‘จูน-จรีพร’ ผู้นำที่ไม่ (เคย) หมดไฟ ไม่มีเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ และไม่แตกสลาย
“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับ คุณจรีพร จารุกรสกุล หรือ “พี่จูน” กับหมวกใบปัจจุบันคือ ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เธอคือผู้หญิงที่บริหาร ปลุกปั้น และพัฒนา บริษัทจดทะเบียนซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน
เธอคือผู้หญิงที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดึงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย
เธอคือผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำธุรกิจและคนทั่วไปอีกจำนวนมากที่อยากประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแบบเธอ
เธอคือผู้หญิงที่ทำงานหนักมาก นอกจากจะเพื่อตัวของเธอและครอบครัวแล้ว ยังทำงานหนักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานในองค์กรให้มีความมั่นคงมากขึ้น
และเธอคือผู้หญิงที่นอกจากจะมีบาทในการบริหารจัดการองค์กรที่เธอปลุกปั้นมากับมือ เธอยังเป็นคุณแม่ที่ไม่ว่าจะเหนื่อยสักแค่ไหนก็ยังต้องตื่นตี 5 เพื่อไปส่งลูกสาวของเธอไปโรงเรียน
วันนี้ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับ “ผู้หญิง” ท่านนี้คือ คุณจรีพร จารุกรสกุล หรือ “พี่จูน” กับหมวกใบปัจจุบันคือ ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าใจมุมมองการทำงาน ใช้ชีวิต วิธีคิด และประวัติพื้นเพก่อนที่จะกลายมาเป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทให้ลึกซึ้งมากขึ้น
1. เล่าให้ฟังได้ไหมว่ากิจวัตรหนึ่งวันทำอะไรบ้าง
ส่วนมากพี่จะตื่น 6.00 น. แล้วจะมีเวลาสองชั่วโมงแรกของวันเป็นเวลาส่วนตัว โดยสิ่งแรกที่ทำคือทานอาหารเช้า ระหว่างนั้นก็เช็กข่าวกับตอบอีเมล พอ 8.30 – 9.30 น.ก็จะเริ่ม Morning Call กับผู้บริหารระดับซีเลเวลแบบวันละหนึ่งคน หลังจาก 9.30 น. เป็นต้นไป ก็ประชุมไปเรื่อย ๆ แบบไม่หยุด ส่วนตอนเย็นก็แล้วแต่วันมี Business Dinner ก็ไป หรือบางทีอาจจะมีทานข้าวกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ก็ไปตามนัด
ส่วนบางวันที่ไม่มีถ่ายรายการ ไม่ต้องแต่งหน้าทำผม พี่ก็ตื่น 5.00 - 5.30น. มาออกกำลังกาย วิ่ง เล่นเวท ซิทอัพ วิดพื้น จะเห็นว่าชีวิตตลอดทั้งวันก็จะปกติ เรียบง่ายแบบนี้ไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นมาก
2. เวลาสองชั่วโมงตอนเช้ามีค่ามากน้อยแค่ไหน
มีค่ามาก เป็นเวลาที่ใครก็มายุ่งกับพี่ไม่ได้ เพราะระหว่างวันต้องเจอคนมากหน้าหลายตา ดังนั้นเวลาส่วนตัวพี่จะอยู่กับตัวเอง ตั้งแต่นั่งทานข้าวชิล ๆ อาบน้ำ ฟังเพลงระหว่างอาบน้ำ ตอบไลน์ เช็กอีเมล อย่างที่บอกไปว่าประมาณ 6.00 – 6.30 น. จะเริ่มเช็กอีเมลและไลน์ เพราะพี่เป็นคนที่นอนเร็ว ถ้าไม่ได้ไปดินเนอร์ข้างนอก 3-4 ทุ่มก็หลับแล้ว
พี่จะเช็กไลน์ หรืออีเมลครั้งสุดท้ายของวันคือประมาณ 2-3 ทุ่ม แล้วถึงมาเช็กอีกครั้งตอนเช้า ดังนั้นคนที่ทำงานด้วยก็จะรู้ว่า 6.30 น. จะเป็นเหมือน Morning Call ของพวกเขา พี่จูนจะเริ่มสั่งงานแล้ว (หัวเราะ)
3. มีปรัชญาหรือหลักคิดในการบริหารองค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้ยังไง
หลักการบริหารองค์กรที่สำคัญมากๆ คือการสร้างทีมเวิร์ค อันนี้สำคัญมาก องค์กรจะไปต่อไม่ได้ถ้าทีมงานไม่แข็ง ทีมงานไม่เข้าใจ ทีมงานไม่ไปในทางเดียวกัน ดังนั้นในฐานะผู้นำแนวทางการสร้างทีมที่ดีคือเรื่องจำเป็น
พี่พูดเสมอว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมเหมือนการเล่นวงออร์เคสตราใหญ่ๆ ถ้าคนเก่งมารวมตัวกันแต่ทำงานกันคนละทาง เพลงของคุณก็ไม่เพราะอยู่ดี ดังนั้นหน้าที่ของพี่คือจะทำยังไงให้เสียงเพลงมันเพราะมากที่สุด ดังนั้นผู้นำต้องรู้ว่านักดนตรีแต่ละคน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้น สามารถเล่นเพลงได้เพราะขนาดไหน
หมายความว่าคุณต้องรู้ศักยภาพของสมาชิกในทีมว่ามีมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะดึงศักยภาพสูงสุดของเขาออกมาได้อย่างไร หรือเราจะเติมสิ่งที่เขาขาดหายไปได้อย่างไร เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตไปได้ไกลที่สุด
สรุปหลักง่ายๆ คือ หนึ่งต้องรู้จักคนของคุณ สองต้องสร้างความเชื่อใจ สร้างทรัสต์ในทีมให้ทุกคนมาผสานกันให้ได้ บรรเลงเป็นเพลงที่ไพเราะขึ้นมา และสามต้องสร้างโน้ตใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย
ทุกคนต้องการพัฒนาตัวเอง ถ้าเขาไม่ได้พัฒนา เล่นเพลงเดิมซ้ำทุกวัน เขาก็เบื่อ หน้าที่ของผู้นำคือเติมโจทย์ใหม่ๆ เข้าไป โยนโจทย์ที่มันยากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การคิดค้นคอนเซ็ปต์ธุรกิจใหม่ต่างๆ แล้วโยนเข้าไปในทีมให้เขาได้รับการพัฒนาและการเรียนรู้เพิ่มขึ้น วงดนตรีของเราก็จะสามารถเป็นวงระดับโลกได้
4. WHA Corporation มีวิธีดึงศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในองค์กรอย่างไร
เรามีหลักสูตรแบบบูธแคมป์เทรนเรื่องพวกนี้เยอะมาก เราจะมี Talent ของเราเลยว่า กลุ่มไหนอยู่ใน Talent Group เราก็จะเทรนน้อง ๆ เหล่านั้นขึ้นมา แต่ละคนก็มีความแตกต่างไม่เหมือนกัน
เราจะดูว่าต้องเติมอะไรให้เด็กแต่ละคน จุดอ่อนเขาคืออะไร จุดแข็งเขาคืออะไร เขาต้องการเติมอะไรเข้าไป ก็จะดูตั้งแต่ตรงนั้นขึ้นไป และถ้าถึงจุดหนึ่งเขาเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว พี่ก็จะเริ่มเวียนตำแหน่ง ไม่ควรอยู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งนานเกินไป เพื่อให้เขารู้เรื่องในมุมกว้าง การที่เป็นเด็กเข้ามาแล้วไต่ระดับเป็นผู้บริหารไปเรื่อยๆ เขาต้องเรียนรู้หลากหลายมาก
โดยเฉพาะในบริบทของ WHA Group เรามีถึง 4 กลุ่มธุรกิจ แต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรียนรู้เเค่เรื่องเดียว พอถึงเวลาจะขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับบนจะค่อนข้างจะยาก
ทุกอย่างต้องรู้แบบกว้าง หรือ Generalist พอคุณเรียนจบมาคุณอาจจะเป็น Specialist (เก่งด้านใดด้านหนึ่ง) แต่พอไปถึงสักพักหนึ่ง คุณต้องรู้มุมกว้าง จึงจะเข้าใจว่าเมื่อเติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูงจะทำยังไง
5. ย้อนกลับไปวันที่เป็น ‘เด็กรุ่นใหม่’ คิดว่าตัวเองมีศักยภาพอะไร แล้วใครเป็นคนดึงเอามันออกมา
สิ่งแรกที่รู้ตัวคือพี่เป็นนักขายที่เก่งมาก พี่เก่งเรื่องการมองภาพใหญ่ของการทำการตลาด ในขณะเดียวกันพี่ก็เก่งเรื่องการเงินมาก เมื่อสองอย่างประกอบกันจึงทำให้พี่คิดเรื่องการตั้งบริษัทเอง แต่จริงๆ เรื่องการสร้างธุรกิจ พี่คิดตั้งแต่เด็กแล้ว
ถ้าถามว่าใครดึงศักยภาพของพี่ขึ้นมา คือ "นพ.สมยศ อนันตประยูร" สามีพี่ซึ่งเจอเขาตอนนั้นพี่พึ่งอายุ 21-22 ปี ก็ได้เจอคุณหมอซึ่งอายุมากกว่าพี่ 7 ปี
เขาเป็นเหมือนอาจารย์คนแรกนอกมหาวิทยาลัยที่สอนพี่เรื่องชีวิตเยอะมาก เขาเป็นคนแรกที่บอกกับพี่ว่า พี่คือเพชรที่ยังไม่ได้ผ่านการเจียระไน เป็นเพชรเม็ดใหญ่ น้ำดีมาก แต่ต้องเจียระไน แล้วจะเป็นเพชรที่เปล่งประกายมาก เขาเคยบอกว่าสักวันหนึ่งพี่จะเก่งเกินเขา ตอนนั้นพี่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพี่มองว่าพี่หมอเป็นคนเก่งมาก
คุณหมอบอกว่าเธอยังไม่รู้ตัว เมื่อโดนเจียระไนแล้ว จูนจะรู้เองว่าเป็นยังไง ก็จะมีแค่คุณหมอนี่แหละที่ดึงศักยภาพพี่ออกมา เป็นคนที่เชื่อในตัวพี่ว่ามีศักยภาพสูงมาก ซึ่งในตอนนั้นพี่ยังไม่คิดเลย คิดแค่ว่าตัวเองก็โอเค กลางๆ ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย เพียงแต่พี่รู้จุดแข็งของตัวพี่เองแค่นั้น
6. คุณหมอเจียระไนอะไรในตัวพี่จูนออกมา
เขาสอนพี่เรื่องการใช้ชีวิตมากกว่า คือจากเดิมพี่อาจจะเรียนหนังสือโอเค เขาก็คอยบอกเราว่าต้องเติมเรื่องนี้ขึ้นมา หรือถ้าเขามีความรู้ใหม่ๆ เขาจะชอบมาพูดให้พี่ฟังเสมอ
ช่วงแรก ๆ ที่พี่ขี้เกียจอ่านหนังสือ คุณหมอจะอ่านหนังสือใหม่มากมาย แล้วก็มาสรุปให้พี่ฟัง เขาเป็นคนชอบเรื่องคน การจัดการคน แต่พี่เป็นคนไม่ชอบเรื่องการจัดการคน ตรงนี้เขาก็พยายามบอกเราว่าต้องพยายามฝึกเพิ่มเติม แต่ความโดดเด่นของพี่คือการมองเรื่องธุรกิจและการเงิน ตรงนี้พี่สามารถเติมเต็มได้ รวมทั้งเขาก็เป็นคนสอนพี่เรื่องการซื้อขายหุ้นทำให้เห็นภาพเรื่องตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้น
7. จุดแข็งอะไรที่ได้มาหลังจากที่ถูกเจียระไนแล้ว
พี่ไม่ได้แค่เป็นเพชรหรอกค่ะ พี่เป็นอะไรที่มันสามารถเติบโตอย่าง Unlimited (ไม่หยุดหย่อน) พี่ไม่ได้แค่คม แค่ Sharp หรือแข็งแกร่งเท่านั้น เพชรอาจจะแข็งแกร่ง Sharp คม มีมูลค่า แต่พี่มีมากกว่านั้น พี่มีสิ่งที่มีมูลค่ามากกว่านั้น
เพชรถึงแข็งแกร่งยังไงก็แตกสลายได้ แต่พี่ไม่แตกสลาย พี่ Resilience (ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้) พี่สามารถยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น เรื่องที่เข้ามากระทบชีวิต มันไม่สามารถทำให้พี่แตกสลายได้ พี่ว่าจากที่พี่บอกว่าเป็นเพชร จริงๆ พี่อาจจะเป็นน้ำก็ได้มั้งคะ ยืดหยุ่นได้ทุกสถานการณ์
8. เล่าเหตุการณ์ในอดีตที่เหมือนจะแตกสลาย แต่ยังกลับมาได้ไหม
การจะโตมาขนาดนี้ แต่ละช่วงชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันไม่ได้ง่ายๆ เลย เคยท้อ เคยถอดใจ เคยคิดว่าขอหลับไปเลยก็ได้เรื่องมันก็น่าจะดี เครียดจนปากเบี้ยวก็เครียดมาแล้ว นอนกัดฟัน นอนขมวดคิ้ว นอนไม่หลับตลอดเวลา ก็เป็นมาทุกอย่างแล้วที่มันควรจะเป็น
พี่ว่าทุกๆ คนแหละค่ะ ที่จะมาถึงจุดนี้ได้ ทุกเรื่องเป็นมากันหมด ไม่อยากอยู่แล้วก็มี ไม่ทำแล้วไหม เลิกเลยดีไหม มันมาทุกคน ถึงจุดหนึ่งจุดที่เราอ่อนแอ บางทีก็ปล่อยอารมณ์แบบนั้นขึ้นมา แต่เราต้องมีสติ
พอเรานิ่ง มีสติ ก็จะเริ่มมานั่งคิดต่อว่าชีวิตเราจะเอายังไงกับมันต่อ ปัญหาแบบนี้ จะแก้ยังไง ให้มันเดินต่อไปข้างหน้าได้ เราต้องเชื่อว่ามีอนาคต ข้างหน้าต้องสดใส แล้วคุณจะฮึดสู้ขึ้นมา หลายๆ คนบอก ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาให้ได้ เจ็บแค่ไหนก็ต้องลุกขึ้นมา เพราะว่าอนาคตมันมีอะไรน่าสนใจกว่าปัจจุบันมากมาย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น ตอนที่พี่ก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ ตอนนั้นพี่เจอเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งถ้าพลาดแม้แต่นิดเดียวคือหมดตัว หมดตัวกว่าที่เคยทำมาทั้งหมด ชื่อเสียงพังหมด แต่พอมานั่งใช้สติกับมันว่ายอมแพ้ไม่ได้ ทำยังไงให้ตรงนี้มันจบให้ได้ แล้วพอมันผ่านมาได้ เราก็ โอเค เราผ่านจุดนี้มาได้แล้วนะ แล้วเราจะไปยังไงต่อกับบริษัทของเรา
หนึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ทุกปัญหาที่เผชิญจะเป็นบทเรียนให้เรา พอจะทำเรื่องอื่น ก็ต้องระวังจุดนี้เพิ่มเติม พี่ว่าทุกคนแหละคะ ถ้ามาถึงจุดนี้ ทุกคนต้องผ่านความยากลำบาก
9. ย้อนกลับไปตอนเป็นเด็กบทสนทนาบนโต๊ะอาหารเป็นอย่างไร ทำไมถึงเติบโตมาเป็น “จรีพร จารุกรสกุล” ทุกวันนี้
ครอบครัวพี่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการ์เมนท์ (Garment) หรือเสื้อผ้าสิ่งทอ แล้วในบรรดาพี่น้อง 5 คนพี่เป็นคนที่ 4 ช่วงนั้นบรรดาพี่ๆ ก็จะมาช่วยกันทำธุรกิจที่บ้าน เวลาคุยกันบทโต๊ะอาหารก็คุยเรื่องการค้า เราก็ฟังมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเรื่องการค้าขายก็เข้ามาอยู่ในจิตวิญญาณ สิ่งที่เห็นคือภาพลูกค้าและการทำการค้า
แต่ตัวพี่เอง พี่ไม่ต้องการทำการค้าแบบนั้น ตั้งแต่พี่เด็กๆ พี่ก็มองแล้วว่าอยากทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่แบบที่พ่อแม่ทำ ไม่ใช่ธุรกิจที่ต้องนั่งอยู่หน้าร้าน รอคนมาหา รอลูกค้าเข้ามาในร้าน แล้วก็เปิดร้านเวลาเดิม 8.00 – 22.00 น. ไปไหนไม่ได้ พี่ไม่ชอบทำงานที่มันไม่ยืดหยุ่นแบบนั้น
สิ่งที่อยากทำคือธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่พี่ต้องเริ่มคือวางแผนเส้นทางชีวิตตัวเอง ทั้งสิ่งที่พี่ต้องเรียน ความรู้ที่จะเติมอะไรเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น พี่เชื่อว่าพื้นฐานที่สำคัญมากของคนเราคือพื้นฐานทางด้านสายวิทย์ อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวพี่เป็นคนเก่งเรื่องคำนวณด้วยทำให้พี่ชอบสายวิทย์มาก และก็เรียนสายนี้มาตลอด ดังนั้นคณะที่พี่เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต แต่เป็นคณะทางด้านสาธารณสุข จากนั้นพี่ก็นำความรู้ที่ได้ออกมาทำงาน
พออยู่ในตลาดแรงงานไปสักพัก รู้สึกว่ายังขาดความรู้ทางด้านการบริหาร พี่ก็เรียนต่อ MBA ความรู้เราต้องเติมเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าได้ต้นทุนจากบทสนทนาบนโต๊ะอาหารกับพ่อแม่อย่างเดียวแล้วจะมีวันนี้ ถ้าคุณฟัง แล้วไม่คิดตามไม่ทำอะไร มันก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ
10. บทเรียนการทำธุรกิจอะไรที่ได้จากบทสนทนาบนโต๊ะอาหารของพ่อแม่
พี่ไม่ได้คิดว่ามีบทเรียนอะไรขนาดนั้นเพราะธุรกิจของพ่อแม่เป็นสเกลธรรมดา แต่สิ่งที่ได้มาคือ “ลูกค้าคือหัวใจ” เพราะไม่ว่าคุณจะทำสินค้าอะไรก็ตาม ถ้าลูกค้าไม่ชอบมันก็ขายไม่ได้ ทุกอย่างคือ Customer-centric Theory ที่พี่เอามาใช้ถึงทุกวันนี้ได้
11. ทำงานหนักขนาดนี้ มองเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ยังไง
เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ ทำงานสบาย ไม่มีในโลก ยกเว้นคุณต้องการเป็นอย่างนั้นเอง ชีวิตคุณ คุณต้องเลือกกำหนดของคุณเอง ถ้าบอกว่า คุณต้องการสบายตอนคุณยังหนุ่มสาว ดังนั้นตอนที่คุณอายุมากๆ อาจจะไม่มีอะไรเหมือนคนอื่นเขา มันก็อยู่ที่คุณจะคิด
หรือคุณพอใจชีวิตสบายๆ กินเงินเดือนจนๆ ไปจนกระทั่งคุณเกษียณ ก็แล้วแต่คุณ ชีวิตของคุณเลือกเอง แต่สำหรับพี่ไม่ใช่แบบนั้น
พี่ต้องสร้างโลก สร้างสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือของพี่เอง แต่จุดมุ่งหมายชีวิตพี่ ไม่ได้บอกว่าพี่ต้องรวยมากมาย เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญสำหรับพี่คือสิ่งที่พี่สร้าง สิ่งที่พี่ทำ มันเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหม ไม่ใช่ดีต่อตัวเราด้วยนะ แน่นอนตอนเราเริ่มต้นชีวิต เราก็ต้องอยากให้ผลดีต่อตัวเราเองก่อน เพราะเราต้องอยู่ให้รอด แต่หลังจากนั้นคือการจุนเจือลูกน้อง พนักงานและครอบครัวพนักงาน
พอถึงจุดหนึ่งแล้ว ถ้าเราสามารถดูเรื่องพวกนี้ได้หมด พี่ก็จะดูมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่นในระดับประเทศ ดึงการลงทุนเข้าประเทศ ช่วยเหลือคนไม่มีโอกาส ช่วยสังคมรอบนิคมอุตสาหกรรมของเรา สิ่งที่พี่ทำถามว่าพี่ภูมิใจไหม พี่ภูมิใจมาก แล้วคนของ WHA ก็ภูมิใจมากที่เราไปเพื่อสร้าง WHA ไปที่ไหนที่นั่นต้องเจริญ ไปที่ไหน WHA ไปเพื่อ Give ไม่ใช่ไปเพื่อ Take นั่นคือ WHA, we shape the future ถามว่าคนของคุณจะภูมิใจไหม ถ้าคนของคุณไปไหนมีแต่คนต้อนรับ
12. ทำงานกับคนรุ่นใหม่ยากไหม ช่วงนี้มีกระแสคนรุ่นใหม่ไม่อยากให้เจ้านายโทรหาตอนกลางคืนหรือวันหยุด มองประเด็นนี้อย่างไรบ้าง
พี่ว่าต้องพิจารณาจากทั้งสองฝั่ง อย่าพึ่งโทษหัวหน้าและอย่าพึ่งโทษเด็ก
พี่ก็ไม่โทรหาลูกน้องพี่ในวันหยุดเลยนะคะ น้อยมากที่จะโทร เพราะเกรงใจเช่นกัน แต่ถ้าจะโทร พี่จะบอกว่าขอโทษนะที่โทรมาวันหยุด มีเรื่องเร่งด่วน แต่คนเราไม่ต้องเร่งด่วนตลอดเวลาก็ได้
ยิ่งเดี๋ยวนี้ง่าย คุณสั่งงานทางไลน์ได้ ว่างแล้วก็มาอ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็อาจจะต้องเร็ว แต่ที่เล่ามาคือพี่ ณ วันนี้ เวอร์ชันนี้ ถ้าคุณเจอพี่สมัยก่อนไม่ใช่แบบนี้ ตี 1 ตี 2 ถ้าพี่ส่งอีเมลแล้วคุณต้องตอบ
ตอนนั้นเราสร้างตัว ทุกอย่างต้องเร็วหมด เพราะลูกค้าอยู่ต่างชาติ ลูกน้องพี่เตรียมรับอีเมลตอนตี 2 ได้เลย เพราะว่ากลางวันพี่ทำงานเต็มวัน อาจจะไม่ค่อยตอบอีเมล ตอนเย็นพี่ต้องไป Business Dinner แล้วกลับมาเลี้ยงลูก กว่าลูกพี่จะนอน พี่จะได้เริ่มทำงานใหม่ตอน 22.00 น. อีกรอบหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเวลา 22.00-02.00 น. เตรียมรับอีเมลพี่ได้ เพราะตอน 8.00 น. พี่จะถามแล้วว่างานที่พี่ส่งไปเมื่อคืนเป็นอย่างไรบ้าง นั้นคือชีวิตแต่ก่อนที่เราสร้างตัวเองขึ้นมา แต่ถึงจุดหนึ่งที่อายุมากขึ้นมาแล้ว การสั่งงานของพี่อาจจะไม่ลงรายละเอียดเหมือนสมัยก่อน แต่คนที่ตำแหน่งรองจากพี่ไปอาจจะยังเป็นเหมือนพี่ในอดีตอยู่
ทีนี้ พูดถึงฝั่งเด็กๆ ต้องบอกว่าชีวิตคุณ อยู่ที่คุณออกแบบ ถ้าคุณไม่รับงานวันหยุด ไม่ทำงานวันเสาร์อาทิตย์ พี่ก็บอกว่า Ok Fine แต่วันหลังคุณจะได้รับการ Promote (เลื่อนขั้น) หรือเปล่าพี่ก็ไม่รู้ เพราะคนเรามันต้องทำงาน ลูกค้าเราทั่วโลก ถ้าเกิดต้องการเร่ง ต้องการความเร็วขึ้นมา ถ้าเกิดไม่อยากจะทำงานThat’s it แล้วคุณจะได้อยู่ในองค์กรพี่ต่อไปหรือเปล่าพี่ก็ไม่รู้ ถ้าคุณทำงานแค่นี้แค่ 9.00 – 16.00 น. พี่พูดเพราะว่า มาสายกันเสมอ 8.00 น. โมง ยังมาไม่ถึงหรอก แต่ 16.00 น. เตรียมกลับบ้าน พี่บอกเสมอพี่ไม่ใช่ระบบราชการ ถ้าคุณอยากทำงานแบบนี้ ราชการก็มีรับ
ชีวิตคุณ คุณออกแบบเอง เพราะฉะนั้นพี่บอกแล้ว ไม่มี Work Life Balance มีแต่ Work Life Purpose จุดประสงค์ของคุณต้องการทำอะไร Purpose (เป้าหมาย) ของคุณคืออะไร ถ้าคุณต้องการเติบโตในสายงาน อย่าคิดว่าจะสบายในวันนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากสื่อสารกับทั้งสองฝั่งคือ ตัวหัวหน้าเองก็ต้องดูด้วย ไม่ใช่ Urgent (เร่งรีบ) มันทุกเรื่องเลย ต้องเร่งหมด คุณก็ต้องมานั่งดูด้วยว่า เรื่องบางเรื่องมันไม่ต้อง Urgent ก็ได้ไหม หรือเรื่องบางเรื่องมันไม่ต้องทำขนาดนี้ก็ได้หรือเปล่า ทำให้เด็กเบิร์นเอาท์กันหมด บางคนก็ลงรายละเอียดในงานมากจนเกินไป
พี่ว่าบางครั้งหัวหน้าไม่ต้องลงรายละเอียดขนาดนั้นก็ได้ เอาคอนเซ็ปต์มาคุยกัน ถ้าใช่แล้วค่อยลงรายละเอียด พี่เจอเยอะ บางคนคิดอะไรหลากหลายฉากทัศน์ แต่สุดท้ายเลือกใช้แค่นิดเดียว เด็กทำงานเกือบตาย ทำงาน 5 วัน ถึงเวลาคุณใช้เวลา 5 นาทีในการเลือก
13. ดังนั้นถ้าอยากประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ย ต้องทำงานหนักเกินค่าเฉลี่ยด้วยใช่ไหม
ต้องเกินค่าเฉลี่ยมากด้วย (หัวเราะ)
มันต้องเกินค่าเฉลี่ยมากด้วยค่ะ พี่ไม่เคยเจอใครทำงานสบายๆ วันหยุดไม่ต้องทำงาน ชิลๆ แล้วก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อาจจะมีก็ได้ แต่พี่ไม่เคยเจอ พูดแบบนี้แล้วกัน เพราะบรรดาคนที่พี่เจอ ที่ตำแหน่งขนาดนี้ หรือกระทั่งเจ้าของกิจการที่มาขนาดนี้ ทุกคนก็เป็นอย่างนี้กันหมดค่ะ
14. ทำงานหนักเกินค่าเฉลี่ยขนาดนี้ เคยเจอกันสภาวะหมดไฟบ้างไหม
พี่ทำงานหนักมาก ทำงานหนักมาตลอดทั้งชีวิต แต่พี่ไม่เคยอยู่ในสภาวะหมดไฟเลย พี่ได้ยินมาเยอะมากคำว่าเบิร์นเอ้าท์ พี่ถามหน่อยเถอะว่าแปลว่าอะไร
น้องๆ ที่เบิร์นเอ้าท์แปลว่างานมันเยอะไปใช่ไหม คำถามพี่คือเป็นเพราะงานมันเยอะ หรือคุณจัดลำดับความสำคัญของงานไม่ได้ บางทีพี่ก็ถามว่าเบิร์นเอ้าท์แล้วมีเวลาดูหนังไหม มี มีเวลาฟังเพลงไหม มีเวลาไปดูคอนเสิร์ตไหม คำตอบคือ มี อ่าว แล้ว เบิร์นเอ้าท์ตรงไหน พี่ไม่มีเวลาทำอะไรพวกนี้เลยนะ
สมัยที่พี่สร้างตัวเอง กลางวันพี่ก็ต้องทำงาน ตอนเช้าพี่ต้องไปส่งลูก กลางวันพี่กลับมาทำงาน เย็นพี่ต้องกลับมาดูแลลูก แล้ว 22.00 – 02.00 น. ก็กลับมานั่งตอบอีเมล พี่นอนวันละ 3-4 ชั่วโมงเพราะตี 5 ก็ต้องตื่นมาแต่งตัว ส่งลูกไปโรงเรียน
ถามพี่ว่าเบิร์นเอ้าท์ตรงไหน พี่ก็ไม่ได้เบิร์นเอ้าท์ พี่สนุกกับมัน เอ็นจอยกับมันเพราะทั้งหมดคือความรับผิดชอบของพี่ ถามว่าใครบังคับให้คุณต้องทำงานขนาดนี้ ไม่มีใครบังคับพี่ ทั้งหมดเราต้องการให้บริษัทเติบโต
แล้วลูกพี่ จำเป็นไหมที่ต้องดูแลขนาดนี้ ไปรับไปส่งเอง คำตอบคือไม่มีใครบังคับ ให้พี่เลี้ยงไปส่งก็ได้ใช่ไหม แต่เขาคือลูกพี่ ไม่ใช่ลูกพี่เลี้ยงไง เขาคือความรับผิดชอบของพี่ ไม่งั้นเราก็ไม่ควรมีลูกแล้ว เราต้องดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ก่อนพี่ไม่มีเวลามาแต่งตัวหรือซื้อของเลย สมัยก่อนพี่ตัดสูทปีละครั้ง ตัดทีละ 20 ชุด แบบเดียวกันเปลี่ยนแค่สี ไม่มีมาใส่ชุดกระโปรงแบบทุกวันนี้ อย่างเครื่องสำอางพี่ก็ซื้อปีละสองครั้ง
จนกระทั่งลูกพี่โตถึงเริ่มเบาขึ้น พอลูกพี่ไปเมืองนอกพี่ถึงสบาย จะเห็นว่าชีวิตคุณ คุณเลือกเอง ตอนนี้ลูกพี่เขาโอเคทุกอย่าง เขาน่ารัก ไนซ์มาก จุดนี้พี่ก็มีความสุข
ฉะนั้นถ้าเกิดว่าคุณไม่ดูแลลูกคุณดีๆ แล้วเขาโตมาเป็นปัญหา แล้วสุดท้ายคุณไปว่าลูกตัวเอง บอกเลยว่า ไม่ใช่ เพราะคุณต้องว่าตัวคุณเองก่อน ตอนที่เขายังเด็ก เขาเป็นผ้าขาวคุณสอนเขายังไง คุณดูแลเขาดีพอหรือเปล่าเขาถึงกลายเป็นเด็กที่มีจิตใจดีหรือไม่ดีแบบนั้น
งานก็เหมือนกัน ถ้าคุณทำงานสบายๆ บริษัทคุณก็ไม่โตแบบนี้ นั้นคือสิ่งที่จะต้องเลือก ดังนั้นพี่ไม่เคยหมดไฟ ทุกอย่างที่พี่ทำคือสิ่งที่พี่เลือก ไม่มีใครบังคับ
15. สุดท้าย ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากย้อนกลับไปตอนไหนแล้วไปบอกอะไรตัวเอง
ย้อนกลับไปตอนพี่ 10 ขวบ ตอนนั้นพี่คิดแค่ว่าอยากทำธุรกิจ แต่ตอนนั้นยังเด็กมากไม่ค่อยรู้เรื่องเลยบอกว่าอยากขายของ อยากจะย้อนกลับไปบอกว่า “เธอคิดถูกแล้ว” (ยิ้ม)