ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 1 ใน 3 ธุรกิจรุ่งปี 2568 : ประเทศไทยพร้อมหรือยัง ?
ธุรกิจคาร์บอนต่ำกล่าวถึงบ่อยมากในปี 67 และปีหน้าหากไทยไม่ขยับตัว สร้างระบบตรวจสอบและประเมินคาร์บอนในธุรกิจที่ทำ จะมีปัญหาตามมาอีกหลายประเด็น
เรากำลังอยู่ในโลกที่ต้องตระหนักรู้ว่า ปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เอาไม่อยู่แล้ว มนุษย์จึงต้องปรับตัวและเป็นแนวร่วมช่วยโลก ตอนนี้หลายประเทศหลายหน่วยงาน โหมกระหน่ำว่า ต้องลดคาร์บอนให้ต่ำที่สุด เพื่อชีวิตพวกเรานั่นแหละ
รายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดธุรกิจรุ่ง-ร่วง ปี 2568 โดย 1 ใน 3 ธุรกิจรุ่งปีหน้า ก็คือ ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ อีกสองเรื่องคือ ท่องเที่ยวสุขภาพ-การแพทย์ทางไกล และตู้กดสินค้าอัตโนมัติ
ในงานวิจัยธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ ครอบคลุมหลายกลุ่ม ไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์รูฟท็อป ตลาดคาร์บอนเครดิต ตลาดซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าสีเขียว การตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
มีการประเมินว่า ในปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อรถยนต์รวมอาจเพิ่มไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาจขยับขึ้นเป็น 15-20% เทียบกับ 13% ในปี 2565
และที่น่าสนใจอีกกรณี คือ 1 ใน 3 ธุรกิจร่วง ก็คือ ธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง
ไม่ว่าคนทำธุรกิจจะขับเคลื่อนสินค้าใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งต้องเตรียมรับมือกับกฎระเบียบโลกด้านสิ่งแวดล้อม ไม่อาจนิ่งดูดายต่อผลกระทบที่มีต่อโลก ไม่อย่างนั้นถูกประณาม แค่นั้นไม่พอ ต้องจ่ายภาษีคาร์บอนที่สูงขึ้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ
ผลการวิจัยสถาบันอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.70 องศาเซลเซียส และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1.10- 6.40 องศาเซลเซียส ช่วงปลายศตวรรษที่ 21 ( 1 มกราคม ค.ศ. 2001 -31 ธันวาคม ค.ศ. 2100)ช
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า สภาพภูมิอากาศร้อนขึ้นอย่างน่าตกใจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยและถี่แบบไม่ทันตั้งตัว
การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว จะทำให้คนอยู่ยากขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต้องตระหนักว่า การดำเนินธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูงมีผลต่อราคาสินค้า โดยเฉพาะการค้าขายกับนานาประเทศ องค์กร Germanwatch มีรายงานการจัดอันดับ Global Climate Risk Index (CRI) ปี 2021 ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับที่ 9 จากประเทศทั้งหมด 180 ประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543-2562) ในปี 2567 จึงการออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้น และองค์กรต่างๆ ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง
มาตรการอย่างหนึ่งที่ทางสหภาพยุโรปนำมาใช้ ก็คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM หรือ Cross-Border Carbon Adjustment Mechanism) เก็บภาษีนำเข้าจากผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต ซึ่งประเทศคู่ค้าสหภาพยุโรปต้องปรับตัว รวมทั้งผู้ประกอบการไทยด้วย คาดว่าภาษีคาร์บอนในไทยจะมีผลใช้ในปี พ.ศ. 2568-2569
สังคมไร้คาร์บอน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว จึงไม่ต้องสงสัยว่า ต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนในกิจการต่างๆ และน่าจะเป็นคีย์เวิร์คการพัฒนาองค์กร ซึ่งหลายประเทศได้เริ่มทำไปก่อนประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
ดังนั้นในปีหน้าและปีถัดไป สายอาชีพกรีนๆ จะเป็นที่ต้องการขององค์กรที่เน้นความยั่งยืน ไม่ว่าอาชีพนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม, ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ประเมินแผนงานลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัท
และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงอีกหลายอาชีพที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ต้องการของโลกใบนี้ เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้มากที่สุด
เนื่องจากธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ ถือเป็นอีกเรื่องที่จะสร้างหลายอาชีพใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ว่า ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนมากมีผลกระทบต่อโลกที่ต้องจัดการ ไม่ว่าเชิงนโยบายและคนทำงานระดับปฎิบัติการณ์
ในอนาคต เหล่านักวิชาการได้ออกมาเตือนแล้วว่า ถ้าประเทศไทยไม่จริงจังกับธุรกิจการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะสร้างปัญหาอีกมากมาย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าถึงสถานการณ์ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ไว้ในการประชุมประจำปี 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า
"ถ้าไทยไม่สร้างบุคลากรเรื่อง การปล่อยคาร์บอนในหลายมิติจะถูกใช้เป็นมาตรฐานในการกีดกันการค้าและการลงทุน ไทยต้องปรับตัวระบบตรวจสอบย้อนกลับ "
ที่น่าเป็นห่วงคือ ต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิตราคาสูงมาก และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบประเมินผลคาร์บอนมีจำนวนน้อยมาก
จึงมีคำถามว่า ถ้าไทยไม่ทำเรื่องนี้โดยตรง ในอนาคตเงินจำนวนมากจะถูกจ่ายให้บริษัทต่างประเทศ เพื่อทำระบบคาร์บอนเครดิต