‘ทักก้า’ จัดงาน 'THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024' วันที่ 28-30 มิ.ย.67
‘ทักก้า’ ลั่นกลอง จัดงานครั้งแรก 'THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024' ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา วันที่ 28-30 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หรือ ทักก้า (Thailand Creative Content Agency :THACCA) แถลงข่าวจัดงาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ Beat Active ไบเทค บางนา
เป็นงานประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขาอุตสาหกรรม เปิดภูมิทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยและโลก ภาคใต้โครงการ OFOS (One Family One Soft Power)
ผ่านความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพทางการแข่งขัน สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ในทิศทางการดำเนินการและบทบาท
ผ่านความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพทางการแข่งขัน สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ในทิศทางการดำเนินการและบทบาท
แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสดีที่จะมาเล่าให้ฟังว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของเรากำลังทำอะไรกันอยู่
"ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เป็นเวลา 8 เดือนแล้ว ที่คำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ได้เข้าไปอยู่ในใจพี่น้องคนไทย มันเหมือนการสร้างบ้าน ที่ต้องทำเสาก่อน ลงเสา ก่อนจะทำตัวบ้าน
เราจะจัดงาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 เพื่อบอกว่าเราจะขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไปได้อย่างไร เป็นงานประชุมซอฟต์พาวเวอร์ระดับนานาชาติครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลไทย
มีการแสดงนิทรรศการ นโยบายและภาพใหญ่ของประเทศไทยที่เราอยากจะไปให้ถึง บอกรายละเอียด 11 อุตสาหกรรม ที่พี่น้องประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร มีการทำเวิร์คชอป มีผู้ประกอบการมามองหาคู่ Matching
มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีตัวแทนจากแบรนด์ดังหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่า แฟชั่น, ภาพยนตร์, อาหาร
เพราะประสบการณ์ของเขา ถ้าเราได้ฟังถือว่าได้เรียนลัด ทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ถอดบทเรียนอะไรออกมาบ้าง
นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นอาวุธผลักดันประเทศเราจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง
ด้วยกลยุทธ์ 3 ประการ 1) พัฒนาศักยภาพของคน คือ การ Reskill Upskill หาทิศทางพัฒนาว่าไปในทางไหนได้บ้าง 2) พัฒนา 11 อุตสาหกรรม ให้มีระบบนิเวศที่ไม่หายไปตามการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
3) พัฒนานโยบายต่างประเทศ ให้โอบรับเสน่ห์ของเรา เข้าใจวัฒนธรรมของเรา เรามีดีอยู่แล้ว จะผลักดันตรงนี้จนไปถึงฝั่งให้สำเร็จ
วันที่ 28, 29, 30 เดือนนี้ ขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชนทุกท่าน มาร่วมกันฟัง มาแชร์ มารับประสบการณ์ดี ๆ ใหม่ ๆ จาก 11 อุตสาหกรรม"
-
รัฐบาลต้องเป็นผู้ช่วยพระเอก-นางเอก
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของการขึ้นเวทีมวย รู้สึกตื่นเต้นเหมือนนักมวยที่ได้ขึ้นสังเวียนครั้งแรก
"วันนี้เป็นวันที่ประเทศไทยยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่ง เศรษฐกิจไทยบอบบางมากที่สุดอีกครั้ง คนไทยต้องการความหวัง ต้องการแรงบันดาลใจ
รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มีความรู้สึกว่าถ้าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปด้วยวิธีการเดิม ๆ ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว
เราต้องหาเครื่องยนต์ใหม่มาขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีรายได้สูง คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศไม่มีคนยากจนอีกต่อไป
เครื่องยนต์ตัวหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก คือ ยุทธศาสตร์การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ เป็นพลังที่สำคัญ
ในอดีตที่ผ่านมา 20 ปี ประเทศไทยถูกแช่แข็ง ไม่สามารถขับเคลื่อนเป็นเสือตัวที่ 5 ได้ เราเป็นได้แค่ม้าป่วยมานาน
เราต้องขับเคลื่อนจริงจัง ทำให้ประเทศไทยพ้นจากการใช้หยาดเหงื่อแรงงาน น้ำตาของเกษตรกร มาเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ทักษะฝีมือระดับสูง
การพัฒนาเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่การสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม แต่ต้องสร้างคน 20 ล้านคนมาขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศไทยให้ได้
เราต้องสร้างตลาดระดับโลก โดยการขับเคลื่อนของกระทรวงการต่างประเทศ ของทูตพาณิชย์ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนเสน่ห์ของประเทศไทยออกไป
เราทำงานกันมาตั้งแต่ 13 กันยายน หลังจากแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หลายคนถามว่าทำไมใช้เวลากันนานนัก เพราะเราถูกแช่แข็งมานาน
ที่ผ่านมาเอกชนจำนวนไม่น้อยต่างพยายามขับเคลื่อนด้วยตัวเอง บางส่วนประสบความสำเร็จด้วยการเติบโตแบบ Organic ขับเคลื่อน อาหารไทย, มวยไทย ตามยถากรรม ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเลย
รัฐบาลไทยมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเปลดล็อกอุปสรรคต่าง ๆ
หลายเดือนที่ผ่านมาเราพยายามปลดล็อกอุปสรรค หาระบบนิเวศใหม่ จัดระบบงบประมาณให้มีเงินทุนเพื่อจะส่งเสริม
วันนี้ เราพร้อมแล้วลั่นกลองบอกว่า ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าเข้าสู่การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเต็มตัว
งาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 ไฮไลต์คือ นิทรรศการของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นพาวิลเลี่ยน
พระเอกนางเอกคือภาคเอกชน ผู้ช่วยพระเอกนางเอกก็คือภาครัฐ ใช้งบปีหนึ่ง 6000-7000 ล้านบาท ไม่เกิดผลอะไรให้เราขับเคลื่อนแข่งกับประเทศอื่น ๆ ที่เขาทำกันได้เลย
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกัน มียุทธศาสตร์ใหญ่เดียวกัน ขับเคลื่อน รวมพลัง การใช้งบที่กระจัดกระจาย การต่างคนต่างทำ การไม่มีผู้รับผิดชอบใหญ่จะไม่มีอีกต่อไป
งานนี้บอกว่าเราจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรรมอย่างไร นำเสนอว่าอะไรคือสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมมองเห็น
การท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่พึ่งพาเพียงแค่สายลม, แสงแดด, หาดทราย เราจะเป็นการท่องเที่ยวที่มีประดิษฐกรรมของมนุษย์ มีการสร้างสรรค์ของมนุษย์ นำไปสู่การท่องเที่ยวยุคใหม่
เรามีเศรษฐกิจเทศกาลที่เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ หลาย ๆ เทศกาลจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
นี่คือโอกาสครั้งสำคัญของคนไทย ของประเทศไทย คือจุดเริ่มต้นที่เราจะเดินทางไปด้วยกัน มีความฝันร่วมกัน เปลี่ยนประเทศนี้ให้ก้าวหน้ารุ่งเรืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เชิญชวนทุกท่านมาก้าวเดินไปด้วยกัน ประเทศไทยจะไม่มีคนยากจนอีกต่อไป ด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ"
-
สาขาศิลปะ
เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ กล่าวว่า เราจะโชว์ให้เห็นวิสัยทัศน์ และโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วจะเกิดขึ้นจริงแน่นอน ในปีงบประมาณ 67-68
"จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะหลายอย่าง เช่น โครงการไทยแลนด์ Art Move เว็บไซต์ที่รวบรวมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในวงการศิลปะ และหอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่
โซนที่สอง นำเอาศิลปะ 12-13 ชิ้นมาแสดง มูลค่ารวมกันกว่า 150 ล้าน สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยจากถวัลย์ดัชนีจนถึงครายเบบี้
ศิลปะไทยได้เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจ
การสร้างสรรค์เป็นหัวใจห้องที่ห้าของเราที่คนไทยพลาดไม่ได้
เมื่อมาที่งานนี้ คุณจะได้รับแรงบันดาลใจ ได้พบกับไอดอลในทุกวงการ มาให้ได้นะครับ"
-
สาขากีฬา
พิมล ศรีวิกรม์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา กล่าวว่า มวยไทย เป็นทั้งศิลปะ และมรดกของชาวไทย
"เราจะมีการแสดง มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่นายขนมต้มมาจนถึงปัจจุบัน มีศาสตร์ของมวยไทย มีนักมวยมาแสดงการต่อสู้ มีการออกอาวุธของมวยไทย ให้ทุกคนได้เรียนรู้
เรามีเวทีมวยตั้งอยู่ด้วย แล้วมีครูมวยคอยสอนให้รู้ว่า มวยไทย ร้ายกาจแค่ไหน
มีการออกบูธสินค้าต่าง ๆ มีค่ายมวยต่าง ๆ มาร่วมงาน
ถ้าท่านอยากจะเรียนอยากเข้าคลาส ก็ทำได้ นักท่องเที่ยวทั่วโลกสามารถสมัครเรียนผ่านเว็บไซต์ได้เลย
ที่เล่ามาเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม ยังมีอีกเยอะ มาสัมผัส ความตื่นเต้นเร้าใจของมวยไทยที่ดังไปทั่วโลก ได้เห็นว่ามีความเป็นมาอย่างไร และเรากำลังจะไปในทิศทางไหน ขอเชิญชวนครับ"
-
สาขาอาหาร
ภูวษา สินธุวงศ์ ตัวแทนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ประธานคลัสเตอร์พัฒนาธุรกิจอาหารแปรรูป กล่าวว่า อาหารไทยเรามีหลากหลาย เป็นเสน่ห์ ที่คนทั่วโลกอยากจะลิ้มลอง
"ประกอบด้วยอาหารภาคเหนือ รังสรรค์วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ อาหารภาคอีสาน สื่อถึงมรดกวัฒนธรรมอาหารและอารยธรรมต่าง ๆ อาหารภาคใต้ที่รวมหลากรส อาหารภาคกลางที่วิจิตรบรรจง
ยังมี สตรีทฟู้ด อาหารชาววัง มีฟอรั่มการทำอาหารไทยไปสู่ตลาดโลก มีสัมมนา เวิร์คชอป และการนำอาหารท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดสู่ระบบอุตสาหกรรม
วันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ อย่าพลาดโอกาส ไปชิม ไปชอป ไปพบกับ Future Food ไปสัมผัส ไปดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้าง ไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ไปจุดประกายกัน ไม่ควรพลาดค่ะ"
-
และอีก 8 สาขา
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาในฐานะตัวแทนอุตสาหกรรม 8 สาขา ดนตรี, ภาพยนตร์, หนังสือ, เกม, ท่องเที่ยว, เฟสติวัล, ออกแบบ, แฟชั่น กล่าวว่า ในงานนี้ Culture As Future
"วิชั่นสเตทจะบอกถึงอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ว่ามีอะไรบ้าง มีสปีคเกอร์จากต่างประเทศมาพูดเรื่องการทำแบรนด์ดังต่าง ๆ ของต่างประเทศ ทำอย่างไรถึงจะดัง เช่น หลุยส์วิคตอง
มีเวทีให้คนไทยที่ประสบความสำเร็จ คนดังที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ไทย เช่น คนที่ออกแบบโรงแรมที่สมุย หรือการทำภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ คุณชายอดัมจะมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง การทำภาพยนตร์ยังไงให้ขายในเน็ตฟลิกซ์ได้
จะเขียนหนังสืออย่างไร เดี๋ยวนี้มีแพลตฟอร์มเขียนหนังสือออนไลน์ เช่น จอยลดา ทำให้คนเห็นว่าเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ทำให้งานต่าง ๆ มันปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เราทุกคนสามารถเข้าถึง ทำให้เกิดรายได้ได้
เราจะมีติ๊กต่อก พอดแคสต์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของทั้ง 11 อุตสาหกรรม ให้ออกสู่การรับรู้ มีอินฟลูเอนเซอร์มากมายในแต่ละด้าน
งานนี้สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้สร้างการรับรู้ แต่สร้างโอกาส
โอกาสของประเทศไทย ที่เราอยากให้คนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่า นิสิตนักศึกษาประชาชนคนทั่วไป นักธุรกิจ หรือคนที่ยังไม่รู้ว่าเรามีดีแค่ไหน มาดูว่า 11 อุตสาหกรรมเราจะส่งออกวัฒนธรรมไทยออกสู่สากลอย่างไร
ถ้าพลาดงานนี้ คุณก็ตกเทรนด์สำคัญของประเทศไทยแล้ว
มันไม่ง่ายเลยที่จะเอา 11 อุตสาหกรรมมาเจอกันแบบนี้ เป็นโอกาสที่ดีของคนไทยทุกคนที่เราจะได้เห็นศักยภาพของคนไทย
แล้วเป็นการจัดงานครั้งแรก พื้นที่ทั้งหมดเราจะเติมเต็มประเทศไทยด้วยคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์"