กว่าจะมาเป็น ‘เพลงสงกรานต์’ เพลงเทศกาลแบบไทย ๆ
ในทุกช่วงเทศกาลของประเทศไทย สิ่งแรกที่เตือนสติให้รู้ว่ากำลังเข้าสู่เทศกาลนั้นแล้วคือ บทเพลง นับเป็นข่าวดีที่เรากำลังจะได้ยิน 'เพลงสงกรานต์' ในภาษาต่างประเทศอีก 4 ภาษา
บทเพลง กับ เทศกาลในประเทศไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไร มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เพลงสงกรานต์ มาได้อย่างไร
เท่าที่ตรวจสอบดูพบว่า เพลงยอดนิยมหรือเพลงเปิดของทุกเทศกาล จะเป็นเพลงของ วงสุนทราภรณ์
วงดนตรีสุนทราภรณ์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2482 วันที่ 20 พฤศจิกายน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนเพิ่งผ่านความเลวร้ายจากสงครามมาไม่นาน
สิ่งบันเทิงเริงรมย์ใด ๆ ก็ยังไม่มี รัฐบาลจึงสั่งให้ผู้ที่มีความสามารถในการแต่งเพลง ช่วยแต่งเพลงปลุกใจ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชน
เพลงในยุคนั้นจึงเป็นเพลงที่ฮึกเหิมเติมพลังเสียเป็นส่วนใหญ่ หลายคนจึงต้องการสิ่งที่จะมาช่วยผ่อนคลาย เพลงรื่นรมย์ เพลงชมธรรมชาติ ก็เกิดขึ้นมา ตามมาด้วย เพลงรัก เพลงเต้นรำ
ฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนผัน เทศกาลของทุกปีก็ไม่เห็นมีอะไรที่แตกต่างตื่นเต้น จึงมีผู้เรียกร้องต้องการเพลงที่เข้ากับเหตุการณ์ เพลงประจำเทศกาลจึงได้เกิดขึ้น
ด้วยความสามารถของผู้แต่งเนื้อร้อง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และผู้สร้างสรรค์ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน ทำให้เกิดเพลงใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลขึ้นมากมาย ผ่านกาลเวลามาได้มากกว่า 60 ปี
- ต่อยอดเพลงสงกรานต์ภาษาไทย สู่เพลงภาษาอื่น
วันที่ 6 ธันวาคม 2566 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน สงกรานต์ไทย เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่จับต้องไม่ได้
นับเป็น มรดกโลก ลำดับที่ 4 ของไทยแล้ว ที่เราได้รับมา ต่อจาก โขน ในปี 2561 นวดไทย ในปี 2562 และ โนรา ในปี 2564
Cr. สุนทราภรณ์ วงดนตรีสุนทราภรณ์ พร้อมนักร้องยุคแรกและยุคกลาง
เพลงรำวงเริงสงกรานต์ ที่แต่งคำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และแต่งทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ถูกนำไปเสนอในเวทีโลก เพราะเป็นเพลงที่บอกเล่าเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์
มีขนบธรรมเนียมประเพณีครบถ้วน เช่น การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การทำบุญอัฐิญาติผู้ใหญ่ การปล่อยนกปล่อยปลา การละเล่นพื้นบ้าน มอญซ่อนผ้า และ สะบ้า
เพลงประจำเทศกาลของวงสุนทราภรณ์ที่ได้รับความนิยมยังมีอยู่อีกมากมาย เช่น เพลงสวัสดีปีใหม่, เพลงรื่นเริงเถลิงศก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และ เพลงรำวงวันลอยกระทง ในช่วงเทศกาลลอยกระทง
Cr. Kanok Shokjaratkul
วันที่ 4 มีนาคม 2567 มีงานแถลงข่าวเปิดตัว นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 (แอนโทเนีย โพซิ้ว) และ เพลงสงกรานต์ ภาษาต่างประเทศ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานจัดงาน กล่าวว่า
"รัฐบาลได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival : มหาสงกรานต์ ขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2567 และทำเพลงภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ภาษาจีน เพื่อส่งเสริม ผลักดัน ให้สงกรานต์ไทยโด่งดังไปทั่วโลก"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ทำไมต้องมีเพลงสงกรานต์ภาษาต่างประเทศ ?
โกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายน ปี 66 ได้ไปเป็นตัวแทนประเทศไทยเสนอให้สงกรานต์ไทยเป็นมรดกโลกที่สาธารณรัฐบอตสวาน่า
"เรามีเวลานำเสนอ 5 นาที แต่เราไม่มีเพลงสงกรานต์ภาษาอังกฤษเลย จำเป็นต้องใช้เพลงภาษาไทย นี่คือความเป็นมาที่จะต้องมีเพลงภาษาอังกฤษ
เราจะมี เพลงรำวงเริงสงกรานต์ ของวงสุนทราภรณ์ แล้วก็เพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ คือ เพลง สงกรานต์ แปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เพื่อเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รู้จักสงกรานต์ไทย"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- คงความเป็นเอกลักษณ์ไทยไว้ครบถ้วน
อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ เจ้าของและผู้จัดการ วงดนตรีสุนทราภรณ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกเพลงรำวงเริงสงกรานต์ มาเป็นส่วนหนึ่งของงานสงกรานต์ไทยสู่เวทีประชาคมโลก
"เพลงรำวงเริงสงกรานต์ เป็นเพลงที่มีความไพเราะ ทำนองสนุกสนานแบบพื้นบ้านไทย เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เมื่อ 63 ปีมาแล้ว
การนำเพลงนี้มาใส่เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ วงดนตรีสุนทราภรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังต้องคงทำนองและจังหวะดนตรีอันไพเราะตามที่ครูเอื้อ สุนทรสนานได้ประพันธ์ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยรู้จักรื่นเริงคุ้นเคยกันมานานแล้ว
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่วนเนื้อเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษ เราได้ใช้คำง่าย ๆ มีสัมผัสและคำซ้ำ ที่ชาวต่างชาติสามารถเข้าใจและจดจำนำไปร้องได้โดยง่าย
มีองค์ประกอบของการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์อยู่ครบถ้วน ได้แก่ ความสนุกสนานร่วมกัน การร้องเพลง การรำวง ความสนุกกับการสาดน้ำ
วงดนตรีสุนทราภรณ์หวังว่าเพลงสงกรานต์ในภาคภาษาอังกฤษนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยให้เป็นที่นิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาคมโลก เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยต่อไป"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา มาช่วยกัน
รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทเพลง เป็นศิลปะที่เข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา
"ดนตรีสามารถสื่อถึงวัฒนธรรม และดึงคนเข้ามาหากันได้ การสื่อด้วยเพลงและความหมายทางภาษาของเรา ไม่ได้เท่ากับเราได้พูดภาษาของเขา ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของเรา
วันสงกรานต์ มีการรดน้ำผู้ใหญ่ ทำให้นึกถึงครอบครัว การสาดน้ำเล่นกัน ทำให้ลืมความโกรธเคืองกัน
เพลงสงกรานต์ เริ่มจากเนื้อเพลงภาษาไทย มาเป็นภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน เป็นของแถม อยากให้ทุกคนมาร่วมเฉลิมฉลองและมีความสุขด้วยกันค่ะ”
สามารถฟังเพลงสงกรานต์ 5 ภาษาได้แล้ว (คลิก)
เพลง รำวงเริงสงกรานต์ ฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์
เพลง สงกรานต์ ฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยวงดนตรีเฉลิมราชย์
เพลง รำวงเริงสงกรานต์ ฉบับภาษาจีน โดย ส.ว.ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ร่วมกับคณะเม้ง ป.ปลา
Cr. Kanok Shokjaratkul