‘รุไบยาต' กับความหมายแท้จริง ไม่ใช่ 'สุขนิยม' ?
บทกวี ‘รุไบยาต’ ของ ‘โอมาร์ คัยยัม’ เป็นอย่างที่คนทั่วโลกเข้าใจหรือไม่ จากการเสวนาครั้งล่าสุด ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ความหมายที่แท้จริงคืออะไร
ศูนย์วัฒนธรรมและการเรียนรู้อิสลาม และ The Bedouin จัดงานเสวนาเชิงวรรณกรรมและวิจักษ์บทกวีเปอร์เซีย รุไบยาต ของ โอมาร์ คัยยัม (Rubáiyát : Omar Khayyam) ตามสายตานักบูรพคดีสู่เวทีนักอ่านไทย โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กุสุมา รักษมณี
ภายในงานมี Mini Exhibition ฉบับแปลภาษาไทยและฉบับภาษาต่างประเทศ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ได้รับเกียรติจาก Mehdi Zare Bieib ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม สถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอิหร่านในวันนี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
"รู้สึกดีใจและแปลกใจที่เห็นผลงานจาก โอมาร์ คัยยัม มากมายมาจัดแสดง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเราอาจจะได้ร่วมมือกัน
ท่านโอมาร์ คัยยัม เป็นนักปรัชญา ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กวี ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของอิหร่าน เฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ดนตรี การนับวันเดือนปี
ในหมู่นักวิชาการชาวอิหร่านเรียกท่านว่า ผู้รอบรู้ ผู้รู้ นักปราชญ์ ผลงานที่โดดเด่นคือ การจัดทำปฏิทินที่คำนวนจากจันทรคติมาเป็นสุริยคติ และทฤษฎีเกี่ยวกับอัตราส่วน
บทกวี รุไบยาต มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย ปรัชญาการใช้ชีวิตในโลกแห่งวัตถุ เท่าที่นับได้มี 801 บท ถูกบันทึกไว้ในหอสมุดประเทศอังกฤษ จริง ๆ มีมากกว่านั้นประมาณ 2000 กว่าบท ส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาเปอร์เซีย และอาหรับ
ความมีชื่อเสียงของท่าน ในปี ค.ศ. 1980 มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ถูกตั้งชื่อว่า โอมาร์ คัยยัม ต่อมา พ.ศ. 2435 มีการตั้งองค์กรของท่านขึ้นในกรุงลอนดอน และอเมริกาก็สร้างภาพยนตร์ถึงสองครั้งในปี ค.ศ. 1995 และ 2005
Cr. Kanok Shokjaratkul
บทกวีของท่านจะมีคำสอนอยู่ 7 อย่าง 1)ไม่มีใครรับประกันว่าเราจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ในวันพรุ่งนี้ได้ 2)เราไม่สามารถตัดสินใครถูกใครผิดได้ เพราะเราไม่รู้ว่าในชีวิตเขาได้รับอะไรมาบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขาบ้าง 3)การบันทึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา จะทำให้จิตใจของมนุษย์ได้รับความสงบ
4)การละทิ้งความผิดพลาดในอดีตจะทำให้เราเกิดความสงบขึ้นในหัวใจ มีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งอื่นในอนาคตได้ 5)เราต้องยอมรับว่าในชีวิตของเรามีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ขอให้ใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนสอนเราในอนาคต
6) ชีวิตในโลกวัตถุจะต้องพบกับความยากลำบากอย่างแน่นอน การอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากนั้น จะทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้และความรุ่งเรืองขึ้นในอนาคตได้ 7)เราควรมีอารมณ์ดีไว้ก่อนในทุก ๆ วัน และนั่นเป็นทุนขั้นต่ำที่สุดในชีวิต"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ศึกษาเรื่องนี้มามากกว่า 50 ปี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กุสุมา รักษมณี กล่าวว่า วันนี้จะพูดเรื่องที่ยาวและซับซ้อน เป็นเรื่องที่ศึกษามาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว
"คนไทยรู้จักบทกวี รุไบยาต มามากพอสมควร แต่จะทำยังไงให้เข้าใจและรู้จักตัวตนที่แท้จริงของ โอมาร์ คัยยัม คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องของโลกียะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
Cr. Kanok Shokjaratkul
การถ่ายทอดจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย มันผ่านโลกทัศน์ของคนหลาย ๆ คน ที่ตัวเองคิดให้เป็นเช่นนั้น บทกวีที่แปลมาจากชาติต่าง ๆ คนแปลมีความคิดอยู่ในใจแล้ว ก็เลือกตีความเข้ากับของเขา
เราเลยไม่ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ โอมาร์ คัยยัม เสวนาครั้งนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักตั้งแต่ต้น จากตะวันตกสู่ตะวันออก
Cr. Kanok Shokjaratkul
คำว่า รุไบยาต หมายถึงลักษณะของกวีนิพนธ์ที่มี 4 วรรค หรือ โคลง 4 บาท
โอมาร์ คัยยัม มีฐานะไม่ค่อยดี แต่เป็นคนฉลาด ใฝ่รู้ ไปเรียนหนังสือก็กลายเป็นนักปราชญ์ รู้จักภาษากรีก ละติน เป็นนักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ ทำปฏิทิน ที่ยังใช้มาถึงปัจจุบัน มีชีวิตอยู่กลางศตวรรษที่ 11-12 อยู่ที่อิหร่านตะวันออก บทกวีของเขาทุกคำ ต้องตีความ ไม่ใช่อ่านแล้วเข้าใจทันที
Cr. Kanok Shokjaratkul
ปี ค.ศ. 1810 พระเจ้าจอร์จที่สามของอังกฤษ มีพระญาติเป็นทูตอยู่ที่เปอร์เซีย ชอบวรรณกรรมเปอร์เซีย ก็รวบรวมต้นฉบับกลับมาอังกฤษด้วย ตอนนี้อยู่ที่บริติชมิวเซียม คนที่สนใจก็ไปศึกษากันได้
เซอร์ออกซ์ฟอร์ดเลือกบทกวีของ โอมาร์ คัยยัม มาแชร์กับเพื่อน เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ (Edward Fitzgerald ค.ศ. 1809 - ค.ศ. 1883) ชาวอังกฤษ ถูกใจ รุไบยาต ก็เอาบทที่ชอบมาปรับเปลี่ยนเรียงใหม่ กลายเป็นวรรณคดีของอังกฤษ ทำให้ชาวตะวันตกรู้จักกวีเปอร์เซีย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ช่วงนั้นเป็นช่วงปฏิรูปสังคมใหม่ ปฏิวัติอุตสาหกรรม คนชั้นกลางขึ้นมาแทนที่พวกศักดินา ขุนนาง บางคนรับไม่ได้ที่บ้านเมืองเปลี่ยนไป ก็ใช้เมรัยดับทุกข์ เป็นปรัชญาของพวกสุขนิยม ที่มีแต่โลกียะ
รวมตัวกันเป็นสโมสร อ่านบทกวี โอมาร์ คัยยัม ที่ฟิตซ์เจอรัลด์แปลมา เน้นเรื่อง ดื่มเมรัยแห่งชีวิต คือความสุขทั้งหลาย นำสิ่งแปลกใหม่จากตะวันออกมาช่วยชุบชูใจ มีเหล้าไวน์ มีขนมปัง มีผู้หญิงถือพิณ ดื่มกิน เสพอาหาร จนผู้เคร่งศาสนาลุกขึ้นต่อต้าน โอมาร์ คัยยัม ที่ทำให้ศีลธรรมเสื่อม"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ฉบับแปลภาษาไทย
รุไบยาต เป็นโศลกมีความยาวกว่า 500 บาท ฉบับภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุด เป็นของ เอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ (Edward Fitzgerald, ค.ศ. 1809 - ค.ศ. 1883) ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษถึง 5 ครั้ง (ค.ศ. 1859, 1868, 1872, 1879, 1889) แต่ละครั้งแตกต่างกันทั้งเนื้อหาและจำนวนบท
"คนไทยรู้จัก รุไบยาต จาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ.2457) แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของเอ็ดวาร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์ ปรุงแต่งเติมคติศาสนาพุทธ แสดงความไม่จีรังของมนุษย์ ปฏิเสธสวรรค์และพระเจ้า
Cr. Kanok Shokjaratkul
ต่อมามีของ แคน สังคีต พ.ศ. 2508 และ สุริยฉัตร ชัยมงคล พ.ศ. 2528
ส่วนที่แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของ โรเบิร์ต เกรฟส์ และ โอมาร์ อาลีชาห์ ได้แก่ วีนัส กิติรังษี (นามปากกาของ ไรน่าน อรุณรังษี) พ.ศ. 2521 ตีพิมพ์ใหม่แก้ไขปรับปรุงในนาม น่าน กิติรังษี พ.ศ. 2536 ตีพิมพ์อีกครั้งในนาม ไรน่าน กิติรังษี พ.ศ. 2546
Cr. Kanok Shokjaratkul
แล้วก็มีของ มนตรี อุมะวิชนี (ค.ศ.2003) โดยชมรมการประชุมสภากวีโลก พ.ศ. 2546 แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของ Abbas Aryanpur Kashani & Manouchehr Aryanpur ชาวเปอร์เซีย แปลจากฉบับเปอร์เซีย
และเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ยังมีการแปล แสดงว่า ความนิยม รุไบยาต ในนักอ่านไทยยังคงมีอยู่
Cr. Kanok Shokjaratkul
จากการศึกษามา 50 ปีได้คำตอบว่า รุไบยาต เป็นภาพแทนความสับสนมึนงงของมนุษย์ ที่พยายามหาคำตอบแก่ชีวิต และพยายามหาตัวตนของตัวเอง
นักปราชญ์หลาย ๆ คนกล่าวว่า โอมาร์ คัยยัม มักจะตั้งคำถามเรื่องการปฏิบัติทั่ว ๆ ไป และไม่เคยสงสัยในพระเจ้า
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่วนนักวิชาการเปอร์เซีย เมื่อรู้ว่าทั่วโลกนิยม รุไบยาต มาก ก็พยายามศึกษา ดูไปถึงบทความที่ โอมาร์ คัยยัม เคยเขียนไว้ 6 บท เราคงต้องหาข้อสรุปต่อไป"
จากการฟังเสวนาครั้งนี้ สรุปได้ว่า ความหมายที่แท้จริง รุไบยาต ของ โอมาร์ คัยยัม ไม่เน้นเรื่องโลกียะ หรือมุ่งหาความสุขอย่างเดียว เช่นของฟิตซ์เจอรัลด์ แต่น่าจะเป็นการค้นหาความหมายของชีวิตมากกว่า