จาก ‘Boy’s Love’ สู่ ‘Yuri’ ดาวดวงใหม่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’
มุมมองของผู้ผลิต 'ซีรีส์วาย' หนึ่งใน 'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย' ทั้ง ‘Boy’s Love’ และ ‘Yuri’ กับสิ่งที่มองเห็น สิ่งที่เป็นไป ในปัจจุบัน และอนาคต
ถ้าจะบอกว่า "ไทยแลนด์ เป็นแดนแห่ง ซีรีส์วาย" ก็คงไม่ผิดนัก เพราะถ้านับนิ้วละคร ซีรีส์วาย Boy’s Love ที่ทยอยเปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่า มีให้ดูกันฉ่ำตลอดทั้งปี
แถม ซีรีส์วาย ในกลุ่ม Boy’s Love (BL) ก็เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่ดังมากในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดจีน ที่นักแสดงไทยไปเดินสายโชว์ตัวกันจนแทบเป็นบ้านหลังที่สอง
ทั้งนี้ วาย ที่ส่วนมากรู้จักจะเป็นความรักของชาย-ชาย หมายถึง Yaoi แต่ในความจริงแล้ว วาย ยังหมายถึงความรักของผู้หญิงกับผู้หญิงที่เรียกกันว่า Girl’s Love หรือ GL หรือ ยูริ (Yuri) ได้อีกด้วย
ยูริ (Yuri) ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ดอกลิลลี่ หมายถึง ผลงานที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง
ซึ่งวันนี้ ซีรีส์ยูริ กำลังเริ่มเป็นกระแสที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย หลังจาก ทฤษฎีสีชมพู เปิดตลาด Girl’s Love เรื่องแรกของไทย
ทฤษฎีสีชมพู สร้างจากนวนิยายเรื่อง GAP : ทฤษฎีสีชมพู เขียนโดย เจ้าปลาน้อย สำนักพิมพ์แจ่มใส กำกับการแสดงโดย นัฐพงศ์ วงษ์กวีไพโรจน์
แสดงโดย ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ และ เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง ผลิตโดย เซ้นต์-ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา บริษัท IDOL FACTORY ออกอากาศทางช่อง 3HD และ ยูทูบ วันที่ 19 พ.ย.65 - 11 ก.พ.66 รวมทั้งสิ้น 12 ตอน
ทฤษฎีสีชมพู และคู่ขวัญ ฟรีน-เบ็ค ได้รับความนิยมติดเทรนด์ทวิตเตอร์ 16 ประเทศทั่วโลก ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา อเมริกาเหนือ และยุโรป
โดยเฉพาะตอนที่ 9 และ 10 (ข้อมูลจากเว็บไซต์ getdaytrends.com และได้รับคะแนนใน IMDB ไป 9.1) ส่วนเรตติ้งการออกอากาศในประเทศ เฉลี่ยรวม 12 ตอนเท่ากับ 0.395 (ผู้ชมสดประมาณ 260,000)
และในช่องทางรับชม Online ผ่าน 3 PLUS และ True ID มีผู้รับชมเฉลี่ยรวมประมาณ 100,000 วิวต่อตอน มียอดรับชมย้อนหลังทาง Youtube มากกว่า 700 ล้านครั้ง (สถิติ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567)
ความสำเร็จของ ทฤษฎีสีชมพู เรียกได้ว่า เป็นไปอย่างดีในทุกด้าน ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในเรื่องโปรดักชั่น ภาพ แสง เสียง ดนตรีประกอบ เครื่องแต่งกาย สถานที่ อุปกรณ์ประกอบฉาก และการแสดง มีผู้กล่าวว่า นี่คือ GL (Girl’s Love) ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ต่อจาก BL (Boy’s Love)
- เบื้องหลังความสำเร็จ Girl’s Love ไทย
เซ้นต์-ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา ผู้จัดละคร บริษัท Idol Factory โด่งดังจากการเป็นนักแสดงซีรีส์วาย จากเรื่อง บังเอิญรัก Love By Chance ทางช่อง GMM 25 และได้ผันตัวมาเป็นผู้จัดละคร ตั้งบริษัท Idol Factory ขึ้นในปีพ.ศ. 2563
ผลงานละครเรื่องแรกที่ เซ้นต์-ศุภพงษ์ ผลิต เป็นซีรีส์วาย สาย Boy’s Love ชื่อว่า แอบหลงรักเดอะซีรีส์ ซึ่งแม้จะเน้นชาย-ชาย แต่ก็มีคู่หญิง-หญิง อย่าง ฟรีน-เบ็ค เป็นคู่รองอยู่ในเรื่องด้วย
ปลายปี 2565 ก็ผลิตซีรีส์วายสาย Girl's Love ชื่อว่า ทฤษฎีสีชมพู เป็น GL เรื่องแรกของประเทศไทย และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างถ่ายทำเรื่องที่สองของตัวเองในชื่อว่า ปิ่นภักดิ์ ที่เปิดตัวร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก
เซ้นต์-ศุภพงษ์ มีหมวกอีกใบ คือ เป็นอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ หนึ่งใน THACCA-Thailand Creative Culture Agency ด้วย ได้เผยถึงจุดเริ่มต้นของการทำซีรีส์วาย สาย Girl's Love เรื่องแรกให้ฟังว่า
"ผมทำ ซีรีส์วาย มาเกือบ 3 ปีแล้ว และวางแผนไว้ว่าจะให้น้อง ฟรีน-เบ็คกี้ มีซีรีส์ของตัวเอง ก็เลยทำเรื่อง GAP The series ทฤษฎีสีชมพู ออกมา ช่วงแรกไม่มีใครยอมรับ
เพราะว่าตอนนั้นเป็นช่วงของ BL (Boy’s Love) ทุกคนทำแต่ BL หมด และมองว่า ซีรีส์ GL ไม่น่าลงทุน ไม่น่าจะทำ แต่ผมทำ ผมควักทุนของตัวเองหมดเลย เพราะอยากผลักดันเรื่องความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น"
ด้วยความที่เป็น GL เรื่องแรกของไทย ทำให้เขาต้องรีเสิร์ชหาข้อมูลว่า GL ในไทยควรอยู่ในรูปแบบไหน โดยใช้เวลาหาข้อมูลราวหนึ่งปี ก่อนพัฒนาบท และเปิดกล้องจนออกมาเป็นซีรีส์ในที่สุด
"ตอนนั้น ในต่างประเทศก็มี GL แล้ว แต่เราจะเล่าเหมือนต่างประเทศไม่ได้ เพราะเรามีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม มีความเป็นไปของไทย เราต้องทำในบริบทไทย
จุดเด่นของคู่ ฟรีน-เบ็คกี้ คือ นักแสดงทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีความน่ารักของเขาเอง
ตอนเป็นซีรีส์ก็มีเอกลักษณ์ของตัวละคร แต่ในซีรีส์จะมีโจทย์ว่าแสดงอารมณ์เยอะไม่ได้ มันมีมนต์เสน่ห์ของการแอบชอบ เรื่องของความรัก เรื่องของในวัง"
- เมื่อ 'ซีรีส์วาย' กลายเป็นเมนสตรีม
จากการคลุกคลีงานเบื้องหลังในซีรีส์วายมาแล้วหลายเรื่อง เซ้นต์-ศุภพงษ์ เผยว่า ทิศทางของซีรีส์วายตอนนี้เติบโตขึ้นมาก
"เมื่อก่อนเราจะไม่ค่อยได้เห็นซีรีส์วาย (เรียกรวมทั้ง BL และ GL) ในช่วงไพรม์ไทม์เท่าไร แต่ตอนนี้มีในช่วงไพรม์ไทม์แล้ว
หรือยุคสมัยก่อนเขาจะไม่ใช่นักแสดงซีรีส์วายพรีเซนต์สินค้า หรือเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ แต่ในวันนี้ ถ้าเราขับรถบนทางด่วน เราจะเห็นนักแสดงซีรีส์วายมากกว่านักแสดงตลาดแมสด้วยซ้ำ
มันคือการบอกว่า เกิดการยอมรับมากขึ้น เขามีพลังของเขา ซึ่งผมดีใจนะ ผมเป็นคนหนึ่งที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียม ผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมมาตลอด
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เรื่องความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่เรื่องทางเพศเท่านั้น แต่มันควรเท่าเทียมไปทุก ๆ ชนชั้น และทุก ๆ รูปแบบสังคม"
ในส่วนของการผลักดันของภาครัฐ และบทบาทในฐานะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านละคร เขามองว่า การช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่ดี
Cr. Kanok Shokjaratkul
"เราได้เห็นภาครัฐมีการสนับสนุนมากขึ้น มีการแบ่งกันช่วยตรงนี้มากขึ้น อย่าง IDOL FACTORY ก็ไปจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ มันไม่ใช่แค่ซีรีส์ ละคร แต่เราไปด้วยกันได้ ในรูปแบบของสินค้าท้องถิ่น ของดีเมืองดัง หรือสินค้าของประเทศ มันผลักดันไปได้ไกลมาก ๆ มัน go to Global ได้เลย
ยกตัวอย่าง โลเกชั่นการถ่ายทำ ถ้าเราไปถ่ายที่สถานที่ท่องเที่ยว เขาก็อยากมาท่องเที่ยว เหมือนเราดูซีรีส์เกาหลี เราก็อยากไปเที่ยวเมืองเขา หรืออยากกินอาหารของเขา
มันทำให้ GDP เศรษฐกิจของเราเติบโตขึ้นมาได้ ในซีรีส์ จะทำให้ชาวโลกได้เห็นคนไทย ถ้าเราผลักดันให้ถูกด้านมันช่วยคนไทยได้เยอะ"