เปิดประเด็นสนทนา 'การุณยฆาต' สู่เรื่องราวของ 'การตายดี'

ในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีพละกำลัง ทุกคนมักคิดว่า “ความตาย” เป็นเรื่องไกลตัว ใครจะรู้ว่าความจริงแล้ว “ความตาย” อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด
ในช่วงหลายปีหลังมานี้ ประเด็น “การตายดี” เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในสังคม ล่าสุดการพูดถึงตายดี ยังถูกถ่ายทอดสื่อสารผ่านนิยายและขยายสู่ซีรีส์ “การุณยฆาต” ที่ชวนสังคมทบทวนถึงการใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายอย่างมีคุณภาพเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจากซีรีส์ดังกล่าว วันนี้กำลังมีอีกหลายความเคลื่อนไหวที่กำลังปลุกประเด็นเรื่อง “สิทธิในการเลือกตายดี” ให้เกิดการถกเถียงในสังคมไทย
จากนิยาย “ซีรีส์” สู่เวทีพื้นที่พูดคุย
เพราะอิมแพ็กของสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ เช่นกัน ซีรีส์เรื่องการุณยฆาต สามารถจุดประกายให้สังคมหันมาสนใจประเด็นเรื่องการตายดีมากขึ้นและเกินความคาดหมาย ในงานสัมมนา “การุณยฆาต” กับการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กลุ่ม Peaceful Death สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่ตระหนักถึง “การตายดี” รวมไปถึงทีมผู้จัดทำซีรีส์และผู้เขียนเจ้าของนวนิยาย ยังเป็นอีกหนึ่งเวทีที่มาร่วมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนทรรศนะมากขึ้นในสังคม
ความสำเร็จของละคร “การุณยฆาต” ในมิติการสะท้อนสังคมคือการ ส่ง “แรงกระเพื่อม” ในประเด็นเรื่อง “สิทธิในการเลือกตาย” ผ่านละคร การนำมาสู่การตั้งคำถาม และข้อถกเถียงมากขึ้นในสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ
วรวิทย์ ขัตติยโยธิน ผู้กำกับซีรีส์การุณยฆาต บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการหยิบเรื่องนี้มาถ่ายทอดว่า เรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะรู้ แต่เท่าที่เห็นกลับพบว่าคนที่สนใจเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งมันยังลงไปไม่ถึงคนทุกกลุ่ม ดังนั้นการทำเป็นซีรีส์อาจสามารถทำให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มรับรู้ประเด็นเรื่องนี้ได้ เพราะคิดว่าสักวันทุกคนต้องเจอเรื่องนี้ แล้วถ้าคนไม่รู้มันจะยากมากเมื่อถึงเวลานั้น
ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ครีเอเตอร์ & สคริปต์ไรเตอร์ซีรีส์การุณยฆาต ร่วมแสดงทรรศนะว่า หลังจากซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์ไป พบว่ามีหลายคนเริ่มเปิดประเด็นคุยเรื่องนี้กับผู้สุงอายุที่บ้านได้ สำหรับเราในฐานะคนทำซีรีส์ สิ่งนี้เป็นความสำเร็จสูงสุดของเราแล้ว นั่นคือการสื่อสารได้ตรงประเด็น และทำให้เกิดการเทกแอกชัน (Take Action) บางบ้านมีการพูดคุยถามไถ่กัน ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทยนะ ถึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าพูด แต่มันก็ต้องพูด ซีรีส์เรื่องนี้เหมือนเป็นสื่อกลาง เป็นตัวจุดประเด็นให้หลายคนย้อนกลับไปดูว่า ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร
อีกเสียงสะท้อนจาก หมอแซม พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร ผู้แต่งนิยาย “การุณยฆาต” ภายใต้นามปากกา “Sammon” ผู้มีแรงบันดาลใจจากการที่ตนเองเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือหลายคนรู้จักในนาม “หมอพาลิ” หรือ Palliative Care เธอเผยว่า ได้มองเห็นสถานการณ์ “ความไม่ราบรื่น” และปัญหามากมายในช่วงวาระสุดท้ายของผู้ป่วยจากการทำงานที่ผ่านมา จึงมีความต้องการสื่อสารประเด็นเรื่อง การุณยฆาต และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ถูกต้องให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
“เราอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ทุกวัน วันละหลายคน พบว่าครอบครัวที่เคยคุยเรื่องนี้มาก่อนกับครอบครัวที่ไม่เคย ความราบรื่นมันต่างกันมาก อย่างน้อยครอบครัวไม่หนักใจ แพทย์ก็ไม่หนักใจ ถือว่าได้ทำตามเจตนารมณ์คนไข้ ซึ่งวันที่เราแข็งแรงดีเราอาจไม่นึกถึง แต่เมื่อวาระสุดท้ายจะทราบว่าถ้าเราได้คุยสักหน่อย หรือล่วงหน้าก็คงจะดี”
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าลำพังการขับเคลื่อนจากตัวแพทย์เล็กๆ เพียงคนเดียว จะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้ยาก ด้วยเรื่องนี้จำเป็นต้องการพลังของสื่อและของประชาชนที่มาร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“ในบทบาทการเป็นหมอ การพูดเรื่องการเตรียมตัวตายหรือ ความตาย มันพูดคุยได้ทีละครอบครัว ซึ่งวันหนึ่งเราทำได้มากที่สุดไม่เกินสามสี่ครอบครัว เลยมองว่าหากนำเสนอผ่านนิยายถ้าเราตีพิมพ์อาจได้มากขึ้น อาจมีคนสักหมื่นคนที่ได้อ่าน ยิ่งพอมีการนำไปทำเป็นซีรีส์ ยิ่งช่วยให้คนเป็นแสนหรืออาจเป็นล้านคนที่รับสารในเรื่องนี้”
ภายหลังถูกทำเป็นซีรีส์มีฟีดแบ็กที่เกิดขึ้นและมีการพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งแม้จะมีความคิดแตกต่างและเหตุผลหลากหลาย แต่หมอแซมมองว่าเป็นจุดเริ่มที่ในการสะท้อนความคิดเห็นจากสาธารณชน และข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเป็นนโยบาย
“ตายดี” ต้องมีคุณภาพ
วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานโครงการชุมชนกรุณา กลุ่ม Peaceful Death หนึ่งในผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานเพื่อสื่อสารให้คนไทยเข้าใจเรื่อง “การตายดี” มาตลอดกว่ายี่สิบปี เธอเอ่ยว่าที่ผ่านมาการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องการตายดียังคงจำกัดในวงแคบ การที่เราเป็นองค์กรเอกชนเล็กๆ จะสื่อสารเรื่องนี้ให้กับประชาชนได้เข้าใจอย่างทั่วถึงบางทีก็มีข้อจํากัดเยอะมาก งบประมาณเรามีจํากัดเลยทําเท่าที่ทําได้
แต่หลังจากซีรีส์เรื่อง การุณยฆาต แพร่ภาพ เธอมองว่าเป็นการสร้างกระแสตื่นตัวแบบก้าวกระโดด ในสังคม
“ซีรีส์เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า มันเป็นสิทธิ์ของฉันนะที่อยากจะบอกว่า นี่คือความต้องการในช่วงสุดท้ายฉันอยากได้รับการดูแลแบบไหน ฉันอยากตายแบบไหน แล้วสังคมต้องใส่ใจอยากรับฟังแล้วก็จัดบริการสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าเราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการของภาคประชาชน ที่อยากจะมีชีวิตที่ดี แล้วเขาได้จากไปอย่างที่เขาปรารถนา ไม่มีใครอยากถูกยื้อชีวิตโดยแบบไม่มีประโยชน์”
อย่างไรก็ดี วรรณาแชร์อีกมุมมองว่าการดูแลนั้นจะดูแลทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลด้วยเช่นกัน เพราะคนดูแลก็ต้องการการฮีลใจ ในฐานะผู้แบกภาระทั้งทางกายและความรู้สึก
“เราอยากเห็นท้องถิ่นมาทำเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการทำงานด้านนี้ยังต้องการกำลังคนหรือมีกองทุนมาช่วย ปัจจุบันจะเห็นว่าสังคมเราต้องสูญเสียบุคลากรที่มีค่าไม่น้อย เพราะต้องเสียสละไปดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยหรือวัยชรา ดังนั้น กฎหมายหรือนโยบายจึงควรจำเป็นต้องออกแบบกันใหม่” วรรณา กล่าว
ออกแบบระบบดูแล “ความตายดี” ของเรา
พญ.จิราภา คชวัตร แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ด้านการดูแลแบบประคับประคอง ศูนย์ชีวาประทีป รพ.สิรินธร เปิดอีกมุมมองว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีช่องว่างการดูแลแบบประคับประคองในระบบสุขภาพไทย สังคมไทย ที่ยังขาดความพร้อมหลายด้าน ประเด็นการุณยฆาตแล้ว สังคมไทยควรมีระบบการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง หรือ Palliative Care ให้พร้อมก่อน
“เพราะถ้าแข็งแรงบางที การุณยฆาต ไม่มีความจำเป็น เพราะที่จริงมันมีความเสี่ยงอยู่ไม่ได้ทำโดยง่าย แต่ทุกคนอยากได้ เพราะเราไม่มี Palliative Care มันเลยกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย หรือทางเลือกทางเดียวที่เรามี กลายเป็นกุญแจหรือทางลัด ซึ่งมันน่ากลัวนะ แต่หากผู้ป่วยยังทุกข์ทรมานอยู่ในเซ็ตติ้งที่สมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว การุณยฆาตค่อยพูดถึง
พญ.จิราภา เผยว่า การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองในประเทศไทย ควรมององค์ประกอบ 4 เสาหลัก อันดับแรกคือ นโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนเรื่องของระบบการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองในประเทศไทย อย่างเช่น โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งควรต้องมีเรื่องของการบริการด้านการประคับประคองหรือไม่ ซึ่งควรขับเคลื่อนไปพร้อมกับนโยบายชีวาภิบาลที่กว้างขึ้น นั่นคือการไม่ได้ดูแค่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่หมายถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุด้วย ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม และบุคลากรที่อยู่ตรงนี้ส่วนใหญ่คือคนที่ทำด้วยใจ
“อันดับที่ 2 คือเรื่องการศึกษา ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องการองค์ความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคองอีกมาก รวมถึงการมีมายด์เซ็ตของผู้ดูแลที่ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองว่าการดูแลผู้ป่วยประคับประคองไม่ใช่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อรอวันเสียชีวิต อันดับที่ 3 คือเรื่องยา แม้จะเป็นคนไข้ที่อยู่ในช่วงสุดท้าย แต่ก็มีความจําเป็นที่ต้องได้รับยาในการจัดการอาการ ซึ่งประเทศไทยเรามีหลายรูปแบบ แม้ว่าอาจจะไม่ได้หลากหลายเท่ากับต่างประเทศ แต่ว่าเราก็สามารถใช้ได้จริง แต่ปัญหาคือไม่มีคนใช้ เพราะแพทย์เองไม่ได้เรียนมา ไม่มีประสบการณ์ก็ไม่กล้าสั่ง เลยอาจทําให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาตัวนี้ และสุดท้าย อันดับ 4 นั่นคือเรื่องของการนําไปปฏิบัติ เพราะหากนโยบายมีแต่ไม่มีการสนับสนุนในภาคปฏิบัติ เช่นเรื่องของบุคลากร งบประมาณที่ชัดเจนก็อาจไปต่อลําบาก”
อย่างไรก็ดีการมีกฎหมายแต่ก็อาจช่วยได้ในด้านกายภาพเท่านั้น สังคมยังต้องคำนึงในแง่ความรู้สึกของคนใกล้ชิด ญาติ ครอบครัวอีกด้วย