'Palliative Care' การรักษาที่ดูแลใจผู้ป่วยเรื้อรัง โดยไม่ต้องยื้อชีวิต

'Palliative Care' การรักษาที่ดูแลใจผู้ป่วยเรื้อรัง โดยไม่ต้องยื้อชีวิต

รู้จัก และทำความเข้าใจให้มากขึ้นกับ "Palliative Care" หรือ "การดูแลแบบประคับประคอง" อีกทางเลือกในการรักษาที่ดูแลใจผู้ป่วยเรื้อรัง โดยไม่ต้องยื้อชีวิต หรือยืดความตาย แต่สามารถเป็นสุขได้ทั้งคนที่อยู่และคนที่กำลังจะไป

"เกิด แก่ เจ็บ ตาย" คือสัจธรรมที่รับรู้กันมานานว่า ชีวิตคนเราทุกคนนั้นไม่มีใครหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ใครสักคนที่มีความหมายต่อชีวิตต้องจากไปจริง ๆ เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่เราจะปล่อยวาง หากคนที่เรารักต้องเผชิญความเจ็บป่วยในวาระสุดท้าย 

ความปรารถนาสุดท้าย

แม้เป็นเรื่องไม่ผิด ที่คนส่วนใหญ่เลือกตัดสินใจฝืนธรรมชาติเรื่องความตาย กับการทุ่มเทกระบวนการรักษาอย่างสุดความสามารถ เพื่อเหนี่ยวรั้ง ยื้อยุดฉุด "ลมหายใจ" ให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด หากแต่สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่พบว่าหลายครั้ง ต้องเป็นผู้แบกรับความเจ็บปวดทรมานจากการรักษา โดยไม่อาจเรียกร้องสิทธิ์ที่จะปฏิเสธใด ๆ ด้วยจำนนต่อคำว่า "ความหวังดี" ของคนรอบตัว ซึ่งท้ายสุดแล้ว มีผู้ป่วยที่ต้องจากไป โดยไม่ได้ลิ้มรสถึงความสุขสงบในบั้นปลายตามที่ปรารถนา 

วันนี้จึงมีอีกทางเลือกของการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่สูงวัย หรือผู้ที่ก้าวสู่ระยะสุดท้าย ที่เรียกว่า "การดูแลแบบประคับประคอง" หรือ "Palliative Care" ที่จะมาเป็นคำตอบใหม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตช่วงสุดท้ายทำไมต้องโศกเศร้า อาวรณ์เสมอไป ในเมื่อเรามีทางเลือกที่จะเป็นสุขได้ทั้งคนที่อยู่และคนที่กำลังจะไป

Palliative Care ความสุขของผู้ป่วยต้องมาก่อน

เป็นเรื่องจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่มักจากไปเพราะความเจ็บป่วย โดยเฉพาะปัจจุบันความป่วยไข้จากกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคกลุ่ม NCDs ทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรือมะเร็ง กำลังเป็นสาเหตุหลักสร้างความทุกข์ทรมานทางกายและคร่าชีวิตคนไทยก่อนวัยอันควร 

ผลจากความเสื่อมของร่างกาย หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพในช่วงวัยที่ยังมี "เรี่ยวแรง" ทำให้คนไทยเผชิญกับโรค NCDs มากขึ้น โดยมีข้อมูลระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรค NCDs กว่า 14 ล้านคน และในจำนวนนี้ต้องเสียชีวิตลงปีละกว่า 3 แสนคน

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในงานเสวนา "การดูแลแบบประคับประคองเริ่มที่หัว+ใจ" ซึ่งจัดที่อาคารภูมิพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กรุงเทพฯ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลการเสียชีวิตด้วย โรคมะเร็ง ปี 2566 โดยกระทรวงสาธารณสุข มะเร็งกำลังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยเป็นอันดับ 1 โดยพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 67,000 คน แต่ที่สำคัญยังพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าเกณฑ์ การดูแลแบบประคับประคอง หรือที่เรียกว่า Palliative Care ขณะนี้มีถึง 185,577 ราย เป็นผู้ป่วยที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ 

\'Palliative Care\' การรักษาที่ดูแลใจผู้ป่วยเรื้อรัง โดยไม่ต้องยื้อชีวิต

รศ.นพ.ฉันชาย อธิบายถึงว่า Palliative Care จะเป็นการเพิ่มทั้งมิติคุณภาพชีวิตและการทำตามความปรารถนาของผู้ป่วย ทำให้กระบวนการดูแลลงตัวและคุณภาพดีขึ้น ทั้งยังลดความเสี่ยงจากการดูแลแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะฉับพลันต่าง ๆ เนื่องจากมีการวางแผนมาก่อน ทำให้ปัญหาเรื่องการยื้อชีวิตที่ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตเหล่านี้ลดน้อยลง

"การดูแลแบบประคับประคอง คือส่วนหนึ่งของการรักษา ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการเพิ่มคุณค่าการดูแล ต้องทำให้สังคมเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นหน้าที่ของทุกคน ศูนย์ชีวาภิบาลของ รพ.จุฬาฯ ที่มีผู้ป่วยกว่า 500 คนต่อปี ได้พัฒนาองค์ความรู้ กิจกรรมวิชาการ และจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต นักศึกษา นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายจิตอาสาคอยเยี่ยมเยียนแบบเพื่อน เตรียมรับมือกับอาการทางกายที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวต่างๆ ถือเป็นผู้ที่เข้าไปเติมเต็มความต้องการในสิ่งที่ทีมรักษาทำไม่ได้"

รศ.นพ.ฉันชาย ชี้แจงต่อว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังมองว่าการรักษาแบบประคับประคองเป็นการรักษาคนใกล้ตาย แต่ความจริงไม่ใช่ หากเป็นการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรืออยู่ในระยะสุดท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย

"Palliative Care ไม่ใช่เรื่องคนไข้ใกล้ตาย แต่เป็นการดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะยาวที่อาจมีความเสี่ยงจะมีภาวะแทรกซ้อน แล้วมีการตัดสินใจที่จะยื้อชีวิต ซึ่งทำให้คนไข้ขาดคุณภาพชีวิตไป การที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงแพทย์และพยาบาลได้เข้าสู่กระบวนการดูแลแบบ Palliative Care ร่วมกัน จะทำให้เรื่องนี้กลับมาสมดุลมากขึ้น เพราะมีทั้งที่ต้องมีการวางแผนร่วมกัน แพทย์และพยาบาลจะต้องให้รายละเอียดพยากรณ์โรคมากขึ้น เพื่อให้ญาติและผู้ป่วยได้รับทราบและมีการวางแผนแต่เนิ่น ๆ ในการดูแลผู้ป่วย"

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวถึงเหตุผลที่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ตัวส่วนใหญ่ มักไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการ Palliative Care หรือ Terminal Care ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยในช่วงตอนปลายของชีวิตว่า เพราะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับค่านิยมความเชื่อหรือความคิดในตัวเองที่เคยถูกสอนอบรมมาเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูรู้คุณ

"จากประสบการณ์ เราพบสาเหตุที่ญาติไม่ยินยอมจาก 3 เรื่องคือ หนึ่ง ฉันจะบาปไหม หากไม่ยื้อชีวิตเขาทุกวิถีทาง สอง ฉันจะอยู่โดยปราศจากเขาได้อย่างไร เพราะฉันเองไม่มีใครแล้ว และสาม หากฉันปล่อยให้เขาไป แล้วญาติ คนรอบตัวจะมองฉันอย่างไรหรือจะว่าอะไรหรือไม่"

คุณหญิงจำนงศรี กล่าวต่อไปว่า แต่หากเราย้อนทบทวนสาเหตุเหล่านี้ให้ดี จะพบว่า ในความห่วงใยนั้นอาจเป็นความห่วงที่คิดจากตัวเราเอง หรือห่วงตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผิด กลัวบาปกรรม หรือตัดใจไม่ได้ แต่เรามักลืมความรู้สึกของคนที่เจ็บอยู่ ต้องทนทรมานอยู่ตรงนั้นไป สิ่งนี้ที่อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจกับตัวเองให้ดี เราต้องดูที่ใจเราว่าเรายึดกับสิ่งนี้เพราะอะไร

อยู่ดี ตายดี ป่วยอย่างมีศักดิ์ศรี

ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า Palliative Care มีทั้งการดูแลผู้ป่วยระยะยาว การดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุ และการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสามการดำเนินการของนโยบายชีวาภิบาล ที่ สสส. พยายามขับเคลื่อน

"ประเด็นเรื่องของการดูแลแบบประคับประคองมาถึงจุดที่สังคมควรเห็นความจำเป็น เนื่องจากวันนี้สังคมไทยเราเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ และในอีกสิบปีข้างหน้าประเทศไทยก็จะเป็นสังคมผู้สูงวัยที่มีผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจำนวนไม่น้อยมีโอกาสจะเป็นคนไข้โรค NCDs ที่จะต้องดูแลระยะยาว ซึ่งอยู่ในขอบข่ายที่การดูแลแบบประคับประคองเข้ามาช่วยเหลือได้"

หากแต่ทั้งหมดไม่ใช่ภาระของโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เป็นทุกภาคส่วนทั้งครอบครัว ชุมชนหรือ Care Giver รวมทั้งผู้ป่วยเอง ต้องมีความเข้าใจการดูแลแบบประคับประคอง ต้องได้รับการมีส่วนร่วมชุมชน ซึ่งต้องเริ่มที่ความเข้าใจ คนรอบตัว 

"เราพยายามผลักดันเรื่องการสื่อสารสาธารณะก่อนว่า ความตายไม่ใช่เรื่องที่พูดถึงได้ไม่ได้เลย ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต รวมถึงขยายการจัดการความรู้ ผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ที่ชีวามิตรสร้างขึ้นทั้งหลักสูตรเพื่อนตาย หรือห้องเรียนชีวิต เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจเรื่องการดูแลประคับประคอง"

ญาณี ยังกล่าวต่อไปว่า "เพื่อนตาย" ที่ สสส. นิยามคือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและรอบตัวผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้อง บุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ในแวดวงการรักษาที่จะทำหน้าที่ประคับประคองผู้ป่วยดีและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาจะมีความเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยแท้จริง ไม่ได้เอาความรู้สึกตัวเองเป็นตัวตั้ง ว่าผู้ป่วยต้องการอย่างไรและวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

"เรื่องยาหรือการรักษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย แต่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเองก็สำคัญเช่นกัน หากเราในฐานะคนรอบข้างจะให้น้ำหนักความสุขกายสบายใจของคนป่วยที่อยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายมากกว่าการเป็นคนกตัญญูในสายตาคนอื่น และมีเป้าหมายที่จะโอบอุ้มให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีความสุข ไม่ทรมาน ดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก่อนจะจากลาโลกนี้"

ส่งต่อความเข้าใจ สร้างความเปลี่ยนแปลง

โครงการสุขภาวะทางปัญญาร่วมสร้างสังคมที่อยู่ดีและการตายดี สสส. ยังมุ่งยกระดับการบริการของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัวและระดับประเทศ 

"สสส. ประสานเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ภาคีเครือข่ายเหล่านี้ได้มาบูรณาการ การดูแลระบบของสังคม มาสานพื้นที่การเรียนรู้ร่วมและพื้นที่ปฏิบัติการร่วม รวมถึงการมีแซนด์บ็อกซ์ที่จะเป็นโมเดลเพื่อต่อยอดขยายผล ไปสู่สถานชีวาภิบาลอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงการส่งต่อความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ทั้งเรื่องความตาย และการดูแลประคับประคอง ให้ประชาชนมีความเข้าใจ รวมถึงการรักษาและดูแลแบบประคับประคองให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากนี้เรายังสนับสนุนนโยบายเรื่องชีวาภิบาล"

เธอมองว่า การสานพลังความร่วมมือกันสถานพยาบาล ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาพจิตที่ดี นำไปสู่การเป็นผู้ให้บริการที่ใช้หัวใจในการบริการอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายสถานชีวาภิบาล 250 แห่งใน 50 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ต้องการบุคลากรดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขแบบบูรณาการในรูปแบบเขตพื้นที่สุขภาพกรุงเทพฯ (Bangkok Health Zoning) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น

การเสวนาครั้งนี้ นับเป็น 1 ในกิจกรรม "เพื่อนตาย" ที่หมายถึงบุคคลที่แวดล้อมผู้ป่วย ทั้งบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรืออาสาสมัคร ทำหน้าที่สื่อสารสร้างความตระหนักและเข้าใจการไม่ยื้อชีวิต รู้สิทธิ์ในการแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาตัวเองในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Living Will) ช่วยลดความขัดแย้ง ลดความเครียดของผู้ดูแล และข้อพิพาทของผู้ป่วยและครอบครัว ที่สำคัญคือ เมื่อมีความเข้าใจในการสื่อสารกับครอบครัวผู้ป่วย และผู้ป่วยเองได้รับรู้ว่าคุณภาพของชีวิตระยะท้ายไม่จำเป็นต้องจบที่โรงพยาบาล หากมีความพร้อมผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ท่ามกลางครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย