สานพลัง เปลี่ยน 'เด็กชายแดนใต้' อิ่มท้อง อิ่มสมอง ห่างไกลทุพโภชนาการ
ในวันที่ไทยพัฒนาก้าวหน้าไปไกล และมีความเจริญหลายด้าน แต่ในบางพื้นที่อย่างเช่น "สามจังหวัดชายแดนใต้" กลับพบเด็กเผชิญภาวะขาดสารอาหาร จนนำมาสู่การสานพลังภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาตำบลต้นแบบบูรณาการระบบอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อมุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ
พ่อแม่หลายคนอาจมีทัศนคติว่า การที่ลูกน้อยของตนเองผ่ายผอม ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล หรืออาจเพราะอยู่ในช่วงวัยซน ไม่ก็มองว่าลูกหลานผอมย่อมดีกว่าอ้วน แต่แท้จริงแล้ว "ความผอม" ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่เรื่องพละกำลัง หรือร่างกายที่แข็งแรง หากเด็กที่มีน้ำหนักน้อยเกินไป ยังส่งผลต่อความแข็งแรงของระดับสติปัญญา พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในวัยที่พัฒนาการเฟื่องฟูที่สุดในชีวิตอีกด้วย
ทว่าจากข้อมูลสถานการณ์ด้านโภชนาการพื้นที่ชายแดนใต้ ปี 2565 โดยการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า พื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีปัญหาทุพโภชนาการติด 1 ใน 5 อันดับสูงสุดของประเทศ พบเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นหรือมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอยู่ที่ 13% ส่วนด้านค่าเฉลี่ยเชาวน์ปัญญา (IQ) ของเด็กนักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากการ ขาดสารอาหาร ต่อเนื่อง และอาจกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว รวมถึงส่งผลต่อความไม่มั่นคงของมนุษย์ และเศรษฐกิจประเทศ
เด็กผอมจะสร้างผลกระทบอย่างไรในวงกว้าง?
ลองนึกภาพ พัฒนาการล่าถอย ประเทศชาติย่อมขาดคนคุณภาพที่จะมาเป็นเรี่ยวแรงขับเคลื่อนสังคม ซึ่งหากประเทศไทยเรามีแต่เด็กที่มี ภาวะทุพโภชนาการ ยาวนาน ย่อมส่งผลต่อเนื่องไปถึงการสะสมทุนมนุษย์ที่เป็นทั้ง "วัยแรงงาน" หรือเป็นสมองของสังคมในวันข้างหน้า คำถามคือ ขณะที่พวกเราบริโภคกันเหลือเฟือและเหลือทิ้ง แต่ทำไมเด็กสามชายแดนกลับขาดอาหาร เพราะความยากจนน่ะหรือ? นั่นก็ใช่ส่วนหนึ่ง หากแต่ข้อเท็จจริงที่เหลือยังมีมากกว่านั้น
ติดอันดับยากไร้สูงสุด
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นอกจากสถานการณ์ความไม่สงบแล้ว ผลกระทบจากโควิด-19 ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมปัญหาด้านเศรษฐกิจพี่น้องสามชายแดนใต้ให้กลายเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดในประเทศ
อันที่จริงภาคใต้มีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 21,748,100 ไร่ แต่เน้นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นหลักมากกว่า 85-90% โดยกว่า 70% ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา ในขณะที่ปลูกพืชเป็นอาหาร เช่น ข้าว มีเพียง 4.06% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ส่วนพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์มีเพียง 3.07%
นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียง 7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (ไม่รวมปลาและสัตว์น้ำ) เทียบกับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 54.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แม้แต่แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุดอย่างเช่น ไข่ ที่นี่มีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ไข่เป็ดในพื้นที่เพียง 14.9 ฟองต่อคนต่อปีเท่านั้น ที่เหลือต้องนำเข้าจากข้างนอก ส่วนหนึ่งเพราะด้วยปัญหาความไม่มั่นคงทำให้บริษัทคอนแทร็คฟาร์มขนาดใหญ่ไม่กล้าเข้ามาตั้ง
แม้แต่การจับหาปลาก็มักเป็นการประมงขนาดใหญ่ที่มุ่งอุตสาหกรรมหรือทำเพื่อขาย ประมงขนาดเล็กมีเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญ ชาวบ้านก็จะเลือกจับปลาดีๆ ส่งขาย ส่วนตัวเองกลับอด ด้วยมีความเชื่อความคิดที่ว่า ของกินเองไม่มีคุณภาพก็ได้ ของดีเก็บไว้ขายดีกว่า
ฉะนั้น ก่อนสถานการณ์จะยิ่งวิกฤติ ในวันนี้จึงถึงเวลาที่จะปฏิวัติระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ ใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากความห่วงใยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา และภาคีเครือข่าย นำมาสู่ การจัดเวที Policy Forum พลังความร่วมมือร่วมใจ ทุกนโยบายห่วงใยระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ "Food system in all policy" ภายใต้โครงการขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเร็ว ๆ นี้
Food system in all policy
"การจะทำให้ประชาชนพี่น้องสามจังหวัด หลุดพ้นความยากจนได้ รากฐานสำคัญต้องเริ่มที่เด็ก ซึ่งปัญหาทั้งหมดไม่ได้แก้ด้วยหน่วยงานราชการ แต่แก้ได้ด้วยการมีส่วนร่วม" นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เอ่ย พร้อมกล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนงานระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ เป็น 1 ใน 7 ประเด็นการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ของ สสส. มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ช่วยลดความเสี่ยงจาก โรคไม่ติดต่อ (NCDs)
เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สสส. จึงได้เร่งสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาตำบลต้นแบบบูรณาการระบบอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี จนเกิดการยกระดับการทำงานเชิงระบบและเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 เรื่อง 1.สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัย จ.ปัตตานี 3.แก้ปัญหาโภชนาการในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน และกลุ่มเปราะบาง จ.ปัตตานี
แค่อิ่มท้อง ไม่อิ่มสุขภาพ
ไม่เฉพาะปัญหาความขาดแคลนแหล่งผลิตอาหารในพื้นที่ ในด้าน "วัฒนธรรมการบริโภค" ของพี่น้องคนใต้เองก็ส่งผลต่อการเข้าไม่ถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
นพ.อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี บอกเล่าว่า คนใต้ยังติดการบริโภคอาหารสชาติจัด หวาน มัน เค็ม เข้มข้นสูง
"ปัตตานีเป็นชาเย็นอร่อยที่สุด มีสีผสมอาหารไม่เกินเกณฑ์แต่ปริ่มพอดี สีไม่เข้มก็ไม่อร่อย หมอก็ไม่กินนะ ส่วนความเค็ม เราเข้าไปดูปริมาณเกลือไอโอดีน พบว่า เกลือเยอะแต่ไอโอดีนน้อย เราพบเด็กประมาณ 40% มีภาวะตัวซีด ผมมองว่าต้องการมีส่วนร่วมภาคีและชุมชน ต้องเชื่อมโยงทำงานเพื่อให้เขาเห็นภาพสุดท้าย คือเป้าหมายร่วมกัน และการบูรณาการร่วมกัน"
เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จ.ปัตตานี ใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 38 แห่ง ร่วมกับ Thailand Policy Lab สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ให้สามารถจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ปัญหา สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกิดแนวร่วมในชุมชนให้เห็นพิษภัยของอาหารที่ใช้สารเคมี ทั้งอาหารแปรรูป ชาไทย ที่มีสีสังเคราะห์ปนเปื้อนในอาหาร และอาหารทะเล ที่มีสารฟอร์มาลีน โลหะหนัก สารหนู สารตะกั่วปนเปื้อนในอาหาร โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย และเสริมสร้างความรอบรู้ให้ผู้บริโภคฉลาดเลือก เนื่องจากผู้ปกครองยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารต่อการพัฒนาสมอง
ขับเคลื่อนด้วยทุนในชุมชน
กนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เอ่ยถึงสถานการณ์ ภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลต่อทักษะด้านการเรียนรู้ต่อเด็กในพื้นที่สามชายแดนใต้ว่า ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 40,000 คน ที่ประสบปัญหาตั้งแต่ในครรภ์มารดาเมื่อคลอดออกมามีน้ำหนักไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด ขาดสารอาหาร เตี้ย แคระ แกร็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสติปัญญา ทั้งนี้ด้วยสาเหตุหลักคือ อาจจะมาจากความไม่พร้อมของครอบครัว ไม่มีอาชีพไม่มีรายได้ มาจุนเจือเลี้ยงดู เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อการเรียนการศึกษา
ผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยถึงกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้พี่น้องชายแดนใต้เข้าถึงอาหารปลอดภัย ว่านอกจากการสร้างระบบผลิตอาหารคุณภาพแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องสอดแทรกความรอบรู้และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"วิธีการสำคัญที่ทำเรื่องนี้ได้คือ ต้องดึงคนในชุมชนมาเป็นแกนนำ มาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เราจึงมองการสร้างเครือข่ายชุมชนมีความสำคัญ รวมถึงท้องถิ่น โดยใช้กลไกชุมชนที่มี ทุนต่างๆ อาทิ กองทุนสุขภาพตำบล สปสช. ให้งบประมาณท้องถิ่นและสมทบตั้งกองทุนเพื่อทำงานเรื่องสุขภาพในระดับพื้นที่ ขณะที่ สสส. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สปสช. ก็ยังร่วมกันลงไปสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพคนในพื้นที่เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงเรื่องกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ"
ม.อ. จึงเร่งบูรณาการทำงานเครือข่ายนักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการทำงานส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ อาทิ เครือข่ายตลาดนัดอาหารเช้าโรงเรียน 6 แห่งใน จ.ปัตตานี ให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ ผลิตอาหารปลอดภัย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ส่งเสริมโครงการปลูกผักยกแคร่ สร้างโรงเรือนปลูกผักในที่สูงป้องกันวัชพืช ทำให้กลไกชุมชนจังหวัดปัตตานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ต้นแบบที่เข้มแข็ง ช่วยสร้างแนวทางการกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
เด็กใต้ไม่ขาดสารอาหารยั่งยืน
เพ็ญ สุขมาก จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าถึงการขับเคลื่อนโครงการนี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการนำร่องที่สงขลามาก่อนแล้วในปี 2557-2558
"โครงการนั้นเด็กร่วมกันทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โรงครัว แมชชิงโมเดล จนเราออกจากพื้นที่ ปัจจุบันเขาก็ยังทำอยู่ กิจกรรมยังมีและเขาสามารถใช้กลไก งบประมาณที่มีอย่างยั่งยืน เราพบปัญหาครัวเรือนยากจน การเข้าถึงอาหาร อาหารปลอดภัย การจัดการอาหารในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องเชิงระบบ ถ้าจะแก้ปัญหาเชิงระบบเราต้องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาการจัดการ เพราะหนึ่งเขาอยู่ใกล้พื้นที่ สอง เขามีงบประมาณ สามเขามีบุคลากร เรามองว่าถึงจะยั่งยืน ดังนั้น policy ของเราไม่ใช่ policy ที่เป็นระดับ top down แต่เป็นนโยบายสาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดได้ ท้องถิ่นกำหนดได้ เพราะคุณมีคนมีเงิน แต่เขาอาจมีข้อจำกัดในเรื่องความรู้ด้านกระบวนการทำนโยบาย เราก็ไปเติมเต็มตรงนี้"
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า การทำงานในพื้นที่สามจังหวัดมีความซับซ้อนมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มจังหวัดที่ประชาชนอยู่ใต้เส้นความยากจนต่ำมากที่สุด มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และด้วยวิถีพหุวัฒนธรรม อีกทั้งปัญหาความขัดแย้ง