เปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดงานเปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ณ มูลนิธิชัยพัฒนา ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต
ดร.สุเมธ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล วันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ชีวิตนี้ชะตาลิขิต
เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ช่วงประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศ
และการได้รับโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน
สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและมุมมองต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ ถ่ายทอดความเป็นจริงของชีวิตปุถุชนที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี มิใช่จะมีแต่ด้านดีด้านเดียว
จุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย.
Cr. Kanok Shokjaratkul
ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้น เมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี เห็นว่าในแต่ละช่วงชีวิตทุกวัยของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ต้องจากประเทศไทยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเวียดนาม ลาว และฝรั่งเศส
รวมถึงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Cr. Kanok Shokjaratkul
กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่ไม่มีใครเคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะการทรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป
โดยกล่าวในบทมุทิตาคารวะมีเนื้อหาส่วนหนึ่งใจความว่า “...เห็นท่านอาจารย์มีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ด้วยความแข็งแกร่งเพียงพอและการตั้งสติที่ดีพอ จึงทำให้ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ในสถานการณ์ที่มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นบันทึกสำคัญ เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศไทย ในยุคที่โลกมีความวุ่นวายและสับสน ว่าประเทศไทยของเราได้ประคับประคองตัวเองให้ผ่านวิกฤตหลายๆ ครั้งมาได้อย่างไร โดยยังสามารถสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่สังคมไทยมาจนตราบทุกวันนี้...”
Cr. Kanok Shokjaratkul
หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 บท ดังนี้
รอบนักษัตรที่ 1 (พุทธศักราช 2482 - 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม : ช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงและครอบครัวแตกแยก
รอบนักษัตรที่ 2 (พุทธศักราช 2494 - 2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง : ช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม
รอบนักษัตรที่ 3 (พุทธศักราช 2506 - 2518) กลับสู่มาตุภูมิ : ช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ
รอบนักษัตรที่ 4 (พุทธศักราช 2518 - 2530) รอนแรมในสมรภูมิ : ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบถึง 11 ปี และเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึง 35 ปี
Cr. Kanok Shokjaratkul
รอบนักษัตรที่ 5 (พุทธศักราช 2530 - 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
รอบนักษัตรที่ 6 (พุทธศักราช 2542 - 2554) รางวัลแห่งชีวิต : ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
รอบนักษัตรที่ 7 (พุทธศักราช 2554 - 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ : ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้ายรับสั่งว่า "สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ"
คำนำ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา
"84 ปี หรือ 7 รอบนักษัตร เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรทีเดียว สำหรับชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปดู มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ตื่นเต้นโลดโผนไม่ได้สงบราบเรียบ บางเหตุการณ์ที่นำมาเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อหวังใจว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นบทเรียนลัดที่สรุปชีวิตผมตลอด 84 ปี
ชีวิตผมตั้งแต่แรกเกิดจนวัยนี้ คือการได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ บทเรียนชีวิตมีแต่เพิ่มพูนขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใด ฐานะใด ประสบการณ์สะสมเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ยิ่งเราดำรงชีวิตโดยครองสติตลอดเวลา ยิ่งเก็บเกี่ยวบทเรียนได้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นประโยชน์มากเท่านั้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่าชีวิตเป็นสนามรบด้วยเช่นกัน คนเราตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาก็ต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อสู้เพื่อดำรงสังขาร ต้องแก้ไขปัญหาร้อยแปดพันประการ ไม่ว่าระหว่างรับราชการหรือชีวิตส่วนตัว ต้องต่อสู้กับกามกิเลสต่าง ๆ อย่างไม่ลดละบางครั้งต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชีวิตจะพลิกผัน หรือมีเส้นทางเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือเรื่องดวง ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีดวงชะตาของตัวเอง เหมือนดังชื่อหนังสือเล่มนี้ที่ว่า ชีวิตนี้ชะตาลิขิต
ผมมีชีวิตการศึกษาในวัยเด็กกระท่อนกระแท่น พ่อแม่แยกทางกัน เติบโตมาก็ต้องไปเป็น นักเรียนนอก ที่ไม่ได้สุขสบายเลย ระหกระเหินลำบากยากเข็ญหนีภัยท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้ารับราชการอยู่ ๆ ก็ได้ไปวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้ทุกขณะ สิ่งเหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับไปล้วนทำให้เราได้รับประสบการณ์กว้างขวางที่น้อยคนจะมีโอกาสได้รับ แล้ววันหนึ่งก็โชคดีอย่างที่สุดในชีวิตที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เป็นนักเรียนของพระองค์ท่านยาวนานถึง 35 ปี ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แสวงหา แต่ชีวิตลิขิตมาอย่างนี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
ฟรองซัว เดอ ลาโรชฟูโกต์ นักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า Le moi est haissable แปลว่า อัตตาเป็นของน่ารังเกียจ การกล่าวถึงตนเองเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่การเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้ ผมได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่า จะเล่าทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายที่ย่างกรายเข้ามาในชีวิตโดยไม่ปิดบังอำพราง ทุกสิ่งที่เคยเผชิญมาเมื่อถึงอายุ 84 ปีล้วนเป็นเพียงฉากหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ชีวิตเราก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งดูจบแล้วก็แค่นี้ เหลือค้างแค่ว่าคนดูได้รับบทเรียนอะไรจากหนังเรื่องนี้
ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เด็กสมัยนี้จะไม่มีโอกาสได้เรียนจากใครทั้งสิ้น และไม่ได้มีแค่ด้านที่ประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว จึงสรุปบทเรียนท้ายรอบนักษัตรไว้ในแต่ละบทเพื่อเป็นแนวทาง
เป็นพลังใจ เป็นแรงผลักดัน เป็นประโยชน์ รวมถึงอาจจะเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตของคนที่ได้อ่านต่อไปไม่มากก็น้อย"
คำปรารภ โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
"ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพ ท่านไม่ถือตัว และปฏิบัติตนเรียบง่ายกับทุกคน ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีธรรมาภิบาลมีความซื่อสัตย์สุจริต และความตั้งใจมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำงานซึ่งได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญมากมายไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
ซึ่งหน่วยงานหลังสุดนี้ท่านเป็นเลขาธิการ คนแรกและคนเดียวมาตลอด 35 ปีจนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด ดร.สุเมธ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพราะท่านเป็นคนหัวก้าวหน้า ชอบคิดที่จะทำอะไรที่แตกต่างไปสู่สิ่ง ที่ดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านมีความเป็น สุภาพบุรุษ อย่างที่สุด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเหมาะสมที่สุด ที่จะถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเจ้านายทุกพระองค์ พร้อมจะนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านไปสู่การลงมือทำจริงอย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจ และเข้าถึงตลอดชีวิตการทำงาน
ดร.สุเมธได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างยิ่งมักจะถูก ยกย่องให้เป็น แบบอย่าง หรือ ต้นแบบ ของการประพฤติปฏิบัติตนสำหรับข้าราชการและบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ
ความพิเศษที่เห็นเด่นชัดอีกประการหนึ่งคือ ความสามารถในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และพยายามไม่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก มีลีลาการพูด เล่าเรื่องอย่างสนุก เจืออารมณ์ขัน จึงทำให้ท่านกลายเป็นนักพูด นักบรรยาย และนักปาฐกถาที่มีผู้นิยมฟังสูงสุดท่านหนึ่ง
ภาพลักษณ์ของ ดร.สุเมธ เป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย ติดดิน ธรรมดา อบอุ่นเป็นกันเอง สนุกสนานกับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นเรื่องงานท่านจะเคร่งครัดจริงจัง แม้จะอายุ 84 แล้วท่านก็ยังทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอ และใช้ชีวิตได้อย่างน่าภาคภูมิใจเป็นที่สุด
Cr. Kanok Shokjaratkul
หนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิชิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกเล่าเรื่องราวตลอด 7 รอบนักษัตรหรือ 84 ปีของท่านที่ตั้งใจถ่ายทอดให้เป็นบทเรียนชีวิตฉบับทางลัด เห็นท่านมีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ต้องแข็งแกร่งเพียงพอ ต้องตั้งสติให้ดีพอ จึงเอาตัวรอดมาได้ในสถานการณ์มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้น
เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะจุดเปลวไฟแห่งความหวัง เสริมสร้างกำลังใจ ถักทอแรงบันดาลใจที่งดงามทรงพลังให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน และส่งต่อประกายแสงเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ เรืองรองสว่างไสวยิ่งขึ้นสู่ผู้คนในสังคมรอบตัวเราต่อไป"
Cr. Kanok Shokjaratkul
การจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบเนื้อหารวบรวมข้อมูลวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์
หนังสือจะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้
และวางจำหน่าย ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
ร้านภัทรพัฒน์
- สำนักงานใหญ่ สนามเสือป่า: 0 2282 4425
- สาขาพระราม 8: 0 2447 8585 ต่อ 119
- สาขาโครงการชัยพัฒนาประชาเกษม: 0 2116 5702
- สาขาเดอะพาซิโอ ทาวน์: 0 2111 3164
- สาขาพระราม 9: 0 2643 9024
- สาขาไอคอนสยาม: 0 2282 4425
- สาขา ปตท. ทางด่วนบางนาขาออก: 0 2120 7064
- สาขาบองมาร์เช่: 0 2591 9151
- สาขา ปตท. วิภาวดี 62: 0 2126 0996
ร้านมูลนิธิชัยพัฒนา สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย: 09 9636 7949
รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา ในราคาเล่มละ 999 บาท