สิงคโปร์ พื้นที่คนอายุยืนแห่งใหม่ที่ผู้นำประเทศสร้างขึ้น

สิงคโปร์ พื้นที่คนอายุยืนแห่งใหม่ที่ผู้นำประเทศสร้างขึ้น

สิงคโปร์ มีคนอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนโยบายเรื่องคุณภาพชีวิต มีพื้นที่สีเขียวและรัฐสวัสดิการที่ดี จนกลายเป็นบลูโซนแห่งที่ 6 ในเอเชีย

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสฟังเรื่องราวคนในพื้นที่บลูโซน (Blue Zones) ผู้คนที่มีชีวิตยืนยาว และมีสุขภาพดี จากแดน บิวต์เนอร์ นักเขียนที่ศึกษาวิจัยและสัมภาษณ์ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่บลูโซนห้าเมืองในหลายประเทศ 

แดนเป็นคนที่ทำให้เรื่องราวบลูโซนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก เขาเดินทางไปทั่วโลก เพื่อบอกเล่าเคล็ดลับการมีชีวิตที่ยืนยาวในบลูโซน และได้รับเชิญมาเมืองไทย เพื่อพูดสร้างแรงบันดาลใจเรื่องการมีชีวิตยืนยาวให้นักขายในเครือข่ายแอมเวย์ทั่วประเทศฟัง 

จุดที่น่าสนใจก็คือ แดน ยกตัวอย่างสิงคโปร์ บลูโซนใหม่ที่ถูกสร้างโดยผู้นำประเทศ ด้วยการวางนโยบาย เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี และอยู่ในแผนระยะยาว ซึ่งต่างจากบลูโซนดั้งเดิมทั้ง 5 แห่ง เพราะมีวิถีชีวิตเอื้อต่อการมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีอยู่แล้ว

หากมองซ้าย แลขวา เมืองไทยก็น่าจะวางนโยบายสร้างบลูโซนได้ในบางจังหวัด เพราะเรามีธรรมชาติที่สวยงาม มีอาหารการกิน พืชผักสมุนไพร ธรรมชาติที่เอื้อกับการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้ แต่ไม่เคยมีนโยบายจริงจังในเรื่องนี้เลย

ช่วงหลายปีที่สิงคโปร์สร้างบลูโซน (พื้นที่คนอายุยืนและสุขภาพดี)ได้เพราะนโยบายรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่ถูกสร้างมาหลายสิบปีอย่างต่อเนื่อง ถูกบรรจุอยู่ในแผนระดับชาติ ซึ่งเห็นผลแล้วในเรื่องสภาวะอากาศที่ดีของสิงคโปร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่คนทั้งโลกต้องมาเยี่ยมชม

ขอยกตัวอย่างพื้นที่สีเขียวสักนิด...

สวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิง (Fort Canning Park) ขนาด 180,000 ตารางเมตร กลางเมืองบนเนินเขา นอกจากร่มรื่นด้วยต้นไม้สีเขียว ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในอดีตเคยเป็นป้อมปราการในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

อีกส่วนที่คนส่วนใหญ่มักพูดถึง ก็คือ Kampung Admiralty อาคารต้นแบบอาคารสำหรับผู้สูงอายุแห่งแรก (First Retirement Village) ผู้อยู่อาศัยได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม บนอาคารชั้น 8 ทำเป็นสวนหย่อม มีการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด วางภูมิทัศน์ได้อย่างงดงาม โดยคำนึงถึงผู้สูงอายุ ทั้งทางลาดสำหรับรถเข็น และจุดนั่งพักขาตลอดทางเดิน 

นอกจากนีี้ยังมี Singapore Botanic Gardens สวนพฤกษศาสตร์ ที่ตั้งของสวนกล้วยไม้แห่งชาติ (National Orchid Garden) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกล้วยไม้กว่า 60,000 ต้น และกว่า 3,000 สายพันธุ์ ไฮไลท์ในการท่องเที่ยวที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก(UNESCO)

นั่นแค่คร่าวๆ ที่หลายคนพูดถึง ยังมีอีกหลายเรื่องที่เอื้อกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ หรือจะเรียกว่า บลูโซน ที่ทำขึ้น เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องสุขภาพกายและจิต รวมถึงจิตวิญญาณ

สิงคโปร์ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสีเขียว ที่หลายประเทศจะต้องมาดูงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งไทย หลังจากที่ลี กวนยู ประกาศนโยบาย “เมืองสีเขียว” (Green City)เมื่อปี ค.ศ. 1967 โดยบรรจุไว้ในแผนการลงทุนระยะยาว 

และยังมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเดิน และออกกำลังกาย เพราะอยากให้คนสิงคโปร์อายุยืน ดังนั้นระบบขนส่งสาธารณะ ถนนหนทาง จึงต้องเอื้อกับการใช้ชีวิต สามารถเดินไปทำงานใช้เวลาไม่กี่นาทีท่ามกลางพื้นที่สีเขียว

บลูโซนที่สร้างขึ้นใหม่ในสิงคโปร์ในช่วงหลายสิบปี เนื่องจากผู้นำแต่ละรุ่นสานต่อนโยบาย นับตั้งแต่ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ มาถึงโก๊ะ จ๊กตง (Goh Chok Tong) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ,ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) บุตรชายคนโตลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนที่ 3

และล่าสุดลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 วัย 50 กว่าๆ ซึ่งเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวทำงานใกล้ชิดกับลี เซียนลุง (อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 บุตรชายลี กวนยู อยู่สามปี

หว่องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องสุขภาพ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินด้านการดูแลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ เขายังเคยทำงานอีกหลายด้าน และเดินตามนโยบายการพัฒนามนุษย์ของลี กวนยู ที่บริหารประเทศมานาน 31 ปี และก่อตั้งพรรคกิจประชาชน  ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 รุ่นสังกัดพรรคนี้

นับตั้งแต่ลี กวนยู สร้างต้นแบบใหม่ให้สิงคโปร์ โดยมองว่าทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด ก็คือมนุษย์ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์และคุณภาพชีวิต 

การสร้างพื้นที่บลูโซน จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนสิงคโปร์มีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวมากขึ้น จากที่เคยอายุขัยเฉลี่ย 65 ปี ก็สามารถทำให้ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้นประมาณ 84-86 ปี ผลมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายและการลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์ จนทำให้สิงคโปร์เป็นบลูโซน (Blue Zone) ประเทศที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวแห่งที่ 6 ของโลก และในอนาคตหากคนสิงคโปร์จะมีอายุร้อยปีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

แดน เล่าว่า ถ้าคุณไปสิงคโปร์ คุณจะไม่ได้ดื่มน้ำอัดลมที่รสชาติหวานมากๆ เหมือนหลายประเทศ เพราะรัฐเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มสูงมาก รวมถึงภาษีบุหรี่ และแอลกอฮอล์

แม้ค่าครองชีพในสิงคโปร์จะสูงมาก แต่ก็คุ้มกับการใช้ชีวิต เพราะคนบนโลกนี้ย่อมอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี