'Pride Month'+'Love Earth' จัด 'แฟชั่นชุดรีไซเคิล' และเสวนาเรื่องรักษ์โลก
'สยามพารากอน' จัดงาน 'วันสิ่งแวดล้อมโลก' Love Earth และเดือนแห่ง 'Pride Month' แสดง 'แฟชั่นชุดรีไซเคิล' และจัดวงเสวนาเรื่องรักษ์โลก การแยกขยะ และจิตสำนึกที่ต้องเกิดขึ้นก่อนโลกจะเดือดไปกว่านี้
สยามพารากอน จัดกิจกรรมเนื่องใน วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน หรือ Love Earth นำเสนอ แฟชั่นโชว์รักษ์โลก เสื้อผ้าทำจากวัสดุเหลือใช้ พร้อมจัดเสวนาหาแนวทางใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ทั้งการแยกขยะ การสร้างแนวคิดใช้ซ้ำ และใช้ให้น้อยที่สุด รวมถึงนำเสนอการนำขยะหรือสิ่งของเหลือทิ้งมาเป็นแฟชั่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ SCBX Next Tech ชั้น 4 สยามพารากอน
แฟชั่นโชว์รักษ์โลก ตัดเย็บจากวัสดุรีไซเคิล
สยามพารากอน จัดงาน Citizen of Earth by Siam Piwat Presents The Celebration : Love Earth เนื่องใน วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ซึ่งปีนี้ได้จัดร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Pride Festival 2024 โดย บางกอกไพรด์ และกรุงเทพมหานคร
เนรมิตแคทวอล์คแสดง แฟชั่นโชว์รักษ์โลก ออกแบบโดยกลุ่ม LGBTQIAN+ และศิลปินนักออกแบบชื่อดัง โดยนำกระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM มาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบเสื้อผ้า และแอคเซสซอรี่ต่าง ๆ พร้อมเปิดเวทีเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ The Celebration: Love Earth ถักทอความรักให้โลกของเรา
เปิดเวทีเสวนาโดย นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บอกว่า
เวทีเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ
“สยามพิวรรธน์ ได้บรรจุการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ พื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า การนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการบริหารจัดการขยะด้วยแนวคิด เลือก ใช้ แยก สร้าง มุ่งพัฒนาระบบจัดการขยะทั้งห่วงโซ่
และสร้างแนวทางปฏิบัติที่จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ เช่น ส่งเสริมและจัดการการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน Recycle Collection Center (RCC)
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เราสามารถนำขยะไปรีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 4,000 กิโลกรัม คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะกลับไปรีไซเคิล 8,000 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 860 ต้น”
กระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก
ปีนี้จัดแสดง แฟชั่นโชว์รักษ์โลก โดยการนำกระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มจากอะลูมิเนียม สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% และ ขยะรีไซเคิลอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่า ด้วยการสร้างสรรค์ของกลุ่ม LGBTQIAN+ และศิลปินนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์งานจากวัสดุเหลือใช้ มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน
“การทำงานกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ได้บอกว่างดใช้แต่ใช้แล้วอย่างไรให้คุ้มค่า จัดเก็บอย่างไร แยกขยะให้ถูก อยากให้เริ่มต้นกันทุกคน วันนี้กลับไปบ้านเริ่มคัดแยกขยะ สกปรกกับสะอาด ถ้าไม่แยกสิ่งที่สะอาดจะไปปนกับสกปรก ตอนนี้ กทม. รณรงค์ “ไม่เทรวม” ขยะที่สกปรกจะคัดแยกง่ายขึ้น” ผู้บริหาร สยามพิวรรธน์ กล่าวปิดท้าย
ชุดฟินนาเล่ออกแบบโดย วิชชุลดา แสดงแบบโดย นัท - นิสามณี
จากนั้นเปิดเวทีแคทวอล์ค แฟชั่นโชว์รักษ์โลก 10 ชุด เน้นวัสดุเหลือใช้ที่มีน้ำหนักเบา ออกแบบโดย จรัญ คงมั่น ดีไซเนอร์ชาว LGBTQIAN+ และ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ นักออกแบบที่นำขยะมาอัพไซเคิล
จรัญ คงมั่น เล่าว่า “เรารู้กันว่าแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมลำดับต้น ๆ ของการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าถามว่าหยุดแฟชั่นได้มั้ย...ไม่ได้ แต่ต้องไปต่ออย่างไร โดยเฉพาะแฟชั่นอยู่คู่กับ LGBTQIAN+ มานานมาก เป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงว่าคือตัวตนของฉันบนโลกนี้ เราจึงขาดแฟชั่นไม่ได้
ผู้บริหารสยามพารากอนร่วมวงเสวนา
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ การสร้างสรรค์ของพวกเรา วันนี้ปักหมุดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของสังคม เราจะได้รับผลกระทบ เราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราออกแบบแฟชั่นเพื่อสร้างความหวังว่า การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ การนำกลับมาสร้างใหม่ และใช้นวัตกรรมทำให้เกิดใหม่”
ดีไซเนอร์ วิชชุลัดดา เสริมว่า
“ชุดฟินนาเล่ เดินแบบโดย นัท - นิสามณี ยูทูบเบอร์ชื่อดังชาว LGBTQIAN+ มีแรงบันดาลใจมาจากโลกใต้ทะเล เวลาเราทิ้งขยะ จุดจบก็ไปอยู่ในทะเล ถ้าวันหนึ่งปะการัง สัตว์ทะเลต่าง ๆ กลายร่างมาเป็นขยะกองอยู่ในทะเลจะเป็นยังไง เราจับรูปร่างของปะการังมาตกแต่ง วัสดุหลักคือกระป๋องอะลูมิเนียมที่ผ่านการคัดแยก เสื้อผ้ามือสองค้นหาแล้วรวบรวม ปรึกษากับคุณนัท คิดกันว่าแบบไหนที่สวยงาม
คุณนัทเป็นไอคอนิคของ LGBTQIAN+ เป็นกระบอกเสียงที่จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดี ทุกคนมักบอกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เราสามารถรักษ์โลกได้ จากการหมุนเวียนทรัพยากรตั้งแต่ต้นทางว่า เอามาใช้อะไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สวยได้ รักษ์โลกได้”
ดีไซเนอร์บอกว่า หลังจบงานนี้มีโครงการจะจัดนิทรรศการให้เห็นการสร้างเสื้อผ้าจากขยะ นำมารีไซเคิล ประดิษฐ์ตกแต่งเป็นงานตัดเย็บ งานปัก แต่งเติมให้เกิดชุดใหม่ได้
มุมมองจาก วัธ - จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้าผลิตจากเส้นใยรีไซเคิล SC Grand Circular บอกว่า
“วันนี้ผมมาในเสื้อ-กางเกง ที่ผลิตจากเสื้อผ้าเก่า จากการปั่นด้าย ทอผ้า ตัดเย็บจากเสื้อผ้าทิ้งจากกระบวนการตัดเย็บ คัดแยกแล้วมาแปรสภาพ ตอนนี้หลายแบรนด์ทั่วโลกทำกันแล้ว ตั้งเป้าไว้ว่าปี 2030-2035 จะใช้เส้นใยรีไซเคิลและออร์แกนิคเท่านั้น
การรีไซเคิลใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง เราเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่นำเสื้อเก่าหรือขาดแล้วนำมาทำเป็นเสื้อตัวใหม่ได้ ล่าสุดเราทำกับแบรนด์ที่เข้าถึงเป็นแมสโปรดักชั่น เช่น สตรีทแวร์ Carnival ซึ่งต้องให้ความรู้และทำคอเปอเรทกับหลายแบรนด์พอสมควร เพื่อให้เพื่อน ๆ ในวงการแฟชั่นสิ่งทอเห็นว่า เสื้อผ้ารีไซเคิลสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
การตัดเย็บเสื้อผ้าจะมีเศษผ้าจากกระบวนการผลิต เรานำเศษผ้าและขวดพลาสติกมาทำเป็นเส้นใย ต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคพอสมควร กว่าจะทำยอดขายได้ต่อเนื่อง เช่น ขวดพลาสติกต้องแยกฝา แยกขวด เข้าเครื่องผลิตเป็นไฟเบอร์ ที่จริงเป็นเทคโนโลยีที่เบสิกมาก ถ้าขั้นแอดวานซ์ยุคนี้มีการนำซีโอทู (Co2) มาทำเป็นเสื้อผ้ากันแล้ว แต่ยังใหม่มากและไม่สามารถทำในสเกลใหญ่ จะทำให้ราคาค่อนข้างสูง แต่ราคาก็จะลงไปในอนาคต ยกตัวอย่างกระจกสมัยก่อนก็ราคาสูง ตอนนี้ก็ไม่แพงแล้ว”
SC Grand จึงเป็นเสื้อผ้าถนอมโลก เป็น Sustainable Fashion ตัวจริง
วิชชุลดา กับชุดฟินนาเล่
ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมบริหาร บริษัท สถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะ การจัดการขยะ ในชีวิตประจำวัน
“ด้วยโครงการ waste buy delivery รับซื้อขยะถึงบ้าน เจ้าของบ้านขายขยะรีไซเคิลได้สตางค์ด้วย แค่เก็บแล้วแยกเป็นถุง ๆ รถขยะก็จะไปรับถึงหน้าบ้าน แต่ต้องแยกขยะแห้งจากขยะเปียก ขยะแห้ง ได้แก่ เศษกระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียม ขวดแก้ว ทองเหลือง ทองแดง จนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า แยกเก็บเป็นถุง ๆ โทรจองคิวรถให้เดลิเวอรีไปเก็บ เพื่อนำขยะเหล่านี้เข้าสู่กระบวนรีไซเคิลง่ายขึ้น และสามารถกลายเป็นเงินมหาศาล สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จากขยะในครัวเรือน”
คนเห็นขยะมีค่าบอกว่า คำว่า โลกร้อน โลกเดือด พบบ่อยจนทุกคนเข้าใจกันแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกคนต้องมีส่วนร่วม เริ่มด้วยตัวเราก่อน ตั้งแต่วินาทีนี้ที่เราคิดได้ อย่ารอถึงวันพรุ่งนี้อาจไม่ทันการณ์
การจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่เป็นเราทุกคนเป็นคนก่อ ยึดคำว่า ททท. ทำทันที เปลี่ยนแนวคิดชีวิตจะเปลี่ยนทันที บทสรุปสุดท้ายจาก ดร.อิทธิกร คือ
แฟชั่นโชว์รักษ์โลก
“ขยะทุกชิ้นเป็นสิ่งมีค่า เปลี่ยนเป็นเงินตรา พัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างชีวิต มลพิษไม่มี คัดแยกขยะถูกวิธี ธานีรุ่งเรือง”