เปรียบมวยเทียบหน่วยก้าน 15 หนังนานาชาติออสการ์ 2025 คู่แข่ง ‘หลานม่า’ จากไทย
‘หลานม่า’ สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกของหนังไทยที่ติด shortlist ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ ‘กัลปพฤกษ์’ ชวนมาเปรียบมวยกับอีก 14 เรื่องที่เหลือว่าเรามีสิทธิ์ผ่านเข้ารอบไปเป็น 1 ใน 5 ผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาหนังนานาชาติยอดเยี่ยมในงาน Oscar 2025 หรือไม่
นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการหนังไทยที่ใคร ๆ ก็คงจะต้องร่วมยินดี หลังจากเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ผู้จัดรางวัลออสการ์ได้ออกมาประกาศรายชื่อหนังเข้ารอบ shortlist ในบางสาขา แล้วปรากฏว่าหนังไทยเรื่อง ‘หลานม่า’ (๒๕๖๗) หรือ How to Make Millions before Grandma Dies ของผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ จากค่าย GDH มีชื่อติดโผ 15 เรื่องสุดท้าย
กลายเป็นครั้งแรกแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่ติด shortlist สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ และมีโอกาสร่วมชิงชัยโดยต้องไป ‘ไฝว้’ กับอีก 14 เรื่องที่เหลือ เพื่อชิงตำแหน่งผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียง 5 เรื่องสุดท้ายให้ได้ ซึ่งจะประกาศผลกันในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม นี้
หลังจากที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ได้ติดตามไล่ดูจนครบทั้ง 15 เรื่องจาก 15 ชาติ ก็แอบรู้สึกหวาด ๆ ไปกับ ‘หลานม่า’ ว่าจะฝ่าด่านอรหันต์นี้ไปได้ไหม เพราะบรรดาคู่แข่งปีนี้มีที่เด็ด ๆ ปัง ๆ เป็นหนังระดับชั้นเยี่ยมอยู่มากมาย โดยจะขอเป็นพระโคเสี่ยงทายลองไล่เรียงลำดับกันไปตามระดับคุณภาพอย่างหยาบ ๆ ทาบหน่วยก้านเทียบน้ำหนักตามโอกาสในการเข้าหลักชัย
ไล่จากน้อยสุดคืออันดับ 15 ไปจนถึงอันดับ 01 ซึ่งน่าจะ ‘นอนมา’ ดูซิว่าจะมีใครแซงหน้า ‘หลานม่า’ กันไปกี่ป้าย?
15. UNIVERSAL LANGUAGE
กำกับโดย Matthew Rankin จากแคนาดา
เริ่มจากหนังที่ดูทรงแล้วน่าจะมีโอกาสได้ไปต่อน้อยที่สุดคือ Universal Language จากแคนาดา เพราะว่ามันมาในลีลาหนังพันธุ์ประหลาดเพี้ยนพิลึกกึกกือ คือเนื้อเรื่องเกิดในเมืองวินนิเพก ประเทศแคนาดา ทว่าตัวละครทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งในและนอกสถานศึกษากลับพูดกันเป็นภาษาฟาร์ซี!
สร้างความมึนงงว่าพวกเขาได้อพยพหนีมาจากบ้านเกิดแล้วเปิดเป็นชุมชนผู้ลี้ภัยชาวอิหร่านในแคนาดา? หรือมันเป็นจินตนาการฟุ้งเฟ้อละเมอหาบรรยากาศแบบพหุวัฒนธรรม?
มาพร้อมมุกตลกแห้ง ๆ แบบแบ่งตอนที่ไม่ใคร่จะขำ ซึ่งน่าจะทำงานเฉพาะกับคอหนังศิลปะตระกูลตลก absurd เสียมากกว่าเหล่าผู้ลงคะแนนรางวัลออสการ์
14. WAVES
กำกับโดย Jirí Mádl จาก สาธารณรัฐเชค
จะว่าไป Waves ก็เป็นงาน docudrama อิงประวัติศาสตร์ที่พาดพิงถึงเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1968 ที่ชื่อ Prague Spring ได้อย่างเข้มข้นและจริงจัง
หนังติดตามประสบการณ์ชีวิตของคู่พี่น้อง Tomáš และ Pavel ได้เข้าไปทำงานในสถานีวิทยุ Czechoslovak Radio ร่วมกับคณะผู้สื่อข่าว แล้วต้องมาเจอกับการก้าวล่วงแทรกแซงของคณะรักษาความมั่นคงในนาม State Security จำกัดเสรีภาพสื่อ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐาน
แต่มันก็เป็นงาน well-made ที่อิงกับบริบทของประเทศตัวเองหนักจนเกินไป จนดูแล้วไม่น่าจะสร้างความประทับใจให้กลุ่มคนดูในระดับสากลมากนัก
13. THE GIRL WITH THE NEEDLE
กำกับโดย Magnus von Horn จากเดนมาร์ก
หนังสยองขวัญ/เขย่าขวัญ เพียงเรื่องเดียวที่ฝ่าด่านเข้ารอบ 15 สุดท้ายมา ที่เหมือนเป็นการคารวะงานสยองขวัญอมตะในยุคหนังเงียบของผู้กำกับเดนมาร์ก Carl Theodor Dreyer ผ่านภาพขาวดำด้วยบรรยากาศแบบหลอน ๆ เพ้อ ๆ เหมือนกำลังเจอกับฝันร้าย
ถ่ายทอดเนื้อหาซึ่งดัดแปลงมาจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเรื่องจริงของ Dagmar Overbye หมอตำแยและ childcare lady ที่เบื้องหน้าทำตัวเป็นแม่พระรับอุปการะเด็กทารกนอกสมรสที่มารดาไม่ต้องการ อาสาเป็นสะพานหาพ่อแม่บุญธรรมใหม่ให้แลกกับรายได้ค่าจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะนำเด็ก ๆ ไปปล่อยทิ้งลงท่อ ตั้งแต่ ค.ศ. 1918 โน่นแล้ว
ซึ่งถึงแม้จะมีความแพรวพราวในเชิงงานการกำกับภาพขาวดำ แต่บทหนังยังเกลี่ยน้ำหนักระหว่างตัวละครได้ไม่ดี และเรื่องราวอันชวนหดหู่กันเบอร์นี้ กรรมการก็อาจจะเห็นดีเห็นงามด้วยได้ยาก
12. KNEECAP
กำกับโดย Rich Peppiatt จากไอร์แลนด์
Kneecap เป็นชื่อวงนักร้อง trio แนว hip-hop ภาษาไอริชที่มีทั้งผลงานและผู้ติดตามในชีวิตจริง โดยหนังได้ย้อนไปเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขาร่วมตั้งวงกันใหม่ ๆ โดยมีเจตนาว่าจะใช้ภาษาถิ่นไอริช (ซึ่งคนละรากเหง้ากันเลยกับภาษาอังกฤษ) ในการสื่อสารเนื้อเพลง อารยะขัดขืนยืนกรานอย่างไม่กลัวเกรงเจ้าหน้าที่ที่บังคับให้พวกเขา ‘ให้การ’ เป็นภาษาอังกฤษ
เป็นอุดมการณ์อนุรักษ์ภาษาถิ่นไอริช ที่ช่างตอบโจทย์การประกวดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมกันเสียจริง ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง มันก็ยังจำกัดวงแคบ ๆ อยู่กับคนที่ยังเลือกใช้ภาษาไอริช และคนที่มีจริตทางดนตรีวิถี hip-hop เท่านั้น
มันเลยยังดูไม่ใคร่จะ ‘สากล’ ได้สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะ voter สายอเมริกันซึ่งก็ไม่มั่นใจนักว่าจะมีคน ‘หลงรัก’ หนังเรื่องนี้สักกี่มากน้อย
11. DAHOMEY
กำกับโดย Mati Diop จากเซเนกัล
ต่อให้หนังเคยคว้ารางวัลใหญ่สุดอย่าง ‘หมีทองคำ’ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลิน ไปเมื่อต้นปี 2024 มา (ท่ามกลางเสียงอุทานว่า ‘จริงดิ?’ จากใครหลาย ๆ คน) แต่สารคดีลูกผสมอย่าง Dahomey ของผู้กำกับหญิง Mati Diop จากเซเนกัล ก็อาจจะถึงฝั่งฝันได้ยากสักหน่อยในเวทีการประกวดรางวัลออสการ์
เพราะนอกเหนือจากความยาวที่เกินชั่วโมงมาเพียงแค่ 7 นาที มันยังเป็นสารคดีแนวแปลกที่เล่าบรรยายด้วย 'เสียงผี' ที่สิงในวัตถุโบราณ จากการทวงสิทธิถือครองสมบัติทางประวัติศาสตร์ของชนชาติเบนินในปัจจุบัน หลังจากประธานาธิบดี มาครง สัญญาว่าจะคืนสมบัติเหล่านี้ที่ทางการฝรั่งเศสเคยยึดครองมาซึ่งมีมากกว่า 7,000 รายการ คืนบ้านเดิมไป
ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะเป็นเรื่องห่างไกลความเข้าใจของคนดูในฝั่งอเมริกา จนยากที่จะมีอารมณ์ความรู้สึกร่วม
10. ARMAND
กำกับโดย Halfdan Ullmann Tøndel จากนอร์เวย์
หนังนอร์เวย์เรื่องนี้จะมีเค้าโครงคล้าย ๆ บทละครฝรั่งเศสเรื่อง God of Carnage (2008) ของ Yasmina Reza เมื่อ Armand บุตรชายวัยหกขวบของนักแสดงหญิงนอร์เวย์ Elisabeth (นำแสดงโดย Renate Reinsv) ไปก่อเรื่องใช้วาจาบังคับข่มขู่ทางเพศกับ Jon เพื่อนนักเรียนวัยเดียวกัน
เมื่อ Jon ไปฟ้องครู ทางโรงเรียนจึงต้องเชิญผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยคดี กลายเป็นสงครามแห่งศักดิ์ศรีของการเป็น ‘มนุษย์พ่อ’ ‘มนุษย์แม่’ ซึ่งจะมาขยี้แผลใจตัวละครทุกราย
หนังเคยได้รับรางวัล ‘กล้องทองคำ’ สำหรับผู้กำกับที่เพิ่งจะได้ทำหนังยาวเป็นเรื่องแรกจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งพอมันเป็นงานเรื่องแรก มันก็จะมีทั้งแรงกระแทกทางอารมณ์อันทรงพลัง และความเปิ่นเด๋อของคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ผสานกันอยู่ทั้งสองส่วน
09. FROM GROUND ZERO
กำกับโดย Reema Mahmoud, Muhammad Al-Sharif, Ahmed Hassouna, Islam Al Zeriei, Mustafa Kolab, Nidal Damo, Khamis Masharawi, Bashar Al Balbisi, Tamer Nijim, Ahmed Al Danaf, Alaa Islam Ayoub, Karim Satoum, Alaa Damo, Aws Al Banna, Rabab Khamis, Etimad Washah, Mustafa Al-Nabih, Hana Wajeeh Eleiwa, Wissam Moussa, Basel El Maqousi, Nida’a Abu Hasna และ Mahdi Kreirah จากปาเลสไตน์
หนังชุดสามัคคี omnibus จากปาเลสไตน์เรื่องนี้ ถือว่ามีรูปแบบแตกต่างจากหนังและสารคดีที่เข้ารอบมาเรื่องอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะมันเป็นการนัดเชิญให้ผู้กำกับจากปาเลสไตน์จำนวน 22 รายมาถ่ายหนังสั้นความยาว 2-8 นาที ณ พื้นที่ฉนวนกาซ่าที่ผู้คนกำลังผจญกับความความทุกข์ยากจากสงครามท่ามกลางซากปรักหักพังและเสียงระเบิดจู่โจม ที่ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกโทมนัสเมื่อได้เห็นว่าสถานการณ์มันสาหัสถึงขนาดไหน
โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานหนังสั้น non-fiction เผยภาพ ‘ความจริง’ ให้ได้เห็นกันว่าพวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลากันอย่างไร ญาติสนิทมิตรสหายล้มตายไปเท่าไหร่ และความหวังในแต่ละวันคือขอให้ยังมีลมหายใจ ไม่สามารถฝันหวานถึงหน้าที่การงาน หรือการสานต่ออนาคตใด ๆ ได้
แต่พอต้องไล่ดูไปยาว ๆ ถึง 22 เรื่องอย่างต่อเนื่อง มันก็เป็นธรรมดาที่จะมีเรื่องที่เราสะเทือนใจไปด้วยมาก ๆ กับบางตอนที่ไม่ได้ฝากอะไรให้ได้จดจำ ทำให้ในภาพรวมยังมีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ถึงกับ ‘มงฯลง’ ได้ครบถ้วนในทุก ๆ ตอน
08. FLOW
กำกับโดย Gints Zilbalodis จากลัทเวีย
สำหรับเรื่อง Flow นี่ก็ต้องถือว่ามีความพิเศษไปอีกทาง เพราะมันเป็นงาน animation เต็มตัวเรื่องเดียวในการเข้าชิงรางวัลสายนี้ และที่ต้องจัดไว้ในลำดับที่ 08 กึ่งกลางแบบพอดิบพอดี ก็เพราะมันชี้เคาะได้ยากเหลือเกินว่าคณะกรรมการจะมองงาน animation ที่ไม่มีใครสนทนากันเลยทั้งเรื่อง
จากการที่เนื้อหามันเกี่ยวเนื่องกับการหลบหนีอุทกภัยครั้งใหญ่ของเจ้าแมวเหมียวที่ต้องเทียวกระโดดขึ้นเรือหนีน้ำไปพร้อม ๆ กับเหล่าสรรพสัตว์ที่ติดตาม ยามที่ไม่มีมนุษย์รายใดเหลือรอดจนปลอดการพูดจา ว่ามันจะมีความเป็นหนัง ‘นานาชาติ’ ได้มากน้อยขนาดไหน
เหมาะแล้วหรือไม่ที่จะได้เข้าชิงชัยในสายนี้ หรือจะ ‘ต๊ะ’ ไว้แล้วค่อยไปเล็ง vote ที่สาขางาน animation จะดีกว่า เพราะสุดท้ายเส้นสายลีลาสีสันแสงอุ่นอวลตามันก็ช่างน่าประทับใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องไหน ๆ เลยจริง ๆ!
07. SANTOSH
กำกับโดย Sandhya Suri จากสหราชอาณาจักร
มิได้พิมพ์ผิดหรือ copy ติดมาแล้วลืมแก้ เพราะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าหนังหน้าตาแสนจะ ‘อินเดีย’ อย่าง Santosh เรื่องนี้ แท้แล้วเป็นงานแนวข้ามชาติที่ประกาศชื่อเจ้าของทุนหลักเป็น BBC Films และ British Film Institute แต่ต้องยอมลัด cue ส่งหนังเรื่องนี้ให้ออสการ์พิจารณา ก็เพราะว่ามันแทบจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการดำเนินเรื่อง
เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อฝ่ายภรรยาเสียสามีที่เป็นตำรวจไป เธอจะได้รับสวัสดิการสุดพิสดารสวมรอยตำแหน่งงานต่อจากสามีได้ ทำให้แม่หม้าย Santosh มีโอกาสได้มาเห็นเบื้องหลังว่าวงการสีกากีที่อินเดียมันมีเรื่อง หอ-สระเอีย-ไม้โท-ไม้ยมก อย่างน่าตกใจขนาดไหน
นับเป็นงาน anti-corruption พันธุ์มนุษยนิยมที่ชวนให้ขื่นขมระทมหัวใจ เล่าเรื่องราวเล็ก ๆ ง่าย ๆ ได้อย่างมีพลังมากอีกเรื่องหนึ่ง
06. VERMILGIO
กำกับโดย Maura Delpero จากอิตาลี
เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งหนังที่หลาย ๆ คนแซ่ซ้องชื่นชม ว่าช่าง ‘สมมงฯ’ หนังรางวัล Grand Jury Prize ประจำปี 2024 ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส
มันคืองานสายมานุษยวิทยาจากอิตาลีที่น่าจะโม้ได้ว่าเป็น ‘คนภูเขา’ แห่งดินแดนรองเท้า boot พูดจาสำเนียงท้องถิ่นเตรนโตทางตอนเหนือ ย้อนเวลาไปเมื่อปี 1945 อันเป็นวาระสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่ายทอดครรลองชีวิตในแต่ละฤดูกาลของครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในภูเขาหิมะขนาดสูงใหญ่ห่างไกลจากความเจริญทั้งหลายทั้งปวง
แต่ก็ด้วยท่วงทำนองอันบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติปราศจากการขับเน้นเรื่องราวด้วยอารมณ์ drama ใด ๆ หากหันไปติดตามภาพ panorama ของครอบครัวใหญ่มากกว่าจะเจาะไปที่ตัวละครรายหนึ่งรายใด มันเลยออกจะดูเป็นอะไรที่ ‘เล็ก ๆ’ ‘ง่าย ๆ’ และสบายตัวไปหน่อยสำหรับการประกวดแข่งขันประชันกัน
05. HOW TO MAKE MILLIONS BEFORE GRANDMA DIES
กำกับโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ จากไทย
นี่สาบานเลยว่าไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาอวยหนังไทยด้วยกันเอง เลยต้องยกตำแหน่งที่ 5 ให้ด้วยความเกรงใจ คือถ้าได้ไล่ดูหนังกันจนครบทั้ง 15 ชิ้น งานที่เรียกได้ว่า “touch จิต กินใจ” จนทำให้คนดูน้ำหูน้ำตาไหลได้ ก็มีเพียงแค่ How to Make Millions Before Grandma Dies หรือ ‘หลานม่า’ เรื่องนี้เท่านั้น!
และมันมิใช่แค่เพียงหนึ่งเดียวจากเอเชียตะวันออกไกลที่ได้ผ่านเข้ามาในรอบนี้ แต่ ‘หลานม่า’ ยังเป็นหนังที่อบอุ่นและอ่อนโยน มาพร้อม mood and tone ขมอมหวานนับเป็นงาน ‘ดีต่อใจ’ ทั้งยังเป็นเพียงไม่กี่เรื่องที่ใคร ๆ พร้อมจะบอกต่อว่า “ดูเหอะ จะรออะไร หนังดีจะตาย!” จนทำให้ข้อบกพร่องทั้งหลายที่หนังมี เป็นสิ่งที่ให้อภัยได้ในทุก ๆ จุด!
04. TOUCH
กำกับโดย Baltasar Kormákur จากไอซ์แลนด์
มาถึงสี่เรื่องสุดท้ายที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ยอมอนุญาตให้เข้ารอบได้ก่อน ‘หลานม่า’
เริ่มที่หนังมหากาพย์ข้ามเวลาเนื้อหาร่วมสมัยชื่อ Touch ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน (2022) ของ Ólafur Jóhann Ólafsson เล่าเรื่องราวการจากลาและหวนกลับมาพบกันระหว่าง หนุ่มนักศึกษาจากไอซ์แลนด์นาม Kristófer ที่ได้มาเจอกับ Miko บุตรสาวเจ้าของร้านอาหาร Nippon ณ กรุงลอนดอนที่เขาไปเป็นพนักงานล้างจาน
กระทั่งเวลาผ่านไป 50 ปี หลังพวกเขามีอันต้องพลัดพราก Kristófer จึงต้องฝ่าความยากลำบากในช่วงเวลาของ COVID-19 เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อตามหา Miko อีกครั้ง!
แม้ว่าหนังจะใช้เวลาในการปูเนื้อหาช่วงครึ่งแรกนานเกินไป แต่ช่วง hook สุดท้ายก็ยังทำให้ Touch เป็นหนังรัก romance หวนคืนแดนอดีตที่เล่าได้ประณีตและทรงพลัง ซึ่งก็น่าจะยังตรึงอารมณ์ผู้ชมร่วมสมัยในวงกว้างได้อย่างจับใจอยู่
03. I’M STILL HERE
กำกับโดย Walter Salles จากบราซิล
หนังอิงประวัติศาสตร์การเมืองจากบราซิลเรื่องนี้ เรียกได้ว่ามีประเด็นที่เป็น ‘ของชอบ’ ของออสการ์มากเลยทีเดียว เมื่อมันเกี่ยวข้องกับเรื่องราวฝันร้ายที่เคยเกิดขึ้นจริงกับ Eunice Paiva ภรรยาของ Rubens Paiva วิศวกรและอดีตสมาชิกสภาของบราซิลในรัฐบาลเผด็จการทหาร ผู้ถูกทางการจับกุมตัวไปไต่สวนกรณีพัวพันกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมื่อต้นปี ค.ศ. 1971 ในเรือนจำอย่างเลือดเย็น ก่อนจะกลายเป็น ‘บุคคลสูญหาย’ ด้วยปริศนาที่ไม่มีวันคลี่คลาย ภายใต้เงื้อมมือของฝ่ายที่ได้ชื่อว่า ‘รัฐบาล’
ทิ้งให้ Eunice ต้องเป็นมารดาเลี้ยงเดี่ยวดูแลบุตรธิดารวมห้าคนโดยลำพัง เบนเข็มให้เธอตั้งใจศึกษาตัวบทกฎหมายเพื่อเป็นทนาย และกลายเป็นนักกิจกรรมผู้ทวงความชอบธรรมคืนสู่ครอบครัวไร้บิดาของเธอ!
นับเป็นการนำเสนอประเด็นที่ยังร่วมสมัย แถมยังได้การแสดงอันชวนปวดหัวใจของ Fernanda Montenegro ที่สำแดงความโศกาในชีวิตออกมาผ่านแววตาได้อย่างน่าสงสัยว่าเธอทนต่อทุกอย่างได้อย่างไร
มีแค่ในส่วนตัวบทที่ยังไม่สามารถแสดงภาวะ ‘ฉันจะสู้จนตัวตาย’ ของนางให้เห็นสักเท่าไหร่ ซึ่งได้กลายมาเป็นข้อบกพร่องจุดใหญ่ของหนัง
02. EMILIA PÉREZ
กำกับโดย Jacques Audiard จากฝรั่งเศส
หนังเพลงสุดเปรี้ยวเพียงหนึ่งเดียวที่เข้ารอบ Shortlist 15 เรื่องสุดท้ายในปีนี้ สร้างสีสันใหม่ ๆ ด้วยเรื่องราวอาชญากรรรมซึ่งนำโดยตัวละคร LGBT เมื่อ Manitas del Monte เจ้าพ่อนักค้ายาคนเลวแห่งเม็กซิโก ได้ว่าจ้าง Rita ทนายความสาวฝีมือดีผู้ที่กำลังโลเลกับหน้าที่การงาน ให้ช่วยเขาจัดการปิดบัญชีกิจการทุกอย่าง เพื่อที่ Manitas จะได้กลายร่างเป็นหญิงสาวนาม Emilia Pérez ถือครองเพศใหม่ที่ตรงกับหัวใจเบื้องลึกของเธอมากที่สุด!
โดยจุดอ่อนที่จะทำให้ Manitas หมดทุกความมั่นใจได้ก็คือศรีภรรยาและลูก ๆ ของเขา Rita จึงต้องงัดเอาทุกวิชาความรู้หาทางดูแลทายาทที่กำลังจะสูญเสียคุณพ่อไปไม่ให้มีอะไรตกหล่น!
ซึ่งแน่นอนหนังเพลงพูดภาษาสเปนโดยคนทำหนังจากฝรั่งเศสเรื่องนี้ ย่อมมีลีลาที่ไม่ได้เน้นความหรูหราฟู่ฟ่าเหมือนหนังเพลงจากฝั่งอเมริกา ทุกอย่างมันจึงมาแต่เพียงนิด ๆ น้อย ๆ ค่อย ๆ ขับ ค่อย ๆ กล่อม ตะล่อมคนดูกันอย่างมีรสนิยม
เป็นหนังเพลงลูกผสมหลากหลายอารมณ์ สมเป็นงานที่น่าจะถือได้ว่า ‘สดใหม่’ ที่สุดแล้วในการชิงชัยบนเวทีออสการ์ปีนี้
01. THE SEED OF THE SACRED FIG
กำกับโดย Mohammad Rasoulof จากเยอรมนี
ปิดท้ายกันที่หนังที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ขอโบกธงให้เข้ารอบเสนอชื่อเข้าชิง 5 เรื่องสุดท้ายก่อนใคร ๆ เพราะคงต้องยอมให้หนังอิหร่านแต่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการจากเยอรมนีเรื่อง The Seed of the Sacred Fig เรื่องนี้
เพราะผู้กำกับ Mohammad Rasoulof โดนคดีเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศตนเองทันทีที่ส่งหนังเรื่องนี้ไปฉายประจานทางการอิหร่านที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รัฐบาลจึงไม่ดูดำดูดี และคงไม่มีวันส่งหนังสะเทือนความมั่นคงพรรค์นี้ไปร่วมประกวดในเวทีออสการ์ให้ขายหน้าอย่างแน่แท้
หนังตีแผ่เหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยในอิหร่าน ๆ ที่หลาย ๆ ด้านก็พ้องคล้ายกับสถานการณ์ ‘นักเรียนเลว’ ในไทย
Iman เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาสอบสวน เขาจึงชวนครอบครัวอันประกอบไปด้วยภรรยาและลูกสาววัยรุ่นทั้งสองย้ายมาจับจองห้องพัก apartment สวัสดิการสุดหรูแห่งใหม่ใจกลางเมือเตหะราน
เคราะห์ร้ายที่ Iman ได้รับตำแหน่งหลังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ต่อกรณีที่ Mahsa Amini สตรีที่ไม่ยอมสวมฮิญาบถูกตำรวจจับตัวไปจนเป็นที่สงสัยว่าถูกทำร้ายร่างกายจนตาย ส่งผลให้เยาวชนหลายแสนคนทั่วประเทศลุกฮือขึ้นต่อต้านการกระทำอันเกินกว่าเหตุของรัฐ
เมื่อผู้ประท้วงได้ล่วงรู้สถานที่อยู่ปัจจุบันของเขา และพร้อมจะจู่โจมเข้าทำร้ายได้ทุกเมื่อ เพราะเชื่อว่า Iman นี่แหละที่ตัดสินให้เหล่าเยาวชนคนมีอุดมการณ์ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นจำนวนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เพื่อน ๆ ของบุตรสาวทั้งสองของเขา!
เมื่ออันตรายเริ่มใกล้เข้ามา Iman ก็รับอาวุธปืนจากที่ทำงานเก็บไว้ป้องกันตัว เขาซุกปืนบรรจุกระสุนตะกั่วไว้ในเก๊ะข้างเตียงนอน จนวันหนึ่งเขาก็เข่าอ่อนเมื่อพบว่าปืนหายไป และต้องเป็นใครคนหนึ่งในบ้านอาคารชุดหลังนี้ที่เป็นคนขโมยไป ประกาศสงครามใหญ่กับหัวหน้าครอบครัวผู้เป็นช้างเท้าหน้าที่อาศัยอำนาจอันไม่เป็นธรรมในการทำร้ายผู้อื่น!
หนังสามารถลำเลียงความน่าตื่นเต้นระทึกใจได้ตลอดความยาวถึง 167 นาที และต่อให้เหตุการณ์จะดูมีความ drama เผชิญหน้ากันอย่าง ‘การละคร’ ขนาดไหน ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านตาไปมันไม่มีสิ่งใดเลยที่จะบอกได้ว่า ‘เกินจริง!’
หวังเหลือเกินว่าเมื่อทั้ง 15 เรื่องได้วิ่งไล่แข่งแย่งคะแนนเสียง vote กัน แล้วเข้าเส้นชัยกันตามลำดับดังที่กะเก็งไว้นี้ เมื่อต้องตัดจบกันที่ 5 ลำดับแรก ‘หลานม่า’ ก็จะมีโอกาสแทรกตัวเข้ามาเป็นหนึ่งในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล
แต่หากจะมีม้ามืดแม้สักรายดันตัวเองแซงหน้าคว้าตำแหน่งที่เหนือกว่าไปได้ ‘หลานม่า’ ก็จะกลายเป็นหนังไม่เข้ารอบ พร้อมกล่าวขอบคุณที่กรุณาให้ผ่านมาได้ในรอบนี้ นี่เลยภาวนาหนักมากให้กรรมการทุกคนน้ำตาไหลพรากในฉากกระชากอารมณ์ที่ ‘หลานม่า’ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างกลมกล่อมและจริงใจ
คือถ้าเป้าหมายหลักในการชมภาพยนตร์คือความรู้สึก ‘ซาบซึ้งสะเทือนใจ’ บอกเลยว่า ‘หลานม่า’ คือไม่แพ้เรื่องไหนในบรรดาอีก 14 เรื่องที่เข้ารอบด้วยกันมา . . .
จะหมู่หรือจะจ่า มาร่วมลุ้นกันวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2025 นี้!