10 หนังรางวัลจากเทศกาลชั้นนำ ในงาน The 16th World Film Festival of Bangkok 2024

หากไม่รู้ว่าจะดูหนังเรื่องไหนดีในมหกรรม The 16th World Film Festival of Bangkok 2024 'กัลปพฤกษ์' แนะนำ 10 เรื่องที่ไม่ควรพลาด มีรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกเป็นเครื่องการันตี
ด้วยจำนวนหนังทั้งสั้นและยาวรวมจำนวนแล้วกว่า 100 เรื่อง ที่จะจัดฉายระหว่างวันที่ 7-17 พฤศจิกายน นี้อย่างต่อเนื่องในงาน 16th World Film Festival of Bangkok 2024 จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าหลายๆ คนคงเกิดอาการ ‘รักพี่เสียดายน้อง’ ถึงจะจองตั๋วแบบรัวๆ เดินทัวร์เข้าออกกันทุกโรงทุกวันทั้งวัน ก็ยังไม่สามารถตามทันแบบดูจนครบทุกเรื่องได้
‘กัลปพฤกษ์’ จึงขอรวบรวมเอาหนังนานาชาติที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในเวทีเทศกาลหนังระดับโลกชั้นนำในรอบปีมาให้ทุกท่านได้พิจารณาในฐานะของผลงานสำคัญระดับรางวัลใหญ่แห่งปีกันสักสิบเรื่อง ตามลำดับเวลากันดังนี้
1.DAHOMEY กำกับโดย Mati Diop จากเซเนกัล-ฝรั่งเศส
หนังสารคดีความยาวเพียง 67 นาทีที่ไม่มีใครคาดคิดไว้เลยว่าจะชนะรางวัล ‘หมีทองคำ’ ประจำเทศกาลเบอร์ลินปี 2024 ไปได้ แต่ด้วยเนื้อหาที่หนักแน่นกระทบใจ ชวนให้ตระหนักถึงปัญหาด้านกรรมสิทธิ์ทางสมบัติประวัติศาสตร์อันล้ำค่าร่วมสมัย ว่าเราควรจะมองมันอย่างไร ก็ทำให้หนังสามารถคว้ารางวัลใหญ่เอาชนะเรื่องอื่น ๆ ได้ในที่สุด
Dahomey เป็นชื่ออาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ณ ดินแดนประเทศเบนินปัจจุบัน และเหตุผลสำคัญที่ผู้กำกับหญิง Mati Diop นำมาใช้เป็นชื่อหนังก็คือ สารคดีเรื่องนี้เล่าถึงกรณีการทวงคืนสิทธิถือครองสมบัติทางประวัติศาสตร์ของดินแดน Dahomey ที่ทางการฝรั่งเศสเคยโจมตีและยึดไปเมื่อปี ค.ศ. 1890 จำนวนกว่า 7,000 อย่าง และในสมัยปัจจุบันได้นำไปจัดวางตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ บรองลี ที่กรุงปารีส
โดยประธานาธิบดีมาครง ได้ตกลงสัญญาว่าจะคืนสมบัติจำนวน 26 ชิ้นให้แก่ประเทศเบนินในปัจจุบัน และเพิ่งจะมีการส่งมอบกันเมื่อปี 2020 ซึ่งผู้กำกับ Mati Diop ก็ได้ติดตามการขนย้ายผลงานประวัติศาสตร์เหล่านี้คืนถิ่น โดยใช้เสียงเล่าผ่านวิญญาณที่สิงอยู่ในวัตถุเคารพเหล่านี้ ด้วยวิธีการของงานสารคดีสร้างสรรค์ ก่อนจะหันไปรับฟังการถกเถียงอภิปรายถึงความเหมาะสมในการลักขโมยสมบัติประจำชาตินี้ไปในสมัยการล่าอาณานิคมของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยอโบเมคาวาลี เพื่อตีแผ่ประเด็นการทวงคืนมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรจะนำกลับมาเป็นสินทรัพย์ของเหล่าทายาทตัวจริง!
2.A TRAVELER’S NEEDS กำกับโดย Hong Sang-soo จากเกาหลีใต้
หนังตลกชวนฮาจากเกาหลีใต้ของผู้กำกับ Hong Sang-soo ผู้มีผลงานเข้าประกวดที่เทศกาลเบอร์ลินต่อเนื่องกันแบบรัว ๆ เป็นปีที่ห้าแล้ว
A Traveler’s Needs ได้นักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศสระดับแถวหน้าของวงการ Isabelle Huppert มาร่วมงานด้วยอีกครั้ง หลังจากที่เธอเคยได้ร่วมนำแสดงในหนังของผู้กำกับ Hong Sang-soo มาก่อนแล้วในเรื่อง Claire’s Camera (2017)
กลับมาคราวนี้ Isabelle Huppert รับบทบาทเป็น Iris นักท่องเที่ยวหญิงถังแตกจากฝรั่งเศสในเกาหลีใต้ ที่ได้รับคำแนะนำให้ลองหารายได้พิเศษจากการสอนภาษาฝรั่งเศสแก่คนที่สนใจ แต่ด้วยความที่ Iris ไม่เคยร่ำเรียนหรือมีประสบการณ์ด้านการสอนภาษามาก่อน วิธีการสอนของเธอจึงออกจะพิสดาร
เพราะเธอจะใช้เวลาในการสัมภาษณ์ลูกศิษย์ด้วยภาษาอังกฤษอย่างยาวนาน เพื่อควานหาอารมณ์ความรู้สึกที่ลูกศิษย์ประทับใจ จากนั้นจึงแต่งประโยคให้เป็นภาษาฝรั่งเศส อัดลงเทปคาสเซ็ตต์ ให้พวกเขาพูดตาม เพราะความรู้สึกดื่มด่ำในทุก ๆ คำทุก ๆ ประโยคนี่แหละ ที่จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ภาษาใหม่นี้ได้อย่างดี!
หนังดำเนินเรื่องด้วยท่วงทำนองแสนสุนทรีย์ สลับฉากการสัมภาษณ์เพื่อเรียนภาษากับการใช้เวลาบรรเลงดนตรี และที่ขาดไม่ได้คือการได้ลิ้มรสสุราท้องถิ่นนาม makgeolli ซึ่งทุกจิบมันช่างมีรสชาติกำซาบซ่าน จนเหมือนชีวิตไม่ได้ต้องการความสุขอื่นใดมากไปกว่านี้อีกแล้ว
A Traveler’s Needs จึงเป็นหนังเล็ก ๆ ง่าย ๆ สะท้อนให้เห็นมุมงามของชีวิตอย่างแยบคาย จนแทบจะไม่มีอะไรเป็น conflict ขัดแย้งให้ต้องแสลงเสียอารมณ์กันเลย!
3.PEPE กำกับโดย Nelson Carlo de Los Santos Arias จากสาธารณรัฐโดมินิกัน
Pepe เป็นหนังที่มาในลีลาลูกผสมของงานสารคดีและหนังเล่าเรื่อง ที่อาจจะมองเป็นทั้ง Docufiction และ Docudrama ได้ในเวลาเดียวกัน ทลายเส้นแบ่งกั้นระหว่างงานเล่าเรื่องและสารคดี หรือหนังที่มีรูปแบบคล้ายความเรียง ซึ่งปัจจุบันก็เทียบเคียงจำแนกได้ยากขึ้นทุกวัน ๆ
เนื้อหาของ Pepe เป็นการย้อนเล่าถึงฮิปโปโปเตมัสนาม Pepe ซึ่งเป็นทายาทของคู่ฮิปโปโปเตมัสซึ่ง Pablo Escobar นักค้ายาชื่อดังในอดีตแห่งโคลอมเบีย เคยลักลอบนำเข้าประเทศมาจาก นามิเบีย ทวีปแอฟริกา Pepe จึงมีสัญชาติเป็นละตินอเมริกา ในขณะที่มาตุภูมิดั้งเดิมของมันมาจากดินแดนกาฬทวีป
สิ่งที่บีบหัวใจคือ Pepe กลายเป็นฮิปโปตัวแรกในทวีปอเมริกาที่ถูกฆ่าตาย และตลอดทั้งเรื่องเราจะได้ยินเสียงของ Pepe หลังจากที่มันได้ชีวาวาย เล่าผ่านเสียงพูดทุ้มต่ำหลากหลายภาษา เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ก่อนและตลอดชั่วอายุขัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์สปีชีส์นี้
หนังมีลีลาเชิงทดลองที่จัดว่าแปลกพิสดารมากมาย มีการใช้สัดส่วนภาพที่หลากหลาย อาศัยทั้งภาพ footage และส่วนที่ถ่ายทำผ่านการแสดงใหม่สลับกันไปจนดูวุ่นวาย และที่แสบร้ายคือมีการใส่ฉากที่เหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวโดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ท่องเที่ยวป่าซาฟารีในนามิเบีย หรืออยู่ดี ๆ ก็ยอมเสียเวลาไปกับฉากการประกวดสาวงามกลางดงป่า ชนให้ได้คิดไขปริศนาว่ามีนัยยะใด ๆ ข้องเกี่ยวกับเรื่องราวของครอบครัวเจ้า Pepe หรือไม่
ซึ่งก็เป็นการหลงป่าออกนอกทางอันน่าพิสมัย ทำให้หนังไม่มีจุดใดที่จะสามารถคาดเดาได้จนกลายเป็นความน่าเบื่อเลย สมแล้วที่หนังจะได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไป กับหนังที่ไม่สามารถนิยามหรืออธิบายอะไรกันได้เรื่องนี้!
4.DYING กำกับโดย Matthias Glasner จากเยอรมนี
หนังมหากาพย์ภาพชีวิตอันอาภัพและย่อยยับของตัวละครร่วมสมัย ณ เมืองใหญ่ในเยอรมนีด้วยความยาว 180 นาที มีตัวละครหลักคือสมาชิกในครอบครัว Lunies ที่พ่อแม่วัยชราต่างมีปัญหาสุขภาพทั้งโรคความจำเสื่อม เบาหวาน ไต มะเร็ง และการมองเห็น
ในขณะที่ Tom ผู้เป็นบุตรชายก็ได้ทำงานเป็นวาทยกรให้วง orchestra และกำลังจะ premiere บทประพันธ์ใหม่ชื่อ ‘Dying’ ของสหายนักประพันธ์ผู้เบื่อโลกนาม Bernard ที่กำลังต้องการจะจบชีวิตตัวเองลงจริง ๆ พร้อม ๆ กับที่หญิงคนรักเก่าของเขาก็อยากให้ Tom กลับมาเป็นพ่อบุญธรรมของบุตร ส่วน Ellen น้องสาวสุดที่รัก ก็ดันปักใจขอยอมเป็นเมียน้อยทันตแพทย์หนุ่มที่เธอหลงใหล
ครอบครัวใหญ่เรือนนี้จึงมีแต่เรื่องวุ่นวายร้อยแปดพันประการ ชวนให้รู้สึกสงสารว่าชะตากรรมของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง มันช่างเหมือนละคร sit-com ที่ทุกคนเจอแต่ความซวยอย่างต่อเนื่อง เหมือนถูกกลั่นแกล้งกันจากเบื้องบนเช่นนี้อยู่ร่ำไป!
5.ALL WE IMAGINE AS LIGHT กำกับโดย Payal Kapadia จากอินเดีย
หนังรักร่วมสมัย เล่าถึงชีวิตสองนางพยาบาลจากมุมไบ ในอินเดีย นาม Prabha และ Anu ที่อาศัยเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน เนื่องจากทำงานที่โรงพยาบาลเดียวกัน โดยฝ่ายรุ่นพี่ Prabha ถูกจับคลุมถุงชนจนเป็นฝั่งเป็นฝา แต่ฝ่ายสามีดันทิ้งไปหางานทำที่เยอรมนี ในขณะที่ Anu ก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มนาม Shiaz แต่ไม่สามารถหาจุดพลอดรักกันในตัวเมืองอันหนาแน่นไปด้วยผู้คนและต้องทนอดกลั้นความต้องการไว้
จนวันหนึ่ง Prabha ก็ต้องรู้สึกเหมือนมีหนามแหลมมายอกใจเมื่อเธอได้รับพัสดุเป็นหม้อหุงข้าวใบใหญ่รุ่นใหม่ส่งมาจากเยอรมนีโดยที่ไม่มีจดหมายบอกแจ้งแถลงความในเลยสักใบ สุดท้ายพวกนางก็ตัดสินใจใช้วันหยุดพักผ่อนในการเดินทางกลับไปยังเมืองบ้านเกิดริมชลธี ‘รัตนาคีรี’ ไปอิ่มเอิบกับแสงสีไฟนีออนจากร้านอาหารยามราตรีที่จะปลดปล่อยให้พวกนางได้ห่างเหินจากความทุกข์ในมหานคร!
จุดเด่นของ All We Imagine as Light คือน้ำเสียงการเล่าอันแสนอ่อนโยน ด้วยโทนอันอ่อนหวานในแบบสตรีที่เรามักจะไม่ได้เห็นนักในหนังจากอินเดีย โดยเฉพาะจากผลงานของผู้กำกับหญิง
ยิ่งเมื่องานของผู้กำกับสตรีอินเดียในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะโดย Aparna Sen, Mira Nair หรือ Dheepa Meta ก็มักจะเลือกเล่าประเด็นปัญหาสังคมในภาพใหญ่ ไม่เลือกที่จะเจาะไปถึงอารมณ์เบื้องลึกของอิสตรีอินเดียแบบเดียวกับหนังเรื่องนี้ All We Imagine as Light จึงมีความ ‘สดใหม่’ ในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนไปโดยปริยาย
ยิ่งเมื่อได้ลีลาลวดลายในการเล่าที่ผนวกเอาวรรณศิลป์ของงาน ‘ความเรียง’ และ ‘กวีนิพนธ์’ มาผสมปนกับเสียงดนตรีเปียโนสำเนียงแจ๊ส หนังก็ยังให้อารมณ์ของงานศิลปะที่พอจะยังมีความแมสเข้าถึงคนในวงกว้างได้ ไม่ถึงกับล้ำลึกพิสดารจนไม่มีใครเข้าใจ
6.GRAND TOUR กำกับโดย Miguel Gomes จากโปรตุเกส
Miguel Gomes จากโปรตุเกส เป็นผู้กำกับอีกรายที่ชอบทำหนังนอกประเทศตัวเอง โดยคราวนี้เขาได้ทำหนังสีสลับขาวดำ นำเอาเนื้อหาสั้น ๆ จากหนังสือบันทึกการเดินทางเรื่อง The Gentleman in the Parlour: A Record of a Journey from Rangoon to Haiphong (1930) ของนักเขียนชาวอังกฤษ W. Somerset Maugham มาเล่าใหม่ให้เป็นงาน fiction เชิงทดลองชื่อ Grand Tour
ตัวหนังย้อนยุคไปยังสมัย ค.ศ. 1917 พาผู้ชมร่วมเดินทางไปกับ Edward ข้าราชการหนุ่มจากเครือจักรภพอังกฤษที่เดินทางมายังกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อหนีงานวิวาห์จาก Molly สตรีชาวอังกฤษที่ปัจจุบันได้ครองสิทธิ์ในการเป็นคู่หมั้นของเขา
Edward กลัวการเข้าพิธีวิวาห์จนต้องนั่งเรือนั่งรถไฟลุยดงป่าออกเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชียบรูพา ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ สยาม เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่ Molly เองก็ลงทุนเดินทางตามรอย Edward ในทุกที่ที่เขาไป และมักจะถึงที่หมายคลาดกันกับ Edward เพียงไม่กี่ราตรี
แต่คงไม่มีอุปสรรคใดจะมาทำลายกำลังใจของ Molly ได้ เพราะนางมีรอยยิ้มพิมพ์ใจอันเฉิดฉายที่จะมาตอกย้ำว่าหากพระพรหมได้ทรงลิขิตไว้ ไม่วันหนึ่งวันใดเธอก็จะได้พบกับ Edward สมความปรารถนา!
ซึ่งเนื้อหาของหนังก็มีอยู่เพียงเท่านี้จริง ๆ โดยคนดูจะไม่มีโอกาสได้ดิ่งลึกไปสำรวจเหตุผลทางใจภายในของทั้งฝ่าย Edward และ Molly เลยว่ามีเจตนาในการออกตระเวนไปทั่วเอเชียบูรพาอาณาเขตเหล่านี้ด้วยสปิริตใด
หนังทั้งเรื่องจึงเหมือนเป็นการพาเที่ยวพาทัวร์สลับขั้วเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยส่วนที่ถ่ายให้เห็นอาคารบ้านเรือนจริงของประเทศต่าง ๆ จะเป็นส่วนสีที่ถ่ายทำกันแบบร่วมสมัย เช่น ส่วนที่ถ่ายในประเทศไทยก็จะเห็นป้ายเทอดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ปรากฏอยู่ทั่วไป ในขณะที่ท้องเรื่องจริง ๆ ควรจะอยู่ในยุคสมัยรัชกาลที่ 6
แต่ส่วนที่เล่าเรื่องราวตัวละครเดินทางเข้ารกเข้าพงในดงไพร ก็จะถ่ายด้วยภาพขาวดำเซ็ตทำฉากขึ้นมาใหม่แบบง่าย ๆ กันในสตูดิโอ ด้วยบรรยากาศเชิงโลเคชันแบบเดียวกันเลยกับที่ผู้กำกับฟิลิปปินส์ Raya Martin เคยใช้ในหนังเรื่อง Independencia (2009)
ไอเดียการทำหนังที่ผลักเอาความถูกต้องสมจริงทุกอย่างไว้ทีหลัง แล้วมุ่งนำเสนอพลังจินตนาการสะท้อนมุมมองความคิดอ่านว่าชาวตะวันตกเคยเห็นเหล่าคนเอเชียตะวันออกเหล่านี้อย่างไร คงทำให้ Miguel Gomes สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลคานส์ในครั้งนี้ไปได้
โดยหนึ่งในตากล้องที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ก็มีคนไทยคือ คุณสยมภู มุกดีพร้อม เป็นหนึ่งในทีมบันทึกภาพด้วย
7.THE SEED OF THE SACRED FIG กำกับโดย Mohammad Rasoulof จากอิหร่าน
เล่าเรื่องราวอิงการเมืองร่วมสมัยที่ออกจะใกล้เคียงสถานการณ์หลาย ๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
Iman เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาสอบสวน เขาจึงชวนครอบครัวอันประกอบไปด้วยภรรยาและลูกสาววัยรุ่นทั้งสองย้ายมาจับจองห้องพักอพาร์ทเมนต์สวัสดิการสุดหรูแห่งใหม่ใจกลางเมืองเตหะราน
เคราะห์ร้ายที่ Iman ได้รับตำแหน่งหลังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ต่อกรณีที่ Mahsa Amini สตรีที่ไม่ยอมสวมฮิญาบถูกตำรวจจับตัวไปจนเป็นที่สงสัยว่าถูกทำร้ายร่างกายจนตาย ส่งผลให้เยาวชนหลายแสนคนทั่วประเทศลุกฮือขึ้นต่อต้านการกระทำอันเกินกว่าเหตุของรัฐ
กระทบต่อสวัสดิภาพของครอบครัวผู้พิพากษา Iman เมื่อผู้ประท้วงได้ล่วงรู้ที่อยู่ปัจจุบันของเขา และพร้อมจะเข้าจู่โจมทำร้ายได้ทุกเมื่อ เพราะเชื่อว่า Iman นี่แหละที่ตัดสินให้เหล่าเยาวชนคนมีอุดมการณ์ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นจำนวนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เพื่อน ๆ ของบุตรสาวทั้งสองของเขา!
เมื่ออันตรายเริ่มใกล้เข้ามา Iman ก็รับอาวุธปืนจากที่ทำงานเก็บไว้ป้องกันตัว เขาซุกปืนบรรจุกระสุนตะกั่วไว้ในเก๊ะข้างเตียงนอน จนวันหนึ่งเขาก็เข่าอ่อนเมื่อพบว่าปืนหายไป และต้องเป็นใครคนหนึ่งในบ้านอาคารชุดหลังนี้แหละที่เป็นคนขโมยไป ประกาศสงครามกับหัวหน้าครอบครัวผู้เป็นช้างเท้าหน้าที่อาศัยอำนาจอันไม่เป็นธรรมในการทำร้ายผู้อื่น!
หนังทวีความขมขื่นได้มากขึ้น เมื่อผู้กำกับนำเอาภาพคลิปเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงจากการประท้วงในสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงมาแทรกไว้ในหนัง ทำให้คนดูต้องนั่งดูด้วยความสลดใจ
ในขณะที่เรื่องราวการปะทะปะทั่งกันระหว่างสองอุดมการณ์คู่ขนานของคนต่าง generation ที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์เหล่า ‘นักเรียนเลว’ ในบ้านเรา ก็ตึงเครียดจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
The Seed of the Sacred Fig จึงสะท้อนภาพความเสียดทานของสังคมร่วมสมัยในประเทศที่วิถีการปกครองยังห่างไกลจากการเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่มีสายตาในการมองโลกใบนี้ที่แตกต่างไป ในวันที่เทคโนโลยีทำให้พวกเขามีช่องทางในการเข้าถึงในทุกข่าวสาร!
8.BLACK DOG กำกับโดย Guan Hu จากจีน
หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ของผู้กำกับ Guan Hu หนังขายทัศนียภาพสุดลูกหูลูกตาของทะเลทรายทางดินแดนพายัพของจีนในช่วงก่อนการจัดพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ. 2008 โดย Eddie Peng รับบทเป็น Lang ชายหนุ่มทรงผมสกินเฮดที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ เขาได้ทำงานเป็นหนึ่งในทีมกำจัดฝูงสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่อย่างแออัดในดินแดนทะเลทราย ก่อนที่แขกบ้านแขกเมืองจากประเทศทั้งหลายจะมางาน
โดยวันหนึ่งเขาได้สานความสัมพันธ์กับสุนัขหลังอานสีดำทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวนัก ในขณะที่งานของเขาเริ่มหนักข้อขึ้นเมื่อไม่ได้มีเฉพาะ ‘หมา’ ให้เขาตามล่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสิงสาราสัตว์มีเขามีเขี้ยว รวมไปถึงงูเงี้ยวให้เขาต้องจัดการ!
หนังโดดเด่นด้วยงานด้านภาพที่สวยแปลกตาไปเสียทุก shot ราวจะเป็น Mad Max: Fury Road ฉบับจีน ณ ดินแดนทะเลทรายที่แทบจะระบุกันไม่ได้เลยว่ามันคือประเทศใด!
9.VERMIGLIO กำกับโดย Maura Delpero จากอิตาลี
งานสายมานุษยวิทยาจากอิตาลีที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็น ‘คนภูเขา’ แห่งดินแดนรองเท้าบูทพูดจาสำเนียงท้องถิ่นเตรนโตทางตอนเหนือ
ย้อนเวลาไปเมื่อปี 1945 อันเป็นวาระสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่ายทอดครรลองชีวิตในแต่ละฤดูกาลของครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในภูเขาหิมะขนาดสูงใหญ่ห่างไกลจากความเจริญทั้งหลายทั้งปวง ด้วยท่วงทำนองอันบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติปราศจากการขับเน้นเรื่องราวด้วยอารมณ์ดรามาใด ๆ
ติดตามชีวิตของสมาชิกรายนั้นรายโน้นรายนี้สลับกันไป ราวเป็นงานสารคดีที่ผู้สร้างได้แบกกล้องย้อนเวลาไปถ่ายทำมาให้ดูกันจริง ๆ กลายเป็นหนังที่ ‘บริสุทธิ์’ อย่างยวดยิ่ง มองตรงไหนก็ไม่มีสิ่งใดประดิษฐ์ปลอม!
10.APRIL กำกับโดย Dea Kulumbegashivili จากจอร์เจีย
งานทดลองพันธุ์ดุจากจอร์เจียของผู้กำกับหญิง Dea Kulumbegashvili ที่แม้จะมีตัวละครอย่างคุณหมอสูตินรีแพทย์ Nina ผู้มีอาชีพเสริมเป็นหมอทำแท้งเถื่อนเป็นคนเดินเรื่องหลัก แต่หนังกลับไปจัดหนักกันด้วยลูกเล่นเชิงงานภาพและเสียงอันชวนให้สะเทือนขวัญอกสั่นหวั่นใจ อุดมไปด้วยภาพชวนอุจาดตามากมาย
ไม่ว่าจะเป็นฉากการคลอดลูกที่เปิดให้คนดูเห็นทุกอย่างจริง ๆ หรือการตั้งกล้องนิ่ง ๆ ระยะใกล้ให้คนดูได้เห็นกระบวนการทำแท้งกันอย่างยาวนาน
หนังมีอุดมการณ์เบื้องหลังของคุณหมอ Nina วางไว้เป็นปริศนาว่าเธอจะมาสุ่มเสี่ยงทำงานผิดกฎหมายนี้ไปเพื่ออะไร นับเป็นงานในแบบ ‘ดุดันไม่เกรงใจใคร’ จนสามารถชนะใจคณะกรรมการตัดสินรางวัลที่เทศกาลเวนิสไปได้เป็นลำดับที่สาม
ติดตามรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน The 16th World Film Festival of Bangkok ได้ที่ www.worldfilmbangkok.com