หมวก 6 ใบของ ‘บรรยง พงษ์พานิช’ นักบริหารที่เชื่อว่าคนเก่งต้องไม่ ‘พอเพียง’
“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนถอดบทเรียนความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตและสายอาชีพของ บรรยง พงษ์พานิช เพื่อเข้าใจมุมมองการใช้ชีวิต ทำงาน รวมทั้งประสบการณ์ที่เขาอยากแชร์กับคนรุ่นใหม่
หากย้อนกลับไปวัยเด็ก “บรรยง พงษ์พานิช” เคยเป็นเด็กที่ไม่สนใจเรียนเพราะเขาเคยได้รับคำแนะนำมาว่าอยู่ในประเทศไทยไม่ต้องใช้เกรด ใช้เพียงแค่ “เส้น” กับ “กึ๋น” ก็เพียงพอแล้ว
เขาเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาด้วยเกรดเฉลี่ยเพียง 2.03
และครั้งหนึ่งก่อนที่จะกลายมาเป็นบุคคลที่ให้สัมภาษณ์อย่างคล่องแคล่วบนหน้าสื่อ เขาเคยเป็นคนที่พูดไม่เก่งและไม่ชอบเข้าสังคมมาก่อน
แต่ด้วยความโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่เพียบพร้อมและเกิดมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยโต 10% ต่อปี แถมยังจับพลัดจับผลูเข้าไปทำงานในตลาดการเงินซึ่งโต 30% ต่อปี ชีวิตของเขาจากเด็กที่เรียนจบมาด้วยเกรดไม่ถึงสามจึงกลายมาเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
ทว่านั้นก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของเส้นทางการเติบโตจาก “เด็กชายบรรยง” ในวันนั้นมาสู่นายแบงก์ชื่อดังและผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรทุกวันนี้
ดังนั้นวันนี้ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนถอดบทเรียนความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตและสายอาชีพของ บรรยง พงษ์พานิช เพื่อเข้าใจมุมมองการใช้ชีวิต ทำงาน รวมทั้งประสบการณ์ที่เขาอยากแชร์กับคนรุ่นใหม่
-
ตั้งแต่เช้าจรดเย็นมีกิจวัตรประจำวันอย่างไรบ้าง
ผมอายุ 70 ปีแล้วดังนั้นก็พยายามทำงานให้น้อยลงดูแลตัวเองให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เข้าโรงพยาบาลด้วยโรคเส้นเลือดอุดตัน (สโตรก) มีความเสียหายในสมอง โชคดีที่มันสามารถฟื้นมาได้
แต่ก็ต้องพยายามฟื้นฟูตัวเอง ทุกวันนี้ตื่นมาสิ่งแรกที่ทำคือ เดิน 1,000 – 2,000 ก้าว จากนั้นก็บริหารลิ้นและหน้า เพราะว่าผลจากโรคทำการพูดไม่ได้ 2 เดือนดังนั้นต้องฝึกพูดมาใหม่แม้ยังพูดไม่ชัดแต่ก็ฝึกทุกวันจากนั้นก็มารับประทานอาหาร ฟัง อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านข่าวต่างๆ
หลังจากนั้นก็แล้วแต่วาระ ผมยังทำงานอยู่ที่ธนาคาร แต่ต้องบอกว่าทำงานไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วย อาทิตย์หนึ่งอาจจะมีประชุมสักสองครั้ง ครั้งละสองสามชั่วโมง
ตอนนี้บทบาทของผมคือประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร แต่ในอีกมุมผมโชคดีมากเพราะผมเป็นกรรมการและกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงซึ่งเป็น Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ที่ช่วยชาวบ้านบนดอยตุง ตอนนี้ก็ขยายผลไปทำหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งนอกประเทศบางแห่งด้วย
งานที่สามเป็นกรรมการและกรรมการบริหารทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) มูลนิธิวิจัยซึ่งเป็นงานวิชาการทำให้ผมยังได้อัปเดตข้อมูลวิชาการใหม่ๆ อยู่เสมอ
งานที่สี่เป็นกรรมการและกรรมการบริหารมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธธาตุหรือสวนโมกข์กรุงเทพซึ่งเป็นเรื่องศาสนาเกี่ยวกับการให้บริหารทางด้านพุทธศาสนา แล้วปัจจุบันก็ขยายผลไปให้บริการเกี่ยวกับวัดวาอารามต่างๆ
งานที่ห้าเป็นมูลนิธิองค์การต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทยซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมโดยคอยช่วยส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยต่างๆ แล้วก็นำเสนอความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนงานที่หกเป็นเรื่องของการศึกษาคือกรรมการที่ปรึกษาของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเพิ่งพ้นจากการเป็นกรรมการอำนวยการ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ชีวิตก็หลากหลายดีครับ นอกนั้นก็คบหาผู้คน เรียนรู้ไปเรื่อยๆ (ยิ้ม)
2. อายุมากขึ้นมีมุมมองต่อการทำงานเปลี่ยนไปมากขนาดไหน
ภาวะทั้งหลายไม่อยู่นิ่งอยู่แล้วทั้งมุมมองทัศนคติวิธีการ หลักการ ทุกอย่างเปลี่ยนหมดและต้องพัฒนาเพราะถ้าเหมือนเดิมก็แปลว่าไม่ได้พัฒนาเลย
ผมเป็นคนที่โชคดีมาก โชคดีแรกคือเกิดถูกที่สองคือเกิดถูกเวลาและสามคือไปอยู่ถูกที่
ที่บอกว่าถูกที่คือผมเกิดในครอบครัวที่ดีมากมีฐานะที่ดีแต่ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อเนื่องจากคุณตาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งสร้างตัวมาจากศูนย์ ดังนั้นพวกผมก็จะถูกฝึกให้มัธยัสถ์รู้ค่าของเงินบวกกับได้เรียนหนังสือที่ต่างจังหวัด พอถึงสิบขวบก็มากรุงเทพฯ ระหว่างเรียนก็โชคดีเพราะมีโอกาส
บางช่วงก็มีหลงทางไปบ้างเกเรไม่เรียนหนังสือแต่ก็โชคดีที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้และได้เพื่อนที่ดี โชคดีที่สำคัญมากก็คือผมเกิดมาในช่วงที่ประเทศไทยเติบโตสูงที่สุด คือเติบโต 10% ต่อปีในยุคนั้น จากนั้นก็เริ่มทำงาน
แล้วโชคดีอีกคือได้ทำงานในตลาดการเงินซึ่งเป็นไปโดยไม่มีวิสัยทัศน์อะไรเลยแต่เพราะหางานไม่ได้ในช่วงที่ประเทศไทยโต 10% และตลาดการเงินโตสามเท่าของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ นั่นก็เท่ากับว่าตลาดที่ผมทำโต 30% ต่อปี
ผมก็เลยโชคดีที่ได้เติบโตมาอย่างนั้นแต่ที่สำคัญ มีโชคอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องไขว่คว้าเรียนรู้ที่จะคว้าประโยชน์จากโชคนั้นๆ ด้วย
3. เด็กที่เรียนจบมาด้วยเกรดต่ำกว่า 2.5 แล้วทำยังไงถึงพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขนาดนี้
ผมเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.03 อันนั้นเป็นการหลงผิดอย่างแท้จริงเพราะสมัยเรียน สมัยนั้นประเทศไทยยังไม่เชื่อมโยงกับโลกแล้วรู้สึกว่ามีคนที่เป็นไอดอลตอนนั้น เขาบอกเราว่าเมืองไทยความรู้ไม่ได้ใช้หรอกใช้แต่เส้นกับกึ๋น
พอเรามองออกไปก็จริง เราก็เลยไม่ใส่ใจการเรียนผลการเรียนเลยแย่มากแต่โชคดีที่พอเริ่มงานอยู่ในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความรู้
ที่สำคัญด้วยความที่ผมเป็นนักกีฬาสันดานมันจะชอบแข่งและสันดานมันจะชอบชนะ ผมก็เลยพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันได้ ต้องบอกว่าตอนนั้นผมเรียนรู้ใหม่หมดเลย
แต่ความที่มีนิสัยชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อปลูกฝังไว้ ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วและนำความรู้นั้นมาเชื่อมโยง แต่ความที่ไม่เก่งเลยรู้ตัวว่าตัวเองทำอะไรก็ไม่สำเร็จดังนั้นจึงรู้วิธีพึ่งพาคนอื่น รู้วิธีเป็นองค์ประกอบของทีมและท้ายที่สุดก็รู้ว่าวิธีที่จะเป็นผู้นำทีม อันนั้นคือกระบวนการเรียนรู้ทั้งนั้น
4. ทำงานหนักขนาดนี้และมี 'หมวก' หลายใบ มองเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ยังไง
ผมเป็นคนที่ทำงานอย่างมีความสุขมากมาตลอดชีวิต ทำยังไงถึงจะทำให้เรามีความสุขรู้ไหมครับ จริงๆ ก็คือการหลอมรวมทุกอย่างไปอยู่ที่เดียวกัน ผมเป็นคนที่ถือคติว่าผลประโยชน์ผมผลประโยชน์หมู่คณะและผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นเรื่องเดียวกัน เราไม่แยกแยะเลยครับ เราหลอมเป็นเรื่องเดียวกัน
มันทำให้เวลาทำงานไม่รู้สึกตะขิดตะขวงอะไร เราทำงานเต็มที่และทุกคนก็ได้ประโยชน์ ส่วนเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ก็เหมือนกัน ถ้าคุณมีทัศนคติมีสภาพแวดล้อมที่ทุกอย่างกลมกลืน คุณก็ใช้เวิร์คกับไลฟ์พร้อมกันในที่เดียวกัน
5. แล้วสำหรับคนที่เลือกไม่ได้ล่ะ เขาต้องทำงานที่ไม่สามารถหลอมรวมเวิร์คกับไลฟ์เข้าด้วยกันได้ แนะนำยังไง
มีคำสำคัญคำหนึ่งคือคุณควรทำในสิ่งที่คุณมีแพสชัน เราได้ยินคำนี้เสมอ ย้อนกลับไปผมได้งานที่ไม่ได้เลือกเลย แต่พอได้งานแล้วก็พยายามทำความเข้าใจว่างานนี้หมายความว่าอะไร งานนี้มีประโยชน์ยังไง แล้วใครได้ประโยชน์จากมันบ้าง พอเข้าใจเราก็เลยมีแพสชันกับสิ่งที่ทำ โดยไม่ได้ไปทำสิ่งที่มีแพสชันตั้งแต่แรก
ผมจับพลัดจับผลูมาทำงานในตลาดการเงิน ในตลาดทุน ผมก็ต้องไปเข้าใจว่าตลาดทุนมีไว้ทำไมหน้าที่สำคัญของมันมีองค์ประกอบยังไงและใครได้ประโยชน์อย่างไร
สิ่งที่ค้นพบคือตลาดการเงินมีหน้าที่รวบรวมจัดสรรทรัพยากรให้กับระบบเศรษฐกิจ พอเข้าใจแบบนี้ผมก็เลยเข้าใจว่าต้องไปหาทรัพยากรซึ่งก็คือเจ้าของเงิน แล้วก็แนะนำให้เขาเอาทรัพยากรไปให้คนที่มีประสิทธิภาพคนที่สร้างประโยชน์ได้และคนที่ทำได้ดีที่สุดก็จะได้ส่วนแบ่ง แล้วผลิตภาพก็เกิดในประเทศนี้ ประเทศก็ได้พัฒนา มีการลงทุน
พอผมเข้าใจเรื่องแบบนั้น งานก็เป็นเรื่องปนกันไปหมด เป็นเรื่องสนุก ได้ภูมิใจ ได้รู้ว่าได้ประโยชน์ ตัวได้ประโยชน์ ลูกค้าได้ประโยชน์ ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ เพื่อนร่วมงานได้ประโยชน์ สังคมก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับผมงานเลยเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทายตลอดไป
6. ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นคนเก่งอยากออกไปทำงานที่ต่างประเทศ ในฐานะผู้นำมีวิธีดึงคนเก่งให้เข้ามาทำงานในองค์กรอย่างไร
ผมเชื่อเสมอว่าทุกคนมีหน้าที่ดูแลตัวเอง ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองเพราะฉะนั้นกรณีที่มีเด็กไทยบอกว่า ประเทศไทยไม่น่าอยู่จะออกไปทำงานที่อื่น ผมก็จะไม่โต้แย้งเลยสนับสนุนในบางกรณีด้วยซ้ำไปแต่ก็จะให้คำแนะนำเขา
เช่น ผมมีหลานคนหนึ่งจบดร.ด้าน Material Science (วัสดุศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในสหรัฐ แต่ขอโทษครับ ในประเทศไทยไม่มีงานที่จะได้ใช้ศักยภาพเขาได้อย่างเต็มที่
ผมก็บอก คุณก็อยู่ญี่ปุ่นอยู่เกาหลีก็ได้ตราบใดที่คุณได้ใช้สิ่งที่คุณมีดีที่สุดสร้างประโยชน์ให้ตัวเองไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าจะไม่เกิดประโยชน์กับไทย ถ้าคุณอยู่ที่อังกฤษ แล้วได้เงินเดือนเดือนละล้านเหรียญอย่างน้อยคุณก็ส่งให้พ่อแม่คุณบ้าง มันก็เกิดประโยชน์ทั้งนั้นแหละ
ถ้าความรู้อย่างคุณมาอยู่เมืองไทย อาจจะได้เดือนละ 3 หมื่นเพราะไม่มีงานที่ตรงสายให้ทำ ถ้าในกรณีนี้ผมก็แนะนำให้ออกไปทำงานที่ต่างประเทศ
ส่วนในองค์กรของเรา แน่นอนครับ เราจำเป็นต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอ มีคนถามผมว่า ทำยังไงที่เกียรตินาคินภัทร คนเก่งอยากมาอยู่ มาอยู่แล้วอยู่ได้นาน แล้วก็สามารถเพลิดเพลิน
ผมตอบง่ายๆ ว่าคนเก่งอยากได้อะไร คนเก่งเขาก็อยากได้ 5 อย่าง
- ได้เรียนรู้ คนเก่งเขาต้องมั่นใจว่าเขาได้เรียนรู้
- ได้โอกาสที่จะทำสร้างผลงานเต็มตามศักยภาพของเขา
- ได้รับผลตอบแทนที่ดี
- ได้รับมิตรภาพได้รับความสนุก
- ได้ภูมิใจว่านอกจากได้สร้างประโยชน์ให้ตัวเองและองค์กรแล้วยังสร้างให้ประเทศด้วย
ผมก็เลยรวบรวมเป็นทฤษฎี 5 ได้คือได้เรียน ได้ทำ ได้ตังค์ ได้มันได้ภูมิใจ ฟังดูง่าย แต่เวลาทำให้องค์กรให้เป็นแบบนี้ เราก็ต้องถ่ายทอดทัศนคติพวกนี้ออกไปไม่ใช่อยู่ที่เราอย่างเดียว
7. ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากย้อนกลับไปบอกอะไรกับตัวเอง
อยากกลับไปบอกตัวเอง เรียนรู้ให้มากกว่านี้พยายามเจอคนให้มากกว่านี้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาทุกวันนี้ก็ยังเตือนตัวเองแบบนี้ผมเนี่ยเป็นคนที่ชอบสอดรู้สอดเห็นและหลายกรณีอาจเข้าข่ายหน้าด้านเลย
ถ้าผมอยากรู้จักใครผมจะตะเกียกตะกายไปรู้จักให้ได้ รู้จักแล้วบางทีก็มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์แต่ส่วนใหญ่จะมีประโยชน์
อย่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นคนที่ผมนับถือมากๆ จากการอ่านงานเขียนของท่าน เชื่อไหมครับว่า ท่านทำงานที่มติชน ผมก็ติดต่อทางบรรณาธิการซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนกันว่านัดให้พี่หน่อยอยากเจอ เขาก็บอกโอเค แล้วก็ยินดี ผมก็ไปนั่งคุยนั่งคุยหลายครั้งหลายชั่วโมงได้เรียนรู้มหาศาล
ถ้าถามว่าอยากกลับไปว่าอยากกลับไปบอกอะไรตัวเอง ขอโทษนะ อาจารย์นิธิวันที่ผมเข้าไปทำงานให้รัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ซึ่งปฏิวัติมา พออาจารย์นิธิทราบข่าว ท่านเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์บอกว่า "จดหมายจากนิธิถึงบรรยง"
ตอนนั้นอาจารย์เตือนว่า แล้วคุณบรรยงจะรู้เองว่าการปฏิรูปภายใต้ระบบเผด็จการเป็นไปไม่ได้ ขอโทษนะ เหมือนตาเห็น ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อยังทำต่อไปพอสองปีก็ไปหาอาจารย์ ไปบอกอาจารย์ว่าผมนับถือมากที่อาจารย์พูดมันจริงทุกอย่างและมันก็เกิดไม่ได้จริงๆ แต่ผมไม่ได้เสียใจนะ อย่างน้อยผมก็ได้เรียนรู้ว่าทำไม
8. มีหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตไหม
หนังสือดีมีเยอะมากแต่หนังสือเปลี่ยนชีวิตคือหนังสือของเดล คาร์เนกี นักคิดนักเขียนชาวอเมริกันที่ชื่อว่า “How to win friends and influence people” เล่มนั้นช่วยหลายอย่าง เพราะตอนเด็กๆ ผมเป็น Introvert ไม่คบใคร หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราเปลี่ยนนิสัยทำให้คำสำคัญเกิดขึ้นคือคำว่า Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจคนอื่น
ทางเดียวที่คุณจะ Influence People ได้ คือเข้าใจเขา และอันนี้เป็นคุณสมบัติของผู้นำที่สำคัญมากและหลายคนมองข้ามคือคุณต้องเข้าใจคนที่คุณนำหรือกลุ่มคนที่คุณนำ เพราะเขาทำเพื่อตัวเขาไม่ได้ทำเพื่อคุณหรอก
9. แล้วพี่เตาเป็นผู้บริหารแบบไหน
ผมก็มีอีก 5 ทฤษฎี คือทฤษฎี 5 ใจ ผู้นำที่ดีไม่มีตำราเขียนชัดเจนแต่ที่ผมทำงานมา เจอคนเยอะๆ ผมพบว่า ผู้นำที่ดีต้องมี 5 ใจ
- ใจรัก รักในสิ่งที่ตัวเองทำ รักในสิ่งที่องค์กรทำ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่าแพสชันส่วนภาษาพุทธเรียกว่าฉันทะ
- ต้องเป็นคนใจสู้เพราะไม่มีใครประสบความสำเร็จโดยไม่เจออุปสรรคเลย เจอขวากหนาม คุณก็ต้องสู้กับมัน
- เป็นคนใจถึง ถ้าไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่มีความเสี่ยงแต่ต้องมีคนที่ใจถึงอย่างมีสติ
- ใจกว้างเพราะคุณทำอะไรสำเร็จด้วยตัวคุณเองไม่ได้ คุณต้องมีคนร่วมมือคุณต้องใจกว้างเท่านั้น เขาถึงจะร่วมมือกับคุณ
- เป็นคนใจสูง คือมีระดับคุณธรรมที่กลุ่มคนที่คุณนำเขายอมรับได้
10. สุดท้ายมีคำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่ไหม
สามคำ เรียน เรียน เรียน จบครับ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ คนเก่งต้องไม่พอเพียงเรื่องความรู้ (ยิ้ม)