อุบัติเหตุไฟไหม้รถบัส จะถอดบทเรียนอีกกี่ครั้ง?
กี่ครั้งกี่หนกับอุบัติเหตุไฟไหม้รถบัส รถตู้ จากปัญหามาตรฐานรถบัส ผู้ขับขี่และลักษณะกายภาพถนน ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมานั่งถอดบทเรียนแล้ว ถ้าอย่างนั้นมีข้อเสนอแนะอย่างไร
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลาเที่ยงกว่าๆ เหตุเพลิงไหม้รถบัส ทัศนศึกษาจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เรื่องสะเทือนขวัญที่คนทั่วโลกเห็นแล้วสลดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ในรถมีเด็กนักเรียนและครูรวม 44 ชีวิต เกิดอุบัติเหตุรถยางแตกเสียหลักชนแบริเออร์ บนถนนวิภาวดี หน้าเซียร์รังสิต มีผู้เสียชีวิตรวม 23 คน
ล่าสุดคนขับรถบัสมอบตัวที่จังหวัดอ่างทอง ในคลิปที่เห็น เขาเองก็พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วยชีวิตคนบนรถ แต่ไม่สามารถเปิดประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ ด้วยความตกใจและไม่รู้จะทำอย่างไร จึงหลบหนี เชื่อว่าสภาพจิตใจคงบอบช้ำไม่ต่างจากพ่อแม่เด็ก
ในสถานการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้ เกิดคำถามมากมาย ทั้งเรื่องความเหมาะสมในการพาเด็กอนุบาลมาทัศนศึกษา,มาตรฐานรถบัสที่ถูกปรับแต่ง ,ประตูฉุกเฉินที่เปิดไม่ได้ ฯลฯ
อุบัติเหตุที่เกิดจากลักษณะกายภาพรถบัส รถตู้และท้องถนน สังคมไทยถอดบทเรียนมากี่ครั้งกี่หนแล้ว ทั้งในวงวิชาการภาครัฐและเอกชน มีบทสรุปมากมายหลายสำนัก แต่บทเรียนเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาใช้จริงจัง ไม่เคยปรับระบบโครงสร้างให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน
และสิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ การเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าภัยบนถนน อุทกภัย ไฟไหม้ แก๊สระเบิด ตึกถล่ม น้ำท่วม แผ่นดินไหว แม้การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จะช่วยไม่ได้เต็มร้อย แต่สมควรอย่างยิ่งที่จะบรรจุหลักสูตรไว้ให้เด็กทุกคนและผู้ใหญ่ทุกอาชีพได้เรียนรู้
ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดเหตุ มีคนเสียชีวิต ไม่ว่าอุบัติเหตุ หรื อภัยธรรมชาติแบบไหนก็ตาม เราก็ได้แต่เปรียบเปรยว่า ทำไมประเทศเราไม่เรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดเหมือนเด็กญี่ปุ่น
ผู้เขียนมองว่า วิชาเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำเลย เพราะในอนาคตเราจะเจอปัญหาภัยธรรมชาติ และภัยจากสิ่งที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย (กราดยิงในห้าง ฯลฯ)
ส่วนปัญหาหลักคือ การปรับโครงสร้างระบบขนส่ง ไม่ว่าการตรวจสภาพรถบัส รถตู้ให้ได้มาตรฐาน กรณีล่าสุดเมื่อตรวจสอบพบว่า รถบัสที่ทำให้เด็กๆ เสียชีวิตมีสภาพการใช้งานกว่า 54 ปี ยังไม่รวมถึงการซ่อมบำรุงตามมีตามเกิด
และเชื่อได้ว่าไม่เคยเช็คว่า ประตูฉุกเฉินใช้การได้หรือไม่ รวมถึงไม่เคยมีใครบอกผู้โดยสารว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ต้องเปิดประตูฉุกเฉินอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาลักษณะกายภาพถนนบ้านเราที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด ไม่ว่าถนนทางตรงที่ไม่มีความลาดชัน ถนนทางโค้งกว้างที่ไม่มีความลาดชัน ทางโค้งหักศอก ถนนที่มีการเปลี่ยนจำนวนช่องเลน และบริเวณจุดกลับรถต่างระดับ...
เมื่ออุบัติเหตุเกิดจากรถบัสที่ใช้งานมานานได้พาเด็กมาเสียชีวิตในสภาพที่คนไทยทั้งประเทศรับไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการรื้อระบบโครงสร้างขนส่งให้ได้มาตรฐาน ตัดความรกรุงรังระบบผลประโยชน์ออกไปบ้าง
ด้วยประการฉะนี้ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับการถอดบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า