คุยกับแอดมินตัวตึง แห่ง 'ซีเอ็ด ประชาชื่น' ผู้พิสูจน์ว่า 'ใบปริญญา' ไม่ใช่ทุกสิ่ง!
ชวนคุยกับแอดมินตัวตึง แห่งเฟซบุ๊กเพจ "ซีเอ็ด ประชาชื่น" ผู้ทลายกรอบ HR องค์กรใหญ่ กับรูปแบบงานที่ไม่เคยมีมาก่อน เหมือนบริษัทจ้างให้มา "อ่านหนังสือและรีวิว" พร้อมพิสูจน์ว่า ใบปริญญาไม่ใช่ทุกสิ่ง และ วุฒิ ม.6 กศน. ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต
"ความสำเร็จสูงสุดในชีวิตคนเรา คือ… การได้ใช้ชีวิตในแบบที่ชอบ"
คำคมทัชใจจากหนังสือ "สัญญานะว่าจะยิ้มให้กับตัวเอง" ที่โพสต์บนเฟซบุ๊กเพจ "ซีเอ็ด ประชาชื่น" เรียกยอดได้ระดับหลายหมื่นไลก์ และน่าจะผ่านตาหลายๆ คนกันมาบ้าง
และไม่ใช่แค่โพสต์นี้โพสต์เดียว เพราะแทบจะในทุกๆ เอ็นเกจเมนต์ถล่มทลายของซีเอ็ด ประชาชื่น ล้วนมีเธอคนนี้ "นิว-สุพัตรา พฤกษศรี" อยู่เบื้องหลัง
แม้ประโยคโดนๆ คำคมเด็ดๆ ที่เธอหยิบจากหนังสือมาโพสต์จะน่าสนใจ แต่เรื่องที่อยากจะชวนกันมานั่งคุย กลับเป็นเรื่องที่เธอไม่ได้โพสต์ นั่นคือ การที่พนักงานหน้าร้านตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และไม่ให้วุฒิ ม.6 เป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้า
เธอไม่ได้แค่ถ่ายรูปปกหนังสือ โพสต์ราคา หรืออาจเสริมด้วยโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อแบบเพจขายของทั่วไป แต่นิวเลือกที่จะคว้าหนังสือไปนั่งอ่านจริงๆ จังๆ บางครั้งก็หยิบมาถ่ายรูปหน้าที่มีข้อความโดนใจ และหลายครั้งก็เล่นใหญ่ หอบหิ้วไปถ่ายรีวิวริมทะเล รวมถึงไปนั่งเขียนสรุปข้อที่ชอบมาสรุปให้ลูกเพจเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ
แล้วก็ได้ผล เธอบอกว่า โพสต์ของเธอ 'ตก' ลูกค้ามาแล้วนับไม่ถ้วน
"หนังสือ 'สัญญานะว่าจะยิ้มให้กับตัวเอง' เป็นเล่มที่ชอบเป็นพิเศษ หยิบขึ้นมาอ่านทีไร ก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงาน แล้วก็เป็นเล่มที่ขายดีมาก ขายได้ 60 เล่มในเดือนเดียว คือ ดีใจมาก" นิวเล่าถึงเล่มโปรด ที่ชอบหยิบมาทำคอนเทนต์ แล้วก็ไม่ใช่แค่ยอดเอ็นเกจที่ถล่มทลาย เพราะยอดออเดอร์ก็เช่นกัน
ปัจจุบัน นิว ในวัย 25 มีตำแหน่งเป็น "Content Creator Specialist" สังกัด ฝ่ายการตลาด-สำนักงานใหญ่ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ส่วนหนึ่ง คือ ถ่ายทอดโนว์ฮาวการปั้นเพจให้กับพนักงานซีเอ็ดที่มีอยู่ทั่วประเทศ
หนังสือ เปลี่ยนชีวิต
ถ้าคิดว่า เรื่องทั้งหมดนี้เริ่มต้นเพราะเป็นคนรักหนังสือ ก็ต้องบอกว่า ผิดถนัด เพราะก่อนหน้าที่จะปั้นเพจซีเอ็ด ประชาชื่น จนเป็นชุมชนคนรักหนังสือ ที่มียอดการเข้าถึงเดือนละ 10 ล้าน แบบออร์แกนิกล้วน ไม่มีบูสต์เลยนั้น นิวบอกว่า เธอไม่แตะหนังสือเลย
"ตอนแรก ไม่อ่านหนังสือเลย จนวันนึงรู้สึกว่า ไหนลองดูซิ เล่มนี้ ทำไมเขาซื้อเยอะจัง ก็เลยเริ่มอ่าน เป็นเรื่องจริงที่เขาบอกว่า หนังสือเล่มนึงมันสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ ก็เริ่มอ่านจากเล่มที่ตัวหนังสือน้อยๆ รูปภาพเยอะ จนเริ่มไปหาเล่มที่เนื้อหาเยอะขึ้น
แล้วพอเห็นหลายเพจเขาเริ่มทำสรุปหนังสือ ก็เลยลองทำบ้าง ช่วงแรกก็มีอ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็พยายามพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ จนตอนหลัง พอได้ยินลูกค้าหลายคนบอกว่า ตัดสินใจซื้อหลังอ่านสรุปของเรา หรือ เห็นด้านในหนังสือที่เราถ่ายรูปมาให้ ก็ช่วยให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจ"
เมื่อถามว่า วันนี้ สามารถเรียกตัวเองว่า เป็นคนชอบอ่านหนังสือได้หรือยัง เธอตอบรับ พร้อมรอยยิ้ม
“ตอนนี้ ซื้อหนังสือเยอะมาก เวลาอยู่หน้าร้าน เล่มไหนเข้ามาใหม่ ก็จะรีบเปิดเลือก และซื้อเก็บเลย แต่ก็มีอ่านฟรีที่ร้านบ้าง (หัวเราะ)”
ตำแหน่งใหม่ ทลายกรอบ HR
นิวัฒน์ วัฒนสิริมนต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดองค์กร ซีเอ็ดยูเคชั่น ร่วมเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ ‘นิว’ ก่อนจะมาเป็นแอดมินตัวตึงอย่างปัจจุบัน
เดิมที นิวเป็นพนักงานหน้าร้านประจำสาขาโลตัส ประชาชื่น พร้อมรับหน้าที่บริหารเพจสาขาไปด้วยตามนโยบายรับมือสถานการณ์โควิดระบาด ร้านเปิดไม่ได้ บริษัทจึงให้ทุกสาขาทำเฟซบุ๊กเพจของตัวเองเพื่อขายหนังสือเพิ่มช่องทางหารายได้
เขาเล่าว่า ในช่วงแรกเพจซีเอ็ด ประชาชื่น (ชื่อเดิมคือ ซีเอ็ด โลตัส ประชาชื่น) ไม่ได้โดดเด่นอะไร จนผ่านไปประมาณครึ่งปี กลับเริ่มดีขึ้นอย่างมีนัยยะ กระทั่งไต่ขึ้นมาเป็นเพจที่ทำยอดขายดีที่สุดของซีเอ็ด ทิ้งห่างเบอร์สองแบบไม่เห็นฝุ่น
พอร้านหมดสัญญาเช่า ก็ต้องปิดสาขา ถ้าเป็นพนักงานหน้าร้านปกติ ก็จะต้องย้ายไปทำสาขาอื่น แต่เนื่องจากผลงานการปั้นเพจเตะตาผู้บริหาร เห็นว่า เธอมีแวว อยากให้มี career path ที่ดี ให้เติบโตได้ จึงชวนมาเป็นหนึ่งในทีมการตลาด
เขาบอกว่า นอกจาก "Content Creator Specialist" จะเป็น "ตำแหน่งใหม่" ที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ซีเอ็ดแล้ว นี่ยังเป็น "รูปแบบการจ้างงาน" ที่ใหม่มากๆ สำหรับ HR อีกด้วย
"ในโครงสร้างคือ น้องเป็นพนักงานประจำสำนักงานใหญ่ มีวันหยุดเหมือนกับสำนักงานใหญ่เลย แต่ในทางการทำงาน เขารีเควสต์ว่า หนูขออยู่หน้าร้าน เพราะอยากเจอลูกค้า อยากเจอหนังสือเยอะๆ เราก็เลยไปคุยกับ HR เพื่อปรับกฎระเบียบพิเศษสำหรับเนื้องานของเขา จนกลายเป็นโครงสร้างใหม่ของซีเอ็ด"
"เราทลายกรอบที่เคยมี ทลายระบบ HR (หัวเราะ) โดยเขาเป็นคนแรกที่ทำงานสังกัดสำนักงานใหญ่ แต่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพราะตัวอยู่หน้าร้าน แต่มีวันหยุดเหมือนสำนักงานใหญ่ โชคดีที่ทีมบริหารเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ยึดติดอะไร ขอให้ผลงานออกมาได้ตามเป้าหมาย เรื่องหลังบ้าน เคลียร์กันได้" นิวัฒน์ เล่า
คิดแบบใหม่ ได้สิ่งใหม่
นอกจากนี้ ถ้ามองผิวเผิน นิวอาจดูเหมือนพนักงานหน้าร้านทั่วไป แต่เมื่อเจาะลงไปที่เนื้องาน
ถ้าจะบอกว่า บริษัทจ้างเธอมา "อ่าน และรีวิวหนังสือ" ก็คงไม่ผิดอะไร!
"เราคุยกับนายว่า น้องเขาคือความครีเอทีฟ เราไม่อยากไปบล็อกอะไรเขา เลยขอดึงเขาออกจากระบบงานประจำที่อยู่หน้าร้าน ไม่งั้น เขาจะไม่มีเวลาทำอะไรที่ครีเอทีฟได้เลย แต่แน่นอนว่า เซอร์วิสเขามีอยู่ในตัว ยังไงเขาก็ไปดูแลลูกค้า คอยตอบคำถาม หรือ ช่วยลูกค้าหาหนังสือ แต่อย่างน้อยๆ เขาจะไม่มีความเครียดกับงานรูทีน ไม่ใช่พอมาถึงต้องมาแกะลังหนังสือ เรียงหนังสือ เข้าเครื่องแคชเชียร์เก็บเงิน ก็จบไปหนึ่งวัน
ขณะเดียวกัน เราก็ให้เขาดูแลเพจเดิม (ซีเอ็ด ประชาชื่น) และให้เขาเป็น content creator specialist ถ่ายทอดโนว์ฮาวให้เพื่อนๆ สาขาอื่น โดยเขาจะไปฝังตัวในสาขาอื่น เช่น ไปอยู่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ก็ไปสอนทำคอนเทนต์ ดูแลเรื่องการรับออร์เดอร์ออนไลน์ แน่นอนว่า ยอดสาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้าก็ดีดตัวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้น้องย้ายมาอยู่ที่สุพรีมสามเสน ยอดสาขานั้นก็พุ่ง (หัวเราะ)"
ทำอย่างจริงใจ แล้วความสำเร็จจะตามมา
นิวเปิดใจย้อนไปถึงวันแรกๆ ที่ทำเพจว่า จับทิศทางยังไม่ถูก เป้าหมาย คือ จะขายของอย่างเดียว ก็จะโพสต์โปรโมชั่น และหนังสือหลายหมวด จนพอเริ่มโพสต์ขายหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง ก็พบว่า มีคนตอบรับดี จึงทำมาเรื่อยๆ และที่สำคัญ คือ ความสม่ำเสมอ
"ลองปรับจากการโพสต์หน้าปกหนังสือ มาถ่ายข้อความในเล่ม ซึ่งข้อความที่เลือกมาก็จะเป็นแนวฮีลใจ คนชอบ และได้ผลดีมากๆ ก็เลยเริ่มพาหนังสือไปเที่ยวทุกที่ ไปเที่ยวทะเล ไปสวนสาธารณะ เปลี่ยนบรรยากาศ ไม่อยากให้ลูกค้าจำภาพว่า ต้องถ่ายรูปที่ร้านหนังสืออย่างเดียว
นอกจากนี้ ก็พยายามเทคแคร์ลูกค้า ตอบอินบอกซ์ตลอด เสาร์อาทิตย์ก็ตอบ และสื่อสารด้วยความจริงใจ ตอบตรงๆ อันไหนไม่รู้ก็บอกตรงๆ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า การขายไม่มีอะไรดีกว่าความจริงใจ ทำให้เขารู้ว่า เพจนี้ไม่ใช่บอต ยังมีแอดมินคนนี้อยู่"
นอกจากจะเอาใจไปใส่ในงานที่ทำแล้ว "ความรู้สึกเป็นเจ้าของ" ยังถือเป็นกุญแจความสำเร็จของเธอคนนี้ ที่ทำให้พนักงานตัวเล็ก กล้าที่จะคิดใหญ่ ทดลองทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ
"ทุกวันนี้ ไม่เหมือนว่า มาทำงาน แล้วก็รู้สึกว่า นี่คือร้านตัวเองด้วยซ้ำ ทำให้มีความสุขในการทำงาน ได้อ่านหนังสือ ได้แชร์ข้อคิดให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย แล้วที่นี่ก็เปิดกว้างให้ได้ทำอะไรใหม่ๆ อยากลองขายหนังสือแนวไหน หรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ ก็ทำได้ตลอด"
แน่นอนว่า เคสแบบแอด’นิว คนนี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากองค์กรไม่เข้าใจ หรือเปิดใจกว้างพอที่จะมองข้าม "ใบปริญญา" ซึ่งอาจไม่ได้มาพร้อมกับ "ความสามารถ" เสมอไป