ชวน ‘คนไทย’ แสดงพลัง 60+ Earth Hour ปิดไฟ ลดโลกร้อน วันที่ 22 มี.ค. 68

กทม. ชวนคนกรุงฯ ร่วมแสดงพลัง ลดการใช้พลังงาน ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดโลกร้อน กับ 60+ Earth Hour ในวันเสาร์ที่ 22 มี.ค. 68 เวลา 20.30-21.30 น.
60+ Earth Hour เป็นโครงการร่วมมือระดับนานาชาติ รณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง กระตุ้นให้คนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนให้มากขึ้น
ริเริ่มโดย กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund : WWF) ในปี พ.ศ. 2550 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปิดไฟ 60 นาที คนจำนวน 2.2 ล้านคน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯลงได้เท่ากับรถยนต์ในถนนที่ปล่อยก๊าซถึง 48,000 คัน หรือช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
ในปี พ.ศ. 2551 มีเมืองที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ถึง 370 เมืองทั่วโลก ใน 37 ประเทศ 26 เมืองเป็นเมืองสำคัญของโลก ร่วมปิดไฟวันที่ 29 มีนาคม เวลา 20.00-21.00 น. เริ่มจาก เมืองซิดนีย์ นิวซีแลนด์, ฟิจิ, โตเกียว, มะนิลา, จาการ์ตา, สิงคโปร์, นิวเดลี, บังกอร์ และ กรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2552 60+ Earth Hour กำหนดให้มีขึ้นวันที่ 28 มีนาคม เวลา 20.30 ถึง 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีประเทศเข้าร่วมจำนวน 82 ประเทศ รวมแล้วมากกว่า 2,100 เมือง
ในปี พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม เวลา 20.30 ถึง 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในประเทศไทยจัดงานขึ้นที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด
Cr. WWF Thailand
โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ปิดไฟตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น วัดอรุณราชวราราม, เสาชิงช้า, สะพานพระรามแปด, พระบรมมหาราชวัง, ถนนข้าวสาร,ถนนสีลม, เซ็นทรัลพลาซา, เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟรอนต์
Cr. WWF Thailand
- ชวนคนไทย ลดการใช้ไฟ 1 ชั่วโมง
วันที่ 3 มีนาคม 2568 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมแสดงพลังลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ช่วยลดโลกร้อน
"ร่วมเป็นส่วนหนึ่งสร้างโลกที่ยั่งยืน ในกิจกรรม 60+ Earth Hour 2025 ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ปิดไฟที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้พลังงานทุกชนิด พร้อมกับผู้คนอีกหลายล้านคนจาก 190 ประเทศ 7,000 เมืองทั่วโลก
ตั้งแต่ปี 2551 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับองค์การ WWF ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย รณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดโลกร้อน รวมระยะเวลา 17 ปี ลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 12,272 ตัน
ในปี 2567 ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 24.65 เมกะวัตต์ ลดก๊าซคาร์บอนฯได้ถึง 11 ตัน
Cr. WWF Thailand
เทียบเท่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ จำนวน 92 เที่ยวบิน หรือเทียบเท่าการใช้รถยนต์ 66,000 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าการปิดไฟ 49,500 ครัวเรือน
ในปีนี้ 2568 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดโลกร้อน ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 เวลา 20.30-21.30 น.
Cr. กรุงเทพมหานคร
ขอความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ช่วยลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
และช่วยกันเชิญชวนด้วยการติดแฮชแท็ก #EarthHour2025 หรือ #BiggestHourForEarth หรือ #MyHourForEarth
Cr. WWF Thailand
โดยกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ใน 5 สถานที่หลัก ได้แก่
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
2. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่
3. เสาชิงช้า เขตพระนคร
4. สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด
5. ภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) เขตป้อมปราบฯ
Cr. กรุงเทพมหานคร
รวมถึงสำนักงานเขต 50 เขต ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขต ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ ด้วย
นอกจากช่วยประหยัดค่าไฟภายในบ้านแล้ว ยังช่วยชาติประหยัดพลังงาน ประหยัดงบประมาณ ช่วยรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม
การรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่การแสดงพลังของคนกรุงเทพฯเท่านั้น แต่เป็นการรวมพลังของประเทศ ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เพื่อบ้านเมืองของเรา เพื่อโลกของเรา"
...................................
อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร, WWF Thailand