รู้จัก 'ชุมชนกรุณา' เพราะก่อนจะตายดี ชีวิตก็ต้องการ 'อยู่ดี'

รู้จัก 'ชุมชนกรุณา' เพราะก่อนจะตายดี ชีวิตก็ต้องการ 'อยู่ดี'

ทำความรู้จัก "ชุมชนกรุณา" โครงการสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ช่วยดูแลกันให้ "อยู่ดี" และ "ตายดี" ด้วยรากฐานความเชื่อที่ว่า "การจากไปที่ดี เริ่มจากการมีชีวิตที่ดี"

วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานโครงการชุมชนกรุณา เปิดใจเล่าในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการฯ เธอบอกว่า โครงการนี้เกิดจาก ช่วงแรกเราพยายามสื่อสารความรู้เรื่องของ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Palliative Care เพื่อให้คนเตรียมตัวเตรียมใจ ซึ่งหลายคนมีความเข้าใจเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง บางคนเขาก็ทําสมุดเบาใจคุยกับที่บ้านไว้เรียบร้อย แต่จากการทำงานเรามาพบว่าแม้บางคนมีความปรารถนาตั้งใจที่จะตายดี แต่ในความเป็นจริงกลับยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบ "อยู่ดี" ได้ ในช่วงก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต

"ความจริงการที่เขาอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้ต้องการยื้อ ที่จริงเขาไม่ได้อยากไปอยู่โรงพยาบาล เขาอยากกลับไปอยู่ที่บ้าน แต่กลับไปบ้านแล้วไม่มีผู้ดูแล ซึ่งเราเจอปัญหาขาดแคลนผู้ดูแล หลายครั้งไม่ใช่ว่าเขาไม่มีใครเลย แต่เป็นเพราะว่าลูกหลานต้องไปทํามาหากิน หรือบางครอบครัวเลือกที่จะเป็นโสด อยู่คนเดียว อยู่คอนโด ซึ่งไม่มีชุมชนดูแลเลย สุดท้ายเขากลัวว่าจะเสียชีวิตอยู่ในห้อง เราก็เริ่มเห็นว่าแค่มีสมุดเบาใจอย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ควรจะทำอย่างไรให้สามารถดูแลก่อนตายได้อย่างมีคุณภาพด้วย" วรรณาเล่าถึงที่มาของโครงการชุมชนกรุณา ที่มีรากฐานความเชื่อว่า การจากไปที่ดี เริ่มจากการมีชีวิตที่ดี พร้อมกับเอ่ยต่อว่า

"เราเลยมาดูว่ามันติดขัดตรงไหน ตอนแรกเราก็คิดว่าส่วนมากจะเป็นคนที่อยู่ในเมือง หรือเป็นครอบครัวเดี่ยว เพราะส่วนใหญ่เป็นคนโสด แต่ปรากฎว่าในต่างจังหวัด ซึ่งเรามองว่ามีความเป็นชุมชนอบอุ่นจะไม่มีปัญหา ก็มีปัญหาเยอะมากเช่นกัน"

รู้จัก \'ชุมชนกรุณา\' เพราะก่อนจะตายดี ชีวิตก็ต้องการ \'อยู่ดี\'

จากโจทย์ที่ว่าจะทําอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพ สามารถได้รับการดูแลได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในบริบทไหน มีเงินหรือไม่มีเงิน เราก็เลยนึกถึงเรื่องคอนเซ็ปต์เรื่องชุมชนกัน

วรรณา กล่าวต่อไปว่า วันนี้สังคมไทยควรมองว่า การตายดี ไม่ใช่เรื่องปัจเจกแล้ว แต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกคน คือเป็นหน้าที่ของสังคมหรือชุมชนรอบข้าง ที่จะต้องมีส่วนในการสนับสนุน ช่วยให้เขาสามารถข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ซึ่งปัจจุบันมันเกิดขึ้นแล้วทั่วโลก มีการทำเรื่องนี้ ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ส่วนในฮ่องกง ไต้หวัน เริ่มมีการพูดเรื่องนี้มากขึ้น ปัจจุบันกรณีที่พบไม่น้อยคือผู้สูงอายุ บางคนมีความคิดว่าถ้าฉันจบชีวิตไปฉันก็จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน

รู้จัก \'ชุมชนกรุณา\' เพราะก่อนจะตายดี ชีวิตก็ต้องการ \'อยู่ดี\'

"บางคนใช้วิธีไม่ไปหาหมอ เพราะเขาอยากให้ตัวเองตาย อย่างภาคเหนือนี่ฆ่าตัวตายกันสูงมากใช่ไหมคะ เพราะเขาอยากให้ตัวเองจากไปเพื่อจะให้คนอื่นจะได้ไม่เดือดร้อน ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้มันน่าเศร้า มันแปลว่าสังคมไม่ได้ไม่ได้สนับสนุนให้เขาได้มีชีวิตที่มีคุณภาพ แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกหลานสามารถดูแลเขาได้ โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน ลูกหลานก็ต้องไปหาเงิน"

วรรณา เล่าถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นว่า เราต้องมาออกแบบชุมชน ที่ทําให้คนกลับมาเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือดูแลช่วยเหลือกันในยามป่วย ยามใกล้ตาย ซึ่งต้นทุนเรื่องนี้ในบ้านเรามีอยู่แล้ว ก่อนที่เราจะทําเรื่องนี้มีการทำสำรวจว่า แล้วชุมชนที่คนเขาไปแบบตายดีได้นี่เขามีอะไรเป็นตัวช่วยบ้าง เราก็พบว่ามีกลุ่มจิตอาสา เขามีคนดี ๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือดูแลเยอะมาก เราได้เห็นบุคลากรที่เขาทําเต็มที่ แม้ไม่ใช่หน้าที่ มันมีอยู่จริง ซึ่งผู้นําชุมชนเขาดีมาก ที่ดูแลลูกบ้านหรือกระทั่งบางครอบครัวไม่ทิ้งกัน เราก็เห็นเยอะ จึงคิดว่าถ้างั้นเรากลับมารื้อฟื้นไหม ถึงเราอาจจะทําให้ชุมชนกลับไปเหมือนเดิมแบบอดีตไม่ได้ แต่เราทําให้คนในชุมชนเกิดคอนเนคชั่น หรือมีความเชื่อมโยง ที่จะดูแลกันในยามดี ๆ ตั้งแต่ในยามที่ยังไม่เจ็บป่วย ไปจนถึงเมื่อเจ็บป่วยหรือต้องอยู่ในระยะสุดท้าย เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่สังคมต้องสร้าง ความเชื่อมโยง และการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งมันเป็นโจทย์ที่ท้าทายค่อนข้างมาก

"หลายคนอาจมองว่าทำไมต้องสร้างคอนเนกชัน แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่สร้างคอนเนกชันกันตั้งแต่ตอนที่เราดี ๆ กันอยู่ แล้วพอตอนจะตาย ถามว่าจิตอาสาเขาจะกล้าเดินเข้าบ้านเรา หรือเราอยากให้เขาเข้ามาไหม เราก็คงไม่คุ้นเคย เพราะถึงอยู่หมู่บ้านเดียวกัน แต่ถ้าฉันไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า มันไม่ไว้ใจ มันจะมีความรู้สึกว่า ฉันไม่อยากให้เข้ามาเวทนา หรือจะดีหรือที่เขาเดินเข้ามาแล้วเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ฉัน"

เพราะฉะนั้น ชุมชนกรุณา จึงเชื่อว่า สัมพันธภาพที่ดีของคนในชุมชนมันต้องเกิดขึ้นก่อน จึงสนับสนุนว่า ทําอย่างไรให้คนในชุมชนเกิดการรวมตัว มีกิจกรรมที่ทําให้เขากลับมามีสัมพันธภาพกันแล้วก็ดูแลช่วยเหลือกัน ตั้งแต่ในยามที่ยังไม่ใกล้ตาย ซึ่งมันมีอย่างเช่นเขาป่วยเล็กป่วยน้อย เราก็ไปดูแลหรือเขาแค่ป่วยติดเตียง ยังไม่ใกล้ตายเราก็ไปเยี่ยมไปเยือน ไปถามข่าวคราวว่ามีอะไรที่พอช่วยได้มั้ยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สระผมให้ ตัดเล็บให้ เป็นต้น

"เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นหมอเชี่ยวชาญแบบหมอพาลิ หรือ หมอ Palliative Care เราไม่ได้ต้องการทักษะมาก เป็นใครก็ได้ค่ะ ไม่ต้องเป็น อสม. หรือ Care Giver แต่เป็นใครก็ได้ที่อยู่ในชุมชน เราเห็นว่าความกรุณาแบบนี้ มันเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอื้อเฟื้อกันได้" วรรณา กล่าวทิ้งท้าย