SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ ก้าวสู่วงการแฟชั่น ด้วยความรักในงานด้านศิลปะ โดยมีโลโก้ของสุนัขเกรฮาวด์ มาบอกเล่าเรื่องราว แบรนด์ SMILEYHOUND BY GREYHOUND นอกจากเข้าถึงง่ายแล้ว ยังเป็นแบรนด์รักษ์โลก และท้องถิ่นอีกด้วย

บัณฑิต รัศมีโรจน์ SMILEYHOUND BY GREYHOUND CREATIVE DIRECTOR  คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นภายใต้บริษัท GREYHOUND มาเกือบ 20 ปี

จาก DESIGNER PLAYHOUND MENSWEAR ไปจนถึงโปรเจกต์ 1.1 เกรฮาวด์ สู่GREHOUND TAILOR และ GREYHOUND VINTAGE REMIXED ด้วยความชอบในดนตรี ศิลปะ และ แฟชั่น ทำให้ โหน่ง-บัณฑิต มีแนวคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานความชอบที่ตนเองถนัด สู่การออกแบบเสื้อผ้า ที่เขารักและหลงใหล

ณ ร้าน SMILEYHOUND BY GREYHOUND ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์  ‘โหน่ง-บัณฑิต’ เล่าว่าเขาออกแบบร้านนี้เป็นสไตล์เวิร์คช็อป บรรยากาศของโต๊ะ การวางเฟอร์นิเจอร์  รวมทั้งแสง Lighting เหมือนกับการวาง Workshop Space ของศิลปินโปรดักต์ดีไซน์ 1 คน ในบรรยากาศกลาสเฮาส์ มีต้นไม้ ไฟที่ส่องลงมาเหมือนแสงแดดธรรมชาติ

“ยิ่งทำแบรนด์เราก็ยิ่งเข้าสู่ความเป็นไลฟสไตล์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ว่าฉันออกแบบเสื้อผ้าแล้วก็จบคอลเลคชั่นไป เราเริ่มออกแบบโปรดักต์ที่เข้าสู่ชีวิตของคนจริงๆ

อาทิเช่นโปรดักต์เพื่อการกีฬา เป็น Active Wear สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ ทำงานได้ ใส่เที่ยวได้ เป็นแฟชั่นแบบ Casual และ Lively  จากหมาเกรฮาวด์เท่ๆ เป็นหมาปราดเปรียวเป็นไฮแฟชั่น จัดๆ เราก็มาเป็นน้องของเกรฮาวด์ เล่าเรื่องความเป็นหมาเหมือนกัน แต่เป็นหมาที่เข้าถึงคนได้ง่าย  เป็น Best Buddy หมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ เราจะเอาความเป็นเพื่อนมาเล่าเรื่องตลอดเวลา แนะนำเสื้อผ้าดีๆให้ แนะนำไลฟ์สไตล์ให้ รวมถึงหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย”

เทรนด์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

โหน่ง-บัณฑิต ยกตัวอย่าง โต๊ะยาว ใน ร้าน SMILEYHOUND BY GREYHOUND ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์  ว่าเป็นผลงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับชี้ชวนให้ดูรายละเอียดของโต๊ะ ที่มีการนำเศษกระดุม ที่เหลือจากการใช้งาน ยกตัวอย่างคอลเลคชั่นของเสื้อเชิ้ต ครั้งหนึ่งผลิตหมื่นตัว ซึ่งเสื้อเชิ้ต 1 ตัวใช้กระดุมประมาณ 13-15 เม็ด เวลาปั๊มกระดุมออกมาจะมีเศษตรงขอบด้านนอกเหลือจำนวนมาก หากนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ก็จะก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint) ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหลอม การส่งกลับ หรือการทำให้เกิดเป็นวัสดุอีกครั้ง

“ผมก็เลยนำเศษกระดุมเหล่านั้นมาทำเป็นหินอ่อนเทียม เรียกว่า Planet’s Best Buddy ใช้ตรงนี้เล่าเรื่องเพื่อที่จะเป็นเพื่อนที่ดีของโลกไปด้วย บนโต๊ะหินอ่อนเทียมจะมีกระดุม และแอบซ่อนหมาเอาไว้ด้วย  โดยผมจะกระจายโต๊ะแบบนี้ไปตามช็อปต่างๆ นอกจากนั้นเราก็ทำในเรื่องของผ้ารีไซเคิล  มีเสื้อเชิ้ตที่ทำจากผ้ารีไซเคิล เราจะเล่าเรื่องแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราไม่อยากเป็น Best Buddy แค่มนุษย์ แต่ อยากเป็น Best Buddy กับสิ่งแวดล้อมด้วย แนวคิดด้าน sustainable  เรามีมาประมาณ 6- 7 ปีแล้ว

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ ภาพโดย : พิมพ์พัดชา กาคำ

ตอนนั้นรู้สึกว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เราต้องซื้อผ้า ซื้อวัสดุต่างๆ เราปฏิเสธไม่ได้เพราะต้องทำธุรกิจแฟชั่น แต่จะทำยังไงให้อุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป เราคิดแล้วว่าจะใช้ผ้าอะไรบางอย่างที่ไม่ทำร้ายโลก  ถึงจะทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่เราจะเริ่มใช้ขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ป้าย แท็กราคากระดาษต่างๆ  

เรายอมจ่ายสูงเพราะกระดาษนี้รีไซเคิลได้ง่ายกว่า เราพยายามเล่าเรื่องผ่านจากแบรนด์สู่ลูกค้าไปเรื่อยๆ จะบอกว่าเราไม่ได้ขายแค่เสื้อเชิ้ตปักโลโก้หมา ถึงแม้หมาฉันจะมีเรื่องราวก็ตาม เรื่องราวเช่นซัมเมอร์เราจะเล่าเรื่องผลไม้ เล่าเรื่องบอลลูน แต่ฉันก็แฝงความเป็น Branding ความเป็นไลฟ์สไตล์ ความเป็นรีไซเคิลแมททีเรียลลงสู่สังคมไปด้วย”

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ ออกแบบร้านนี้เป็นสไตล์เวิร์คช็อป บรรยากาศของโต๊ะ การวางเฟอร์นิเจอร์  รวมทั้งแสง Lighting

โหน่ง-บัณฑิต ปั้นแบรนด์ SMILEYHOUND BY GREYHOUND มา 15 ปีแล้ว ทว่าก่อนหน้านั้นเขาเข้าสู่วงการแฟชั่น เพื่อทำแบรนด์ PLAYHOUND เปิดตัวสุดปังเมื่อ 20 ปีก่อน แบรนด์ดังกล่าวมีความเป็น สตรีท-ป๊อป เล่าเรื่อง Experiment การทดลองต่างๆ อาทิ เรื่องกระดาษ จนกระทั่งมาริเริ่มแบรนด์ใหม่ สมายลี่ฮาวด์ มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาไปช่วยทำแบรนด์ GreyHound คอนเซ็ปต์เสื้อผ้าวินเทจ ฯลฯ เรียกได้ว่าโหน่งมีส่วนร่วมในทุกแบรนด์ภายใต้ GREYHOUND ที่มีมานานกว่า 45 ปี

ต้องการให้ ‘โหน่ง’ เล่าเรื่องราวความเป็นมาของตัวเอง จากความชอบใน ART MUSIC มาสู่การออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น จนกระทั่งรักและหลงใหลในงานดังกล่าว

ก่อนอื่น ‘โหน่ง-บัณฑิต’ เล่าว่าเขาเรียนจบคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกแบบโฆษณา เรียนมาตั้งแต่การปั้นเซรามิคทว่าไม่รู้ว่าเรียนแล้วทำงานอะไร  บังเอิญเขามีเพื่อนเรียนสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์  เขาเองชอบความเป็น Art ความ ป๊อป Culture และดนตรี อยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงย้ายสาขาไปเรียนนิเทศศิลป์

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

“แต่ก่อนหน้านั้นผมเรียนสถาปัตย์มาก่อน และเรียนช่างศิลป์ที่ลาดกระบัง เรียนมาตั้งแต่ปั้นเซรามิค เรียนถ่ายภาพ เรียนภาพยนตร์ วาดรูป เพ้นท์สีน้ำมัน ปั้น Sculpture พอเรียนเสร็จมีช่วงหนึ่งผมอยากเป็นนักโฆษณา ตอนเรียนปี 3 มีนักโฆษณามาเป็นอาจารย์พิเศษ เท่มาก ผมอยากเท่แบบนั้นบ้าง เมื่อก่อนมีงานประกวดสำหรับเด็กที่เรียนโฆษณา ถ้าประกวดได้รางวัลการันตีก็จะมีงานรองรับ

ผมส่งงานประกวดตลอด ตกรอบตลอด เด็กโฆษณาเป็นคนชอบแต่งตัว ผมเองก็ชอบแต่งตัว อีกหนึ่งความชอบคือ ผมเป็นนักดนตรี เล่นมาตั้งแต่ ป.6 และตั้งวงกับเพื่อนๆ เล่นมาเรื่อยๆ มีจุดเปลี่ยนตอนที่ผมทำวง The Keylookz เป็นเพลงแนว Rock n Roll ดนตรี 3 ชิ้น

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

ตอนนั้นเริ่ม SKETCH เสื้อผ้าเอง เผอิญช่วงนั้นวงดนตรีไม่ค่อยเฟื่องฟูมาก ผมก็เลยหันมาศึกษาเรื่องแฟชั่น เพราะช่วงเรียนศิลปากรปี 2 มีวิชาเลือก ผมก็เลือกเรียนภาคแฟชั่น แต่ผมวาดแฟชั่นแบบการ์ตูน  ไม่ใช่ลายเส้น แต่ถ่ายทอดออกมาเป็นเสื้อผ้าใส่ได้ สนุกมาก ผมมีโอกาสก็ได้ฝึกงานกับพี่รอง จิตต์สิงห์ สมบุญ ที่ เกรฮาวน์

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

เมื่อโหน่งได้ทำงานที่รัก และทำงานในบริษัทที่ใช่ ตัวตนของเขาจึงโลดแล่นอย่างอิสระและสนุกสนาน โหน่งพูดว่า Greyhound สอนทั้งวิธีคิด วิธีดำเนินชีวิต สอนเรื่องของการเข้าใจคน สอนให้เข้าใจว่าจะเล่าเรื่องอะไร เพื่อตอบเรื่องอะไร เพื่อจะเสนอเรื่องอะไร อีกทั้งมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ในทุกๆ 6 เดือน Spring/ Summer /Autumn /Winter 

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

หมาใส่แว่น คอลเลคชั่นซัมเมอร์

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ “ผมว่าที่นี่สอนมาอย่างดีทั้งแนวคิด การใช้ชีวิต การเล่าเรื่อง ทำให้ทุกอย่างที่เราเห็นเป็นเรื่องราวได้หมด ไม่ว่าจะเป็น อากาศร้อน ฝนตก หนาว อยากไปเที่ยว ทุกอย่างพอเป็นความรู้สึก มันกลายมาเป็นเสื้อผ้าได้หมดเลย อย่างเช่นคอลเลคชั่นล่าสุดที่ขาย ที่ผมใส่อยู่ เป็น Spring/ Summer ปีนี้ เพิ่งเดินแฟชั่นโชว์ไป

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

ผมเล่าเรื่องของความเป็นบอลลูน หน้าร้อนทำให้รู้สึกถึงสีสัน อากาศ นึกถึงลมที่พัด นึกถึงอะไรที่พองๆ สบายๆ อากาศไหลผ่าน และเราเริ่มอยากเปลี่ยนตัวเอง จากที่ หน้าร้อนต้องไปทะเล  อยากให้คนที่ติดตามเราสนุกไปด้วยว่า หมาครั้งนี้ของเราจะเป็นอะไร อย่างหน้าร้อนปีหนึ่ง ผมใส่แว่นดำอยู่แล้วเพราะอายุเริ่มมากต้องป้องกันสายตา ก็เลยเอาหมาใส่แว่นดำด้วย คนก็อมยิ้ม บอกว่าน่ารักดี การออกแบบส่วนหนึ่งก็มาจากไลฟ์สไตล์ของเราเอง”

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

วันนี้ (เดือนพฤษภาคม 2024)โหน่งเริ่มคิดงานของปี 2025 เล่าเรื่องของแบรนด์เป็นหลัก เล่าความเป็นไลฟสไตล์ไม่ได้ยึดเทรนด์โลก การคิดงานล่วงหน้าส่งผลทั้งข้อเด่นคือความชัดเจนในเรื่องที่อยากจะเล่า และข้อด้อยก็คือ ถ้าเทรนด์มาแล้วจับไว้ไม่ทันก็อาจจะพลาดได้เหมือนกัน

เวลาว่างๆของเขาถ้าไม่เที่ยว ก็ชอบทำอาหาร  อาทิ ทำพาสต้า ย่างสเต็ก ย่างเนื้อ ไข่เจียวโหระพา ต้มตุ๋นกระดูกอ่อน ฯลฯ ความสุขอีกอย่างคือสะสมเครื่องดนตรี กีตาร์ต่างๆ สะสมของแต่งบ้าน เสื้อผ้าวินเทจ รองเท้าบูท ฯลฯ

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’

ถามว่า ณ วันนี้พึงพอใจกับความสำเร็จของตัวเองหรือยัง ?

คำตอบคือ ยัง? เขาตอบว่ายังต้องพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ ความต้องการถัดจากนี้ก็คือ ต้องการนำพาแบรนด์ไปสู่ชุมชน ความคิดนี้ได้จากการเดินทางไปในหลายๆประเทศ มองเห็นว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์ทำให้คนดีขึ้นได้จริงๆ ไม่ใช่แค่เปลือกนอก ทว่าลึกเข้าไปในจิตสำนึก’

“ผมชอบดู ชอบอ่านหนึ่งสือมาก ไปอ่านเจอศิลปินคนหนึ่ง เป็นคน Local ในประเทศนั้น แต่เขาไปเติบโตอีกที่ และกลับมาช่วยบ้านเกิดได้ยังไงบ้าง คือศิลปินอินเดียไปโตที่นิวยอร์ก แล้วกลับมาที่อินเดียโดยเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เขาคิดแค่ว่าต้องการจะรวมสองสิ่งนี้คือความเป็นอินเดีย และกราฟิกดีไซเนอร์จากนิวยอร์ก จะช่วยให้นิวเดลี ดีได้อย่างไร

อย่างเช่นการขนส่งที่อินเดียเช่นตุ๊กๆ ไม่มีภาษาอังกฤษเลย มีแต่ภาษาท้องถิ่น เขาเลยทำเป็นกราฟิก ให้คนเข้าใจง่าย ทำภาษาคาราโอเกะทั้งอินเดีย และภาษาอังกฤษ มีการวาดภาพกราฟิกลงไปให้เห็นภาพ ผมว่ามันเป็นความฉลาด ถ้าถามผมว่าตอนนี้ว่าประสบความสำเร็จหรือยัง ผมตอบว่ายังไม่สำเร็จ ผมอยากให้ความสามารถของตัวเอง ทำให้สังคมที่เราอยู่ตอนนี้ ดีขึ้น ต่อยอดไปสู่ชุมชนได้ อันนั้นถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ”

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ โหน่ง- บัณฑิต เล่าว่า มีช่วงหนึ่งเขามีโอกาสได้ไปบรรยายเกี่ยวกับธุรกิจเชิงสร้างสรรค์  ได้พบกับผู้ประกอบการงานคราฟต์จากชุมชนต่างจังหวัด มองว่าจุดเด่นของงานคราฟต์นั้นแข็งแรงมาก  ทว่าบรรดาแม่ๆ ป้าๆทั้งหลายยังกระจายสินค้าไปได้ไม่ไกลพอ ด้วยความเป็นแบรนด์ใหญ่ในเมืองหลวง 

คิดว่าถ้ามีโอกาสได้ร่วมงาน นำสินค้าท้องถิ่นมาเล่าเรื่องใหม่ โดยยังคงรักษาจุดแข็งเหล่านั้นไว้ เพื่อส่งต่อผลงานคราฟต์ นำผลงานศิลปะและวัฒนธรรมไทยไปสู่สายตาชาวโลก หรือแม้แต่สายตาของชาวไทยเอง งานนี้จะกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่น สร้างเงินสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนในต่างจังหวัด

SMILEYHOUND ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ ตัวตนของ ‘บัณฑิต รัศมีโรจน์’ ณ วันนี้ ยังคงอยู่ที่ แบรนด์ SMILEYHOUND BY GREYHOUND