ถอดบทเรียนรับมือวิกฤติของ ‘สมโภชน์’ วันที่ ‘EA’ โดนทุบ แต่ไม่ตาย
คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิดชวนพูดคุยกับคุณสมโภชน์ อาหุนัย หัวเรือใหญ่บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อเข้าใจวิธีคิด การรับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา และบทบาทของผู้นำในช่วงเวลาที่วิกฤติของบริษัทเช่นนี้
“วิกฤติต้มยำกุ้ง” อาจสร้างบาดแผลให้หลายต่อหลายบริษัทและหลากครอบครัว ทว่าหากไม่มีวิกฤติครั้งนั้นชื่อของ “สมโภชน์ อาหุนัย” และ “บริษัทพลังงานบริสุทธิ์” (อีเอ) ก็คงไม่ได้มีโอกาสโลดแล่นอยู่ในหน้าสื่อและอยู่ในบทสนทนาของบรรดานักลงทุนจนถึงทุกวันนี้
จากเด็กหนุ่มไฟแรงในครอบครัวคนจีนโพ้นทะเลชนชั้นกลางที่ความหวังสูงสุด ณ ตอนนั้นคือการเป็นพนักงานออฟฟิศที่มีเงินพอใช้ในแต่ละเดือน ทว่าด้วยความมานะ บากบั่น และตั้งใจทำให้ “นายสมโภชน์” ในวันนั้นได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่จนกลายมาเป็นหัวเรือใหญ่ของอีเอทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัทในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เส้นทางของเขาและอีเอก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและเผชิญกับมรสุมอย่างหนักอึ้งต่อเนื่อง
ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของอีเอดิ่งลงมาจากหลักร้อยในวันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์มาอยู่เพียง 10 กว่าบาทในปัจจุบัน จนทำให้มูลค่าบริษัทหายไปกว่าแสนล้านบาท
ดังนั้น “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับคุณสมโภชน์ เพื่อเข้าใจวิธีคิด การรับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา และบทบาทของผู้นำในช่วงเวลาที่วิกฤติของบริษัทเช่นนี้
มองปัญหาเป็น 'ความท้าทาย'
- ปัญหาที่เจอในปัจจุบันหนักขนาดไหน โดยเฉพาะมูลค่าบริษัทลดฮวบแสนล้านบาทในช่วงไม่กี่เดือน
ผมเจอแรงกดดันมาเยอะมาก คนที่เคยเจอแรงกดดันมา 100 เมื่อมาเจอ 80 มันก็จะรู้สึกว่าไม่หนัก แล้วชีวิตผมเนี่ยถ้าไปดูประวัติ ผมเจอมาเยอะมากเพราะฉะนั้นภูมิคุ้มกันจะเยอะกว่าคนอื่น
ประสบการณ์สอนว่าเมื่อเจออะไรที่เป็นวิกฤติหรือปัญหาแล้วเราไม่มีสติ ไม่ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาหรือในการวิเคราะห์ มันจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ประสบการณ์ทั้งหมดทำให้ผมรู้ว่าตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน มีสติ และยิ่งเรายืนอยู่ในจุดที่เป็นผู้บริหาร มันไม่มีโอกาสที่จะไปพึ่งคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้นำแล้วยังไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่รู้จักเอาสติมาใช้ในการแก้ไขปัญหา มันก็เหมือนทุกคนพึ่งเราอยู่ สุดท้ายก็ทำให้องค์กรอ่อนแอ
เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามที่ทำงานที่ท้าทายและเป็นสิ่งใหม่ๆ จะบอกว่าไม่มีแรงกดดันหรือไม่มีความเครียดเลยก็เป็นไปไม่ได้ อยู่ที่ว่าคุณอยู่กับมันยังไง
ถ้าเรามองความเครียดและอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย มันก็จะยิ่งทำให้เราสนุกกับมัน อย่าไปมองแล้วบูลลี่ตัวเอง พยายามมองในทางที่ทำให้ตัวเองมีกำลังใจและสนุกกับงานดีกว่า
- การสื่อสารและการรับมือกับวิกฤติในสไตล์คุณสมโภชน์เป็นอย่างไร
ช่วงเวลาปกติผมให้สัมภาษณ์น้อยมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤติ นั่นคือหน้าที่ของผู้นำ สมมุติผมเป็นหมอแล้วจะรักษาคนไข้ ผมจะเก็บข้อมูลจากเขาให้ครบ จึงจะวิเคราะห์และรักษาถูก
เหมือนกันในมุมบริษัท ถ้าเราจะแก้อะไรสักอย่าง เราก็ต้องรวบรวมข้อมูลให้ครบ ไม่งั้นการตัดสินใจของเราก็จะเป็นการตัดสินใจที่ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง ดังนั้นเราต้องรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน
หากต้องแยกเป็นข้อๆ หนึ่งเราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าปัญหาคืออะไรและมาจากไหน พอเรารู้ว่ามันมาจากไหน ก็จะได้หาทางแก้ว่าจะแก้ยังไง
ส่วนคำว่าแก้ยังไงก็ต้องกลับไปดูว่ามีอาวุธอะไร มีทีมงานแค่ไหน หรือเครื่องมืออะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
เสร็จแล้วเราก็ต้องมานั่งวิเคราะห์ต่อว่าเรามีเครื่องมือแบบนี้ เราจะใช้เมื่อไร จะใช้ชิ้นไหนก่อนชิ้นไหนหลัง เพราะบางทีเรื่องเดียวกันใช้อาวุธเดียวกัน แต่หยิบซีรีส์ต่างกันก็ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
ทั้งหมดคือศิลปะไม่ใช่แค่การใช้ตรรกะ และต้องใช้พร้อมกับความเข้าใจ ที่สำคัญเครื่องมือของเรามีตั้งแต่อุปกรณ์ ไปจนถึงคน ดังนั้นเราจะทำยังไงให้คนของเราฟังก์ชันหรือให้เขาทำในสิ่งที่เราคิดว่าควรจะทำ แล้วทำให้มันเกิดเป็นทีมเวิร์ก ทั้งหมดคือหน้าที่ของผู้นำ
อย่างที่บอกไปว่า ทำไมในเวลานี้ผมถึงต้องออกมาคุยกับสื่อมากมาย เพราะผมคิดว่าในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ปัญหาสำคัญคือความสับสนของข้อมูล จากความที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งมันทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นดังนั้นหน้าที่ของผู้บริหารหรือผู้นำที่ดี ต้องแก้จุดนี้ก่อนเพื่อทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีพลัง
เปรียบเทียบเหมือนเป็นประเทศ ถ้ารัฐบาลทำงานในสภาวะปกติ เขาจะคิดแบบหนึ่งแต่พอรัฐบาลอยู่ในสภาวะที่เป็นสงคราม ประเทศอาจต้องการรัฐบาลที่มีคุณสมบัติอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้นำก็เหมือนกัน ผู้นำที่ดีในแต่ละเวลาไม่เหมือนกัน ผู้นำที่ดีต้องรู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร
บางครั้งผู้นำคนหนึ่งอาจจะเหมาะกับตอนช่วงหนึ่ง แต่พอมาถึงอีกช่วง บริษัทเริ่มเปลี่ยนไปอีกระดับ เราอาจจะต้องเปลี่ยนซีอีโอก็ได้ เพราะทักษะของคนเดิมอาจจะไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเป็นซีอีโอที่ยั่งยืนก็ต้องปรับตัว ไปตามสมัย ตามเวลา ตามสถานการณ์
- คุณสมโภชน์เป็นคนที่มักริเริ่มทำสิ่งใหม่หรือเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตก่อนคนอื่นเสมอ อะไรหล่อหลอมให้เป็นคนแบบนี้
บ้านผมเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง แค่คิดว่าวันหนึ่งจะมาเป็นซีอีโอบริษัท ยังไม่เคยคิดเลย ดูห่างไกลเกินไป ตอนนั้นคิดเพียงแค่ขอให้มีงานทำดีๆ ในบริษัทดีๆ ได้เป็นผู้จัดการหรือผู้อำนวยการก็ถือว่าสุดยอดแล้ว พ่อแม่ก็เสื่อผืนหมอนใบมาในช่วงสงครามโลก
ผมเป็นคนจีนที่มาเกิดเมืองไทยในยุคแรก แต่พ่อแม่ก็บอกเสมอว่าเมืองไทยทำให้เราเจริญ เราคือคนไทย เราต้องรักประเทศไทย
พ่อผมสอนให้เป็นคนดี ทำอะไรอย่าไปเบียดเบียนใคร แต่ต้องขยันทำงาน เพราะถ้าไม่ขยันคงไม่ได้โอกาส ทั้งหมดคือบทสนทนาบนโต๊ะอาหารที่ผมได้ฟังเกือบทุกวัน
อีกอย่าง ผมโตมาโดยไม่ได้คิดว่าอยากมีเงินมากๆ หรือยากเป็นนู่นเป็นนี่ ถ้าไปดูประวัติ ผมโตโดยไม่คาดคิด ถ้าไม่มีต้มยำกุ้งก็ไม่มีนายสมโภชน์ทุกวันนี้ เพราะผมเป็นแค่พนักงานธรรมดาคนหนึ่ง เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริษัทในสถาบันการเงิน
แต่บังเอิญเกิดเหตุการณ์ “56 ไฟแนนซ์” ปิดกิจการ ผมก็ตกงาน เลยจับพลัดจับผลูมาเป็นซีอีโอบริษัท บวกกับตอนนั้นมีคนให้โอกาสยืมเงินไปลงทุน ซึ่งก็เป็นช่วงที่เริ่มมีความมั่งคั่งขึ้นมา
ผมไม่ได้ทำอีเอเพราะอยากเป็น "อีลอน มัสก์เมืองไทย" แบบที่เขาเรียก หรือเพราะผมอยากจะรวย ถ้าไปดูชีวิตผม ก็ยังนั่งรถไฟฟ้า กินข้าวข้างถนน นั่งมอเตอร์ไซต์เหมือนเดิม
คนที่รู้จักผมมา 20-30 ปี จะรู้ว่า ผมใช้ชีวิตไม่ต่างจากอดีต ผมไม่ได้ใช้เงินหรูหรา ฟุ่มเฟือย ทุกวันนี้ยังใช้เงินตามที่ควรใช้ ถึงผมจะมีเงินเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน พันล้าน แต่เวลธ์ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกผมเปลี่ยนไป
- ถ้าแนะนำคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนธรรมดาแต่อยากประสบความสำเร็จจะแนะนำอะไร
อย่างแรกต้องเตรียมตัว เตรียมมายด์เซ็ต ต้องคิดก่อนว่าอยากเจริญ ต้องคิดบวก ต้องไม่กลัวอุปสรรคทุกอย่างบนโลกนี้ ต้องทำก่อนถึงจะได้ผลลัพธ์
คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า ถ้าไม่ได้อย่างงี้ ฉันจะไม่ทำ ผมพูดกับน้องๆ เรื่อยๆ ว่า ที่ผมเติบโตมาได้เพราะผมทำมากกว่าที่เขา (เจ้านาย)ให้ ผมยอมได้โอกาสโดยการเสียเปรียบ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะไม่ได้โอกาส แล้วจะไม่เห็นโอกาสด้วย
อยากให้คนรุ่นใหม่เริ่มคิดแบบนี้ ไม่ใช่ไปทำงาน เขาจ้างมาให้ทำเรื่องนี้ พอเจ้านายขอให้ทำเรื่องอื่นก็ไม่ทำเพราะคิดว่าจ้างมาแค่นั้น ถ้าจะให้ทำต้องเพิ่มเงินเดือนก่อน หรือแต่งตั้งผมเป็นผู้จัดการถึงจะทำ บอกเลยถ้าผมคิดแบบนี้ตั้งแต่แรก ทุกวันนี้ไม่มีนายสมโภชน์แน่นอน
สมัยก่อนเวลาทำงาน ผมมองบริษัทเหมือนบ้าน เห็นไฟไหม้ตรงไหน แม้ไม่เกี่ยวกับผม ผมจะวิ่งไปช่วย มีเวลาปั๊บ ผมก็อยากเรียนรู้ แผนกอื่นไม่มีคน ผมก็อาสาไปช่วย
ทั้งหมดทำให้ผมรู้หลายมุม มีความรู้มากกว่าคนอื่น พอตรงไหนมีปัญหา เราไปช่วย ไม่ได้คิดอะไร ช่วยไปช่วยมา เจ้านายก็เห็นว่า เด็กคนนี้มันใช้ได้ ก็เกิดโอกาส
โอกาสมันจะเกิด มันเกิดจากตัวเรา เด็กรุ่นใหม่ต้องเริ่มจากตัวเอง คิดในทิศทางที่เจริญ คิดบวก อย่าไปมองว่าคนอื่นเอาเปรียบ เรายิ่งทำเยอะ ยิ่งเก่ง ยิ่งมีประสบการณ์ เวลาจะย้ายงาน หรือไปที่ไหน ไม่มีใครขโมยสิ่งนี่จากตัวเราได้
- ทำงานหนักแบบนี้ มองแนวคิด ‘เวิร์คไลฟ์บาลานซ์’ ยังไง
ผมมองว่าเวิร์คไลฟ์บาลานซ์คือสิ่งที่ควบคู่กับเรา เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ได้มีมิติเดียว มีทั้งการทำงาน ครอบครัว เพื่อน และสังคม พูดง่ายๆ เวิร์คก็คือสิ่งที่คุณไปทำงาน ไลฟ์ก็คือสังคม เพื่อน ครอบครัวนั้นแหละ
คุณจะอยู่กับมันยังไงให้มีความสุข อยู่ยังไงให้คุณประสบความสำเร็จ แล้วต้องแข็งแรงด้วยนะ คอนเซ็ปต์มีแค่นี้ แต่คุณจะทำไงให้บาลานซ์
ในมุมของผมการบาลานซ์ดีที่สุดคือทำให้ทุกเรื่องมันอยู่ด้วยกัน เพราะทำไมเราต้องขีดเส้นว่าแต่ละเวลาจะทำอะไร
ความเป็นจริงมันได้ไหม ครอบครัวก็ต้องอยู่กับเราตลอด เพื่อนก็เหมือนกัน ทำงานอาจจะปิดเสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าคุณโตขึ้นเรื่อยๆ ความรับผิดชอบมากขึ้น งานอาจจะเข้ามาอยู่ในชีวิตคุณมากขึ้น
ผมเชื่อว่าเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ที่ดีคือการทำทุกอย่างพร้อมกัน แต่ให้น้ำหนักแต่ละเรื่องในแต่ละเวลาไม่เท่ากัน อย่างเช่นเวลาคุณทำงาน มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะลืมครอบครัวไว้ข้างหลัง ไม่ติดต่อกับเพื่อน เพียงแต่คุณอาจจะต้องโฟกัสงานมากกว่า
ขณะที่สุดสัปดาห์ หยุดยาว คุณอาจจะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าในหัวจะเลิกคิดเรื่องงานไปเลย ผมว่าอันนั้นผิด เพราะงานมันอยู่กับคุณตลอด คุณหยุดไปสองวัน วันจันทร์คุณก็ต้องกลับไปทำมันต่อไหม
ท้ายที่สุด ผมอยากให้ลองคิดเรื่องการทำงานเหมือน CPU ซึ่งมีทั้ง Energy Core (E Core) และ Power Core (P Core) คือตอนงานน้อยๆ ก็ใช้ E Core ส่วนตอนไหนงานเยอะก็ใช้ P Core ใช้งานผสมกันแบบนี้ให้มันบาลานซ์กัน