ปลุกรุ่นใหม่ ปลุก นิสัย ลดอุบัติเหตุ นำร่อง เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน
ปลุกรุ่นใหม่ ปลุก "นิสัย" ลดอุบัติเหตุ ตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านโครงการ "เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย" ตามแนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน
การที่ประเทศไทยครองแชมป์ อุบัติเหตุบนท้องถนน ติดอันดับของโลกหลายปีต่อเนื่อง กำลังเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมหรือได้ประสิทธิผลเท่าที่ควรอีกต่อไป
ปัญหาอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนเป็นปัญหาที่เรื้อรังยาวนานในสังคมไทย จากข้อมูลอัปเดตในปี 2566 ที่ผ่านมา ยังคงพบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนราว 17,498 คน โดยในสถิตินั้น เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี เกิดอุบัติเหตุทางถนน 181,922 คน และต้องเสียชีวิตไปถึง 3,004 คน
หากมองจากตัวเลขอุบัติเหตุที่ยังคงสูงต่อเนื่องในแต่ละปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีจำนวนไม่น้อยต้องบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือพิการไปอย่างน่าเสียดาย อาจเป็นอีกสัญญาณที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวังกว่าที่เป็นอยู่ หรือไม่
เปลี่ยนนิสัย สร้างวินัยในคนหมู่มาก
"โดยปกติในผู้ใหญ่ใช้กฎหมายนำ แต่เพราะการไม่ได้สร้างนิสัยตั้งแต่ต้น ทำให้คนทำผิดกฎหมายเยอะกว่าคนทำถูกกฎหมาย ซึ่งคงจะใช้กฎหมายไปไล่จับให้ครบทุกคนไม่ได้ ดังนั้นหากทุกคนเริ่มที่การปลูกฝังสร้างนิสัยให้ก่อน อาจจะมีเพียง 5-10% ที่นอกกรอบ หรือจำเป็นต้องใช้กฎหมาย"
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายและการปลูกฝังค่านิยมคนในสังคมให้เคารพต่อกฎกติกาบนท้องถนนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน
"บทลงโทษต้องเกิดจากคนส่วนน้อยที่ทำผิด ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทำผิด เพราะถ้าจะจับคนที่ไม่สวมหมวกนิรภัยของประเทศนี้ กลายเป็นเกินครึ่งที่ไม่สวมหมวกนิรภัย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีฐานในการสร้างพฤติกรรมให้เป็นนิสัยตั้งแต่ต้น เท่ากับว่าจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับคนมากกว่าครึ่งของประเทศนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้และจะเกิดแรงต้าน คงต้องทะเลาะกับคนมหาศาล ดังนั้น สสส. มองว่าต้องเปลี่ยนให้คนกลุ่มใหญ่ทำตามกติกาก่อน ด้วยการสร้างนิสัยตั้งแต่วัยเยาว์" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
แนวคิดดังกล่าวเป็นเหตุผลที่วันนี้ การขับเคลื่อนเรื่อง "ความปลอดภัยบนท้องถนน" จึงต้องขยับไปปลูกฝังตั้งแต่ฐานราก นั่นคือการมุ่งสร้างนิสัย "มีวินัยและเคารพกฎกติกา" ตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านโครงการ "เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย" ที่สสส. ริเริ่มขึ้นเพื่อ กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด, แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน
กิจกรรมนำร่องของโครงการนี้คือ การร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย และสภาเด็กและเยาวชนทั้ง 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, สระแก้ว, ศรีสะเกษ, หนองคาย, น่าน, ตาก และนครศรีธรรมราช ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานทั้งระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ ในการสะท้อนข้อมูลปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน ร่วมคิดวางแผน สื่อสารความเสี่ยง แก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยง และเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อลดความสูญเสียในเด็กและเยาวชน ตามแนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน
สำหรับการขับเคลื่อนครั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งหวังให้รูปธรรมใน 3 ประเด็น ที่จะเกิดผลลัพธ์จริง คือ
- เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นแบบที่จะเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนงานด้านประเด็น ความปลอดภัยทางถนน ในระดับพื้นที่ เกิดการพูดหรือสะท้อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่และทำให้สังคมให้ความสำคัญและตระหนักมากขึ้น
- เด็กและเยาวชนที่สามารถเป็นนักสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ ในประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ที่สามารถผลักดันให้เกิดข้อสั่งการเพื่อแก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยงหน้าโรงเรียนหรือชุมชน
- เด็กและเยาวชนสามารถเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนได้อย่างต่อเนื่องให้กับประเทศในรุ่นต่อไป และสำคัญที่สุดเด็กและเยาวชนต้องปลอดภัยทุกครั้งที่เดินทาง
"จริงๆ ตนคาดหวังว่าสภาเด็กฯ ที่เข้มแข็งจะเป็นแกนหลักสำคัญในระดับจังหวัดในการที่จะส่งเสียง Voice ให้กับจังหวัดและสังคม เด็กอาจไม่มีอำนาจในตัวเขาเอง แต่มีเสียงที่สะท้อนสังคม หรือความต้องการของตัวเด็กได้ เพราะบางทีผู้ใหญ่พูดยังไม่ฟังเท่าเสียงเด็กที่เป็นลูกหลานของทุกคน แต่นี่ยังเป็นสิ่งที่ตนคาดหวัง" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
เสียงของเด็กคือพลัง
นพ.พงศ์เทพ ให้มุมมองเมื่อถูกถามถึงบทบาทและศักยภาพของเด็กและเยาวชนกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่า เด็กมีพลัง ขึ้นอยู่กับว่าใช้พลังอย่างไรในการจะช่วยขับเคลื่อนปกป้องตัวเขาเอง และปกป้องเยาวชนที่เป็นเพื่อนรอบข้าง ขณะเดียวกันเด็กจะกลายเป็นเยาวชนที่เติบโต เข้มแข็ง มีจิตอาสา และมีส่วนในการขับเคลื่อนปัญหาของสังคมไทยได้
"ตนคาดหวังว่าสภาเด็กและเยาวชนที่มีกระจายตัวในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล สามารถที่จะไปรวมกลุ่มกันว่าจะร่วมคิดปัญหาอุบัติเหตุเป็นอย่างไร หรือควรหาทางออกอย่างไร โดยจะมีพี่เลี้ยงที่เข้าไปช่วย เช่น อาจเป็น สจร. หรือสถาบันยุวทัศน์ กระทรวง พม. ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่เหล่านี้" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มอีกว่า อยากให้เด็กใช้เสียงในการสำรวจ สื่อสาร และสร้างความเข้าใจกับพวกตนเอง และสร้างคนที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศ พื้นที่ต่างๆ มีความแตกต่างของเรื่องอุบัติเหตุ ตนคาดหวังว่าเด็กจะสามารถวิเคราะห์ เข้าใจปัญหาของเด็ก และสามารถมีส่วนในการสร้างรณรงค์ที่ตรงกับวัยกับรุ่นของตน และจังหวัดเองก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าปัญหาอยู่ที่พฤติกรรรม นิสัย หรือที่สภาพแวดล้อม หรือปัจจัยอื่น ซึ่งตรงนี้เด็กสามารถส่งเสียงออกมาว่าตนเองอยากให้ผู้ใหญ่ในจังหวัด อำเภอ ตำบล ได้ดูแลความปลอดภัยทางถนนให้กับตนอย่างไร
หนึ่งในตัวอย่างของการนำพลังเด็กมาขับเคลื่อน Global Youth Coalition for road safety ซึ่งเป็นเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนที่มีเยาวชนกว่า 2,400 คนจาก 129 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก ตอกย้ำถึงความสำคัญในเรื่อง "เสียง" ของเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่อาจมองข้าม
Olufunke Afesojaye ผู้แทนจาก Global Youth Coalition for road safety ร่วมสนับสนุนถึงพลังของเด็กและเยาวชน ผ่านบทเรียนในการขับเคลื่อนบทบาทเยาวชนเพื่อกำหนดนโยบายความปลอดภัยทางถนน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมกับมีการพัฒนาเครื่องมือและทักษะในการมีส่วนร่วมของเยาวชน ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาเยาวชนโลกครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ที่ประเทศโมร็อกโก จะมีเป้าสำคัญคือเรียกร้องให้เพิ่มการลงทุน ความร่วมมือและความรับผิดชอบจากหลายภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573
อุบัติเหตุทางถนน = เรื่องใกล้ตัว
สุธี ชุดชา หรือ สิงโต รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจเครือข่ายสภาเด็กฯ ที่เข้าร่วมโครงการ เห็นว่า อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเรื่องใกล้ตัว ตนเคยพบเห็นอุบัติเหตุขณะเดินทาง 80% มีคนในครอบครัวหรือเพื่อนเคยเกิดอุบัติเหตุ 85% และตนเองเคยเกิดอุบัติ 59% ทั้งนี้กว่า 93% ระบุว่าอยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนน ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่เยาวชนต้องนึกถึงว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างเช่น แค่เดินไปซื้อของปากซอยก็เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งเวลามันเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถจะรู้ว่าต้องสูญเสียมากเท่าไหร่ ตนมองว่าโครงการนี้ค่อนข้างมีประโยชน์ นำร่องในแปดจังหวัดให้เด็กได้คิดหรืออยากรณรงค์อุบัติเหตุท้องถนนแบบไหน เป็นสารตั้งต้นทำให้เด็กเยาวชนเป็นแกนนำ และใช้บทบาทตรงนี้ทำงานในพื้นที่ได้ด้วย
สุธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังของเครือข่ายสภาเด็กฯ ว่าจะสามารถร่วมพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ๆ ในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้ แต่ถ้าทำงานตรงนี้เพียงคนเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือภาคีเครือข่าย รวมถึงพลังน้องๆ เยาวชน ในการพัฒนากลไก โดยเริ่มจากน้องๆ ที่จะบอกความต้องการว่าอยากขับเคลื่อนประเด็นไหน เช่นอาจจัดแคมเปญในพื้นที่เอง แต่ทั้งนี้ ต้องมีผู้ใหญ่สนับสนุน มีหน่วยงานที่หนุนเสริม เช่นเดียวกับสโลแกนที่ว่า เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน
พม. รับลูก พร้อมหนุนพลังเด็ก
นิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของ กระทรวงพม. โดยกรมกิจการเด็ก และเยาวชน คือการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาเด็ก และเยาวชนทุกระดับในทุกจังหวัด ตั้งแต่ปสภาเด็กและเยาวชนตำบล/เทศบาล สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนเขต (กรุงเทพมหานคร) สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยได้หนุนเสริมบทบาทของเด็ก และเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน สะท้อนถึงปัญหาที่พบ และร่วมแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ผ่านเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็น 1 ในประเด็นสำคัญของเยาวชนที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้