พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก

คุยกับ ‘พีพี’ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร หนึ่งในคนไทยไม่กี่คนบนถนนสายเทคระดับโลก เขาโลดแล่นอยู่ในแวดวงสายวิทย์และเทคโนโลยี แถมเคยได้รับเชิญให้พูดบนเวที TED x Boston มาแล้ว

KEY

POINTS

  • คุยกับ ‘พีพี’ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร หนึ่งในคนไทยไม่กี่คนบนถนนสายเทคระดับโลก เขาเป็นนักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอกที่ MIT Media Lab โลดแล่นอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเคยถูกเชิญให้พูดบนเวที TED x Boston มาแล้ว
  • พีพีมองว่า การใช้ AI ให้เป็นอย่างเดียวไม่พอ แต่ผู้ใช้ก็ต้องเก่งด้วย เพราะถ้ามนุษย์ไม่ดีพอ เราก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เขาจึงเลือกศึกษาเกี่ยวกับ Cyborg Psychology หรือการที่มนุษย์ร่วมทำงานกับเทคโนโลยีในมิติต่างๆ ว่ามันจะส่งเสริมกระบว

ถ้ามีการจัดงานที่ว่าด้วย AI เทคโนโลยี นวัตกรรม กระทั่งการออกแบบแห่งอนาคต ชื่อ ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร หรือ พีพี นักเทคโนโลยี นักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอกที่ MIT Media Lab น่าจะอยู่แทบทุกลิสต์รายชื่อ Speaker ที่ผู้จัดงานต้องการให้ปรากฏตัวบนเวที

เขาคือเด็กหนุ่มที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก เคยได้รับเชิญให้พูดบนเวที TED x Boston, ทำงานวิจัยที่ MIT ร่วมกับ NASA เเละ OpenAI  เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Futuristic Research Group (Freak Lab) กลุ่มคนไทยที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับโลกอนาคต รวมไปถึงการเป็นสมาชิกของกลุ่มวิจัย Fluid Interfaces แห่ง MIT Media Lab ที่รวบรวมเหล่าหัวกะทิของโลกมาร่วมกันลงมือสร้างสรรค์เทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ
 
แน่นอนว่า เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ทำให้มนุษย์และโลกนี้ดีขึ้น ภูมิทัศน์ของอนาคตที่ พีพี สนใจจึงไม่ใช่แค่เรื่อง Tech แต่เขาขยายมันไปถึงเรื่องของ เทคโนโลยี จิตวิทยามนุษย์ และโลกอนาคต ตัวอย่างจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Cyborg Psychology: The Art &Science of Design Human-AI System for Human Flourishing ซึ่งเป็นการศึกษาระหว่างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ (Human-AI Interaction) 

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก ภาพจาก Zero-G หรือเที่ยวบินไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นห้องทดลองขึ้นบินประจำปีของ Space Exploration Initiative กลุ่มวิจัยที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของมนุษย์กับอวกาศ

AI อย่างเดียวมันก็ไม่เพียงพอครับ เคยมีงานวิจัยที่หาคำตอบได้ว่า การที่จะใช้ AI ให้ได้ดี คนก็ต้องเก่งด้วย เพราะถ้ามนุษย์ไม่ดีพอ ประโยชน์ที่เราได้จากสิ่งนั้นมันไม่ได้สร้างผลลัพธ์อะไรเลย ‘Cyborg Psychology’ ที่เลือกศึกษา คือการพยายามทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์และศิลปะของการออกแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ ต้องการรู้ว่ามีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาหรือทางเทคโนโลยีใดที่จะทำให้เราออกแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ ให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีและทำให้ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ขึ้นได้บ้าง” ดร.พีพี อธิบายผ่านหน้าจอ ในสายวันหนึ่งตามเวลารัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านั้นไม่นาน สเตตัสของเขาในโซเชียลมีเดียที่ว่าด้วยพิธีการอันมากมาย เกินความจำเป็น ถูกแชร์หลายต่อหลายครั้งในเฟซบุ๊ก ท่ามกลางความเห็นสนับสนุน และการตั้งคำถามถึงขนบธรรมเนียมในแวดวงการศึกษาไทย อย่างไรก็ดี นั่นก็ไม่ใช่หัวใจหลักที่ พีพี อธิบายกับกรุงเทพธุรกิจ ทว่าเบื้องหลังของการเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ยืนอยู่บนจุดนี้ได้ต่างหากที่น่าจะสำคัญกว่า

  • คุณเป็นทั้งนักเทคโนโลยี เคยทำสื่อผสมร่วมกับศิลปิน สนใจการออกแบบและนวัตกรรมเพื่ออนาคต สิ่งเหล่านี้มีเสน่ห์อะไรที่ทำให้คุณสนใจ?

คงเหมือนกับเด็กทั่วไป พีพีเกิดและโตที่ จ.ปัตตานี คุณแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อรับราชการในหน่วยงานของรัฐ ตอนเด็กๆ ชอบไดโนเสาร์ มีจินตนาการถึงอนาคต ชอบการ์ตูนโดราเอมอน ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้สำคัญกับพีพีมาก สำหรับพีพีมันเป็นภาพฉายของโลกอนาคตที่น่าอยู่ เพราะโดราเอมอนไม่ได้มาแทนที่ใคร ไม่ได้มาทำให้โนบิตะหายไป แต่มาทำให้โนบิตะเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น พีพีโตมากับสิ่งนี้จึงมองอาชีพนักวิทยาศาสตร์ อะไรที่มันทำเพื่ออนาคตเป็นอาชีพที่อยากทำมาตลอด

ถ้าเราดูหนังมันจะมีไม่กี่อาชีพหรอก ที่จะอยู่ในหนังบ่อยๆ หรือถ้าดูซุปเปอร์ฮีโร่เขาก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ที่จะคอยคิดค้นเครื่องมือมาช่วยโลก พีพีเลยคิดว่าอาชีพนี้เท่มาก ซึ่งแม้ว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ในไทยในช่วงที่เริ่มต้น จะเป็นเนื้อหาที่เป็นการบอกเล่า อธิบายสิ่งที่ถูกค้นพบไปแล้วบ้าง แต่เมื่อเรียนไปนานเข้า เราก็ได้ศึกษาถึงทักษะในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ

พีพีเรียนที่ไทยจนถึง ม.5 แต่ก่อนหน้านี้ ได้โอกาสที่อยู่โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project – JSTP) ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมต้น โครงการนี้รวบรวมเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์มาสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ลองนึกถึงโรงเรียน X-MEN ที่ฝึกฝนทักษะเด็กให้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละแบบ(หัวเราะ)

พอมองย้อนกลับไปมันเป็นโครงการที่ดีมากเลย เพราะเขาเอาเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์และผ่านการคัดเลือกมาประกบกับ Mentor (พี่เลี้ยง) เหมือนรายการที่เขาจะปลุกปั้นศิลปิน หรือนักเเสดงแบบ  ซึ่งพีพีก็มีพี่เลี้ยงที่เป็นอาจารย์ แต่พี่ลูกเกดของพีพี (Mentor ในรายการ The Face Thailand ) เป็นนักวิทยาศาสตร์หลายคน ทำให้เราเข้าไปอยู่ในวงการวิจัย ได้เข้าไปทำงานในห้องแล็บตั้งแต่เรียนมัธยม ทำให้เรามีชีวิตที่เป็นนักเรียนและก็เป็นนักวิจัยตั้งแต่ช่วงนั้น ซึ่งมันก็เหมือนกับการเตรียมตัวอยู่แล้วเมื่อมาเรียนที่ต่างประเทศ

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก  ภาพจาก MIT Media Lab Southeast Asia Forum

  • เมื่อมีสมาชิกในบ้านสนใจวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักวิจัยชัดเจนตั้งแต่ตอนนั้น บรรยากาศในครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง?

แน่นอนว่าครอบครัวส่งเสริมอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้สำคัญคือบทสนทนา ครอบครัวมี 3 คน พ่อ แม่ และพีพี เราก็จะคุยกันทุกเย็นว่าวันนี้เป็นอย่างไร มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น มันเกิดการแลกเปลี่ยน การตั้งคำถาม ที่จำได้ตอนเด็กๆ คือพีพีถามว่าทำไมรุ้งต้องกินน้ำ ไม่กินกล้วย ซึ่งคุณพ่อคุณเเม่ก็ตอบเเละอธิบายว่ารุ้งกินน้ำเป็นคำเปรียบเปรยไม่ได้กินน้ำจริงๆ

หรืออีกอันคือพีพีสงสัยว่าทำไมแต่ละประเทศต้องมีค่าเงินของใครของมัน ในเมื่อการกำหนดค่าเงินคือสิ่งสมมติ พ่อก็จะอธิบายให้ฟังว่ามันเป็นเพราะอะไร มันเป็นการตั้งคำถามตั้งแต่เรื่องที่มันง่ายๆและเรื่องที่มันซับซ้อน แต่การคุยกันในครอบครัวนี้มันทำให้เรากล้าที่จะถาม และกล้าที่จะมีจินตนาการใหม่ๆ

  • ปัจจุบันนี้คุณเป็นนักวิจัยที่ได้รับเชิญไปพูดในที่ต่างๆ มีผลงานออกมาไม่น้อย ปัจจุบันนี้พอจะบอกได้ไหมว่าสนใจเรื่องไหน หรือหัวข้อไหนเป็นพิเศษ?

อย่างที่บอกในตอนแรก พีพีไม่ได้แค่สนใจแค่มิติใดมิติหนึ่ง หรือแค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว พีพีสนใจความเป็นมนุษย์ ผลงานที่น่าสนใจจึงผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยี มนุษย์ จินตนาการ และอิมแพ็คที่เกิดขึ้น

ตอนพีพีมาเรียนต่างประเทศ พีพีได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ที่ MIT คนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ แพตตี้ เมส (Pattie Maes) อาจารย์เป็นผู้บุกเบิกงานด้าน Human-AI Interaction รู้สึกเลยว่าตัวเองเป็นติ่งเขา เหมือนกับที่ใครเป็นติ่ง K-POP พีพีรู้สึกว่าเขาเท่มาก เป็นอาจารย์  เป็นที่ปรึกษาบุคคลสำคัญ สร้างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก และเขาก็ไม่ได้หยุดยั้งที่คิดถึงอนาคต

พีพีทำปริญญานิพนธ์ปริญญาเอก ชื่อ Cyborg Psychology ซึ่งคือสิ่งที่สนใจ ซึ่งแนวคิดของ Cyborg หรือการที่มนุษย์รวมร่างกับเทคโนโลยีในมิติต่างๆ ที่ส่งผลกับกระบวนการคิดของมนุษย์ สนใจว่าสิ่งนี้ทำให้คนมีแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ หรือมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นด้านจิตวิทยาที่เกิดขึ้น เมื่อเรากลายเป็นไซบอร์กหรือหุ่นยนต์ งานวิจัยของจึงโฟกัสไปที่ 3 ด้าน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เทคโนโลยีหรือ AI ควรส่งเสริมมนุษย์ ได้แก่

1. Wisdom คือ AI ทำให้คนมีสติปัญญาสูงขึ้น ไม่ใช่แค่คิดเร็ว แต่คิดได้อย่างชาญฉลาด รู้ว่าเมื่อไหร่ควรคิดในเชิงตรรกะ เมื่อไหร่ควรคิดเชิงสร้างสรรค์ 2. wonder คือ ทำให้คนมีแรงบันดาลใจ มีความรู้สึกว่าโลกนี้เต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจ 3. well-being คือการที่มนุษย์มีสุขภาพกาย ใจ เเละสังคมที่ดี ซึ่งถือว่าสำคัญมา

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก ภาพจาก Bank of Thailand

  • อะไรทำให้สนใจหัวข้อนี้?

ตอนนี้ทำ Post-Doctoral Researcher หรือทำวิจัยที่ Media Lab และพีพียังศึกษาเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ (Human-AI Interaction) คือการพัฒนา AI ที่ส่งผลกระทบทางบวกกับมนุษย์ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีที่ผสมผสานกับมนุษย์ แล้วทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น อธิบายง่ายๆ ว่า พีพีศึกษาว่ามีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาหรือทางเทคโนโลยีใด ที่จะทำให้เราออกแบบปฏิสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับเอไอให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีและทำให้ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น
 
สิ่งเหล่านี้มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากการเห็น AI เชื่อมโยงกับมนุษย์มากแค่ไหน และเห็นว่าชีวิตคนมีทั้งเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต Social media ซึ่งช่วยสร้างความคิด มุมมอง ทัศนคติกับสังคมทั้งทางบวกและทางลบ ผมสนใจสิ่งเหล่านี้ แต่แน่นอนว่าการมองแค่มิติใดมิติหนึ่งคงไม่ได้ เช่น ถ้าเป็นวิศวกร จะมองแค่การสร้างเทคโนโลยีกระบวนการทางวิศวกรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีส่งผลอย่างไรต่อสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง หากสร้างด้วยมิติใดมิติเดียวมีโอกาสที่จะถูกสร้างเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์เพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีสูง ดังนั้นนักออกแบบที่เป็น New Generation ต้องนึกถึงมิติหลายๆ อย่างที่โยงกันอยู่ และสำหรับพีพีโจทย์นี้มันท้าทายที่สุด

ตั้งแต่เด็กพีพีฝันจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยมาโดยตลอด เราอาจจะมีนักชีววิทยา นักฟิสิกส์ หรือนักเคมี แต่ผมสนใจการวิจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์และเทคโนโลยี ศาสตร์นี้มีความสำคัญที่สุดในปัจจุบันนี้ เราก็รู้สึกว่าแก่นของเรื่องนี้มันโยงกับทุกอย่าง เราสามารถโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะ เอาเทคโนโลยีมาโยงกับสังคมมันจึงเป็นอะไรที่สนุกและน่าสนใจ

  • เกิดและโตในไทย มาอเมริกาตั้งแต่ตอนไหน และบรรยากาศการเรียนระหว่างที่ไทยกับที่อเมริกาต่างกันอย่างไร?

เรียนไทยจนถึง ม.5 จากนั้นมาเรียนอเมริกา ม.6 จนถึงปริญญาเอก อย่างที่เล่าว่าโชคดีที่อยู่ในโครงการพิเศษ จึงเหมือนกับได้ฝึกในทุกๆ วัน มีประสบการณ์ ได้เจอที่ปรึกษาเก่งๆ ซึ่งว่ากันตามจริง น้อยคนในประเทศไทยที่จะได้รับโอกาสอย่างนี้

แต่ที่อเมริกา มันมีความแตกต่างคือ โครงการแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นกับคนไม่กี่คนแต่มันเกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะมีการให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีและความเข้มแข็งแต่ละหน่วย ทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยวิจัย ต่างคนต่างส่งเสริมสิ่งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังมีนโยบายว่าด้วยการสนับสนุนวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยมันไม่ได้มาจากรัฐอย่างเดียว และบางครั้งมันเกิดจาก Bottom up (จากล่างขึ้นไปสู่ระดับนโยบาย) ด้วยซ้ำ

พีพีชอบยกตัวอย่างการเรียนในไทยและที่อเมริกาอย่างหนึ่ง จากคำว่า “เข้าใจ” เวลาเราเรียนในไทย อาจารย์จะถามว่า การเรียนเข้าใจหรือเปล่า? ซึ่งหมายความว่าเข้าไปอยู่ในใจไหม? จำฝังใจหรือไม่? แต่ที่อเมริกาใช้คำว่า Make sense ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่คุณได้ยินมันผ่าน Sense (ประสาทสัมผัส) ทั้งหมด แสดงถึงการเรียนรู้ว่าเวลาคุณฟังอะไร มันไม่ใช่แค่เข้าใจ แต่ต้องผ่านการรับรู้ของสติสัมปชัญญะทั้งหมด ต้องคิด ต้องไตร่ตรองแล้ว

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร

  • หากจะทำให้การศึกษาไทยเป็นอย่างที่คุณมีประสบการณ์ในต่างประเทศ มองว่าอะไรคือ Key สำคัญ?

มีหลายปัจจัย แต่สิ่งแรกๆ พีพีมองว่า เราต้องให้การศึกษากระจายอำนาจ พีพีเชื่อว่าทุกคน ทุกฝ่ายทั้งพ่อแม่ ครู ก็ต้องอยากให้นักเรียนดีที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการกำหนดนโยบาย ระบบระเบียบเดียวกัน ไม่มีการทดลองว่าโรงเรียนนี้มีแนวทางแบบนี้ที่เหมาะกับเด็กของตัวเองต้องทำอย่างไร

ถ้าเรากระจายอำนาจและให้แต่ละโรงเรียน ชุมชน มีอำนาจเอง พ่อแม่ ครู ชุมชน ก็มีโอกาสจะมาคุยกันว่าเราต้องทำอย่างไร ควรเอาเงินไปใส่ตรงไหน อย่างไร แค่ไหน เกิดการเรียนรู้ว่าวิธีไหนเวิร์ค ไม่เวิร์ค และถ้าโรงเรียนไหนลองวิธีไหนแล้วเวิร์ค มันก็จะเกิดการกระจายของ Best Practice เราส่งคนไปดูงานเยอะ แต่กลับมาก็ทำเหมือนเดิม ดังนั้น ถ้าเราเปิดโอกาสให้สร้างวิธีการใหม่ๆ ก็อาจจะเกิดสิ่งที่มันคาดไม่ถึงได้

  • มองว่าจุดแข็งของไทยที่จะทำให้พัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้ดีกว่านี้ มีอะไรบ้าง?

พีพีอยู่ในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พูดได้เลยว่า ทักษะของคนไทยเก่งระดับโลกเกือบทุกวงการ ศิลปะ ภาพยนตร์ หรืองานวิจัย AI ก็เคยมีรากฐานที่มาจากคนไทยซึ่งเคยทำงานในต่างประเทศ สิ่งที่คนไทยสร้างก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบใหม่ๆ แต่เราอาจจะมองข้าม ไม่ได้ถูกพูดถึงสักเท่าไร

แต่ถ้าเราทำสิ่งนี้ให้เป็น Model ทำให้เด็กไทยเห็นมากขึ้น เขาก็จะมีแรงบันดาลใจว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง เขามีโอกาสไปทำงานในระดับโลกได้ มันเกิดขึ้นได้ เขาก็จะพยายามที่จะพาตัวเองไป หรือจุดแข็งในเชิงภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ฯลฯ

เราอาจฟังมาบ่อยแต่สำหรับพีพีเห็นด้วยนะ เราเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม มีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดี คนอยากกินอาหารไทย อยากมาท่องเที่ยว ถ้าทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในงานวิจัยที่ทำให้คนอยากเข้ามาทำงานวิจัยได้ มันก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนเก่งๆเข้ามา มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่มี Campus ในไทย มีที่ตั้งของสถาบันวิจัยที่มาตั้ง Hub หรือ Head quarter เหมือนที่ต่างประเทศพยายามดึงดูงให้นักวิจัย ผู้ผลิตนวัตกรรมเข้ามาทำงานในประเทศ 

  • ถ้าจะทำให้สังคมไทย พลเมืองไทย อินกับเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมสร้างสรรค์ อะไรที่เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ?

มันมีหลายอย่าง ถ้าอย่างเดียวมันทำได้เราคงทำไปนานแล้ว ในมุมมองพีพีอย่างแรกกลับไปที่สถาบันในแต่ละรูปแบบ สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง สถาบันสังคม ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเล็ก หรือทำให้รู้สึกว่าคนในประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ทำให้เด็กๆ เยาวชน คิดว่าจะตั้งใจเรียนไปทำไม คิดอะไรที่ก้าวหน้าไปทำไม ถ้าสุดท้ายก็ไม่มีงานสำหรับคนเก่งๆ เท่ากับพวกที่มีเส้นสาย หรือในองค์กร คนเก่งๆ ก็ไม่ได้โปรโมท

หรือเรื่อง Intellectual Property (ทรัพย์สินทางปัญญา) ที่ต้องเข้มแข็ง อย่าให้เกิดการคิดว่า คิดค้นแล้ว สร้างสรรค์แล้ว ทำแล้วถูกคนก็อปปี้ง่ายๆ ทำแล้วถูกลอก ยิ่งถ้าคนตัวเล็กๆ ทำแล้วถูกคนมีทุนใหญ่ลอก จะไปฟ้องก็ฟ้องร้องก็เหนื่อย เพราะเขามีเงิน มีอิทธิพลมากกว่า

พีพียกเนื้อหาหนึ่งในหนังสือ Why Nations Fail ที่พีพีอ่านจบไป และอยากแนะนำมากๆ ซึ่งหนังสือเรื่องนี้ เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ Daron Acemoglu และ James A. Robinson ซึ่งร่วมกันได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2024 ให้แนวคิดสำคัญที่ว่า ทำไมสองประเทศจึงมีมาตรฐานความเป็นอยู่แตกต่างกัน คำตอบคือการมองไปที่สถาบันต่างๆ

Key ของเรื่องนี้อธิบายว่า สถาบันต่างๆ ทั้งสถาบันทางด้านการเมืองจะต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจ รัฐบาลกลางมีอำนาจเพียงพอ เปิดกว้างให้โอกาประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนใช้ปัญญาและความสามารถเพื่อหาเลี้ยงชีพได้อย่างอิสระ ภายใต้กฎหมายและการรักษากฎหมายที่เอื้อให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน และมีบริการในด้านปัจจัยพื้นฐานอย่างเพียงพอ

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัย MIT สำรวจ มนุษย์ AI การศึกษาไทย ในเวทีโลก ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร

ยกตัวอย่างว่า เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่ภูมิประเทศคล้ายกัน พลเมืองก็มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่ทำไม 2 ประเทศนี้ถึงแตกต่างกันมาก หรือในหนังสืออธิบายว่า ในรัฐแอริโซนามันจะมีเมืองที่ติดกับเม็กซิโก เชื้อชาติพลเมือง สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ แทบจะคล้ายกันเลยด้วยซ้ำ แต่ทำไมคนกลุ่มหนึ่งถึงเศรษฐกิจดีกว่า การศึกษาดีกว่า ซึ่งเมื่อใช้สมการทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์พบว่า สิ่งที่มันทำให้ประเทศเจริญไม่ใช่ภูมิอากาศ ท้องฟ้า แต่มันคือโครงสร้างสถาบัน ซึ่งหมายถึงทั้งสถาบันครอบครัว การศึกษา การเมือง ในทุกอย่างๆ

คำว่าสถาบันมันมี 2 แบบ คือ 1. Inclusive institutions ซึ่งเป็นสถาบันที่มอบสิทธิและสิทธิประโยชน์ ที่เท่าเทียมกัน และเปิดโอกาสพลเมืองเข้าถึงทรัพยากรและบริการที่เท่าเทียมกัน กับ 2. Extractive institutions ซึ่งเป็นสถาบันที่ดูดและช่วยจัดสรรทรัพยากรให้คนไม่กี่กลุ่ม พอฟังแล้วเราลองคิดดูครับว่าสถาบันแบบไหนที่เหมาะสมจะทำให้คนในประเทศอยากคิดค้นอะไรที่มันสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์กับอนาคต

พอเรามีสถาบันที่ดี ก็ตองให้ทรัพยากรกับคนที่เก่งทำงาน อย่างที่อเมริกาก็ทุ่มเทกับงบวิจัย ให้เด็กได้เรียนรู้ต่างๆ และถึงแม้งบประมาณในไทยไม่เยอะมาก แต่ถ้าเราจัดสรร มีกลไกเข้มแข็ง เงินมันก็จะไปอยู่ในมือของคนที่เหมาะสม และเกิดเป็นผลงาน

นอกจากนี้พีพีมองว่าการต้นแบบ หรือ Role model สำคัญ ในปัจจุบันเราอาจจะมีโมเดลในความหมายของการเป็น Net Idol หรือ นักร้อง ดารา ซึ่งก็มีเรื่องดีในแบบหนึ่ง แต่เราอยากเห็น Role model ในแบบอื่นๆ บ้าง เช่น มีนักวิทยาศาสตร์ คนเก่งๆในแต่ละวงการ มีต้นแบบอาชีพอื่นๆ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เยาวชนในประเทศ นอกเหนือจากการเป็น Net Idol ในความหมายของการมีเพื่ออุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเดียว

  • ในฐานะเป็นนักวิจัยที่เป็น Futurist ด้วย มองนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไร ที่จะมีส่วนสำคัญกับประเทศไทยต่อจากนี้บ้าง?

วันนี้ทุกเห็นตรงกันว่ามันคือ AI แต่ AI อย่างเดียวมันก็ไม่เพียงพอ การที่จะใช้ AI ให้ได้ดี คนก็ต้องเก่งด้วย เพราะถ้ามนุษย์ไม่ดีพอ การมี AI ซึ่งคนทั่วโลกก็ใช้กันมันไม่มีอะไรพิเศษ คำถามคือเมื่อมี AI แล้ว เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้มากแค่ไหน ต่อให้มี AI มนุษย์ก็ต้องรู้อยู่ดีว่าควรคัดกรองคำตอบแบบไหน อะไรจริง ไม่จริง อะไรเจ๋งไม่เจ๋ง การที่จะรู้ว่าผลลัพธ์ AI ดีไม่ดี มันจึงอยู่ที่มนุษย์

เรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พีพีเคยนั่ง Taxi แล้วโชเฟอร์พูดว่า “มีแต่คนตาถั่วเท่านั้นที่บอกว่าโลกยังเหมือนเดิม” การให้ความสนใจกับ Climate change สำคัญมาก ตั้งแต่การอยู่อาศัย การคาดการณ์ไป เชื่อไหมว่าคนที่เป็น New Generation ในทุกวันนี้หากเขาคิดจะเลือกที่อยู่ ที่ทำงาน เขามองถึงการคาดการณ์ว่าเลยว่าที่ที่เราเลือกอยู่อีก 20 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร น้ำท่วมไหม รวมไปถึงคิดถึง โรคระบาด มลภาวะ  ดังนั้นถ้ามีเทคโนโลยี มีนวัตกรรมการตอบโจทย์เรื่อง Climate Change จะมีส่วนสำคัญอีกมาก

อีกเรื่องคือ Mental Health หรือ สุขภาพจิต จากการที่เราเห็นสังคมแย่ๆ ข่าวร้ายๆ ซึ่งแน่นอนว่าอย่างแรกเราต้องเริ่มที่ตัวเอง มีทักษะ ในการจัดการสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะแก้ได้ แต่มนุษย์ก็ต้องแก้ปัญหาของมนุษย์ด้วยกันเอง

  • ถ้ามีคนที่มองคุณพีพี เป็นต้นแบบ อยากจะเดินตามสิ่งที่คุณทำบ้าง จะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น?

บอกว่าอย่าไปยึดติดกับบุคคล ทุกคนมีดีและไม่ดี พีพีก็มนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนก็มนุษย์คนหนึ่ง หยิบแนวคิดผลงานในส่วนที่คิดว่าดี และสามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้ หาส่วนประกอบในแต่ละแบบ ในแต่ละคน มาผสมผสานจนเป็นตัวเองเเล้วช่วยกันสร้างอนาคต ไม่ใช่เเค่กับเราคนเดียวเเต่กับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ด้วย