล คือ 7 ประเภทของอาหาร
ซึ่งทำให้เรารู้ถึงความหมายของคำว่าเชฟที่เราอยากเป็น คือรู้รอบ และทำงานได้หมด 7 ครัวคือ อาหารไทย ฝรั่ง คาว หวาน ไทย-เทศ ไวน์ กาแฟ ค็อกเทล เราจึงตั้งมั่นและเปิดใจตัวเองว่าต้องเรียนให้ครบ 7 ครัว”
ตอนนี้เทรนด์สอนทำอาหารก็แอดวานซ์ไปพร้อมกับอุปกรณ์ทำครัวที่ทันสมัยขึ้นด้วย
“ตอนนี้เทรนด์สอนทำอาหารเฉพาะเจาะจงขึ้น แต่ก่อนหลัก ๆ คือสอนทำอาหารไทย อาหารเวสเทิร์น อาหารญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส ตอนนี้มีอาหารเปรู คาเฟ่ญี่ปุ่น สอนทำราเมง เบเกอรีฝรั่งเศส ฯลฯ
สมัยก่อนเราเรียนพื้นฐานแต่ตอนนี้เทรนด์ลงลึกมากขึ้น แล้วแต่จุดประสงค์ของผู้เรียน เช่นเพื่อประกอบอาชีพเต็มรูปแบบ เพื่อมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นโดยเฉพาะ”
อย่างที่เชฟแมนขยันเรียน เช่น
“สมัยก่อน เราพบว่าการเรียนแบบเต็มรูปแบบ มีแค่หลักสูตรระยะสั้น - ยาว 90 ชม. 120 ชม. แต่ตอนนี้มีหลักสูตร 540 ชม. อย่างที่ผมเรียนอาหารฝรั่งเศส ยังมี 800 กว่าชม. อาหารฝรั่งเศสที่เลอ โนท เพิ่งมาเปิดใหม่ปีที่แล้ว หรือหลักสูตรที่ผมเพิ่งลงสมัครเป็นอาหารไทย คือเรียนระดับมาสเตอร์ไทยเชฟ เป็นระดับที่สูงขึ้นไปอีก”
เชฟแมนบอกว่า ใครจบ Culinary ในมหาวิทยาลัย เรียน 4 ปี จะเข้าใจงานครัวทุกประเภท ส่วนตัวเชฟยังคิดไปถึงการทำงานสายอาหารกับธุรกิจด้วย จึงลงเรียน Restaurant management ถามว่าทำไมเรียนมากมายขนาดนั้น เชฟแมนตอบว่า
“ผมรู้สึกว่ายังไม่อิ่ม และการที่ได้พบอาจารย์หลาย ๆ ท่าน เหมือนเรียนไม่รู้จบ พอสรุปกับตัวเองได้ว่า ความรู้ด้านทำอาหารแบ่งเป็น 2 ทางคือเฉพาะเจาะจงมากขึ้น กับลากยาวมากขึ้น เรียนเพื่อยกระดับ อย่างที่เชฟชุมพล แจ้งไพร เปิดคลาสสอนคือ เชฟอาหารไทยระดับยุทธศาสตร์ สูงสุดแล้ว เรียนประมาณ 240 ชม. เป็นคลาสใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ผมกำลังสมัครเรียนครับ”
ขยันเรียนขนาดนี้ก็ยังหาแนวทางทำอาหารใหม่ ๆ คือทำอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยง แรงบันดาลใจจากสัตว์เลี้ยงแสนรักตายไปอย่างกระทันหัน
“ผมเลี้ยงชิวาว่า มา 11 ปี มีวันหนึ่งผมให้กินลูกองุ่นลูกเดียว วันรุ่งขึ้นออกทวารทั้ง 7 ตายเลย เรามีกฎข้อห้ามเช่น ห้ามกินองุ่น ห้ามกินช็อกโกแลต หรือผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ แต่ในชีวิตที่เลี้ยงมาก็ไม่ได้ให้เลยนะ แต่บางทีก็ไม่ได้เชื่อทั้งหมดไงครับ แล้วใครจะไปรู้ว่าให้ลูกเดียวตายเลย ก็เสียใจ ผมก็คิดว่าความรู้บางอย่างต้องใช้วิทยาศาสตร์มาอ้างอิง บางทีเราพูดโดยที่เราไม่ได้อ้างอิง ผมก็เป็นคนดื้อนิดหน่อยเลยต้องไปค้นคว้าหาเรียน
ผมลงคลาสเรียนทำอาหารที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ เป็นอันดับ 1 เรื่องการรักษาสัตว์เลี้ยง จากที่ชิวาว่าตาย และที่นั่นเพิ่งเปิดคลาสสอนทำอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยง เรียกว่าเป็น Food development ครับไม่ใช่ cooking และตอนนี้ผมเรียนปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์อาหารที่ลาดกระบังอยู่ด้วย”
บทเรียนจากการเลี้ยงสุนัขที่แค่ให้กินอาหารผิดสำแดงเพียงนิดเดียวก็คร่าชีวิตสี่ขาเพื่อนรัก ทำให้เชฟสนใจศาสตร์การทำอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกแขนงหนึ่ง
ลงสนามแข่งโตเกียวมาราธอน 2023
“ผมทำยูทูปเยอะมากด้วยครับ สอนทำอาหาร แนะนำ อุปกรณ์ทำครัว ที่ทันสมัย เพื่อน ๆ หลายคนมาเรียนแล้วทำตาม จริง ๆ ก็เริ่มจาก 5 ปีที่แล้วที่เราไม่รู้จะถามใคร”
เป็นเชฟสายยูทูปเบอร์ อัดรายการทุกสัปดาห์ ไปเข้าคลาสเรียนสารพัดวิชาเพื่อต่อยอดความรู้ และยังมีเวลาไปวิ่งมาราธอนอีกด้วย ดูเหมือนใน 1 วัน มี 24 ชั่วโมงคงไม่พอ
“ผมวิ่งบนลู่ครับแต่ลงแข่งบนสนาม เพิ่งลงแข่งโตเกียว มาราธอน 2023 มา ถึงอยู่ในสตูดิโอก็วิ่งไป (บนลู่) ทำงานไปได้ด้วยครับ เรียน ป.โท ได้ ดูหนังได้ ดูซีรีส์ Glory เสพสิ่งที่เราต้องการได้หมด
ปัจจุบันผมเป็นเชฟคอนซัลแทนต์ จำหน่ายอุปกรณ์ครัวให้ร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมบางแห่ง และหาเวลาวิ่ง หาสนามลงแข่งมาราธอน
เชฟแมน - คมสันต์ อัศวานุชิต
ผมค้นพบว่าอาชีพเชฟเป็นสิ่งที่ชอบจริง สนุก ผมถึงอยากให้คนอื่นรู้ว่าอาชีพเชฟอย่างที่ผมเป็นก็มีอยู่เยอะ ไม่ได้เป็นเชฟอยู่แต่ในห้องครัว”
ชมเชฟทำอาหาร แนะนำอุปกรณ์การครัวและเทคนิคการปรุงต่าง ๆ ที่ FB: ManCanCook, Youtube : ManCanCook, Youtube: SayCook