รู้จักเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก่อนชมจริง 27 ต.ค. นี้
ชวนทำความรู้จัก เรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในหลวง-พระราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 27 ต.ค. นี้
วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
สำหรับประชาชนที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ และชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ บริเวณจุดต่างๆ ริมน้ำที่ทางการจัดให้ รวมถึงรับชมทั้งผ่านการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และ ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น จึงได้รวบรวมลักษณะพิเศษของขบวนเรือ และ เรือพระราชพิธีต่างๆ ทั้ง 52 ลำ มาให้ดูกัน
จัดตำแหน่งแบบ "ดาวล้อมเดือน"
ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก "พระลาน" ระบุว่า เมื่อปีพุทธศักราช 2525 ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเรือพระราชพิธีที่เข้าร่วมในริ้วพยุหยาตรา (ใหญ่) ทางชลมารค ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นรูปแบบ “ดาวล้อมเดือน” เพื่อให้รูปขบวนมีสัดส่วนที่เหมาะสม และเรือพระที่นั่งมีความสง่างามไม่รั้งท้ายขบวน เนื่องจากไม่มีขบวนเรือของพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จเป็นขบวนหลังเหมือนในอดีต
ผังของขบวนเรือพระราชพิธีมีลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือ มี "เรือพระที่นั่ง" เป็น "เดือน" ส่วนเรือลำอื่นๆ ในขบวนหน้า ในขบวนแซง และในขบวนหลัง เป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน ซึ่งการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคปัจจุบัน ได้นำแนวพระดำริดังกล่าวมาปฏิบัติ เพื่อให้เรือพระที่นั่งมีความสง่างามสมพระเกียรติ
การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ
การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา ดังนี้
1. เรือพระที่นั่ง 4 ลำ
เรือสุพรรณหงส์ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เรืออนันตนาคราช เรืออเนกชาติภุชงค์
เรือสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อพุทธศักราช 2454
โขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ตอนกลางลำเรือมีประทับเรียกราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง
เรือสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลยกย่องเป็นเรือมรดกโลก จาก “World Ship Trust” เมื่อปีพุทธศักราช 2535
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดย กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร ได้นำ โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับ ศิลปกรรมของเรือทั้งหมด
โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรีศูล คทา จักร และสังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ ใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในขบวนพยุหยาตราชลมารค สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ลำปัจจุบันมีการสร้างใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) สำเร็จเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2457
โขนเรือเป็น "พญาอนันตนาคราช" หรือนาค 7 เศียร โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ นับเป็นเรือพระที่นั่งที่มีความงดงามอีกลำหนึ่ง อนึ่ง เคยมีการพิมพ์รูปเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชด้านหลังธนบัตร 20 บาท โดยจัดพิมพ์และใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ซึ่งปัจจุบันเลิกพิมพ์แล้ว
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
โขนเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปนาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เรือรูปสัตว์ 8 ลำ
เรืออสุรวายุภักษ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีม่วง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และถูกระเบิดทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9
เรืออสุรปักษี เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีเขียว ปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และได้รับการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 9
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีขาว เครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะถูกระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงโขนเรือ โดยซ่อมแซมโขนและสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2510
เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีดำ เครื่องประดับกาย และผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก
เรือครุฑเหินเห็จ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีแดง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก เดิมเรียกกันว่า "เรือครุฑเหิรระเห็จ" สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2505
เรือครุฑเตร็จไตรจักร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีชมพู หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนถูกระเบิดชำรุดซึ่งกรมศิลปากรเก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ โดยลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2511
เรือพาลีรั้งทวีป เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปพาลี (ลิงมีฤทธิ์กายสีเขียว ตัวละครจากรามเกียรติ์เป็นพี่ชายของสุครีพ) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1
เรือสุครีพครองเมือง เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปสุครีพ (ลิงมีฤทธิ์กายสีแดง ตัวละครจากรามเกียรติ์ เป็นน้องชายของพาลี) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ซ่อมแซมอีกครั้งในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2514
3. เรือพิฆาต 2 ลำ
เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ ทั้ง 2 ลำหัวเรือเป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารง 1 กระบอก จัดเป็นเรือรบโบราณประเภทเรือพิฆาต
ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 2 ลำจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทยานชลแล่นส่ายนอกด้านขวา และเรือคำรณสินธุ์แล่นส่ายนอกด้านซ้าย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง แต่พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปวาดเรือพิฆาตในริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
4. เรือคู่ชัก 2 ลำ
เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก สำหรับใช้ช่วยชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในงานพระราชพิธีเมื่อน้ำเชี่ยว หรือต้องการให้เรือแล่นเร็วขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ ด้านข้างเรือทั้ง 2 ลำวาดลวดลายเป็นตัวเหรา สัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีรูปร่างส่วนบนเป็นนาค ส่วนล่างเป็นมังกร
สำหรับเรือเอกไชยเหินหาว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนถูกระเบิดได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือลำปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2508 ส่วนเรือเรือเอกไชยหลาวทองลำเดิมไม่พบหลักฐานการสร้าง โดยลำปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 เช่นกัน
5. เรือประตู 2 ลำ
เรือทองขวานฟ้า และ เรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าคู่แรกในขบวนพยุหยาตราชลมารค เรือลำเดิมทั้ง 2 ลำไม่พบหลักฐานการสร้าง แต่ตัวเรือได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือและท้ายเรือรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2507 โดยใช้หัวเรือเดิมและได้แกะสลักลวดลาย คาดหัว-ท้ายเรือ ปิดทองประดับกระจก พร้อมกับจัดทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่
6. เรือกลอง 2 ลำ
เรืออีเหลือง และ เรือแตงโม จัดเป็นเรือกลองในขบวนพยุหยาตราชลมารค มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลงลำละ 6 นาย โดยเรืออีเหลืองจะอยู่หน้าสุดของริ้วสายกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการของขบวนเรือ ส่วนเรือแตงโม อยู่ในริ้วกลางหรือริ้วที่ 3 หน้าเรือพระที่นั่ง เป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการของขบวนเรือ
7. เรือตำรวจ 3 ลำ
เรือตำรวจ 3 ลำ มีลักษณะคล้ายเรือแตงโมและเรือดั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง มีพระตำรวจหลวง ชั้นปลัดกรม หรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ 3 ลำ
8. เรือดั้ง 22 ลำ
เรือดั้ง 22 ลำ ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนเรือหน้า ไม่พบหลักฐานที่สร้าง ในปี พ.ศ. 2506 กรมอู่ทหารเรือต่อเรือดั้ง 6 ขึ้นใหม่ มีการซ่อมใหญ่ในปี พ.ศ. 2524
เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลาย ปัจจุบันหัวเรือปิดทอง มี 22 ลำ มีชื่อเรียกตามลำดับตั้งแต่ เรือดั้ง 1 ถึงเรือดั้ง 22
9. เรือแซง 7 ลำ
เรือแซง 7 ลำ คือ เรือกราบ เป็นเรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง มี 7 ลำ มีชื่อเรียกตามลำดับตั้งแต่ เรือแซง 1 ถึงเรือแซง 7
รูปขบวนเรือพระราชพิธี แบ่งเป็น "5 ริ้ว 3 สาย"
สำหรับการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้
1. ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจ รวมทั้งสิ้น 10 ลำ
2. ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่งมีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น 14 ลำ
3. ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 28 ลำ
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก "พระลาน"