ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

"คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด" ชวนพูดคุยกับ ซีเค เจิง ผู้ก่อตั้งฟาสต์เวิร์ก สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มจ้างงานฟรีแลนซ์สัญชาติไทย เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิด พื้นเพชีวิต และทัศนคติในการบริหารองค์กรแบบฉบับอดีตนายแบงก์จากนิวยอร์กที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการ

ด้วยวิธีการพูดที่ฉะฉานและตรงเผงแบบฉบับหนุ่มลูกครึ่งไทย-จีนที่ไปเติบโตภายใต้วัฒนธรรมอเมริกัน ทำให้ “ซีเค เจิง” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ฟาสต์เวิร์ก สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มจ้างงานฟรีแลนซ์สัญชาติไทย เป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งในมุมมองที่ชื่นชมในทัศนคติเชิงบวกและมุมที่เห็นต่าง

เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิด พื้นเพชีวิต และทัศนคติในการบริหารองค์กรแบบฉบับอดีตนายแบงก์จากนิวยอร์กที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการ วันนี้ "คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด" ชวนซีเคมาพูดคุยในประเด็นดังกล่าวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อสัมผัส “ตัวตน” ของเขาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

จุดเริ่มต้นในการ ‘หาเงิน’

ซีเคเริ่มเล่าให้ฟังว่า ชีวิตในวันเด็กค่อนข้างเลือนรางแต่เริ่มจำเรื่องราวได้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่พ่อแม่แยกทางกันตอนอายุได้ 13 ปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ถูกส่งไปอยู่กับโฮส แฟมิลี่ (Host Family) ที่สหรัฐอเมริกา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาต้องหัดทำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตด้วยตัวเอง ทั้งซักผ้า ล้างจาน ทำอาหาร รวมไปถึงการเริ่มต้นหารายได้ด้วยตัวเองในวันเพียงสิบกว่าขวบ

“ตอนนั้น อยากไปหาเพื่อน แต่โฮส แฟมิลี่ไม่พาผมไป เพราะเขามีหน้าที่แค่ไปรับไปส่งที่โรงเรียน ไม่ได้มีหน้าที่พาผมไปดูหนังหรือพาไปหาเพื่อน  ดังนั้นถ้าผมอยากไป เขาไม่ห้าม แต่ต้องเรียกแท็กซี่ไปเอง ซึ่งก็ประมาณ 30 ดอลลาร์ต่อเที่ยว นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมต้องหาเงินเอง”

“ตอนนั้นผมหาเงินจากการรับจ้างพาสุนัขไปเดินเล่น ตัดหญ้าให้เพื่อนบ้าน หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ผมจำได้ว่าผมผูกสุนัขสองตัวเข้ากับจักรยานแล้วพามันเดินเล่น ตอนนั้นผมได้เงินบ้านละ 20-30 ดอลลาร์ ในขณะที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กรับน้อย อาจจะแค่ 1 บ้าน แต่ถ้าเขาใจดีก็ได้มากถึง 40 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง”

ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

อยากเป็น ‘แบงเกอร์’ ในนิวยอร์ก

เขานั่งคิดทบทวนชีวิตของตัวเองตลอดหลายปีที่ผ่านมาสักพักหนึ่ง ก่อนที่จะเล่าต่อว่า “หลายอย่างก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ตอนอยู่ที่อเมริกา คำว่าฟรีแลนซ์ (Freelance) ไม่เคยอยู่ในหัวเลย ตั้งแต่เด็กจนโตผมอยากเป็นแค่แบงเกอร์ เพราะตอนที่ผมอายุ 13 ตอนที่พ่อแม่บอกว่าผมต้องไปอเมริกา ผมนึกถึงแค่ฉากเดียวในหนังสไปเดอร์แมน (Spiderman) คือฉากของมหานครนิวยอร์ก (New York) แต่ในความเป็นจริง ผมไปอยู่แค่เมืองไอดาโฮ (Idaho) เมืองเกษตรกรของอเมริกา ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงนิวยอร์กเลย มีแต่วัว”

“ดังนั้นตั้งแต่เด็กก็เลยใฝ่ฝันว่าอยากไปนิวยอร์กซึ่งงานที่นั้นรับส่วนใหญ่ก็อยู่ในอุตสาหกรรมธนาคาร ผมเลยทำทุกอย่างเพื่อเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ไม่เคยคิดเรื่องฟรีแลนซ์ ไม่เคยคิดเรื่องเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเองเลย ผมเลยคิดว่าทุกอย่างที่มีในวันนี้เกินคาด”

อย่างไรก็ตาม หลังจากทำตามความฝันในการเป็นนายธนาคารได้สำเร็จในวันยี่สิบกว่า ทว่าซีเคเล่าให้ฟังว่า ชีวิตการทำงานจริงๆ กลับแตกต่างจากเสียงเรียกร้องในใจ “จุดเปลี่ยนของชีวิตผมคือลองทำและเกลียดครับ ลองทำแล้วไม่ชอบ เพราะว่าหน้าที่ของแบงเกอร์ หน้าที่ของที่ปรึกษาคือทำให้คนรวย รวยขึ้น ไม่ได้ทำให้คนชั้นกลางมีความมั่งคั่งมากขึ้น”

  ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

“ผมทำงานอยู่คอนเซ้าติ้ง กรุ๊ปหนึ่งในนิวยอร์ก งานของผมคือการตีมูลค่าบริษัทให้กับคนอื่น พอตีมูลค่าเสร็จแล้ว บริษัทเอ ซื้อบริษัทบีเรียบร้อยแล้ว เขาก็จะไล่พนักงานออกครึ่งบริษัท เพราะสิ่งที่เขาอยากได้จริงๆ คือแบรนด์ อยากได้องค์กร ไม่ได้อยากได้พนักงาน”

“ทั้งหมดเป็นเพราะคนรวยอยากได้สตอรี่ไปปั่นหุ้นต่อ แต่จริงๆ คนที่ซัฟเฟอร์คือคนชั้นกลาง ซึ่งมันคือหน้าที่ของผมเลย หน้าที่ในการทำให้พวกเขาซัฟเฟอร์ ตั้งแต่นั้นมาผมเลยคิดว่าจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นใน นิวยอร์กมันคือการที่ทำให้คนรวยสามารถหาเงินได้มากขึ้น” 

“กระบวนการของนิวยอร์ก กระบวนการของตลาดหุ้น มันไม่ได้ต้องการ Democratize Income (ทำให้ทุกคนมีเงินอย่างเท่าเทียมกัน) แต่มันคือทำให้คนมีเงิน รวยมากยิ่งขึ้น ผมก็เลยคิดว่า ไม่อยากจะเป็นเครื่องมือของคนรวย”

ซีเคย้ำให้ฟังว่า “ผมก็เรียนหนัก ผมทำงานหนัก ผมทำงานถึงตีสี่ตีห้า ผมเสียสละตั้งหลายสิ่ง ตั้งหลายอย่างในชีวิตเพื่อมาเป็นแค่เครื่องมือของคนรวย ก็เลยแอบสับสนในชีวิต ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการตัดสินใจกลับมาประเทศไทย เพื่อสร้างอะไรที่เป็นของตัวเอง”

ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

 ตั๋วเครื่องบินขาเดียวกลับมา ‘ประเทศไทย’

เมื่อถามต่อถึงเรื่องการตัดสินใจกลับมาประเทศไทย เขาเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนน้ำตาว่า “ผมอยากขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินขาเดียวกลับไทย วันที่ผมยอมทิ้งทุกอย่างที่ผมสร้างมาที่อเมริกา ขอบคุณที่ผมมีความกล้าพอที่จะทำสิ่งนั้น จากคนที่มีเงินเดือนและชีวิตที่มั่นคง มาประเทศโลกที่สาม ประเทศที่ผมไม่มีเงินเดือนมาสองสามปีแล้ว แต่มันเป็นครั้งแรกที่ผมเปิดโอกาสให้ตัวเองให้ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่ทำงานเพื่อตัวเองจริงๆ”

“ผมบ้ามากจริงๆ แต่ความบ้าเหล่านั้นก็ตามมาพร้อมอุปสรรคเยอะมาก พ่อแม่ผมกังวลจนโทรมาบอกว่า อย่ากลับมา อีกปีหนึ่งก็ได้สัญชาติอเมริกาแล้ว แต่สุดท้ายผมก็ทิ้งมัน คุณต้องเข้าใจตอนนั้น มันบ้ามาก สิ่งที่ผมทำ ถ้ามันย้อนกลับไป ไม่น่ามีใครกล้าทำ ผมไม่ได้มาด้วยเหตุผลนะ แต่มาเพราะสัญชาตญาณผมบอกแบบนั้น”

 ทำงานเก้าโมงเลิกห้าโมงเย็น  (9-5) ไม่ใช่เรื่องผิด?

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงมุมมองต่อการทำงานประจำ อย่างการเข้างานเก้าโมงเช้าและเลิกงานห้าโมงเย็น ซีเคตอบทันทีว่า ทุกคนมีกระบวนการและหนทางของตัวเอง “ไม่ใช่ผมไม่เชื่อการทำงานแบบนี้นะครับ ผมว่าทุกคนมีกระบวนการของตัวเอง แต่คุณต้องรู้ก่อนว่าเป้าของคุณในระยะสั้นและระยะยาวคืออะไร วันนี้คุณทำงาน 9-5 เพื่ออะไร คุณต้องถามคำถามนี้นะครับ

ยกตัวอย่างเช่น ผมอาจจะทำเพื่อให้มีเงินเพียงพอในการสร้างธุรกิจ ผมต้องการเก็บเงินให้ถึงห้าแสน จะได้เริ่มธุรกิจเป็นร้านไอศกรีมเจลาโต้ที่ผมได้ไอเดียมาจากอิตาลี ทำงานเก็บเงินเพื่อปีที่ห้าจะได้ทำ แบบนี้ดี”

“แต่หลายคนทำงาน 9-5 แบบไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้ทำเพื่ออะไร ไม่รู้ตื่นนอนเพื่ออะไร คุณรู้ไหมครับว่า ความรู้สึกนี้มันเหมือนอะไร มันเหมือนการขับรถแบบไม่มีเป้าหมายไหม ลองจินตนาการดูนะ น่ากลัวไหม ผมว่าน่ากลัวมากเลยนะ ไอ้เป้าที่เราตั้งไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ แต่ต้องมีเป้า เราต้องถามตัวเองว่า ที่เหนื่อยทุกวันไปเพื่ออะไร ตื่นเช้า ยอมรถติดสองชั่วโมงเพื่อเข้าทำงานเพื่ออะไร ไม่มีใครตอบแทนคุณได้ ผมตอบแทนคุณไม่ได้ คุณต้องตอบตัวเอง”

ซีเค เจิง: (อดีต) แบงเกอร์นิวยอร์ก ที่ลาออกมาเป็น ‘คนไร้เงินเดือน’ ในไทย

 หน้าที่ของผู้นำคือฟังให้มากและ ‘พูดคนสุดท้าย’

เมื่อถามถึงบทบาทของการเป็นซีอีโอฟาสต์เวิร์ก เขาอธิบายว่า “ถ้าคุณเป็นผู้นำ คุณต้องพูดคนสุดท้าย ต้องรับฟังมากกว่าพูด รับฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ได้รับฟังเพื่อตอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก และผมพยายามฝึกตลอดเวลา หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในองค์กร แต่คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่คนที่เก่งที่สุดอยากมาอยู่กับเรา มาทำงานกับเรา ไม่ได้ทำงานให้เรา”

“ในองค์กรไม่สามารถมีคนเก่งแค่คนเดียวได้ เหมือนกับทีมฟุตบอล ไม่ใช่มีแค่โด้ (โรนัลโด) ก็สามารถเก่งได้ มันไม่เป็นอย่างนั้น เราต้องหาคนที่เก่งไม่เหมือนกัน เก่งในด้านที่เราไม่เก่ง แล้วทำงานด้วยกัน นี่คือฟันเฟืองสำคัญ”

โดยเขาทิ้งท้ายว่า “ในฐานะผู้นำ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนที่เก่งอยากจะเข้าหาเรา อยากที่จะจอยเรา อยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปกับเรา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตำแหน่งซีอีโอไม่สำคัญ แต่ไอเดียที่ดีที่สุด มีคุณภาพที่สุด ต้องชนะ ไม่ใช่ไอเดียของซีอีโอ ไม่ใช่ไอเดียของผู้จัดการ แต่มันคือไอเดียที่ดีที่สุดต้องชนะให้ได้ เราต้องตามหาว่า What Is The Best Idea แล้วก็ Press Your Bet On The Best Idea ซึ่งไม่ง่าย เพราะเราต้องเอาอีโก้เราลงมา”