ดราม่า 'ซีไรต์' ปี 66 ‘ปกหนังสือ’ มีผลต่อการให้รางวัล ?
กลายเป็นเรื่องฮือฮาสร้างผลสะเทือนในแวดวงวรรณกรรมไทยทันที เมื่อผลการตัดสินรางวัล 'ซีไรต์' ปี 66 ประกาศว่า การออกแบบ 'ปกหนังสือ' เป็นสารนอกตัวบท ช่วยสื่อสาร
ซีไรต์ S.E.A. Write รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นรางวัลใหญ่ระดับ Southeast Asia มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกปี
ความน่าสนใจและสำคัญที่สุด อยู่ที่วันประกาศรอบตัดสินว่า เล่มไหนจะได้รางวัลไป และชนะผู้เข้ารอบสุดท้ายท่านอื่น ๆ ด้วยเหตุผลอะไร
ในปีที่ผ่านมา 2566 กรรมการรอบตัดสิน ได้ประกาศว่า ผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2566 ประเภทรวมเรื่องสั้น ได้แก่ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ จากเรื่อง FAMILY COMES FIRST ด้วยรักและผุพัง ด้วยเหตุผลว่า...
เล่าเรื่องคนไทยเชื้อสายจีนในมุมมองใหม่ ผู้เขียนใช้ความเป็นจีนเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามต่อจารีตประเพณี ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงค่านิยมบางประการ ค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ มายาคติ ของสายเลือด ตัวละครตกอยู่ในกับดักของประเพณี.....
ใจความสำคัญอยู่ในตอนท้าย ที่กล่าวว่า...
".....การใช้ผัสสะที่เอื้อต่อการตีความ เช่นการใช้สีแดงสื่อความหมายที่ขัดแย้งกันระหว่างสีแนวมงคลและสีแห่งความตาย ช่วยสื่อบรรยากาศความลึกลับความน่าสะพรึงกลัว ความอึดอัด
นอกจากนี้ยังมีการใช้สารนอกตัวบท เช่น การออกแบบหน้าปก ให้มีชื่อภาษาไทย จีน อังกฤษ ใช้อักษรจีนเป็นส่วนประกอบ เป็นตัวบท ช่วยสื่อนัยยะของการปะทะสังสันทน์กันระหว่างรากเหง้าของชาติพันธุ์และความเป็นสมัยใหม่"
ทำให้เกิดความสงสัยในหมู่นักเขียนว่า การส่งผลงานเข้าประกวดรางวัล ซีไรต์ ต่อไปนี้ สารนอกตัวบท มีผลต่อการตัดสินด้วยเหมือนกัน ?
Cr. Kanok Shokjaratkul
- เปิดใจ ผู้ออกแบบปก
วันที่ 10 มีนาคม 2567 เราได้พบกับ NJORVKS หรือ สายรุ้ง รุ่งกิจเจริญการ (นิวยอร์ค) ผู้ออกแบบปก หนังสือ ด้วยรักและผุพัง FAMILY COMES FIRST ของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เธอเล่าว่า
"ตอนได้รับมอบหมายให้ทำปกนี้ บก. บอกว่า ลองเอาเล่มนี้ไปอ่าน ไปลองทำดู ครอบครัวเราเป็นคนจีนเหมือนกัน อ่านแล้วก็รู้สึกอิน อ่านจบในวันเดียว ก็ลองทำขึ้นมาเลย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ดราฟต์แรก ปกมีรูปคนอยู่ และมีสีแดง เพราะต้นฉบับเดิมชื่อว่า งานเฉลิมฉลองสีแดง บก.บอกว่ามันเหมือนคดีฆาตกรรมร้านทอง เหมือนหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนมากกว่า
ทีมก็ส่งไอเดียกลับมา ให้ลองมองในภาพรวม ตีมของเรื่องเล่าอะไรอยู่ และชื่อเรื่องถูกเปลี่ยนเป็น ด้วยรักและผุพัง พอดี เรารู้สึกว่า ในเล่มเกี่ยวกับคำพูด ความรู้สึก มวลอารมณ์ น่าจะทำออกมาเป็น Typography (ไทโปกราฟี่) ดีกว่า"
Cr. Kanok Shokjaratkul
Typography (ไทโปกราฟี่) คือ การสื่อสารที่ใช้ตัวอักษรเข้ามาเป็นเครื่องมือ มีการเลือกใช้ Font (ฟอนต์) ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย อารมณ์ความรู้สึกของงาน ออกแบบตัวอักษรให้เป็นตัวแทนบุคคล สะท้อนอัตลักษณ์
"ตอนอ่านเราคิดถึง มีดปังตอ ที่ใช้ทำอาหารในครอบครัวคนจีน มีทั้งโทษและประโยชน์ ใช้ทำร้ายกัน ใช้ทำอาหารให้เรากิน มีความเป็นครอบครัว
ส่วนชื่อเรื่อง มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ได้ความเป็น มีด สีแดง แล้วก็ ไฟ ที่ให้ทั้งแสงสว่างและเผาไหม้
บก.ให้ออกแบบ ก-ฮ เลย ในเล่มที่เป็นชื่อตอนของแต่ละบทก็จะมีตัวอักษรแบบนี้ด้วย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในเรื่องของการใช้สี พอเอาแดงมาอยู่บนดำ ก็ให้ความรู้สึกที่แปลกไป ตัวฟ้อนต์มีความเป็นจีนพอแล้ว ก็เอาสีดำมาเบรค
หัวใจของการออกแบบปกคือ สวย แล้วก็ Commercial (เป็นการค้า) ขายได้ด้วย กลุ่มคนอ่านเป็นกลุ่มไหน เขาต้องการจะเห็นอะไร แล้วนักเขียนต้องการจะเล่าอะไร
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเอามาเล่า ออกมาเป็นหน้าปก เพราะว่าพื้นที่ปกมีอยู่แค่นี้ ต้องบาลานซ์ทั้งสามอย่าง สวย ขายได้ด้วย สื่อสาร
ตอนหนังสือเล่มนี้ได้ ซีไรต์ แล้วกรรมการตัดสินพูดถึงการออกแบบปก ก็ดีใจ ไม่ใช่แค่เรา เพราะเราไม่สามารถทำปกนี้ขึ้นมาได้คนเดียว ทีมของแซลมอนด้วยที่ช่วยให้ไอเดีย รู้สึกว่า มีคนเห็นคุณค่าในผลงานที่เราทำ
อีกทั้งเรื่อง ด้วยรักและผุพัง พี่มิน (นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์) ก็เขียนดีมาก อ่านแล้วอิน สามารถทำปกแบบนี้ออกมาได้ มันทำงานร่วมกันได้ดี
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราเอาหนังสือเล่มนี้ให้คุณพ่ออ่านด้วย มันเป็นมีเดียกลาง พอคุณพ่ออ่านจบ ก็บอกว่าตอนเด็ก ๆ ก็เจอแบบนี้ พอมันมีสื่อกลางในการคุย มีการแชร์กัน มันก็ปลดล็อกได้ เราก็เข้าใจคุณพ่อมากขึ้น พ่อก็เข้าใจเรามากขึ้น เป็นเรื่องที่สนุกทั้งตอนอ่าน และหลังอ่านจบ"