‘หมูเด้ง’ ฮิปโปแคระ ใครทำให้ดัง ดังได้เพราะใคร?
‘หมูเด้ง’ ฮิปโปแคระ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินพืช ชนิดหนึ่ง ดังได้อย่างไร ใครทำให้ดัง จนสร้างกระแสทำรายได้ถล่มทลายให้กับ ‘สวนสัตว์เปิดเขาเขียว’ จังหวัดชลบุรี ที่เปิดมานานกว่า 60 ปี
หมูเด้ง ไม่ใช่ ‘ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้ง’ ที่เรากินเป็นอาหารกันนะ แต่เป็น ฮิปโปแคระ เพศเมียน่ารักน้องเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 พ่อชื่อโทนี่ แม่ชื่อโจนา ก่อนหน้านั้นพี่ชายของ น้องหมูเด้ง มีความน่ารักไม่แพ้กัน ทว่าไม่มีชื่อเสียงโด่งดังถล่มทลายแบบนี้ แล้ว ใครทำให้ดัง ดังได้อย่างไร ? เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
เริ่มจาก เบนซ์-อรรถพล หนุนดี Zoo Keeper หนุ่มวัย 31 ปี เรียนจบช่างไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี แล้วมาทำงานที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ฝึกเลี้ยงฮิปโปโปเตมัส ได้ 2 ปี จากนั้นก็เรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เกี่ยวกับการจัดการสัตว์ทั่วไป
เบนซ์-อรรถพล คิดว่าคุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานในสวนสัตว์ อันดับแรกต้องเป็นคนที่รักสัตว์ ช่างสังเกต หากเห็นว่ามีความผิดปกติจะได้ดูแลแก้ไขได้ทันท่วงที
หน้าที่ของ Zoo Keeper นอกจากดูแลทั้งสัตว์ และสวนสัตว์ ทำความสะอาด ซ่อมแซม ตัดต้นไม้ ให้บริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ
“ตื่นเช้ามาผมก็ทำความสะอาด กวาดเศษใบไม้ที่ร่วงลงมา ตามธรรมชาติฮิปโปโปเตมัสแคระเขาจะอึในน้ำ เราก็ต้องเปลี่ยนน้ำ ให้อาหาร แล้วสังเกตพฤติกรรมการกินของเขาไปด้วย ผมก็ดูแม่เขากิน แล้วเล่นกับหมูเด้ง นิดๆ หน่อยๆ จากนั้นก็ปล่อยให้เขานอนยาวๆ ไปเลย ตอนบ่ายก็มาให้อาหารอีกรอบ ฮิปโปแคระมีหลายตัว ผมก็ต้องไปล้างอีกบ่อ แล้วให้อาหารเช่นกัน และยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ผมเลี้ยงด้วย”
เบนซ์-อรรถพล ดูแลสัตว์หลายชนิด บางชนิดดุร้าย บางชนิดเชื่อง แต่บางตัวก็แอบดุร้าย ต้องมีวิธีทำให้สัตว์เหล่านั้นรู้สึกคุ้นเคย แม้แต่ ฮิปโปแคระ บางตัวก็ดุร้าย จะทำความสะอาดก็ต้องเก็บเข้ากรงก่อน อย่างวันนี้เขาล้างบ่อ ประมาณ 20 นาที เปลี่ยนน้ำ เปลี่ยนอาหารให้แม่ของ น้องหมูเด้ง และใช้เวลาอยู่ร่วมกันในกรงอีก ประมาณ 10 นาทีเฝ้าเขากินอาหาร
‘เบนซ์- อรรถพล หนุนดี’ Zoo Keeper หนุ่มวัย 31 ปี
เพราะถ้าไม่เฝ้าลิงจะมาแย่งไปหมดเลย อาหารช่วงเช้าเป็นผัก ผลไม้ ตอนเย็นเป็นหญ้า จับตัวบ้าง ก็ถือว่าเป็นการสร้างความคุ้นเคย เวลาที่สัตว์เหล่านี้เจ็บป่วย ก็สามารถที่จะเข้าถึงตัว ทายา ทำแผล ได้ง่ายกว่าไม่คุ้นเคยกันเลย ตามธรรมชาติ ฮิปโปแคระ ไม่ใช่สัตว์ดุร้าย ออกไปทำร้ายคน แต่ถ้ามนุษย์เข้าใกล้จนเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ก็จะดุร้ายขึ้นมาได้ สำหรับแม่ของ หมูเด้ง คุ้นเคยกันดี เขาจึงไม่มีอาการหวงลูก
ลูกฮิปโปแคระน่ารักทุกตัว แต่ทำไม ‘หมูเด้ง’ จึงดังพลุแตก
Zoo Keeper หนุ่มดาวรุ่ง กล่าวว่า คงเป็นเพราะความน่ารักของน้องหมูเด้ง เอง บวกกับปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดีย มาแรง นักท่องเที่ยวต่างชื่นชอบ และถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ไปลง Tiktok ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้เห็นความน่ารักของเจ้าฮิปโปแคระตัวน้อย กลายเป็นไวรัล ดังไกลไปถึงต่างประเทศ ทั้งนักข่าวญี่ปุ่น นักข่าวอังกฤษ นักข่าวเยอรมัน ฯลฯ พากันมุ่งหน้ามายัง สวนสัตว์เปิดเขาเขียว แห่งนี้
เช้านี้ 08.00 น. หมูเด้ง ยังคงนอนอุตุ แม่น้องหมูเด้ง คงไปปลุกว่าตื่นได้แล้วแฟนคลับมาแล้ว
“พอ หมูเด้ง ดัง ก็เลยทำให้คนมีโอกาสได้เข้ามาดูสัตว์อื่นๆ ด้วย จุดเริ่มต้นที่ผมทำคลิปคือ ทำสนุกๆ นักท่องเที่ยวมาเห็นเขาหลับก็เดินผ่าน แต่ผมอยู่กับเขาทั้งวัน เห็นพฤติกรรมต่างๆ เดิน วิ่ง เล่น ก็เลยถ่ายคลิปตอนที่เขาน่ารักๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามีคนเขารอดูคลิปเรา กลายเป็นอีกงานหนึ่งที่ต้องทำ แต่งานหลักของผมคือ ดูแลสัตว์ ถ้าว่างผมก็ลงคลิป เห็นลงคลิปเยอะเพราะมีคนส่งมาให้”
หมูเด้ง เล่นซนตามประสาเด็ก พี่เลี้ยงก็ต้องปล่อย ไม่ดุไม่ตี บางอย่างที่เป็นอันตราย อย่างเช่นทำลายต้นไม้ ก็ต้องหาวิธีป้องกันต้นไม้ไม่ให้เขาทำลายได้ เนื่องจาก ฮิปโปแคระ เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังเยอะ โตขึ้นเขายังคงเล่นซนเหมือนเดิม อาจจะมีบาดแผลที่เขาทำขึ้นเองอีกมากก็เป็นได้
กระแส ‘หมูเด้ง’ ถนนทุกสายมุ่งมาที่เขาเขียว
ต้องยอมรับว่า ฮิปโปแคระ ตัวน้อยวัย 2 เดือน ขนะนี้สร้างกระแสให้ผู้คนหลั่งไหลไปชื่นชมความน่ารัก ของ ‘หมูเด้ง’ สร้างรายได้ให้กับ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวไม่น้อย
“นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากวันธรรมดาหลักร้อยก็เป็น 4-5 พัน จากวันหยุด 5 พัน ก็เป็นหมื่น เฉพาะเดือนกันยายน 2567 นี้ยังไม่สิ้นเดือนก็แสนกว่าคนแล้ว ผมเชื่อว่าถึงหมูเด้งจะโตแล้วคนก็ยังกลับมาดูเขา แต่เขาก็จะไม่ได้มามุงแบบนี้ จะหมุนเวียนกันมา เหมือนตัวก่อนๆ หมูตุ๋น พี่ของหมูเด้ง ผมเลี้ยง 30 กว่าตัว
‘เบนซ์- อรรถพล หนุนดี’ Zoo Keeper ทุกเช้ากวาดใบไม้ เปลี่ยนน้ำในบ่อ และให้อาหารฮิปโปแคระ
ทุกตัวเป็นที่รู้จักหมดเลย ไม่ใช่แค่หมูเด้งนะครับ นอกจากฮิปโปแคระ ยังมี คาบิบารา สลอธ ฮิปโปโปเตมัสตัวใหญ่ หมีขอ รวม 5 ชนิด 33 ตัว ในทีมมีอยู่ 5 คน วันหยุดก็จะเหลือ 3 คน สัตว์ทุกตัวมีชื่อ และคนรู้จัก ดูแลสัตว์ไม่ใช่เรื่องยากของ Zoo Keeper แต่จะยากตอนที่เขาป่วยต้องขนย้าย โดยเฉพาะฮิปโปโปเตมัสจะตัวใหญ่ และน้ำหนักมาก ตัวใหญ่สุดหนักประมาณ 2,000 กิโลกรัม”
ความสุขของคนเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน หรือแม้กระทั่ง ‘ฮิปโปแคระ’ นักท่องเที่ยวมีความสุข คนเลี้ยงก็มีความสุขไปด้วย เหมือนทำหน้าที่ให้หลายคนมีความสุข หมูเด้ง เป็นฮิปโปแคระ ที่ถึก บึกบึน อึด ซนมาก แฟนคลับโปรดเข้าใจว่าคนเลี้ยงไม่ได้โหด หรือแกล้งน้อง เขาเล่นเอง วิ่งกระโดดน้ำ ชนต้นไม้ รุนแรงกว่าที่ เบนซ์-อรรถพล จับเยอะเลย ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเจ็บ พอดรามาเยอะ ก็ต้องทำใจ แต่ก็ต้องระวังตัวมากขึ้น
อีกกระแสที่ว่าสัตว์ ควรอยู่ในธรรมชาติก็จริง ทว่าบางครั้ง สวนสัตว์ก็คือ แหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ไม่ให้สิ้นสูญ สัตว์บางชนิดไม่มีในธรรมชาติแล้ว จำต้องมีสวนสัตว์เพื่ออนุรักษ์ เพาะขยายพันธุ์ เพื่อปล่อยเขากลับสู่ธรรมชาติ
กระแสหมูเด้ง สร้างรายได้ไม่เฉพาะสวนสัตว์เท่านั้น อย่างครั้งก่อน ‘คาบิบารา’ ขายกางเกงได้ 20,000 ตัว ครั้งนี้ หมูเด้ง ไม่น้อยหน้าทำเสื้อยืดขายเหมือนกัน เมื่อคนจำนวนมากหลั่งไหลมาที่นี่ สร้างความมีชีวิตชีวา และเพิ่มรายได้ให้กับร้านกาแฟ ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ที่อยู่ในสวนสัตว์แห่งนี้
‘คุณอุบล’ ร้านขายของที่ระลึกเล่าว่า ของที่ระลึกที่เกี่ยวกับหมูเด้ง ขายดีมาก แทบไม่เหลือ ความจริงไม่ได้ผลิตสินค้าออกมาโดยตรงทุกอย่างสั่งซื้อจากจีน เช่น หมวกม้าลาย หมวกยีราฟ ช้าง พวงกุญแจกระต่าย ทว่า ‘ฮิปโปโปเตมัส’ มีน้อยมากไม่ค่อยมีใครผลิต “ของสวนสัตว์เขาเขียวเองที่ทำก็จะมีเสื้อยืด กับกางเกง แต่ร้านนี้เป็นร้านขายของที่ระลึกธรรมดาร้านหนึ่ง
ของที่ระลึก
ไม่ได้เกี่ยวกับหมูเด้ง เด็กๆ ส่วนใหญ่จะซื้อของเล่น หมวกธรรมดาทั่วๆ ไปเราก็เอามาขายด้วย ตอนคาบิบาราดังเราก็เอาตุ๊กตามาขาย มีพวงกุญแจ กระเป๋า ก่อนมีหมูเด้งก็ขายได้ประมาณหนึ่ง พอหมูเด้งดังคนมาสวนสัตว์เยอะ ขายได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว”
เธอยังเล่าอีกว่า วันจันทร์-ศุกร์ ส่วนใหญ่จะมีเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษา กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เสาร์-อาทิตย์ คนไทยพาครอบครัวมาเที่ยวสวนสัตว์ ปัจจุบันนี้คนไทยมาทุกวันแน่นขนัด จนแม่ค้าไม่รู้ว่าวันนี้เสาร์-อาทิตย์ หรือวันธรรมดากันแน่
วันจันทร์ 08.30 น. แฟนคลับน้องหมูเด้งเริ่มมุงกันแล้ว
นี่ไง ‘กระแสหมูเด้งฟีเวอร์’ ก็ ฮิปโปแคระ จะดังใครก็ฉุดไม่อยู่
ขอแนะนำในการเยี่ยมชม 'น้องหมูเด้ง'
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์