ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล อุตสาหกรรมหนังไทย ไปช้ากว่า 60-70 ประเทศทั่วโลก
'คุณชายอดัม' - 'ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล' รับบทใหม่ ประธานคณะกรรมการพัฒนา 'ซอฟต์พาวเวอร์' แห่งชาติ สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี เกมส์ และแอนิเมชั่น ผลักดันสู่เป้าหมายงานสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศ
บทบาทใหม่ที่ทั้งคาดหวังและเร่งด่วน ในการกำหนดนโยบายให้ทันสมัย ปูพื้นฐานลงเสาหลักให้ THACCA (Thailand Creative Content Agency) หน่วยงาน ซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย ผลักดันสู่เป้าหมายงานสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศ
จุดประกาย TALK สนทนากับ คุณชายอดัม โปรเจคต์ใหญ่ หนัก และเป็น “เผือกร้อน” รับแล้วไปต่ออย่างไร...
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล (ภาพ: ศุกร์ภมร อังประภากร)
ความเป็นมาของหน้าที่ใหม่
“เริ่มจากหมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ทาบทามอยากให้มาเป็นประธาน มี 3 คณะคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์, คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์, อนุกรรมการภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่น ตอนแรกมีแค่ภาพยนตร์ ยังไม่มีเกมส์ ผมก็แนะนำว่าแยกเกมส์ออกมาด้วย
คิดในใจตอนแรกว่าจะไม่รับ เผือกร้อนแน่นอน การทำงานแบบนี้เป็นงานยากอยู่แล้ว ยังไงก็ยาก”
ที่ว่ายาก อย่างไร
“วงการนี้ไม่ง่ายอย่างที่ทุกคนคิดหรอก การเป็นอุตสาหกรรมผลิตคืออีกแบบหนึ่ง มี high barrier เข้ายากออกง่าย กำแพงสูง ข้อจำกัดเยอะ มีผู้เล่นในตลาดไม่มาก กลุ่มทุนไม่มาก มันเป็นเรื่องที่ทำงานยากอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
มานั่งคิดว่า ถ้าไม่ใช่ผมจะมีใครบ้าง ไม่ใช่เรื่องความสามารถนะครับ คนมีความสามารถเยอะ คนเก่งเยอะมาก แต่ทีนี้คนรับแรงปะทะมีเยอะแค่ไหน ผมใช้คำนี้เลย
การเข้ามาทำตรงนี้ 1.เกี่ยวข้องทางการเมืองแน่ ๆ อย่างน้อยเป็น Political point ให้โจมตีของฝ่ายค้าน แม้กระทั่งฝ่ายรัฐบาลก็จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการสร้างความน่าเชื่อถือ
2.พอมีเรื่องการเมืองปุ๊บมันจะเป๋ทันที เพราะฉะนั้นถ้าเราให้ใครคนใดคนนั้นที่ขึ้นมาแล้วมีเงื่อนไขทางการเมืองก็จะทำให้อุตสาหกรรมไม่โตแน่นอน จะกลายเป็นความบาดหมางในวงการเพิ่มขึ้นมาอีก
3.คนที่มีความสามารถจริงจะมาทำงานนี้มั้ย คือหนึ่งไม่มีเงินให้ ฟรีนะครับ มีแค่เบี้ยประชุมเต็มที่ก็ไม่เกินหมื่นบาทต่อเดือน”
ระยะเวลาการทำงานในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์
“จนกว่า THACCA จะตั้งขึ้นมา จากนั้นพวกเราก็อาจไปทำอย่างอื่นแทน”
ประธานคณะกรรมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาภาพยนตร์, ซีรีส์, แอนิเมชั่น, เกมส์
คุณชายอดัม สามารถคัดเลือกคณะอนุกรรมการได้ด้วย
“คนที่มาทำงานนี้คือทำงานฟรี ต้องทุ่มเทเวลา พอเป็นประธานแล้วไม่มีเงื่อนไขด้านการเมือง ต้องรับโหลดงานโดยที่ไม่ได้ผลประโยชน์ ไม่ได้เงิน ดีอย่างหนึ่งคือพอเราไม่ได้เงิน ผมก็ขอยื่นโปรเจคต์ที่เราทำขึ้นมาได้มั้ย
เขาบอกว่าได้ ยินดี เพราะเราเอาคนที่ทำงานโดยตรงมา สมมุติตอนนี้ 40 คน ซึ่งเป็นคนในวงการหมดเลย แล้วห้ามยุ่งกับงบประมาณทั้งหมดนี้ อ้าว..แล้วถ้าไม่ได้ผลประโยชน์ใด ๆ เลย แล้วจะทำทำไม ถ้าคนที่ Involve แล้วไม่ได้ยุ่งด้วย และถ้ามี Task force ย่อย ๆ อีก รวมกันถ้ามีคนมาช่วยทำงาน 2,000 คน ซึ่งเป็นสองพันคนที่ทำงานเยอะที่สุด รวมกันแล้ว 90% ของวงการ แต่ห้ามยุ่งกับงบประมาณส่วนนี้เลย ห้ามทำอัพสกิลล์ รีสกิลล์ ห้ามจอยโปรเจคต์โน้นนี้ ทำได้แค่งานฟรีแล้วยกให้รัฐเท่านั้น
แล้วถ้าคนทั้งหมดมา 90% ของคนในวงการแล้วห้ามยุ่ง อีก 10% ที่ทำได้คือคนที่ไม่สนใจจะมาคอนทริบิวต์ให้รัฐแต่กลับได้ผลประโยชน์เต็ม ๆ ก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว”
ได้แนวคิดแบบนี้แล้วจะไปยังไงต่อ
“เราทำงานฟรีได้ รับโหลดแทน วิธีการคือ มีคณะอนุกรรมการได้มั้ย เขาบอกว่าได้ 5-6 คน ผมบอกไม่ ๆ ... ไม่ได้ Represent มุมรอบด้านพอในระดับอุตสาหกรรม ฝั่งทีวีกับภาพยนตร์ก็แตกต่างกันต้องมีคณะอนุฯ แยก ผมก็ขอเลยต้องหาจากทุกมุมมองเข้ามา ไม่งั้นดูไบแอสมาก ถ้ามีเฉพาะผู้ประกอบการ กลุ่มทุน ต้องหาทุกแบบและเป็นคนที่ทุกคนยอมรับร่วมกันได้จริง
ผมถามคุณหมอเลยว่า เราทำตามสิ่งที่เราเห็นว่าควรนะไม่ใช่ทำตามคุณหมอ ไม่ใช่ทำตามพรรค เราทำตามสิ่งที่ควรเป็น เรามาเพื่อนโยบายก็เหมือนสภาพัฒน์ฯ เสนอ Policy making เพื่อจะดันประเทศไปสู่ประเทศที่ใช้สินค้าทางวัฒนธรรม”
ดังนั้นเขาต้องยอม
“ใช่ ถ้าไม่ยอมเราจะดื้อ เราจะดุ เราจะว่าจริงจัง ซึ่งเราก็ว่านะ ตีกันยับเยินเลยจากข้างใน เพื่อจะขับเคลื่อนมันไปข้างหน้าด้วยเหตุผลของเรา อุตสาหกรรมต้องไปทางนี้ 1 – 2 – 3 เราเสนอมุมมองจากทุกด้านของวงการจริง ๆ ผมบอกว่าผมรับทัศนคติลบให้ ถ้าบวกพวกคุณทำงานกันอยู่ข้างล่าง แรงปะทะการเมือง โน้นนี้ก็จะชนให้ เป็นหน้าที่ผม ไม่อยากมีใครทำตำแหน่งนี้แล้วอยู่ได้นาน ผมก็บอกว่าเป็นประธาน แต่จริง ๆ คนขับเคลื่อนคือทุกคนในอุตสาหกรรม ผมก็เลยรับเผือกร้อนนี้ เพราะคิดว่าคนอื่นไม่น่ารับ”
รัฐบาลให้อิสระและอำนาจเต็มที่
“ไม่เรียกว่าอำนาจครับเพราะมันไม่มีอยู่แล้ว แต่มีขอบเขต ถ้าใช้คำว่าอำนาจหมายถึงผมสามารถใช้เงินได้ตามอัธยาศัยของผม ซึ่งไม่ใช่เลย แต่ให้สิทธิตั้งคณะอนุกรรมการ และสิทธินั้นไม่ได้เอ็กซ์เซอร์ไซส์ตามใจผม เรารู้กันอยู่แล้วว่า วงการนี้มีคนที่มีความสามารถ มีความรู้ และเป็นตัวแทนด้านต่าง ๆ เช่น อาร์ตซีนีม่า, ด้านเทศกาลภาพยนตร์, ด้านวิชาการ, องค์กรอิสระ, องค์กรภาครัฐ ฯลฯ มีคนที่ทำงานอยู่แล้ว แค่ดึงเขาออกจากพื้นที่ที่เขาทำงานอย่างยากลำบากที่ต้องสู้กับรัฐมานาน มาทำงานวงในมากขึ้น
จริง ๆ คนเหล่านี้สู้มาตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นปัจจุบัน ร้อยปีที่เราทำหนังไทยมีคนที่ทำตรงนี้ตลอดอยู่แล้ว พอรัฐบอกว่าจะไม่ทำตัวเลวร้ายแล้วเพราะที่อื่นเขาหันหน้ามาเจอกัน ประเทศอื่นเขาเจริญแล้ว เราจะเป็นประเทศที่ 192 ไม่ได้ เราอาจเป็นประเทศที่ 70 ได้ แต่ 192 คือหลังเกาหลีเหนือไม่ได้ เราไม่ควรเป็นเฮติหรือเกาหลีเหนือ”
เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบผลักดันมีอะไรบ้าง
“ทุกอย่างเร่งด่วนหมด มาถึงเขาก็เร่ง ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเดี๋ยวนี้ ทางภาพยนตร์โจทย์คืออะไร เราก็มาจัดแจงว่า อะไรทำได้ตอนนี้ อะไรทำไม่ได้ พรบ.แก้ได้หรือยัง หรือต้องรอ THACCA ก่อน แก้กฎลูกก่อนได้มั้ย
พอเริ่มทำงาน จะดันภาพยนตร์ไปต่างประเทศ ที่จริงหนังไทยไปงานเทศกาลหนังทั่วโลกตลอดมาอยู่แล้ว เข้าประกวดตลอดแต่เราไม่ค่อยพูดถึง
ในขณะที่นักกีฬาได้เหรียญทอง เหรียญเงิน คนพูดถึง มีข่าว แต่หนังไทยไปสร้างชื่อไม่เคย แม้เป็นที่รู้จักในต่างชาติแต่คนไทยไม่รู้จัก ทำไมคนไม่รู้จัก ปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะเราไม่สร้างสื่อ ไม่สร้างกระแส ไม่ยกค่าให้คุณค่าของหนังไทย แต่ไปยกค่าให้หนังที่มีคนด่ากัน พอหนังด่ากันสื่อจะกระพือ เราต้องไปเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมายด์เซ็ต ลงทำการตลาดใหม่ เราพูดถึงหนังที่ดีให้มากขึ้นมั้ย หนังดีไม่ใช่แง่รายได้อย่างเดียว ใช่ สัปเหร่อ, ธี่หยด รายได้ดีมาก แต่เรื่องอื่น ๆ ล่ะ ซีรีส์ที่ไปประกวดไปฉายต่างประเทศ เราพูดถึงหรือเปล่า
ความจริงคือรายได้ 20-30% ของซีรีส์ไทยขายต่างประเทศ บอยเลิฟก็ไปดังต่างประเทศหมด แต่เราไม่เคยพูดถึง เราพูดถึงในกลุ่มแคบ ๆ หรือรอเป็นกรณีดราม่าก่อนแล้วเราค่อยพูดถึง นั่นคือสิ่งที่ต้องแก้
คุณชายอดัม (ภาพ: ศุกร์ภมร อังประภากร)
กำแพงภาษี เราดึงดูดกองถ่ายต่างชาติเข้ามา ตอนนี้ญี่ปุ่น 50% อินเดีย 40 เรายังอยู่ที่ 20 เราจะยกเป็น 30 ได้มั้ย ต่างชาติเข้ามา องค์กรยักษ์เข้ามา โมชั่นพิคเจอร์ส วอร์เนอร์ส อยากให้สนับสนุนตรงนี้ เรามีพื้นฐานดี มีโรงแรม สถานที่ถ่ายทำ บุคลากร ของมีเยอะแต่เราไม่มีแบริเออร์ในการแข่งขันทางภาษีเมื่อเทียบกับต่างชาติ ประเทศไทยเลยไม่ดึงดูดมากเท่าที่ควรจะเป็น ต่างชาติมาคืนภาษีเรายังไม่จ่ายเขา ต้องไปทำงบฉุกเฉิน ขอใช้คำว่าตลกมาก ๆ เราบอกจะลดภาษีแต่ไม่จ่ายคืนเขา ดูน่าเกลียดในภาพรวมของต่างประเทศที่เราไปค้างโปรเจคระดับบิ๊กเบิ้ม มันก็ดูไม่ดีก็ต้องแก้ไขวิธีการ
มีหลายเรื่องที่เป็น Priority และการสร้างองคาพยพ ตอนนี้บุคลากรเมืองไทยขาด เราขาดทักษะคนเขียนบทที่มีฝีมือ ซึ่งมีจำนวนน้อยลง ยังมีผู้ช่วยผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ขาดบุคลากรเยอะมาก แต่เรามีบุคลากรด้านทักษะฝีมือแรงงานเยอะ มีทีมกล้อง-ไฟ จำนวนหนึ่ง ทีมอาร์ตก็ขาด โปรเจคมีเยอะขึ้นแต่ทีมขาด ก็ต้องมานั่งแก้ หรือทำงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำมาตรฐานวิชาชีพของแผนกต่าง ๆ ถ้าเราไม่มีมาตรฐาน พอไม่มีจะไปเทียบกับต่างชาติก็ไม่ได้
พอจัดมาตรฐานพวกนี้แล้วถึงตั้งสมาคมวิชาชีพได้ ตั้งสหภาพแรงงานได้ ถึงจะเรียกร้องความเป็นอยู่ได้ คนทำงานวงการนี้เรียกว่าไม่มีอาชีพ แบงค์ก็ไม่ให้กู้ คนทำงานมีราวแสนกว่าคนในเมืองไทยเข้าถึงเงินกู้ไม่ได้ ทำประกันยังไม่ได้ ระบบไม่ซัพพอร์ต
จะมีบางโครงการที่หวือหวาหน่อย เช่น แก้ พรบ.เสร็จ ทุกคนก็เฮ้..ไม่แบนแล้ว แต่การไม่แบนมันไม่ใช่ทุกอย่างของวงการ มันมี 5 ทางเลือก การแก้แค่ พรบ.อย่างเดียว หรือการแก้สวัสดิการคนทำงานอย่างเดียว หรือการแก้โรงหนังฉายหนังไทยได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง ไม่ได้แก้ว่าบทมันจะดีขึ้น มันไม่เกี่ยวกัน ปัญหามันมีเยอะก็เหมือนปัญหาของประเทศแหละครับ ถนนเสีย ไฟฟ้าไม่มี แต่คนละอย่างกัน แต่ทั้งสองอย่างฉุดรั้งประเทศเหมือนกัน ก็เหมือนกับวงการเรา สารคดี ซีรีส์ แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ละคร ทั้งหมดมีปัญหาที่แตกต่างกัน เราต้องแก้ให้ครบหมดก่อน”
เราต้องหาต้นแบบเช่นเกาหลีใต้ หรือเปล่า
“เกาหลีใต้ใช้เวลาพัฒนาจะ 30 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม วันแรกที่เริ่มคือเกาหลีมาสัมภาษณ์คนไทย เขาไปสัมภาษณ์คนทั่วโลก ไปศึกษาจีน ญี่ปุ่น ส่งคนจากหน่วยงานไปศึกษา
เราเพิ่งมามองผลลัพธ์วันนี้ไงเลยมองว่าเขาเก่ง เพราะประเทศเราเป็นไฟไหม้ฟาง เราจึงต้องทำให้เป็นระบบระเบียบ วางรากฐานเพื่อเดินไปในระยะยาวให้ได้
เกาหลีใต้ถึงวันนี้ก็ใช่ว่าแก้ปัญหาได้หมด ตอนนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เขาหดตัว 30% เขาก็พยายามแก้ ต้องแก้ไปเรื่อย ๆ ยุคสมัยเปลี่ยน มีเอไอเข้ามา มีปัญหาใหม่เข้ามา แต่ละยุคมีโจทย์กลไกที่แตกต่างกัน
เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดว่า มาร์เวลจะตีตลาดไทยแล้วก็แตกกระจุยแบบนี้ หนังฝรั่งมีคนดู ทำรายได้ใช่ แต่ไม่ถึงขั้นทำรายได้ 12 เดือน พอมีหนังฟอร์มยักษ์เข้ามา หนังไทยไม่มีที่ยืนในโรงเลย เราไม่เคยมีโจทย์แบบนี้
เราไม่มีไมโครซีนีม่าก็เลยไม่ได้สร้างคนดูเป็นกลุ่มที่ดูหนังอาร์ต พอมีโรงขนาดย่อยก็ติดข้อจำกัดว่าต้องเรียกว่าโรงมหรสพ ต้องทำตามกฎระเบียบก็ห้ามจัดฉาย พอเราดิสคัชชั่นเรื่องภาพยนตร์ที่พัทลุง ตำรวจเข้าไปทะลายพื้นที่ ก็ต้องไปแก้ปัญหา”
เมื่อผลักดันนโยบายสำเร็จสามารถฟอร์แคสต์ว่าอีก 10 ปี เราจะตามเกาหลีทัน
“เราฟอร์แคสต์ได้ถ้าเรามีเป้าหมาย ดังนั้นต้องวางแผนว่า 10 ปี, 20 ปีข้างหน้า คาดการณ์ได้ แต่เวลานี้ยังไม่ได้เพราะยังกระท่อนกระแท่นอยู่ ผมคิดว่าในปีสองปีนี้จะมีเฟลโปรเจคต์เยอะ เพราะเรายังไม่มีโนว์ฮาว คิดง่าย ๆ ถ้าเด็กคลานได้ยังไม่เคยเดิน ลุกมาเดินเลยมันเป็นไปไม่ได้
แต่เราเป็นประเทศที่ไม่ยอมรับความล้มเหลว ถ้าล้มคือทำผิด คุณใช้เงินของรัฐเข้ามาทำเฟลโปรเจคต์เพื่อสร้างความหลากหลาย แต่เป้าประสงค์ของความหลากหลายไม่ได้เป็นคนดูไง แต่คนก็คิดว่าต้องประสบความสำเร็จ
ต้องเป็นสัปเหร่อเรื่องต่อไป พี่มากเรื่องต่อไป ต้องได้พันล้านทุกเรื่อง ได้รางวัลคานส์ แต่จะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไรถ้าไม่มีอีโคซิสเต็มที่มั่นคง เพราะฉะนั้นจะต้องมีเฟลโปรเจคต์ก่อน ต้องล้มแล้วเรียนรู้ว่าทำไมถึงล้ม คนไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการล้ม รัฐต้องเข้าไปช่วยฟูกให้เขาได้ล้มบนฟูก”
นับว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“ความจริงเราทำมาตลอด มีการพัฒนาแค่มันไม่เร็วพอเทียบเท่ากับหลาย ๆ ประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมก็ทำงานหนักแต่อาจยังไม่ถูกจุดเท่าประเทศเกาหลีใต้ จีน อินโดฯ ออสเตรเลีย รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี นอร์เวย์ ที่เขาทำกัน
ถ้าเราตีไว้ มีประเทศที่ทำเร็วกว่าเราในเวลานี้ 60-70 ประเทศ ถ้าบอกว่าเราจะทำนโยบายนี้เป็นนโยบายหลักของประเทศ เราต้องอยู่ในท็อป 5 ของเอเชีย ถูกมั้ยครับ คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ตอนนี้ไต้หวัน อินโดฯ รัสเซีย กำลังช่วงชิงที่ 5 แต่เราช้ากว่าเขาหมด ช้ากว่ามาก แล้วเราจะทำยังไง”
หนังในดวงใจมีเรื่องใดบ้าง
“Seven Samurai (1954) ดูซ้ำบ่อยมาก ๆ คลาสสิกเลย สมัยใหม่ก็เยอะ หนังไม่ดัง ไม่อาร์ต ไม่ตลาด เช่น The Weather Man (2005) ที่นิโคลัส เคจ แสดง ผู้กำกับ Pirate of the Caribbean (Gore Verbinski ภาค 1-3), หนังเก่า The Last Emperor ของแบร์นาโด ก็ชอบ
ชอบ “เสียดาย” ของพ่อผมด้วย เป็นหนังวัยรุ่นสะท้อนสังคม ทุกวันนี้ตัวหนังก็ยังทำงานอยู่ ชอบ ลีออง (Leon 1994) ที่ ฌอง เรโน แสดงกับนาตาลี พอร์ทแมน ผมดูหนังหลากหลาย”
ผู้กำกับในดวงใจ
“ชอบพ่อผม พ่อทำงานดี แม่น ไม่ได้มองในฐานะพ่อลูก มองในแง่การเล่าเรื่อง อย่าง มือปืน, สาละวิน มันลึก และมีความเป็นไทยที่เป็นสากล วิธีการเล่าเรื่องแบบฝรั่ง ไดอาล็อกแบบฝรั่งแต่เล่าเป็นไทยได้ ผมว่าพ่อเก่งมาก เป็นไอดอลเลย
อีกคน อากิระ คูโรซาว่า, เควนติน ตารันติโน เช่นวิธีการเขียนบทใน Inglorious Bastards (2009) พูดกันจนคนยอมแพ้ได้, ชอบลุค เบซอง ภาพสวย เท่ สมาร์ท, อันทอน ฟูกัว (Antoine Fugua) ที่เป็นผู้กำกับ Magnificent 7 (ฉบับรีเมค 2016), และกำกับ The Equalizer (3 ภาค) ที่แดนเซล วอชิงตัน เล่น เป็นคนทำหนังเรียบง่าย ผมชอบแบบไม่ต้องอาร์ตแต่ไม่ตลาดจ๋า และรู้สึกว่าการเล่าเรื่องที่เราเข้าใจแล้วเราชอบ สื่อสารชัด ไม่ใช่ชัดแบบเล่นใหญ่ แต่ใช้ไวยากรณ์ได้อย่างดี”
มีหนังอะไรที่จะไม่ดู
“ไม่มี เราเอ็นจอยกับการดู ไม่มีหรอกครับหนังที่ไม่ดีสำหรับผม หนังทุกเรื่องพยายายามจะเล่าเรื่องดี ๆ แค่เราชอบหรือไม่ชอบมันเท่านั้นเอง หนังบางเรื่องอาจไม่ได้รายได้เลย แต่อาจดีสำหรับคนบางกลุ่มที่อาจจะอินกับมันก็ได้
หนังแบบพจน์ อานนท์ บางคนบอกไม่ชอบแต่ผมเห็นคนกลุ่มใหญ่ไปดูและเอ็นจอย ไม่ได้หมายความว่าเทสต์ของทุกคนจะเหมือนกัน ผมดูหนังในแง่ของผู้เสพมากกว่า ผมไม่ได้ดูว่าคุ้มไม่คุ้ม การดูหนังได้อะไรบางอย่างอยู่แล้ว
คุณชายอดัม
การดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และผลักดันให้กลายเป็นอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า เพื่อสร้างโอกาสและรายได้ของประเทศไม่ง่าย ไม่มีอะไรง่ายเลย ต้องใช้คนที่เดือด ถึก ทน ระดับหนึ่ง”