ทำงานเสร็จแบบมีคุณภาพ (แม้ไม่อยากทำ) ปัจจัยแยก 'คนประสบความสำเร็จ' จากคนทั่วไป

ทำงานเสร็จแบบมีคุณภาพ (แม้ไม่อยากทำ) ปัจจัยแยก 'คนประสบความสำเร็จ' จากคนทั่วไป

รู้จักวิธี "สร้างแรงจูงใจ" ด้วยหลักการทางจิตวิทยา หลักการที่จะช่วยให้ทำงานเสร็จอย่างมีคุณภาพ แม้อยู่ในสภาวะที่ไม่อยากทำ

การสร้าง “แรงจูงใจ” ให้ตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก ที่จริงแล้วผู้เขียนมักเปรียบเทียบการสร้างแรงจูงใจกับการผจญภัยของตัวละครในนิยายสัญชาติเยอรมันที่ชื่อ บารอน มันเชาเซน (Baron Munchausen) ส่วนหนึ่งก็เพราะการพยายามรักษาแรงขับของตัวเองผ่านชิ้นงาน โปรเจค หรือแม้แต่อาชีพ บางครั้งก็เหมือนกับการพยายามดึงตัวเองขึ้นมาจากหนองโคลนด้วยเส้นผมของตัวเอง (เหมือนตัวเอกในนิยายผจญภัยที่ดึงตัวเองและม้าออกจากโคลนด้วยผมเปียของเขา) คล้ายกับว่าเรามีความรู้สึกต่อต้านความพยายามจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่องซึ่งเพียงแค่กาแฟหรือโปสเตอร์สร้างแรงบันดาลใจก็ไม่สามารถช่วยได้

แต่การสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญซึ่งแยก “มืออาชีพ” ที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงออกจากคนทั่วๆ ไป คำถามต่อไปคือ แล้วคุณจะยังคงผลักดันตัวเองต่อไปได้อย่างไร แม้ในยามที่รู้สึกอยากไม่ลุกขึ้นไปทำงาน ?

ต้องบอกก่อนว่าเรื่องของแรงจูงใจบางครั้งก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล สิ่งที่กระตุ้นแรงจูงใจของคนหนึ่งได้อาจไม่ส่งผลอะไรกับอีกคนเลย ในขณะที่บางคนก็ดูเหมือนจะมีความมุ่งมั่นมากกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม หลังจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับ “แรงจูงใจของมนุษย์” ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เห็นกลยุทธ์หลายอย่างที่อาจจะใช้ได้ผลกับคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามลดน้ำหนัก เก็บออมเงินเพื่อวัยเกษียณ หรือรับผิดชอบโปรเจคชิ้นใหญ่ที่ยากและกินเวลายาวนาน

หากคุณเคยล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายจากการผัดวันประกันพรุ่งหรือขาดความมุ่งมั่น  ผู้เขียนขอแนะนำให้อ่านบทความนี้จนจบเพราะกลยุทธ์ทั้งสี่ชุดนี้สามารถช่วยผลักดันให้คุณเติบโตในหน้าที่การงานได้แม้ในวันที่ยากลำบาก

ออกแบบเป้าหมาย ไม่ใช่งานที่รูทีนที่น่าเบื่อ

งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการ “ตั้งเป้าหมาย” การศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อพนักงานขายมีเป้าหมาย พวกเขาจะปิดการขายได้มากขึ้น และเมื่อใครก็ตามตั้งเป้าหมายว่าจะออกกำลังกายเป็นประจำก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับความฟิตของตัวเองได้เช่นเดียวกัน โดยเป้าหมายที่เป็นนามธรรม เช่น "ทำให้ดีที่สุด" มักจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเป้าหมายที่มีความชัดเจนสูง เช่น การหาลูกค้าใหม่ 10 รายต่อเดือน หรือเดิน 10,000 ก้าวต่อวัน ดังนั้น กฎแบบง่ายๆ ข้อแรกคือ ไม่ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไรก็ตาม ควรตั้งให้ชัดเจน เฉพาะเจาะจง และเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้การตั้งเป้าหมายควรกระตุ้น แรงจูงใจลึกๆ ในใจ (Intrinsic Motivation) มากกว่าแรงจูงใจภายนอกแบบผิวเผิน ทั้งนี้ งานๆ หนึ่งจะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายในเมื่อหน้าที่นั้น “เป็นเป้าหมายในตัวมันเอง”  ส่วนงานนั้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายนอกถ้าเป็นการรับใช้จุดประสงค์แอบแฝง เช่น การได้รับรางวัลหรือการหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ งานวิจัยของแสดงให้เห็นว่าแรงจูงใจภายในจะทำให้ประสบความสำเร็จในงานนั้นมากกว่าแรงจูงใจภายนอก

 

ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่า คนที่ ตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ซึ่งฟังดูน่าทำ สนุก และน่าติดตามมากกว่าในช่วงต้นเดือนม.ค. เช่น การเข้าคลาสโยคะอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่รับโทรศัพท์เลยในวันเสาร์ กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยังเดินหน้าทำตามปณิธานนั้นต่อไปในช่วงเดือน เม.ย. ในขณะที่คนที่ตั้งเป้าหมายที่อาจจะฟังดูสำคัญและจริงจังมากกว่าแต่ไม่ค่อยสนุก มีแนวโน้มสูงที่จะล้มเลิกปณิธานนั้นๆ ในเดือนถัดไป (เพราะปณิธานนั้นอาจจะมีเป้าหมายแอบแฝง)

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าแรงจูงใจภายนอก (External Reward) มีมากพอ เราก็จะยังคงทำแม้จะเป็นงานที่ไม่สนุก การรับเคมีบำบัดเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ในบริบทของการทำงาน หลายคนยังคงทำงานต่อไปเพื่อ “เงิน” หลายครั้งาอาจรู้สึกเหมือนเป็น "ทาสของค่าแรง" แต่ในสถานการณ์เช่นนั้น พวกเขามักจะทำงานที่ได้รับมอบหมายแค่ “ขั้นต่ำ”เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือ KPI ที่บริษัทกำหนดไว้ ดังนั้นแรงจูงใจภายนอกเพียงอย่างเดียวมักไม่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จจริงๆ

ดังนั้นเคล็ดลับคือการโฟกัสไปที่องค์ประกอบของงานที่คุณชอบและเพลิดเพลินมากกว่าแค่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว

ในโลกแบบอุดมคติ เราทุกคนควรแสวงหาบทบาทและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เราสนุกด้วย รวมทั้งสร้างความผูกพันกับงานหรือที่ทำงานให้อยู่ในระดับสูง น่าเสียดายที่หลายคนมักล้มเหลวในการทำเช่นนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ งานวิจัยของผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า เมื่อถูกถามว่าความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการมีความสำคัญในตำแหน่งปัจจุบันของพวกเขาหรือไม่ คนส่วนใหญ่ตอบว่าใช่ แต่พวกเขาลืมไปว่า “ขวัญกำลังใจ” หรือ “ความรู้สึกตื่นเต้นในการทำงาน” เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในงานที่ผ่านๆ มา ดังนั้นให้คำนึงไว้เสมอว่าปัจจัยด้านความพึงพอใจในการทำงานและความตื่นเต้นของเนื้องานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

ในความเป็นจริง เราไม่สามารถได้งานหรือได้รับมอบหมายภาคกิจที่เราชอบได้เสมอไป เคล็ดลับคือการเพ่งความสนใจไปที่ “องค์ประกอบของงาน” ที่คุณสนุก คิดอย่างกว้างๆ ว่าการทำงานให้สำเร็จอาจสร้างความพึงพอใจได้อย่างไร เช่น งานนั้นให้โอกาสคุณได้แสดงทักษะต่อหน้าผู้บังคับบัญชา สร้างความสัมพันธ์ภายในที่สำคัญ หรือสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า สุดท้ายพยายามชดเชยความน่าเบื่อด้วยกิจกรรมที่คุณพบว่าให้รางวัลกับตัวเอง เช่น ฟังเพลงในขณะที่จัดการกับอีเมลค้างในกล่องขาเข้าอันมหาศาล หรือทำงานที่น่าเบื่อกับเพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานที่คุณชื่นชอบ

หาแรงจูงใจที่ใช้ได้ผลกับตัวเอง

งานบางงานหรือแม้แต่โปรเจคบางชิ้นที่เข้ามาท้าทายความสามารถของคุณอาจนับว่าเป็นภาระในบางมุม สำหรับกรณีนี้การสร้างแรงจูงใจภายนอกสำหรับตัวเองในระยะสั้นถึงระยะกลางอาจช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งเหล่านี้เสริมกับสิ่งจูงใจที่องค์กรมอบให้ ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจสัญญากับตัวเองว่าจะไปพักผ่อนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ หรือซื้อของขวัญให้ตัวเองเมื่อลดน้ำหนักได้ (พูดง่ายๆ ก็คือเป้าหมายของเรากับเป้าหมายองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน) แต่ต้องระวังไม่ให้สร้างแรงจูงใจแบบผิดๆ เช่น ความผิดพลาดอย่างหนึ่งคือการให้รางวัลตัวเองโดยใช้ปริมาณงานหรือความเร็วเป็นเกณฑ์ เพราะจริงๆ คุณต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพของงาน” มากกว่า เช่น นักบัญชีที่ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานตรวจสอบบัญชีเสร็จเร็วอาจเปิดโอกาสให้เกิดข้อผิดพลาดได้ ในขณะที่พนักงานขายที่มุ่งเน้นการทำยอดขายสูงสุดแทนที่จะเน้นการทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้ลูกค้าและเป็นผลเสียกับบริษัทในระยะยาว  

อีกหนึ่งกับดักของแรกจูงใจที่พบบ่อยคือการเลือกสิ่งจูงใจที่บั่นทอนเป้าหมายระยะยาว หากรางวัลของคนที่กำลังลดน้ำหนักคือการกินพิซซ่าและเค้ก แรงจูงใจแบบนั้นก็มีแนวโน้มที่จะทำลายผลงานที่ทำมาและกลับไปมีนิสัยที่ไม่ดีอีก หากรางวัลสำหรับการทำงานดีเยี่ยมในสัปดาห์หนึ่งคือการอนุญาตให้ตัวเองผ่อนคลายในสัปดาห์ถัดไป คุณอาจทำลายความประทับใจที่ดีซึ่งคุณสร้างไว้ งานวิจัยในหัวข้อ "การถ่วงดุล" หรือ Balancing  แสดงให้เห็นว่า การบรรลุเป้าหมายบางครั้งทำให้ผู้คนยอมแพ้ต่อสิ่งล่อใจซึ่งทำให้พวกเขาถอยหลังลงคลอง

นอกจากนี้ สิ่งจูงใจภายนอกบางอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแรงจูงใจอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในการทดลอง นักวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ทำงานหนักขึ้น (ลงทุนความพยายาม เวลา และเงินมากขึ้น) เพื่อให้ได้รางวัลที่ผลลัพธ์อาจไม่แน่นอน (เช่น โอกาส 50% ที่จะได้รับเงิน 150 ดอลลาร์หรือ 50 ดอลลาร์) มากกว่าที่พวกเขาจะทำเพื่อรางวัลได้ผลลัพธ์แน่นอน (โอกาส 100% ที่จะได้รับเงิน 100 ดอลลาร์) อาจเป็นเพราะอย่างแรกท้าทายและน่าตื่นเต้นมากกว่า อย่างไรก็ตาม รางวัลที่ไม่แน่นอนนั้นพบได้ยากในที่ทำงาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หนึ่งวิธีคือคุณอาจทำให้งานของคุณเป็นเหมือนเกม (Gamify) โดยเก็บซองจดหมายสองซองไว้ที่โต๊ะ ซองหนึ่งมีของรางวัลที่มีมูลค่ามากกว่าและสุ่มเลือกเพียงหนึ่งซองหลังจากทำงานเสร็จ

สุดท้าย พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Loss Aversion) อธิบายง่ายๆ ก็คือความชอบของผู้คนในการหลีกเลี่ยงการสูญเสียมากกว่าการได้รับผลประโยชน์ในจำนวนใกล้เคียงกัน แนวคิดนี้สามารถนำมาใช้ออกแบบสิ่งจูงใจภายนอกซึ่งค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ในการศึกษาปี 2016 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียขอให้ผู้คนเดิน 7,000 ก้าวต่อวันเป็นเวลาหกเดือน ผู้เข้าร่วมบางคนได้รับเงิน 1.40 ดอลลาร์เป็นรางวัลของแต่ละวันหลังจากบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เสียเงิน 1.40 ดอลลาร์หากทำไม่สำเร็จ กลุ่มที่สองบรรลุเป้าหมายรายวันมากกว่ากลุ่มแรกถึง 50% อีกหนึ่งตัวอย่างคือบริการออนไลน์อย่าง StickK.comอนุญาตให้ผู้ใช้เลือกเป้าหมาย เช่น "ฉันต้องการเลิกสูบบุหรี่" และใช้กลยุทธ์เดียวกันในการจูงใจ คือพวกเขาต้องบริจาคเงินให้กับองค์กรหรือพรรคการเมืองที่พวกเขาเกลียดหากทำไม่สำเร็จ

รักษาความก้าวหน้า

โดยปกติแล้วเมื่อใครก็ตามกำลังทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย พวกเขามักจะมีแรงจูงใจพลุ่งพล่านในช่วงแรกแต่ในช่วงกลางแรงจูงใจจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งเป็นช่วงที่มีแนวโน้มสูงที่จะล้มเลิกเป้าหมายนั้น ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาหนึ่ง ชาวยิวที่เคร่งศาสนามีแนวโน้มที่จะจุดเมโนราห์ (เชิงเทียนเจ็ดกิ่ง) ในคืนแรกและคืนสุดท้ายของเทศกาลฮานุกกะห์ (Hanukkah) มากกว่าในอีกหกคืนตรงกลาง แม้ว่าประเพณีทางศาสนาจะต้องจุดเทียนเป็นเวลาแปดวันติดต่อกันก็ตาม หรือในอีกหนึ่งการทดลองพบว่า อาสาสมัครตัดกระดาษบริเวณมุมของชิ้นงานในช่วงกลางของการทำงานมากกว่าช่วงแรกของที่เริ่มทำ

โชคดีที่งานวิจัยได้ค้นพบหลายวิธีในการต่อสู้กับพฤติกรรมลักษณะนี้ ผู้เขียนเรียกวิธีแรกว่า "สั้นในช่วงกลาง" หรือ Short Middles  หากคุณแบ่งเป้าหมายออกเป็นเป้าหมายย่อยที่เล็กลง เช่น ตั้งเป้าหมายยอดขายรายสัปดาห์แทนที่จะเป็นรายไตรมาส งานวิจัยพบว่าจะคุณจะมีช่วงเวลาสั้นลงในการคิดถึงการล้มเลิก

การให้คำแนะนำอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการเอาชนะการขาดแรงจูงใจ

กลยุทธ์ที่สองคือการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการมองปริมาณงานที่คุณทำมาทั้งหมด เมื่อเราทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จไปจำนวนหนึ่งแล้ว เป้าหมายดูเหมือนจะอยู่ในระยะที่เอื้อมถึงมากขึ้น และเรามักจะเพิ่มความพยายามตามไปเพื่อให้รีบบรรลุเป้าหมายนั้น ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคที่สะสมคะแนนในบัตรสำหรับร้านค้าหรือโปรแกรมสะสมคะแนนใดๆ ก็ตาม (Loyalty Programs) มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อพวกเขาใกล้จะได้รับรางวัล จากข้อเท็จจริงนี้ คุณสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนั้นได้โดยคิดว่าจุดเริ่มต้นของคุณอยู่ไกลกว่าในอดีต (หมายความว่าคุณใกล้ถึงเส้นชัยมากขึ้นเรื่อยๆ)

เทคนิคทางจิตวิทยาอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับการโฟกัสกับสิ่งที่คุณ “ได้ทำไปแล้ว” จนถึงช่วงระหว่างกลางของงาน แล้วเพ่งความสนใจไปในสิ่งที่คุณยังต้องทำ งานวิจัยพบว่าการเปลี่ยนมุมมองในลักษณะนี้สามารถเพิ่มแรงจูงใจได้ ตัวอย่างเช่น ในการส่งเสริมการขายสำหรับลูกค้าประจำ การเน้นย้ำขั้นตอนที่เสร็จสิ้นแล้ว ("คุณทำการซื้อเสร็จแล้ว 2 จาก 10 ครั้ง") เพิ่มการซื้อของลูกค้าในช่วงแรก และการเน้นย้ำขั้นตอนที่ยังขาด ("คุณเหลืออีก 2 ครั้งก่อนจะได้รับรางวัลฟรี") กระตุ้นการบริโภคเมื่อผู้ซื้อใกล้ถึงเป้าหมาย

กลยุทธ์นี้สามารถใช้ได้กับงานที่ทำซ้ำๆ (เช่น การส่งการ์ดขอบคุณ 40 ใบ) รวมถึงเป้าหมายเชิงคุณภาพ (การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่นเปียโน) คนที่เขียนการ์ดมีแนวโน้มได้แรงจูงใจจากการเตือนตัวเองว่า เขาเขียนไปแล้วกี่ใบกว่าจะถึงใบที่ 20 จากนั้นควรนับถอยหลังว่าเหลืออีกกี่ใบที่ต้องทำ ในทำนองเดียวกัน นักเปียโนมือใหม่ควรมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้บทเรียนเรื่องบันไดเสียงและทักษะทั้งหมดที่ได้เรียนรู้ในช่วงแรกของการฝึกฝน จากนั้นเมื่อพัฒนาไประดับหนึ่งแล้วค่อยโฟกัสไปที่สกิลยากๆ ที่ต้องฝึกอีกไม่กี่แบบ

การใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของผู้อื่น

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม เรามักมองไปรอบๆ ตัวเพื่อดูว่าคนอื่นกำลังทำอะไร และการกระทำของพวกเขาก็มีอิทธิพลต่อการกระทำของเรา แม้แต่การนั่งข้างๆ พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงก็สามารถเพิ่มผลงานของคุณได้ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องแรงจูงใจ พลวัตนี้ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเราเห็นเพื่อนร่วมงานทำงานได้อย่างรวดเร็วในขณะที่เรารู้สึกหงุดหงิด ในกรณีนี้เรามักตอบสนองในสองลักษณะคืออาจได้แรงบันดาลใจและพยายามเลียนแบบพฤติกรรมนั้น หรือสูญเสียแรงจูงใจโดยคิดว่าเราสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งปรากฎการณ์นี้มีคำอธิบาย กล่าวคือมนุษย์ประสบความสำเร็จผ่านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละบุคคลและการใช้ประโยชน์สูงสุดจาก “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ”

กฎข้อหนึ่งคืออย่าเพียงแค่มองดูเพื่อนร่วมงานที่ทะเยอทะยาน มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จอย่างเดียว เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เสียกำลังใจ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเหล่านั้นว่า พวกเขากำลังพยายามบรรลุเป้าหมายอะไรและทำไมพวกเขาจึงแนะนำให้ทำเช่นนั้น จากงานวิจัยพบว่า เมื่อเพื่อนแนะนำสินค้า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะซื้อมากขึ้น แต่พวกเขาจะไม่ซื้อหากรู้เพียงแค่ว่าเพื่อนซื้อสินค้าดังกล่าว การฟังสิ่งที่บุคคลต้นแบบ (Role Models) พูดเกี่ยวกับเป้าหมายของพวกเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจเพิ่มเติมและยกระดับมุมมองของตัวเอง

มากไปกว่านั้น การ “ให้คำแนะนำ” แทนที่จะขอคำแนะนำอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการเอาชนะข้อบกพร่องด้านแรงจูงใจ เพราะช่วยเพิ่มความมั่นใจและกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ ในการศึกษาล่าสุดพบว่าคนที่พยายามบรรลุเป้าหมาย เช่น การหางาน มักคิดว่าพวกเขาต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจึงจะประสบความสำเร็จ แต่ความจริงแล้ว พวกเขาได้ประโยชน์มากกว่าจากการให้คำแนะนำแก่ผู้หางานคนอื่น เพราะเมื่อทำเช่นนั้น พวกเขาได้วางแผนที่เป็นรูปธรรมซึ่งตัวเองสามารถทำตามได้ ที่สำคัญแนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มแรงขับและความสำเร็จได้จริง

วิธีสุดท้ายในการใช้อิทธิพลทางสังคมในเชิงบวกคือ การตระหนักว่าคนที่จะสร้างแรงจูงใจให้คุณทำงานบางอย่างได้ดีที่สุดไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ทำงานนั้นได้ดี แต่เป็นคนที่มีเป้าหมายโดยรวมเดียวกับคุณ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนสนิทและครอบครัวหรือที่ปรึกษา การนึกถึงคนเหล่านั้นและความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จเพื่อพวกเขาสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจภายในที่ทรงพลังซึ่งเราต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยสุภาพสตรีอาจพบว่างานที่น่าเบื่อมีคุณค่าขึ้นมาหากเธอรู้สึกว่ากำลังเป็นแบบอย่างให้ลูกสาว ขณะที่สุภาพบุรุษอาจพบว่าการยึดมั่นในกิจวัตรการออกกำลังกายง่ายขึ้นหากกิจกรรมนั้นช่วยให้เขารู้สึกกระปรี้กระเปร่าเมื่ออยู่กับเพื่อนๆ

ท้ายที่สุด หากอ้างอิงตาม “จิตวิทยาเชิงบวก” หรือ Positive Psychology อธิบายไว้ว่า โฟลว์ (Flow) คือสภาวะจิตใจที่บุคคลมีความจดจ่อ มีสมาธิเต็มเปี่ยมด้วยพลัง และมีความสุขกับกิจกรรมที่ทำ น่าเสียดายที่ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นชั่วครู่หรือหาได้ยากในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งเรารู้สึกเหมือน บารอน มันเชาเซน ในหนองน้ำ ซึ่งดิ้นรนที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อไล่ตามเป้าหมาย ในสถานการณ์เช่นนั้น การใช้พลังของแรงจูงใจภายในและภายนอก การตั้งสิ่งจูงใจอย่างระมัดระวัง การปรับจุดโฟกัสไปข้างหลังหรือข้างหน้าขึ้นอยู่กับว่าเราใกล้เส้นชัยแค่ไหน และการใช้ประโยชน์จากอิทธิพลทางสังคมอาจเป็นตัวช่วยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนั้นได้ การสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองเป็นหนึ่งในทักษะที่ยากที่สุดที่จะเรียนรู้ แต่ก็สำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้คุณประสบความสำเร็จ

อ้างอิง: Harvard Business Review