'คนไทย' ยุคดิจิทัล 2024 'อ่านหนังสือ' มากขึ้น 2 ชั่วโมงต่อวัน
คำกล่าวที่ว่า 'คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด' ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป ผลสำรวจล่าสุด พบว่า คนไทยอ่านหนังสือ 2 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งพฤติกรรมการอ่านก็เปลี่ยนไป อย่างไร มาดูกัน
คนไทย อ่านหนังสือ มากขึ้น ลบคำกล่าวหาว่า คนไทยอ่านหนังสือปีหนึ่งไม่เกิน 8 บรรทัด ได้แล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือได้ออกมาประกาศให้รับรู้กัน
คนไทยไม่อ่านหนังสือแล้ว หนังสือราคาแพง ขายไม่ได้ คนไทยไม่ซื้อ หันไปอ่านออนไลน์แทน นักเขียนก็ไม่พิมพ์หนังสือแล้ว เอาไปลงรายตอนในออนไลน์แทน เป็นอย่างนั้นจริงหรือ ?
สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า คนนอกมักไม่รู้ข้อมูลเท่ากับคนในวงการหนังสือ ผลสำรวจล่าสุดตอนนี้คนไทยอ่านหนังสือปีละเกิน 8 บรรทัดแล้ว
"เมื่อช่วงต้นปี สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจนักอ่าน 1,500 คน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย พบว่า ตอนนี้คนไทยอ่าน 113 นาทีต่อคนต่อวัน
สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (PUBAT)
เทรนด์การอ่านหนังสือเล่ม กลุ่มวัยรุ่นหันมาอ่านหนังสือเยอะขึ้น ปกติอยู่ในโลกโซเชียล อยากจะออกมา แต่ไม่รู้จะไปที่ไหน การอ่านหนังสือก็เป็นทางเลือกหนึ่ง
มีสถิติที่น่าแปลกใจ คือ E-book เราคิดว่าคนอ่านเป็นวัยรุ่น แต่จริง ๆ แล้วเป็นผู้สูงวัยอ่านมากกว่า เพราะสามารถขยายข้อความได้ และมีระบบอ่านออกเสียงให้ฟังได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
กลุ่มอายุที่อ่านน้อยที่สุด คือ กลุ่มคนวัยทํางาน เนื่องจากมีภาระหน้าที่การงาน ภาระค่าใช้จ่าย ทําให้ไม่มีเวลาอ่าน
ภาพรวมตลาดหนังสือไทย มีผู้อ่านมากที่สุดในกลุ่ม การ์ตูน, นิยาย, จิตวิทยา, How to, ให้กําลังใจ, ธรรมะ
การศึกษานี้ ทำให้เห็นว่า ผู้อ่านใช้เวลาบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น การอ่านและการขายหนังสือก็เปลี่ยนไปอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น ทั้งรูปแบบ E-book และรูปแบบหนังสือเล่ม ที่ขายผ่านร้านค้าอีคอมเมิร์ช
Cr. Kanok Shokjaratkul
ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Shopee พบว่า มีร้านหนังสือเปิดใหม่บน Shopee มากกว่า 500 ร้าน เป็นร้านค้าของสํานักพิมพ์ที่เปิดขายหนังสือของตัวเอง โดยไม่ผ่านสายส่งและระบบร้านหนังสือแบบเดิม
มีการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ไลฟ์ขายหนังสือ, รีวิว, บอกกล่าว ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เรียกว่า ป้ายยาหนังสือ เป็นกลยุทธทางการตลาดที่ได้ผลมากกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการแจกของแถม การลดราคาตามเทศกาลหนังสือ มีให้คูปอง โค้ดลดราคา มาแข่งขันกันบนแพลตฟอร์มแทน
แพล็ตฟอร์ม E-book ก็มีการอ่านมากขึ้น เช่น MEB-Mobile Ebook มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60% มีรายได้ในปีล่าสุด 2,000 ล้านบาท มีการเติบโตกว่า 100% ติดต่อกัน 3 ปี สามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2565 ทำให้เห็นว่ามีการถ่ายเทมูลค่าตลาดจากหนังสือเล่มมาเป็น E-book ชัดเจนมากขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติปี 2566 พบว่า จํานวนหนังสือที่ผลิตเป็น E-book อย่างเดียวไม่พิมพ์เล่ม มีมากถึง 4,086 ปก เมื่อเทียบกับจํานวนหนังสือเล่ม 29,265 ปก คิดเป็น 12% ของ จํานวนหนังสือทั้งหมดที่ตีพิมพ์
หลังจากโควิด ธุรกิจหนังสือฟื้นตัวดีขึ้น ข้อมูลจากการจัดงานหนังสือที่ผ่านมา 12 วัน มีผู้เข้าชมงาน 1,600,000 คน มียอดขาย 14,000 ล้านบาท การันตีได้ว่า หนังสือยังไม่ตาย
ในงานนี้ 5 อันดับหนังสือขายดี ได้แก่ นิยาย (รวมนิยายวายด้วย) 41% ไลท์โนเวลและมังงะ 21% แนวพัฒนาตนเอง How to 11% หนังสือเตรียมสอบ 13% สุขภาพ 10%
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
หนังสือราคาแพง สมาคมฯจะทำอย่างไร
นายกสมาคมฯกล่าวว่า ภาครัฐสามารถช่วยได้
“หนังสือราคาแพง เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง สมัยก่อนพิมพ์ครั้งจะ 3,000 เล่ม เดี๋ยวนี้พิมพ์ 3,000 เล่ม หายากแล้ว ต้นทุนการผลิตหนังสือเพิ่มขึ้น มาจากสองปัจจัย
1) ต้นทุนภายนอก ราคากระดาษนําเข้าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% ตั้งแต่ปี 2563 และค่าระวางขนส่งทางเรือก็เพิ่มขึ้นสูง ผลิตภัณฑ์กระดาษในประเทศก็มีไม่เพียงพอต่อการใช้งานและมีต้นทุนค่าขนส่งสูง
2) ต้นทุนภายใน ของการผลิตหนังสือ ทั้งค่าต้นฉบับ ภาพประกอบ บรรณาธิการ ค่าแรงต่าง ๆ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ถ้าเป็นไปได้อยากจะวิงวอนภาครัฐ ถ้าควบคุมราคากระดาษได้ จะส่งผลช่วยสำนักพิมพ์ หรือภาครัฐมีการันตีว่า พิมพ์มา 1,000 เล่ม ภาครัฐซื้อ 500 เล่ม ไปเข้าห้องสมุด เราอยากให้ขยายห้องสมุดสู่ชุมชนภูมิภาคให้มากกว่านี้ เพราะห้องสมุดในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์คนที่อยากอ่าน และไม่ทั่วถึง
จากข้อมูลของสมาคมฯ ธุรกิจหนังสือเคยมีมูลค่าตลาดสูงสุด 25,000 ล้านบาทในปี 2557 ก่อนที่ลดลงถึงจุดต่ำสุด 12,000 ล้านบาทในปี 2563 จากการถดถอยและสูญหายไปของตลาดหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
ในปี 2566 มูลค่าตลาดรวมของหนังสือฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 17,000 ล้านบาท อาจเกิดจากราคาหนังสือต่อเล่มที่สูงขึ้นประมาณ 30% "
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
วงการหนังสือ กลายเป็นตลาดหนังสือเฉพาะกลุ่ม ?
การใช้ชีวิตในปัจจุบัน เป็นโลกโซเชียลมีเดีย ทุกคนมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในมือ สามารถเข้าถึงสื่อทุกชนิดได้
"กลุ่มนักอ่านที่สนใจเรื่องเดียวกันก็รวมตัวกันเป็นชุมชน ส่วนนักเขียนก็เผยแพร่ผลงานในวงจำกัดของตัวเอง กลายเป็น Niche Market เมื่อผู้อ่านต้องการรูปแบบหนังสือเล่ม ก็มีการพิมพ์ด้วยตนแอง แบบ Print On Demand กลายเป็นตลาดย่อยที่แตกกระจาย Fragmented Market
Cr. Kanok Shokjaratkul
เมื่อตลาดเฉพาะกลุ่มเติบโตมีมูลค่ามากขึ้น สํานักพิมพ์รายใหญ่ก็จะเข้ามาตีพิมพ์เลียนแบบ เกิดภาวะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและกลายเป็นกระแสหลักในเวลาต่อมา
จากสถิติจํานวนสํานักพิมพ์ที่สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้น จากจุดต่ำสุด 282 ราย ในปี 2563 เป็น 383 ราย ในปี 2567 ยังมีสํานักพิมพ์และนักเขียนอิสระตีพิมพ์ด้วยตนเองที่ไม่ได้เข้าร่วมกับสมาคมฯอีกจำนวนหนึ่ง”
ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการด้านต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
-
นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ มีอะไรบ้าง
ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการด้านต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยและ อนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ กล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับเสียงเรียกร้องมากที่สุดเกี่ยวกับหนังสือ คือ การเข้าถึงหนังสือ
"โดยเฉพาะเรื่องราคาหนังสือ ซึ่งรากฐานมาจากจํานวนพิมพ์ที่น้อยลง นโยบายที่ตรงจุดและแก้ปัญหาได้มากที่สุด คือ การเพิ่มอุปสงค์ผ่านการขยายห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนรู้ และตั้งงบประมาณจัดซื้อหนังสือเพื่อบริการให้แก่ประชาชน จะช่วยเพิ่มจํานวนพิมพ์ ลดราคาต่อเล่มลงทันที
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่ผ่านมา การจัดซื้อหนังสือจํานวนมากจากภาครัฐมักเกิดปัญหาการทุจริต ดังนั้นการจัดซื้อหนังสือควรมาจากความคิดเห็นของประชาชนในเขตที่ห้องสมุดนั้นตั้งอยู่ มากกว่าจะเป็นกรรมการที่มีอํานาจจัดหาหนังสือ
หรืออาจใช้วิธีการให้ คูปอง ซื้อสินค้าหนังสือหรือสินค้าวัฒนธรรมแก่เด็กและเยาวชนไปเลือกซื้อหนังสือจากร้านตามใจชอบ เช่น ฝรั่งเศส, ไต้หวัน และทุนในโครงการ หนึ่งอ่านล้านตื่น ที่สมาคมฯดําเนินการอยู่
หรือมีนโยบายอุดหนุนทางภาษี เงินกู้ต้นทุนต่ำแก่ผู้ผลิต การลดหย่อนภาษีจากการซื้อหนังสือ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษพิมพ์หนังสือและบริการจัดพิมพ์หนังสือ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่งเสริมการแปลหนังสือไทยออกไปต่างประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายด้านหนังสือ จําเป็นต้องมีเจ้าภาพหน่วยงานรับงบประมาณเพื่อดําเนินการต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ คือการจัดตั้ง สถาบันหนังสือแห่งชาติ ขึ้นมาภายใต้องค์กรวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (THACCA)
มาตรการดังกล่าวจะเกิดขึ้นสําเร็จไม่ได้ ถ้าคนในสังคมไม่เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ต้น การอ่านหนังสือต้องอยู่ในกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่ทารกสู่ปฐมวัย การศึกษาชั้นอนุบาลไปพร้อมกัน
ไม่ใช่การเร่งรัดให้เด็กท่องจําอ่านออกเขียนได้ ซึ่งทําลายพัฒนาการและสร้างความเบื่อหน่ายหนังสือฝังใจตั้งแต่วัยเด็ก
Cr. Kanok Shokjaratkul
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ก็จัดหาหนังสือที่เหมาะกับช่วงวัย ให้เข้าถึงได้ เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมความรู้ และจินตนาการ นําไปต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ต่อไป
การส่งเสริมการอ่านจําเป็นต้องบูรณาการทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การอ่านหนังสือเป็นวัฒนธรรมควบคู่ไปกับพัฒนาการตั้งแต่ปฐมวัยจนเติบโต"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
ผลักดันหนังสือไทยไปสู่เวทีโลก
อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ กล่าวต่อว่า การส่งออกหนังสือและวรรณกรรมสู่ตลาดสากล เป็นช่องทางหนึ่งที่จะบอกเล่าเรื่องราว ความรู้ วัฒนธรรมของไทยให้นานาประเทศได้รับรู้
"ทั้งอาหาร, ศิลปะ, กีฬา, ท่องเที่ยว สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของหนังสือ สามารถดัดแปลงไปเป็นสื่ออื่นได้
ประเทศไทยมีหนังสือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่นิยมในตลาดต่างชาติคือ นิยาย BL GL เป็นกระแสร่วมกับ ซีรีส์ สามารถปักธงให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์และส่งเสริมการดัดแปลงเนื้อหาผลิตของทั้งเอเชียตะวันออกและของโลกได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากรัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกของอาเซียนและชาติที่สามของเอเชีย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีทําเลและจุดยืนที่ดีในการส่งเสริมการจัดงานซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ เพราะไทยมีข้อจํากัดทางการตีพิมพ์หนังสือน้อยกว่าชาติอื่น ทั้งด้านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และข้อจํากัดการเผยแพร่งานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ
สมาคมฯ ประสบความสําเร็จจากการจัดงาน Bangkok Rights Fair ครั้งแรกในปี 2567 ได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (TCEB)
Cr. Kanok Shokjaratkul
มีสํานักพิมพ์และตัวแทนลิขสิทธิ์จาก 14 ชาติเข้าร่วมกว่า 88 ราย กว่า 200 คน ประเมินมูลค่าซื้อขายลิขสิทธิ์กว่า 40 ล้านบาท
ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นและสร้างมูลค่าซื้อขายลิขสิทธิ์มากกว่าเดิม ช่วยลดการขาดดุลทางด้านค่าลิขสิทธิ์ ช่วยเพิ่มรายได้จากการจัดประชุมและการท่องเที่ยวจากกลุ่มผู้เข้าร่วมงานได้อีกด้วย"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
AI ปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลกระทบอย่างไรกับวงการหนังสือ
กรรมการด้านต่างประเทศของสมาคมฯมองว่า ควรมีมาตรการรับมือกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในแบบ Large Language Model และแบบอื่นที่ใหม่กว่า เพราะว่า AI มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
"ในด้านเนื้อหาการผลิตหนังสือ ยังไม่มีการใช้ AI แปลแบบทั้งเล่ม เพราะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนพฤติกรรมนักเขียนนักอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการหนังสือทั่วโลก
Cr. Kanok Shokjaratkul
สมาคมฯได้พูดคุยกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์สากล (International Publishers Association) และองค์กรเนื้อหาสร้างสรรค์ของไต้หวัน (TAICCA) มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า
กิจการร้านหนังสือที่จะสามารถอยู่ต่อไปได้ในอนาคต จะต้องมีกิจกรรมที่มากกว่าขายหนังสือ คือ เป็นชุมชนแห่งการอ่านของคนรักหนังสือ, มีการจัดงานหนังสือ (Book Fair), มีงานพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้ผลิตหนังสือและผู้อ่าน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
-
หนังสือแปล ครองพื้นที่อันดับหนึ่งในประเทศไทย
ข้อมูลของสมาคมฯพบว่า 70% ของยอดขายหนังสือในไทย เป็นหนังสือแปล การ์ตูนและนิยาย
"เมื่อประกอบกับข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติ พบว่า ในปี 2566 มีวรรณกรรมแปลตีพิมพ์ในไทยจํานวน 4,254 ปก ขณะที่วรรณกรรมไทยตีพิมพ์เพียง 2,102 ปก
Cr. Kanok Shokjaratkul
หนังสือการ์ตูน 4,205 ปก ส่วนใหญ่แปลมาจากต่างประเทศ หนังสือประเภทอื่น เช่น จิตวิทยา การเงิน หนังสือเด็กและเยาวชน ก็มีสัดส่วนการแปลจากต่างประเทศในอัตราสูง
เราควรใช้ยอดซื้อเข้านี้แลกเปลี่ยนกับการแปลหนังสือไทยขายลิขสิทธิ์ออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการแปล ทั้งโดยการให้ทุนแปลหนังสือกับสํานักพิมพ์ต่างชาติ หรือให้ทุนแปลแก่สํานักพิมพ์และนักเขียนไทยเพื่อลงขายแบบดิจิทัลในแพลตฟอร์มระดับสากล"
-
ร่วมด้วยช่วยกัน
ธีรพจน์ โชคอนันตัง ผู้อำนวยการ การตลาดบัตรเครดิต เคทีซี หรือ บริษัทบัตรกรุงไทย (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า เคทีซีมีโครงการสนับสนุนคนไทยรักการอ่านมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2015
"เคทีซี ได้ร่วมกับภาคธุรกิจร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งใน กรุงเทพฯและต่างจังหวัด มากกว่า 35 โครงการ ต่อปี
ธีรพจน์ โชคอนันตัง ผู้อำนวยการ การตลาดบัตรเครดิต เคทีซี
มอบสิทธิประโยชน์ส่วนลดสูงสุด 15% แก่ร้านค้าพันธมิตร และช่องทางการจําหน่ายออนไลน์ ด้วยการใช้ e-coupon คะแนนสะสมเคทีซีแลกรับเครดิตเงินคืน 18% จากอัตราปกติ 10%
สําหรับลูกค้าที่ซื้อปริมาณมาก บริษัทมอบสิทธิประโยชน์เพื่อแบ่งเบาภาระการชําระคืน ด้วยบริการผ่อนชําระกับบัตรเครดิต KTC ในอัตราดอกเบี้ย 0.69% ต่อเดือน จากปกติ 0.80% ต่อเดือน นานสูงสุด 10 เดือน
ปีที่ผ่านมา เคทีซีมีจํานวนสมาชิกบัตรที่ใช้จ่ายที่สํานักพิมพ์หรือร้านหนังสือ 160,456 ราย
Cr. Kanok Shokjaratkul
มีการใช้งบประมาณสนับสนุนการแลกคะแนนอัตราพิเศษและดอกเบี้ยพิเศษประมาณ 2 ล้านบาท (1.98 ล้านบาท)
กระจายสิทธิประโยชน์ไปทั่วประเทศ ผู้ซื้อที่ถนัดหน้าร้านก็ไปที่หน้าร้าน ผู้ซื้อที่ถนัดออนไลน์ก็ช็อปออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกที่ทุกเวลา
เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้อ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น เข้าถึงการอ่านหนังสือมากขึ้น อยากชวนคนไทยทุกคนทั้งสมาชิกบัตรเคทีซีและไม่ใช่ มาร่วมกันอ่านหนังสือให้เยอะ ๆ "